ค่าคอมมิสชั่นที่ได้รับจากการจำหน่ายสินค้าซึ่งคิดคำนวณจากยอดสินค้าที่จำหน่ายได้ในแต่ละเดือน ถือเป็นค่าจ้าง

คำพิพากษาฎีกา 2863/2552

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานฝ่ายการตลาดได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,694 บาทกับค่าคอมมิสชั่นซึ่งคิดคำนวณจากยอดสินค้าที่โจทก์จำหน่ายได้ในแต่ละเดือนกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2548 จำเลยสั่งพักงานโจทก์เป็นเวลา 1 เดือนครั้นถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2548โจทก์กลับเข้าไปที่บริษัทจำเลยเพื่อจะทำงานตามปกติแต่จำเลยไม่ให้โจทก์เข้าทำงานพร้อมทั้งบอกแก่โจทก์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและโดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ระหว่างวันที่1 ถึง 26 กรกฎาคม 2548 กับค่าคอมมิสชั่นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547ถึงเดือนมิถุนายน 2548จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 9,853 บาท ค่าคอมมิสชั่นจำนวน 125,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว และค่าจ้างจำนวน 7,535 บาทค่าชดเชยจำนวน 172,164 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยให้การว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 เมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2547โจทก์ได้รับเงินค่าสินค้าจำนวน 7,500 บาทแล้วไม่นำส่งให้แก่จำเลย จำเลยตรวจสอบพบจึงได้ออกใบเตือนครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ลงวันที่ 21กันยายน 2547 ต่อมาระหว่างวันที่ 13ถึง 19 พฤษภาคม 2548 จำเลยได้เชิญนายไพบูลย์เมืองอุดม เป็นวิทยากรไปเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจขายตรงของจำเลยและมอบเงินจำนวน 22,000 บาทให้โจทก์ไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายแทนวิทยากรแล้วนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายมาสะสางบัญชีกับจำเลยภายใน3 วัน นับแต่วันที่โจทก์เสร็จงานกลับมาแต่โจทก์ไม่ออกค่าใช้จ่ายให้นายไพบูลย์โดยให้นายไพบูลย์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 4,660 บาทเมื่อนายไพบูลย์ทวงถามโจทก์กลับแจ้งว่ายังไม่ได้เบิกจากจำเลยนายไพบูลย์จึงทำหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบจำเลยทำการตรวจสอบบัญชีพบว่าโจทก์ได้นำใบเสร็จค่าใช้จ่ายมาสะสางบัญชีกับจำเลยเมื่อวันที่20 พฤษภาคม 2548แต่จำเลยไม่นำเงินจำนวน 4,660 บาท ไปมอบให้นายไพบูลย์จำเลยจึงมีหนังสือฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยค่าคอมมิสชั่นที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินจริงและจำเลยได้จ่ายให้โจทก์รับไปพร้อมกับเงินเดือนครบทุกเดือนแล้วขอให้ยกฟ้อง

 

 

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 150,596.53 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 7,535 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 9,853 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 4 สิงหาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

 

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 ในตำแหน่งพนักงานฝ่ายการตลาดได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,694 บาท และได้ค่าคอมมิสชั่นซึ่งคิดคำนวณจากยอดสินค้าที่โจทก์จำหน่ายได้ในแต่ละเดือนกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนเมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2547โจทก์ได้รับเงินค่าสินค้าจำนวน 7,500 บาทแล้วไม่นำส่งให้จำเลย จำเลยตรวจสอบพบจึงได้ออกใบเตือนครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ลงวันที่ 21กันยายน 2547 ตามเอกสารหมาย ล.9แล้วสั่งพักงานโจทก์เป็นเวลา 14 วันรวมทั้งออกหนังสือชี้แจงความรับผิดชอบเรื่องเงินของบริษัทแจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมายล.10 ต่อมาระหว่างวันที่ 13 ถึง 16 พฤษภาคม 2548 จำเลยได้เชิญนายไพบูลย์ เมืองอุดมและนายทวีรัตน์ ธิติพัทร์ เป็นวิทยากรไปเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจขายตรงของจำเลยในแปดจังหวัดภาคใต้และมอบเงินจำนวน 22,000บาทให้แก่โจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์และวิทยากร วันที่ 20 พฤษภาคม 2548โจทก์ได้ยื่นแบบฟอร์มสะสางค่าใช้จ่ายพร้อมแนบเอกสารประกอบต่อฝ่ายบัญชีของจำเลยตามเอกสารหมายล.5 ต่อมาวันที่ 27กรกฎาคม 2548 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.11โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและยังค้างจ่ายเงินเดือนของโจทก์ระหว่างวันที่ 1 ถึง 21 กรกฎาคม 2548 จำนวน 7,535 บาทส่วนค่าคอมมิสชั่นจำเลยได้จ่ายให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วและฟังว่าหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.11ระบุสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่า ในการเดินสายไปประชุมระหว่างวันที่ 13 ถึง 19 พฤษภาคม 2548นายไพบูลย์มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในระหว่างที่เป็นวิทยากรของจำเลยจำนวน 4,660 บาท นายไพบูลย์ได้ส่งมอบใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมดแก่โจทก์โจทก์ได้รับเงินสำรองจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายของวิทยากรจากจำเลยไปแล้วมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้แก่นายไพบูลย์ในทันทีแต่โจทก์ไม่จ่ายเงินคืนแก่นายไพบูลย์โดยมีเจตนาทุจริต แล้วินิจฉัยว่านายไพบูลย์พยานจำเลยเบิกความกลับไปกลับมาไม่อยู่กับร่องกับรอยขาดความน่าเชื่อถือและที่นายไพบูลย์เบิกความว่าได้มอบหลักฐานให้พนักงานคนอื่นของจำเลยไปเบิกค่าใช้จ่ายนั้นก็ขัดแย้งกับระเบียบปฏิบัติของจำเลยเอง และไม่ตรงกับข้ออ้างในหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.11พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้ว่านายไพบูลย์ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเป็นวิทยากรที่ภาคใต้ในระหว่างวันที่ 9 ถึง 16 พฤษภาคม 2548 เฉพาะค่าที่พักและค่าน้ำมันรถตามเอกสารหมาย ล.5แผ่นที่ 15 ถึง 17นายไพบูลย์ได้นำใบเสร็จรับเงินตามเอกสารดังกล่าวมามอบให้โจทก์ที่สำนักงานของจำเลยในวันที่19 พฤษภาคม 2548 และโจทก์ได้มอบเงินตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวแก่นายไพบูลย์ไปครบถ้วนแล้วในวันนั้นโจทก์จึงไม่ได้กระทำผิดตามที่ระบุในหนังสือเลิกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดกรณีหนึ่งกรณีใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คำเบิกความของนายไพบูลย์ เมืองอุดมพยานจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าคำเบิกความของโจทก์ทั้งคำเบิกความของโจทก์ก็มีข้อพิรุธพยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะกระทำผิดและการกระทำนี้เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

 

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าค่าคอมมิสชั่นเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยหรือไม่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 บัญญัติความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง”ไว้ว่าหมายถึงเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เมื่อเงินค่าคอมมิสชั่นเป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากการจำหน่ายสินค้าของจำเลยซึ่งคิดคำนวณจากยอดสินค้าที่โจทก์จำหน่ายได้ในแต่ละเดือนดังนั้น นอกจากโจทก์จะได้รับเงินเดือนเป็นค่าจ้างประจำอยู่แล้วหากโจทก์เป็นผู้ขายสินค้า โจทก์ยังมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการขายหรือค่าคอมมิสชั่นซึ่งค่าคอมมิสชั่นนี้โจทก์จะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนยอดขายที่โจทก์สามารถขายได้เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นได้ว่าค่าคอมมิสชั่นเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนในการทำงานโดยคิดตามผลงานที่โจทก์ทำได้ดังนั้นค่าคอมมิสชั่นจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มาตรา 5จำเลยจึงต้องนำไปรวมกับเงินเดือนของโจทก์อัตราสุดท้ายเดือนละ 8,694 บาท มาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

 พิพากษายืน

 

 

Visitors: 122,702