รถหายในห้างสรรพสินค้า ห้างฯต้องรับผิดชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๔๗๑/๒๕๕๖

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 200,475 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 198,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัททีเคเอสเซฟตี้การ์ด จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วม ร่วมกันใช้เงินจำนวน 198,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งเป็นวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,475 บาท กับให้จำเลยและจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท

จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่รถยนต์ของ นายวินัยสูญหายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีฐานะเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ ดังนี้ ลูกค้าที่มาใช้บริการยังสาขาต่าง ๆ ของจำเลย รวมทั้งสาขาลำลูกกาที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นผู้ที่มาอุดหนุนสินค้าของจำเลย จำเลยย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า อันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ หรือไม่ หากจำเลยจัดสถานที่จอดรถไว้กว้างขวางมีปริมาณเพียงพอสะดวกสบายย่อมดึงดูดลูกค้าให้เข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ทั้งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9), 34 ยังได้บัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องมีพื้นที่จอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่าการจัดสถานที่จอดรถของจำเลยเป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดีจำเลยยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สินและมีหน้าที่ดูแลด้วยตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง ได้ความจากนายชานุ หัวหน้าฝ่ายป้องกันการสูญหายของจำเลยสาขาลำลูกกาเบิกความว่า รถยนต์ของนายวินัยหายไปขณะจอดอยู่ในลานจอดรถของจำเลย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา และเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุยกเลิกไปแล้ว โดยใช้กล้องวงจรปิดแทน แสดงให้เห็นว่าเดิมจำเลยเคยใช้วิธีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้า ซึ่งเป็นวิธีที่มีการตรวจสอบการเข้าออกของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลยโดยพนักงานและค่อนข้างรัดกุมเพราะหากไม่มีบัตรผ่านเข้าออก กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่จำเลยกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสีย เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกจากลานจอดรถห้างสรรพสินค้าของจำเลยและโจรกรรมรถได้ง่ายยิ่งขึ้น การที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายขณะที่จอดอยู่บริเวณลานจอดรถของจำเลยจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย และที่จำเลยปิดประกาศไว้ว่า จะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลย และการที่นายวินัยหรือลูกค้าซึ่งทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังคงเข้ามาจอดรถเพื่อซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยจะถือว่าเป็นการเสี่ยงภัยเองของนายวินัยดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก์รับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 862 บัญญัติ คำว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้และบัญญัติในวรรคท้ายอีกว่า ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์จะเป็นบุคคลคนเดียวกันก็ได้ ดังนี้ จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แสดงว่าสาระสำคัญในสัญญาประกันภัยประกอบด้วยคู่สัญญาอย่างน้อยสองฝ่าย ได้แก่ ผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัย ส่วนผู้รับประโยชน์จะมีหรือไม่ก็ได้ ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ หากไม่ระบุผู้รับประโยชน์ไว้ ก็ต้องถือว่าผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาประกันภัยเป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อกรมธรรม์ประกันภัย นายวินัยเป็นผู้เอาประกันภัย จึงเป็นผู้รับประโยชน์ตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายวินัยที่ถูกคนร้ายลักไป เมื่อได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทกรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่นายวินัยเช่าซื้อมาโดยความยินยอมของนายวินัย จึงรับช่วงสิทธิของนายวินัยผู้เอาประกันภัยในอันจะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ตนได้ชดใช้จากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้นสูงเกินส่วนหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า รถยนต์ของนายวินัยเป็นรถเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้วไม่ใช่รถใหม่ป้ายแดง นายวินัยใช้รถมาแล้วประมาณ 3 ถึง 4 ปี ได้รับวงเงินประกันภัยไม่เกิน 200,000 บาท ผ่านการใช้งานหนักและเสื่อมสภาพ ค่าเสียหายจึงไม่เกิน 100,000 บาท โจทก์มิได้หักค่าเสื่อมราคาของรถจึงไม่ชอบนั้น ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยกลับไม่นำสืบรายละเอียดให้ได้ความตามที่อ้างมาในคำให้การและในฎีกา เมื่อโจทก์มีหลักฐานว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทกรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์เป็นจำนวนเงินในวงเงินที่เอาประกันภัยไว้ จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชำระไปแล้วได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

 

( วาสนา หงส์เจริญ - วีระวัฒน์ ปวราจารย์ - ปิยกุล บุญเพิ่ม )

 

ศาลจังหวัดธัญบุรี - นายชัยเทพ จันทนจุลกะ

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายไพฤทธิ์ เศรษฐไกรกุล


ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6616/2558 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน


Visitors: 122,843