ค่าชดเชยกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1195/2551

ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

ป.รัษฎากร มาตรา 42(17)

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 72,500 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 16,500 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 72,500 บาท ค่าชดเชย 217,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 880,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยยอมให้โจทก์ทำงานต่อไปหลังวันที่ 30 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงานเป็นการต่อสัญญาจ้างแรงงานออกไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างเดือนตุลาคม 2548โจทก์ยังไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปี 6 วันจำเลยไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 90 วันเป็นเงิน 195,000 บาท จำเลยจ่ายแล้ว 175,500 บาท ยังขาดอยู่ 19,500 บาทจำเลยเจตนาไม่ต่ออายุสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ตั้งแต่ก่อนครบกำหนดสัญญาแต่ด้วยความบกพร่องของจำเลยเองทำให้การแจ้งไม่ต่อสัญญาหรือบอกเลิกสัญญาล่าช้าไปเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 65,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 13,000 บาทค่าชดเชยส่วนที่ขาด 19,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 65,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดอกเบี้ยให้นับแต่วันเลิกจ้าง(วันที่ 2 พฤศจิกายน 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 โดยได้ทำสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนด 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2548เดิมนางนงลักษณ์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคลต่อมานางสาวธัญธรซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการกลุ่มฝ่ายทรัพยากรบุคคลและการจัดการได้เข้าทำงานกับจำเลยแทนนางนงลักษณ์ก่อนมีการเลิกจ้างโจทก์ไม่นานหลังจากครบกำหนดตามสัญญาจ้างแรงงาน แล้วในวันที่ 12และวันที่ 18 ตุลาคม 2548โจทก์ได้ทำงานในฐานะผู้รับมอบอำนาจของจำเลย ต่อมาจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่2 พฤศจิกายน 2548จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์และโจทก์ได้รับไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 175,500 บาท

 

จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าจำเลยมิได้มีเจตนาให้โจทก์ไปทำงานในฐานะผู้รับมอบอำนาจจำเลยหลังจากที่ครบกำหนดการจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานการที่โจทก์ไปทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างขึ้นใหม่หลังจากครบกำหนดการจ้างเดิมแล้วจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในเดือนตุลาคม 2548 ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์แสดงว่าโจทก์ทำงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2548เป็นการทำงานเกินหนึ่งปีแล้วจำเลยเลิกจ้างโดยมิชอบจึงขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างของเดือนตุลาคม 2548ค่าชดเชยจากการทำงานครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งจำเลยให้การต่อสู้คำฟ้องโจทก์ส่วนนี้เพียงว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยและเป็นการครบกำหนดตามสัญญาจ้างที่ตกลงกำหนดระยะเวลากันไว้แน่นอนแล้วโดยไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงการทำงานของโจทก์ในเดือนตุลาคม 2548หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานแต่อย่างใดคำให้การจำเลยจึงไม่มีประเด็นว่าการที่โจทก์ทำงานให้จำเลยในเดือนตุลาคม 2548 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันแล้วแต่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวน 19,500 บาทแล้วจ่ายส่วนที่เหลือ 175,000 บาท แก่โจทก์การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เพิ่มอีก 19,500 บาท จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร หมวด 3ภาษีเงินได้ ส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา มาตรา 42(17) บัญญัติให้เงินได้ตามที่จะได้กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 217 (พ.ศ.2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (51) ระบุให้ “ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและค่าชดเชยที่พนักงานได้รับตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างทั้งนี้เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาท”เป็นเงินได้ตาม (17) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เมื่อเลิกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118(2) ซึ่งเป็นค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายและไม่เกินสามแสนบาทจึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรและกฎกระทรวงข้างต้นและไม่ถือเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) ซึ่งจำเลยเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินจะต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 ประกอบมาตรา 3 จตุทศ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักภาษีเงินได้ ณที่จ่ายจากค่าชดเชยที่ต้องจ่ายให้โจทก์เมื่อจำเลยหักค่าชดเชยที่ต้องจ่ายแก่โจทก์จึงเป็นการจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ขาดไป 19,500 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาด 19,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

( พีรพล พิชยวัฒน์ - วิธวิทย์หิรัญรุจิพงศ์ - วิเทพ พัชรภิญโญพงศ์ )

ศาลแรงงานกลาง - นายสมบูรณ์จิตรพัฒนากุล

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2548

 

นายไพรัช บูรพชัยศรี โจทก์

บริษัทเมโทรแมชีนเนอรี่ จำกัด จำเลย

ป.รัษฎากร มาตรา 3 จตุทศ, 40(1), 50

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5, 17, 118

 

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินประเภทต่างๆ เนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและเป็นเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 136,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินสะสมจำนวน 2,152.98 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 136,800บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชยเป็นเงิน 1,368,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000,000 บาท

 

ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยได้นำเงินจำนวน 5,472,036.32 บาทมาวางศาลเพื่อชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาจำเลยอ้างต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้วเป็นเงินจำนวน6,538,905.72 บาท โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเงินจำนวน 1,066,869.40 บาทโจทก์เห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำบังคับโดยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เต็มจำนวนตามคำบังคับซึ่งออกตามคำพิพากษาการชำระภาษีเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องชำระให้แก่กรมสรรพากรภายหลังจากที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วข้ออ้างเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย จำเลยมิได้ยกขึ้นกล่าวในชั้นพิจารณาเพิ่งหยิบยกขึ้นมาอ้างในชั้นบังคับคดี จำเลยไม่อาจหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ ดังนั้นจำเลยยังคงเป็นหนี้ค่าชดเชยตามคำพิพากษาเป็นเงินจำนวน 1,067,958.29 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยมาชำระหนี้โจทก์ให้เต็มจำนวนตามคำพิพากษา

 

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าตามคำร้องของโจทก์ โจทก์มิได้อ้างว่าจำนวนภาษีที่จำเลยหักไว้ ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้องจึงต้องฟังว่า การหักภาษีได้หักไว้เป็นจำนวนที่ถูกต้องแล้วและเงินที่โจทก์ได้รับในคดีนี้เป็นเงินได้พึงประเมินจำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษา จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ ณที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 มาตรา 3 จตุทศ จึงไม่มีเหตุที่จะออกหมายบังคับคดีตามที่โจทก์ขอ ให้ยกคำร้อง

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่าโจทก์ชอบที่จะบังคับคดีให้จำเลยชำระหนี้เต็มจำนวนตามคำพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่าหนี้เงินประเภทต่าง ๆ ที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางล้วนแต่เป็นเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างนั่นเองถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมินจำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาย่อมมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแม้จำเลยจะมิได้อ้างเรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้ในชั้นพิจารณาก็ตามแต่เมื่อจำเลยจะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยก็สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายได้ คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้ยกคำร้องของโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

 

พิพากษายืน

 

( วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - ชวลิตยอดเณร - วิเทพ พัชรภิญโญพงศ์ )

 

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323/2544

นาย ชุมพล หวังวัชรกุล โจทก์

บริษัท ปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด จำเลย

ป.รัษฎากร มาตรา 3 เตรส, 40, 42, 50

 

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเท่ากับก่อนที่จะมีการเลิกจ้างให้จำเลยชำระดอกเบี้ยค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 106.24 บาทและค่าจ้างอัตราเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์ได้รับในช่วงระหว่างที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหากไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ขอให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน238,650 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน39,775 บาทพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามกฎหมาย และค่าเสียหายจำนวน 2,386,500 บาท นอกจากนี้ให้จำเลยชำระค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 3 วัน เป็นเงิน3,977.49 บาท แก่โจทก์ระหว่างพิจารณาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์จำนวน299,305 บาทโดยจำเลยจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางศาลเพื่อให้โจทก์รับไปจากศาลภายในวันที่ 8มีนาคม 2543 หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีทันทีซึ่งโจทก์ตกลงและไม่ติดใจเรียกร้องอื่นใดอีกซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยชำระเงินให้โจทก์ไม่ครบตามคำพิพากษาโดยหักภาษี ณ ที่จ่ายจากจำนวนเงินตามคำพิพากษาเป็นเงิน 13,431 บาท นำส่งกรมสรรพากรแล้ว ซึ่งโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิหักภาษีณที่จ่ายดังกล่าวเพราะเงินตามคำพิพากษาเป็นเงินค่าชดเชยได้รับยกเว้นรัษฎากรในส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาทตามกฎกระทรวงฉบับที่217 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรจำเลยแถลงว่าการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นไปตามกฎหมายแล้วนอกจากนี้จำเลยยังได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรแล้วว่าหากการหักภาษี ณที่จ่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์มีสิทธิเรียกภาษีที่หักไว้คืนได้โดยยื่นคำร้องขอต่อกรมสรรพากรภายหลัง

 

ศาลแรงงานกลาง เห็นว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ในศาลตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเงินซึ่งจำเลยจ่ายให้โจทก์ในกรณีที่โจทก์และจำเลยสมัครใจระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยศาลยังไม่ได้ชี้ขาดว่าฝ่ายใดผิดหรือถูกมิใช่กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ดังนั้นเงินดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าชดเชย จำเลยจึงต้องหักภาษี ณที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า"ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยมีหน้าที่หักภาษี ณที่จ่ายจากเงินที่ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมหรือไม่ เห็นว่าเมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้วปรากฏว่าเงินจำนวน299,305บาทที่จำเลยยอมจ่ายให้โจทก์นั้นไม่ได้ระบุไว้แน่ชัดว่าเป็นเงินตามฟ้องประเภทใดเป็นแต่เพียงระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือและเมื่อตรวจดูคำฟ้องแล้วปรากฏว่านอกจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจำนวน238,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มแล้วยังฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 39,775บาทพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายจำนวน 2,386,500 บาทดังนั้นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพื่อให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือดังกล่าวจึงมิใช่ค่าชดเชยหรือพอจะแปลได้ว่าเป็นค่าชดเชยเพราะนอกจากจะไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าชดเชยแล้วยังไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดอันจะมีผลให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใดเมื่อเงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ค่าชดเชยจึงไม่ได้รับยกเว้นรัษฎากรตามกฎกระทรวงฉบับที่126 (พ.ศ. 2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่217(พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรข้อ 2(51) อย่างไรก็ตามการที่จำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็เพราะถูกโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างนั่นเองถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้มาเนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 40(1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมินเมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42 ดังนั้นจำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ คำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว"

 

พิพากษายืน

( หัสดี ไกรทองสุก - กมลเพียรพิทักษ์ - จรัส พวงมณี )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3353/2532

นาง ประภาศิริ สัตย ธรรม โจทก์

นาย เดชอุดม ไกรฤทธิ์ จำเลย

ป.รัษฎากร มาตรา 40(1), 42(13), 50

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 8

 

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจากจำเลยชั้นพิจารณาโจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า ค่าจ้างค้างชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยตามฟ้องโจทก์ได้รับชำระจากจำเลยแล้วคดีคงมีประเด็นเฉพาะค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามยอมโดยจำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์ 85,440 บาท และจำเลยได้นำเงินมาวางศาลเพื่อให้โจทก์รับไปเป็นเงิน 77,180.48 บาท โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เป็นเงิน8,259.52 บาทพร้อมกับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากรต่อศาลเพื่อให้โจทก์รับไป

 

โจทก์ยื่นคำร้องว่าเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม ไม่ได้มีลักษณะเป็นเงินเดือนค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยงหรือประโยชน์ใด ๆ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40แต่เป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องและที่ศาลกำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามประมวลรัษฎากรจำเลยไม่มีหน้าที่หักภาษีของโจทก์ไว้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยชำระเงินจำนวน 8,259.52 บาทที่ยังขาดแก่โจทก์

 

ศาลแรงงานกลางเห็นว่าจำนวนเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจึงเป็นค่าเสียหายเนื่องจากสัญญาจ้างแรงงานมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดอันได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(13)แต่เป็นเงินได้พึงประเมินที่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้การที่จำเลยหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน8,259.52 บาทจึงชอบแล้วให้ยกคำร้องของโจทก์

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยยอมจ่ายเงินจำนวน 85,440 บาทแก่โจทก์ก็เนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโดยอาศัยฐานะที่โจทก์เป็นลูกจ้าง และจำเลยเป็นนายจ้างเงินค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจากจำเลยจึงเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 40(1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมินหาใช่เป็นค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดตามมาตรา42(13) ไม่จำเลยซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าภาษีที่หักไว้จำนวน 8,259.52 บาทคืนที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์มานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

พิพากษายืน.

 

( ศักดา โมกขมรรคกุล - มาโนชเพียรสนอง - นำชัย สุนทรพินิจกิจ )

 

 

Visitors: 123,491