(นำเข้าซ้อน) ผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จำหน่ายสินค้าของตนในครั้งแรก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2543

บริษัท วอห์ล คลิปเปอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับพวก โจทก์

บริษัท พี.ซี.แอล. จำกัด จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 421, 797

ป.อ. มาตรา 273, 274, 275

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 4, 44, 108, 109, 110(1)

 

โจทก์ที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยนโดยใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในประเทศ สหรัฐอเมริกาและประเทศไทย คำว่า "WAHL" โจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับ สินค้าปัตตะเลี่ยน ทำให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไปใช้โดยมิชอบ วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าก็เพื่อแยกความแตกต่าง ระหว่างสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อ ระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตนการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของ เครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้า เมื่อผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จำหน่ายสินค้าของตนใน ครั้งแรก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่าย ไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้น ออกจำหน่ายอีกต่อไป โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมาย การค้าที่แท้จริงที่จำเลยซื้อจากตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มาจำหน่ายในประเทศไทยได้

 

แม้กล่องบรรจุสินค้าปัตตะเลี่ยนซึ่งมีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" จะมีซองกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันห่อหุ้มกล่องและมีใบรับประกัน ที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันระบุชื่อที่อยู่ของจำเลยว่าเป็นศูนย์บริการ ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่แสดงว่าสินค้าปัตตะเลี่ยนในกล่องหรือหีบห่อนั้น เป็นสินค้าของโจทก์ที่ 1 จำเลยเพียงแต่เป็นผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนให้เท่านั้น มิใช่แสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ที่ 1 การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL"ของโจทก์ที่ 1

 

โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า"WAHL" ของโจทก์ที่ 1 จากประเทศสหรัฐอเมริกามาจำหน่ายในประเทศไทยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จากโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยผู้หนึ่งเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่า การที่จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหาย แก่โจทก์ที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421

 

 

 

________________________________

 

 

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่า เสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 เดือนละ 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะหยุดจำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มี เครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" รวมทั้งห้ามสั่งหรือนำเข้ามาจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งปัตตะเลี่ยนที่มี เครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" หรือใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ต่อไป และห้ามพิมพ์ข้อความใด ๆ บนเอกสารโดยมีชื่อยี่ห้อ "WAHL" กับให้จำเลยรวบรวมเก็บสินค้าปัตตะเลี่ยนที่ละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งวางจำหน่ายในท้องตลาดและอยู่ในความครอบครองของจำเลยส่งมอบต่อเจ้า พนักงานบังคับคดีเพื่อจัดการทำลายเสีย

 

จำเลยขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง

 

โจทก์ทั้งสอง อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาล ฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า"ข้อเท็จ จริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยน โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" ซึ่งโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว และเมื่อปี 2527 โจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" สำหรับใช้กับสินค้าปัตตะเลี่ยนในประเทศไทย ทั้งได้ขอต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อปี 2537 ด้วย ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ที่ 1 มอบให้โจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนยื่นคำขอแจ้งความจำนงขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าตาม ประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกและการนำสินค้าเข้ามาในราช อาณาจักร พ.ศ. 2530โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL"จากโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยนานประมาณ 12 ปี แล้ว โดยจะบรรจุในวัสดุห่อหุ้ม 2 แบบ คือแบบบรรจุอยู่ในกล่องพลาสติกใสพร้อมหวีและบรรจุอยู่ในลังโฟมห่อหุ้มด้วย กล่องกระดาษ เมื่อปี 2537 จำเลยได้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" จากบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยด้วย ตามใบขนสินค้าขาเข้า ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2539 โจทก์ที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบริษัทโอ.เอ.ไอ. จำกัด พบสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า" WAHL" ที่บรรจุในวัสดุห่อหุ้ม 2 แบบเช่นเดียวกับที่โจทก์ที่ 2 นำเข้ามาจำหน่าย แต่ได้เพิ่มซองกระดาษห่อหุ้มกล่องกระดาษบรรจุสินค้าปัตตะเลี่ยนอีกชั้นหนึ่ง โดยซองกระดาษนั้นพิมพ์ข้อความโฆษณาเป็นรูปปัตตะเลี่ยนซ้อนอยู่บนธงชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาและมีภาษาไทยกำกับว่า "ของแท้ต้องมีใบรับประกัน 1 ปี"กับที่มุมล่างด้านขวามีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 เป็นภาษาอังกฤษคำว่า"WAHL" สีขาวบนพื้นสี่เหลี่ยมสีแดง และยังมีใบรับประกันสินค้าซึ่งมีชื่อและที่อยู่ของจำเลยระบุว่าเป็นศูนย์ บริการพิมพ์ไว้ โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ไปค้นและยึดสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้า คำว่า " WAHL" ที่สำนักงานของจำเลย

 

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า การที่จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้า คำว่า " WAHL" เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 กับละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 และจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่เพียงใด โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า การใช้หลักกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจำเป็นต้อง พิจารณาพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าควบคู่กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะลักษณะของสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นเป็นสิทธิเด็ดขาดที่กฎหมายให้ ความคุ้มครองแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ แต่ผู้เดียว ดังนั้นการละเมิดสิทธิจะเกิดขึ้นเมื่อผู้อื่นได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าการใช้นั้นจะได้กระทำโดยจงใจให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าเสียหาย หรือโดยประมาทเลินเล่ออันเป็นผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าเสียหายหรือไม่ และไม่ว่าจะเกิดผลเสียหายแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าขึ้นจริงหรือไม่ การที่จำเลยซื้อสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า"WAHL" จากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแข่งกับโจทก์ทั้ง สอง โดยมีการทำหีบห่อและซองกระดาษที่พิมพ์รูปปัตตะเลี่ยน เครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" และข้อความว่า "ของแท้ต้องมีใบรับประกัน 1 ปี"กับใบรับประกันซึ่งระบุชื่อที่อยู่ของจำเลยเป็นศูนย์บริการโดยไม่ได้รับ อนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยได้น้อยลงเป็นการละเมิดสิทธิของ โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องร้องบังคับจำเลยให้ระงับการละเมิดสิทธิหรือชด ใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยนโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อปี 2527 โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าปัตตะเลี่ยน ในประเทศไทย แล้วได้ต่ออายุการจดทะเบียนในปี 2537 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ที่ 1 ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวย่อมเป็นผู้มี สิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าปัตตะ เลี่ยนตามที่จดทะเบียนไว้ ส่วนการที่โจทก์ที่ 2 ได้ไปยื่นคำขอแจ้งความจำนงรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าดังที่โจทก์ที่ 2 นำสืบก็ทำในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 มีส่วนเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้าร่วมกับโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 2 คงเป็นเพียงผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ของโจทก์ที่ 1 เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น จึงมีปัญหาที่ต้องแยกพิจารณาประการแรกว่า จำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ และประการที่สองว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 อย่างใดหรือไม่ ในปัญหาที่ว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 หรือไม่นั้น แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 จะให้การคุ้มครองสิทธิของโจทก์ที่ 1 ในฐานะที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ตามที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการคุ้มครองโดยให้สิทธิแก่โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าปัตตะเลี่ยนตามที่ ได้จดทะเบียนไว้ ซึ่งทำให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไปใช้โดยมิชอบเท่านั้น และเมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าหมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับ สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น" ย่อมเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องหมายการค้าตามบทบัญญัติดังกล่าวคือการใช้ เครื่องหมายการค้ากับสินค้าเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าของเจ้าของ เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของ เจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นในการจำหน่ายสินค้าของตน เพราะการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าเช่นนี้ทำให้ประชาชนที่นิยมเชื่อถือ ในสินค้าและเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นได้อาศัย เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่อง หมายการค้านั้นได้ถูกต้องตามความประสงค์ของตน และการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้า ดังนี้ เมื่อผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จำหน่ายสินค้าของตนใน ครั้งแรกซึ่งเป็นการใช้สิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับ สินค้าของตนเพื่อประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าโดยได้รับประโยชน์จากการใช้ เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าตามปกตินำสินค้า นั้นออกจำหน่ายอีกต่อไป คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า สินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ที่จำเลยนำเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อปี 2537 ตามใบขนสินค้าขาเข้าเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยซื้อสินค้าจากผู้ขายสินค้าให้จำเลยที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ซึ่ง เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 เช่นกัน กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยซื้อสินค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 เข้ามาจำหน่ายโดยมิได้กระทำการใด ๆ โดยมิชอบไม่ว่าจะเป็นการปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" ของโจทก์ที่ 1 หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือ ที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1ดังกล่าว อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534มาตรา 108, 109 และมาตรา 110(1) หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273, 274และมาตรา 275 แต่อย่างใด ทั้งการที่จำเลยซื้อสินค้าของโจทก์ที่ 1 จากตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนั้น ก็เกิดจากการที่โจทก์ที่ 1 ได้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนโดยใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าเพื่อ จำหน่ายโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนในการขายสินค้านั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" ที่ติดอยู่ที่สินค้าของโจทก์ที่ 1 นั้นก็ยังคงเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดและความเป็นเจ้าของสินค้า ของโจทก์ที่ 1 ตามที่โจทก์ที่ 1 ได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นเพื่อจำแนกสินค้าของตนอยู่เช่นเดิม ดังนั้น โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่แท้จริงที่มี เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ซึ่งมิใช่เครื่องหมายการค้าปลอมหรือที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยได้การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้ เครื่องหมายการค้าอันเป็นการละเมิดสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ที่ 1 ในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" สำหรับสินค้าปัตตะเลี่ยนตามที่ได้จดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมาย การค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 ดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ส่วนกรณีที่กล่องบรรจุสินค้าปัตตะเลี่ยนซึ่งมีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยนำเข้ามาจำหน่ายด้วย ซึ่งมีซองกระดาษพิมพ์รูปปัตตะเลี่ยนซ้อนอยู่บนธงชาติประเทศสหรัฐอเมริกา มีข้อความรับประกันกับมีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ห่อหุ้มกล่องและมีใบรับประกันระบุชื่อที่อยู่ของจำเลยว่าเป็นศูนย์บริการ เพิ่มขึ้นมาอีกนั้น ก็เป็นสินค้าที่ยึดได้จากบริษัทโอ.เอ.ไอ. จำกัด แม้ใบรับประกันจะมีเครื่องหมายการค้าคำว่า" WAHL" อยู่ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังแสดงว่าสินค้าปัตตะเลี่ยนในกล่องหรือหีบ ห่อนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 1 เช่นกัน จำเลยเพียงแต่เป็นผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนให้เท่านั้น มิใช่เป็นการแสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของ โจทก์ที่ 1 ดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนการที่โจทก์ที่ 1 ได้รับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ตามที่ได้ยื่นคำขอแจ้งความจำนงขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าไว้เมื่อ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 นั้น ก็ปรากฏว่าในข้อ 5 ของเอกสารดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า เป็นการคุ้มครองที่มิให้ผู้ใดนำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ปลอมหรือเลียนแบบเข้ามาในหรือส่งออกจากประเทศไทยเท่านั้น มิได้ห้าผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ที่แท้จริงของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยดังวินิจฉัยมาข้างต้น จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" ของโจทก์ที่ 1 ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 2 จะได้ความว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งสั่งโดยตรงจากโจทก์ที่ 1 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลาประมาณถึง 12 ปี แล้วก็ตามแต่โจทก์ที่ 2 ก็มิได้มีเอกสารใด ๆ มานำสืบยืนยันว่าโจทก์ที่ 1 ได้ตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL"แต่ผู้เดียวในประเทศไทย ในทางตรงกันข้าม นางสาวอารียา พรประเสริฐกุลผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 2 กลับเบิกความตอบทนายจำเลยรับว่า ก่อนวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ของโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวเมื่อปรากฏว่าก่อนวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตกลงตั้งโจทก์ที่ 2ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ของโจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวในประเทศไทยแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" จากโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยผู้หนึ่งเท่านั้นและจากหลักฐานการนำเข้าซึ่งสินค้า ปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" ตามใบขนสินค้าขาเข้าปรากฏว่า จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" จากตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ที่ 1 ที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มาจำหน่ายในประเทศไทยในวันที่ 28มกราคม 2537 ซึ่งนางสาวพจนีย์ สมณะ กรรมการจำเลยที่เป็นทั้งพยานโจทก์ที่ 2 และพยานจำเลยก็เบิกความว่า เมื่อสั่งสินค้ามาแล้ว จำเลยไม่ได้สั่งสินค้าเข้ามาอีกเลย ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่า การที่จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า " WAHL" เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 อันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้วพิพากษา ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( พินิจ เพชรรุ่ง - สมคิด ไตรโสรัส - สุรชาติ บุญศิริพันธ์ )

หมายเหตุ

 

(1) ผู้ผลิตสินค้า (manufacturer) ที่ต้องการจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตนในต่างประเทศ มักจะจำหน่ายสินค้าโดยผ่านระบบตัวแทนจำหน่าย (distributorship)ซึ่งตัวแทนจำหน่าย (distributor) มักจะเป็นบุคคลที่มีความคุ้นเคยกับตลาดในประเทศตัวแทนจำหน่ายจะสร้าง กู๊ดวิลล์และชื่อเสียงของสินค้าด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์และจะสั่งซื้อ สินค้าจากผู้ผลิตเพื่อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศในราคาที่ทำกำไรให้แก่ตน

 

การที่ตลาดของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงทำให้สินค้าชนิดเดียวกันที่จำหน่ายโดยตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ มีราคาที่แตกต่างกันไปด้วย และด้วยความแตกต่างของราคาสินค้าเช่นนี้ จึงทำให้บุคคลที่มองเห็นลู่ทางทำกำไร ซื้อสินค้าจากประเทศที่มีราคาถูกไปจำหน่ายในประเทศที่มีราคาแพง เพื่อหากำไรจากส่วนต่างของราคา

 

การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายแข่งกับตัวแทนจำหน่ายในลักษณะนี้เรียกว่า "การนำเข้าซ้อน"(parallelimport) โดยผู้นำเข้าซ้อนสามารถที่จะเสนอขายสินค้าชนิดเดียวกันในราคาที่ต่ำกว่า สินค้าที่จำหน่ายโดยตัวแทนจำหน่าย เนื่องจากผู้นำเข้าซ้อนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาเพื่อสร้างกู๊ดวิลล์ ให้กับสินค้า

 

(2) การนำเข้าซ้อนเป็นธุรกรรมที่แพร่หลายมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มีความเห็นเกี่ยวกับธุรกรรมนี้ในมุมมองที่แตกต่างกัน สำหรับตัวแทนจำหน่ายสินค้าในประเทศที่มีการนำเข้าซ้อน ธุรกรรมลักษณะนี้ได้ทำให้ตัวแทนจำหน่ายสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล

 

แต่สำหรับผู้บริโภค การนำเข้าซ้อนจะก่อให้เกิดการแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลาย การนำเข้าซ้อนจะกดดันให้ตัวแทนจำหน่ายลดราคาสินค้าของตนลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน

 

(3) การที่การนำเข้าซ้อนมีผลกระทบต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตัวแทนจำหน่าย ตัวแทนจำหน่ายจึงต้องการหาวิธีการที่จะยับยั้งการนำเข้าซ้อน วิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ก็คือ การบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยอ้างว่าการนำเข้าซ้อนเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิในการนำเข้าของตน

 

ปัญหาคือ ตัวแทนจำหน่ายจะสามารถบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อห้ามการนำเข้า ซ้อนได้หรือไม่ ทั้งนี้เพราะสินค้านำเข้าซ้อนนั้นในความเป็นจริงก็คือสินค้าที่ผลิตโดยผู้ ผลิตรายเดียวกันกับสินค้าที่จำหน่ายโดยตัวแทนจำหน่ายหรือเป็นสินค้าที่ผลิต ด้วยการรู้เห็นยินยอมของผู้ผลิตนั่นเอง เช่น เป็นสินค้าที่ผลิตโดยบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากผู้ผลิต (licensee) เป็นต้น

 

มีหลักกฎหมายทั่วไปอยู่หลักหนึ่งเรียกว่า "หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิในทรัพย์สินทาง ปัญญา"(PrincipleofExhaustionofIntellectualPropertyRights)ซึ่งมีที่มาดั้ง เดิมจากคำพิพากษาของศาลแห่งประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี ที่ตัดสินไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 สาระสำคัญของหลักการนี้คือเมื่อได้มีการวางจำหน่ายสินค้าภายใต้สิทธิใน ทรัพย์สินทางปัญญาใดโดยชอบแล้ว (1) สิทธิทางกฎหมายเหนือสินค้านั้นย่อมเป็นอันระงับสิ้นไป ผู้ทรงสิทธิจะบังคับสิทธิของตนเอากับผู้ใช้ประโยชน์จากสินค้านั้นมิได้ เช่น ผู้ซื้อสินค้าที่วางจำหน่ายโดยผู้ทรงสิทธิ ย่อมมีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์จากสินค้านั้น ไม่ว่าจะด้วยการใช้ ขาย หรือจำหน่ายสินค้านั้นต่อไป

 

หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ได้ถูกนำมาใช้เพื่อประนีประนอมความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของบุคคลสองกลุ่ม อันได้แก่ ประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในการปกป้องผลงานทางปัญญาของตน และประโยชน์ของผู้มีกรรมสิทธิ์ในสินค้าซึ่งได้รับสินค้านั้นมาโดยชอบหลักการ ระงับสิ้นไปของสิทธิเปิดโอกาสให้ผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแสวงหา ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากสิทธิของตนได้ในครั้งแรก และเมื่อผู้ทรงสิทธิได้รับประโยชน์ด้วยการจำหน่ายสินค้านั้นแล้ว สิทธิเหนือสินค้านั้นก็เป็นอันระงับไป หลักการนี้ตั้งอยู่บนปรัชญาความเชื่อที่ว่าผู้ซื้อสินค้าควรจะสามารถใช้ สิทธิในกรรมสิทธิ์ของตนได้โดยเสรีเช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินทั่วไป

 

(4) หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่ยอมรับมากขึ้นใน ปัจจุบัน แต่ขอบเขตของการใช้หลักการนี้ก็แตกต่างกันไปในประเทศ ซึ่งอาจจำแนกขอบเขตของการใช้หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ออกได้เป็น 3 ระดับคือ หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิภายในประเทศ (nationalexhaustion)หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิระดับภูมิภาค (regionalexhausion) และหลักการระงับสิ้นไปของสิทธิระดับระหว่างประเทศ (internationalexhaustion)

 

เป็นที่ทราบกันว่า สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิทางกฎหมายที่อาจใช้บังคับได้ในประเทศที่ มีสิทธิเท่านั้น ดังเป็นไปตามหลักดินแดน (TerritorialityPrinciple) สิทธิที่มีอยู่ในประเทศไม่อาจใช้บังคับการทำละเมิดที่ได้กระทำนอกราช อาณาจักร หรือสิทธิที่มีอยู่ในต่างประเทศจะไม่มีผลใช้บังคับในประเทศ เป็นต้น

 

ประเทศที่ใช้หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิภายในประเทศ จะยึดถือหลักดินแดนอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเฉพาะแต่การจำหน่ายสินค้าโดยชอบภายในประเทศเท่านั้น ที่จะทำให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเหนือสินค้านั้นระงับสิ้นไป

 

การที่ประเทศใดใช้หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิในระดับภูมิภาคและในระดับ ระหว่างประเทศแสดงว่าประเทศนั้นถือว่าหลักการระงับสิ้นไปของสิทธิเป็นข้อยก เว้นที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของหลักดินแดน การใช้หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิในลักษณะนี้ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการอนุญาต ให้มีการนำเข้าซ้อน ผู้ทรงสิทธิไม่อาจบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อห้ามการนำสินค้า เข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ หากสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ตนเป็นผู้จำหน่าย หรือได้ยินยอมให้มีการจำหน่ายสินค้านั้นในต่างประเทศ

 

(5) ความตกลงทริปส์ซึ่งเป็นความตกลงในภาคผนวกของความตกลงจัดตั้งองค์การการค้า โลก มิได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเกี่ยวกับหลักการระงับสิ้นไปของสิทธิในทรัพย์สิน ทางปัญญา หรือที่เกี่ยวกับการนำเข้าซ้อนเอาไว้ ข้อ 6 ของความตกลงทริปส์เพียงแต่บัญญัติหลักการเป็นเชิงประนีประนอมว่า บทบัญญัติของความตกลงทริปส์จะไม่นำไปใช้บังคับกับปัญหาการระงับสิ้นไปของ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งแปลความได้ว่า ความตกลงทริปส์อนุญาตให้ประเทศสมาชิกเลือกใช้หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิได้ ตามที่เห็นสมควร

 

ด้วยเหตุนี้ การใช้หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่าง ๆ จึงมีแนวทางที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายและนโยบายของแต่ละประเทศ เช่น สหภาพยุโรปใช้หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิระดับภูมิภาคโดยใช้เขตภูมิศาสตร์ ของประชาคมยุโรปเป็นเกณฑ์ ก็ด้วยมีวัตถุประสงค์ที่จะบรรลุความมุ่งหมายของการจัดตั้งตลาดร่วมทางการค้า หรือประเทศญี่ปุ่นใช้หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิระดับระหว่างประเทศ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการค้าเสรีและไม่ต้องการให้มีการใช้ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในลักษณะที่เป็นอุปสรรคทางการค้าเป็นต้น

 

(6) มีปัญหาว่า การใช้หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาระดับระหว่างประเทศจะ ขัดกับหลักความเป็นอิสระของสิทธิ (Independence ofRights) ตามข้อ 4bis ของอนุสัญญากรุงปารีสหรือไม่

 

หลักความเป็นอิสระของสิทธิ หมายความว่า สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ ย่อมมีความเป็นอิสระจากกัน ถึงแม้ว่าสิทธินั้นจะเป็นสิทธิที่มีอยู่เหนือผลงานทางปัญญาอันเดียวกันก็ตาม การที่สิทธิในประเทศหนึ่งได้ถูกยกเลิก แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือระงับไปไม่ว่าด้วยเหตุใดจะไม่มีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสิทธิที่มีอยู่ ในประเทศอื่น

 

การที่สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้ระงับสิ้นไป เนื่องจากมีการจำหน่ายสินค้านั้นในต่างประเทศ จึงน่าจะขัดกับหลักความเป็นอิสระของสิทธิ เพราะดูเหมือนว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศได้ระงับสิ้นไปตามการ ระงับของสิทธิในต่างประเทศ

 

แต่ในความเป็นจริง การใช้หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาระดับระหว่างประเทศ หาได้ขัดกับหลักความเป็นอิสระของสิทธิไม่ เพราะการที่สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้านำเข้าซ้อนได้ระงับสิ้นไปนั้น หาได้เป็นเพราะว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเดียวกันในต่างประเทศได้ระงับ สิ้นไปไม่ หากแต่เป็นเพราะว่าผู้ทรงสิทธิได้รับประโยชน์จากการใช้สิทธิในทรัพย์สินทาง ปัญญาของตนแล้ว ซึ่งการที่ผู้ทรงสิทธิได้รับประโยชน์จากสิทธิหรือไม่นั้น ถือเป็นข้อเท็จจริง (facts)ซึ่งหลักความเป็นอิสระของสิทธิไม่ได้ห้ามมิให้รับฟังข้อเท็จจริงที่ เกิดขึ้นในต่างประเทศ

 

(7) กฎหมายสิทธิบัตรของประเทศไทย ได้รับรองหลักการระงับสิ้นไปของสิทธิระดับระหว่างประเทศ โดยบทบัญญัติมาตรา 36 วรรคสอง (7) ของพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 ดังนั้น การนำเข้าซ้อนจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตร

 

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ฉบับปัจจุบัน หาได้มีบทบัญญัติที่ชัดแจ้งเกี่ยวกับหลักการระงับสิ้นไปของสิทธิและการนำ เข้าซ้อนไม่ ซึ่งทำให้เป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่า กฎหมายเครื่องหมายการค้าของไทยจะใช้หลักการนี้ไปในแนวทางใด โดยคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตได้ตัดสินไปในทำนองไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าซ้อน

 

ในอดีต ศาลฎีกามีคำพิพากษาไปในแนวทางว่า เมื่อมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยชอบ ผู้จดทะเบียนย่อมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าของตน ซึ่งสิทธิเด็ดขาดดังกล่าวรวมถึงสิทธิในการนำเข้าสินค้าด้วย ดังนั้น การนำเข้าซ้อนสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนจึงเป็นการละเมิดสิทธิ ของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น (คำพิพากษาศาลฎีกา 657/2499, คำพิพากษาศาลฎีกา 366/2500, คำพิพากษาศาลฎีกา882/2504, คำพิพากษาศาลฎีกา 1271-1273/2508, คำพิพากษาศาลฎีกา 1669-1672/2523 และคำพิพากษาศาลฎีกา 4603/2533)

 

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและศาลฎีกาได้แสดงเหตุผลไว้ อย่างสอดคล้องกัน โดยวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้นำสินค้าของตนออก จำหน่ายเป็นครั้งแรกแล้ว ก็ถือว่าเจ้าของเครื่องหมายได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้น จากสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่อาจใช้สิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้า ซึ่งประกอบการค้าตามปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายต่อไป

 

คำพิพากษาศาลฎีกานี้จึงเป็นคำพิพากษาที่กลับแนวคำพิพากษาในอดีตโดยรับรองว่า การนำเข้าซ้อนเครื่องหมายการค้าเป็นธุรกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายหากสินค้านำเข้า นั้นเป็นสินค้าที่ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จำหน่าย หรือรู้เห็นยินยอมให้มีการจำหน่ายสินค้านั้น

 

(8) คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและคำพิพากษา ศาลฎีกานี้ ตัดสินได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ กฎหมายสิทธิบัตรได้อนุญาตให้มีการนำเข้าซ้อน ก็โดยมีวัตถุ ประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณชนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการ ค้าเสรีแต่วัตถุประสงค์ดังกล่าวย่อมไม่อาจบรรลุได้หากกฎหมายเครื่องหมายการ ค้าจะไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าซ้อนด้วย

 

ถึงแม้ว่าการคุ้มครองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าจะมีความมุ่งหมายที่แตก ต่างกัน แต่ในทางปฏิบัติ สิทธิทางกฎหมายสองประเภทนี้ก็มีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น ทั้งนี้เพราะโดยทั่วไปสินค้าภายใต้สิทธิบัตรมักจะถูกนำออกจำหน่ายโดยมี เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนติดอยู่ด้วยเสมอ หากกฎหมายทั้งสองลักษณะมีบทบัญญัติในเรื่องการนำเข้าซ้อนที่แตกต่างกัน หรือใช้หลักการระงับสิ้นไปของสิทธิอย่างไม่สอดคล้องกันแล้ว ก็จะทำให้เกิดผลประหลาดมาก เนื่องจากการนำเข้าซ้อนสินค้าภายใต้สิทธิบัตรจะเป็นสิ่งที่อาจกระทำได้ โดยไม่เป็นการละเมิดต่อกฎหมายสิทธิบัตร แต่การนำเข้าซ้อนสินค้าเดียวกันนั้นกลับเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายเครื่อง หมายการค้า เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น

 

(9) ปัญหาที่ควรพิจารณาต่อไปคือ การอนุญาตการนำเข้าซ้อนจะไม่สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายเครื่องหมายการ ค้าหรือไม่

 

เจตนารมณ์ของกฎหมายเครื่องหมายการค้านั้นมีอยู่ 2 ประการสำคัญ

 

ประการแรก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเจ้าของเครื่องหมายการค้า ผู้ซึ่งได้ลงทุนและเสียเวลาไปกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์นั้นต่อสาธารณชน

 

ประการที่สอง เพื่อปกป้องสาธารณชนและผู้บริโภค โดยทำให้มั่นใจว่า ในการซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า ผู้ซื้อจะได้รับสินค้าในราคาและคุณภาพตามที่ตนคาดหมาย

 

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กฎหมายเครื่องหมายการค้าทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของบุคคลสองกลุ่ม ได้แก่ สิทธิของสาธารณชนในอันที่จะไม่สับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า และสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าในอันที่จะรักษาชื่อเสียงทางการค้าของ ตน

 

(10) ตามเจตนารมณ์ประการแรก การนำเข้าซ้อนอาจก่อความเสียหายแก่ตัวแทนจำหน่ายซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมาย การค้า ผู้ซึ่งได้ลงทุนในการโฆษณาเพื่อสร้างชื่อเสียงและกู๊ดวิลล์ของสินค้าใน ประเทศนำเข้า ซึ่งการสร้างชื่อเสียงและกู๊ดวิลล์ของสินค้าหาได้เป็นสิ่งที่อาจกระทำได้โดย ง่ายไม่ ผู้นำเข้าซ้อนมิได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สิ่งใดเลย หากเพียงแต่ฉกฉวยเอาชื่อเสียงและกู๊ดวิลล์ที่ตัวแทนจำหน่ายสินค้าได้สร้าง ขึ้นไปเป็นประโยชน์แก่ตนเท่านั้น

 

แต่ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ ชื่อเสียงและกู๊ดวิลล์ของสินค้านั้นเกิดขึ้นจากสิ่งใดกันแน่ เกิดจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของตัวแทนจำหน่าย หรือเกิดจากคุณภาพของสินค้าที่ผู้ผลิตสินค้าได้ทำให้เกิดมีขึ้น ในความเป็นจริง ความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าน่าจะมาจากคุณภาพของสินค้าและความเชื่อ ถือต่อผู้ผลิต มากกว่าที่จะเกิดจากการโฆษณาสินค้า

 

หากเป็นดังเช่นที่กล่าว การนำเข้าซ้อนก็หาใช่การกระทำที่เป็นการฉกฉวยกู๊ดวิลล์หรือชื่อเสียงทางการ ค้าของบุคคลอื่นไม่ เพราะสินค้าที่มีการนำเข้าซ้อนนั้นเป็นสินค้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายเดียวกัน หรือด้วยความยินยอมของผู้ผลิตรายเดียวกันนั่นเองและด้วยเหตุที่สินค้าได้ ผลิตขึ้นโดยผู้ผลิตรายเดียวกันนี้ จึงทำให้ประโยชน์สุดท้ายของการจำหน่ายสินค้าตกได้แก่ผู้ผลิตสินค้าเสมอ ไม่ว่าการจำหน่ายสินค้านั้นจะกระทำโดยตัวแทนจำหน่ายหรือผู้นำเข้าซ้อน

 

(11) ตามเจตนารมณ์ประการที่สอง มีปัญหาว่าการนำเข้าซ้อนอาจทำให้ประชาชนสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดที่แท้จริง ของสินค้าหรือไม่

 

ในปัญหานี้ ต้องจำแนกการนำเข้าซ้อนออกเป็น 2 ลักษณะ

 

ลักษณะแรก เป็นการนำเข้าซ้อนสินค้าที่มาจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าเองซึ่งมักจะเกิด ขึ้นในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้จำหน่ายสินค้าในประเทศต่าง ๆ ด้วยตนเอง หรือตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้า โดยเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในนามของตนเอง ในกรณีนี้ ผู้ผลิตสินค้ากับเจ้าของเครื่องหมายการค้าจะเป็นบุคคลคนเดียวกัน

 

ลักษณะที่สอง เป็นกรณีที่สินค้านำเข้าซ้อนมีที่มาจากบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ในเชิง เศรษฐกิจกับเจ้าของเครื่องหมายการค้า

 

ในกรณีนี้ เจ้าของเครื่องหมายการค้ามิได้เป็นผู้ผลิตสินค้านำเข้าซ้อน เนื่องจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าในประเทศนำเข้ามีฐานะเป็นตัวแทนจำหน่าย สินค้าเครื่องหมายการค้าจะถูกจดทะเบียนในประเทศนำเข้าในนามของตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเป็นบุคคล (หรือนิติบุคคล) ที่เป็นอิสระแยกต่างหากจากผู้ผลิตสินค้า โดยตัวแทนจำหน่ายได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้ามาจากผู้ผลิตสินค้าอีกที หนึ่ง

 

(12) ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่บันทึกนี้ ศาลฎีกาได้แสดงเหตุผลไว้อย่างชัดเจนว่า การใช้เครื่องหมายการค้ามีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกความแตกต่างของสินค้าของ เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของผู้อื่น และทำให้ประชาชนใช้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นเครื่องพิจารณาเลือกซื้อสินค้า ได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของตน

 

โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยนที่จำเลยนำเข้าซ้อนมาจากประเทศสิงคโปร์และเป็น ผู้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย ส่วนโจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ามิได้มีฐานะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น จำเลยได้ซื้อสินค้าจากผู้ขายสินค้าที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ซึ่งเป็นตัว แทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นกรณีที่สินค้านำเข้าซ้อนมีที่มาจากเจ้าของเครื่องหมายการค้า อันเป็นการนำเข้าซ้อนในลักษณะแรกนั่นเอง

 

เมื่อสินค้านำเข้าซ้อนมีที่มาจากเจ้าของเครื่องหมายการค้า (ซึ่งในกรณีนี้คือโจทก์ที่ 1) เครื่องหมายการค้านั้นย่อมทำหน้าที่บ่งระบุแหล่งกำเนิดของสินค้าได้อย่างถูก ต้องสินค้านำเข้าซ้อนจึงเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดที่แท้จริงตามที่เครื่อง หมายการค้านั้นได้แสดงไว้ทุกประการ

 

ด้วยเหตุนี้ เหตุผลของศาลฎีกาที่ว่า เมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" ที่ใช้ติดอยู่ที่สินค้า ยังคงเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดและความเป็นเจ้าของสินค้าของ โจทก์ที่ 1 ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายเครื่องหมายการค้า โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิหวงกันห้ามปรามการนำเข้าซ้อนสินค้าดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลที่ชอบแล้ว

 

(13) มีผู้ให้ความเห็นในทำนองว่า หากเป็นการนำเข้าซ้อนในลักษณะที่สองที่ผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามิได้ เป็นผู้ผลิตสินค้า ก็ไม่อาจถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ติดอยู่ที่สินค้านำเข้าซ้อนได้แสดง แหล่งกำเนิดที่แท้จริงของสินค้า การนำเข้าซ้อนจึงเป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าในประเทศนำ เข้า

 

ปัญหานี้ไม่อาจวิเคราะห์อย่างผิวเผินแต่เพียงว่า ผู้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในประเทศที่มีการนำเข้าซ้อนกับผู้ ผลิตสินค้าในต่างประเทศเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ เพราะการจะดูว่าเครื่องหมายการค้าได้ทำหน้าที่ในการบอกแหล่งกำเนิดของสินค้า หรือไม่นั้น มิอาจกระทำได้แต่เพียงการพิจารณาถึงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น หากแต่จะต้องคำนึงถึงลักษณะของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าเท่านั้น รวมทั้งพิจารณาถึงผู้ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงของเครื่องหมายการค้านั้นด้วย ซึ่งปัจจัยสำคัญก็คือ จะต้องคำนึงถึงความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับสินค้าและเครื่องหมายการค้า นั้นเป็นสำคัญ โดยดูว่าประชาชนผู้บริโภคเข้าใจว่าใครเป็นผู้ผลิตสินค้า และบุคคลใดคือเจ้าของที่แท้จริงของเครื่องหมายการค้านั้น

 

ตัวอย่างเช่น บริษัท ก. บริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า X บริษัท ก. มิได้เข้ามาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย หากแต่โอนสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า X ในประเทศไทยให้แก่บริษัทข. เช่นนี้ ถึงแม้ว่าโดยทางนิตินัย บริษัท ข. จะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยก็ตาม แต่การจะดูว่าผู้บริโภคในประเทศไทยสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือ ไม่ ก็ต้องดูว่าผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า X มีแหล่งกำเนิดจากที่ใด และใครเป็นผู้ผลิตสินค้าดังกล่าว

 

หากผู้บริโภคในประเทศไทยเข้าใจว่า สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัท ก. ซึ่งเป็นผู้ผลิตในต่างประเทศ เช่นนี้การนำเข้าซ้อนสินค้าที่บริษัท ก. ได้จำหน่ายในต่างประเทศย่อมเป็นการกระทำโดยชอบและไม่ถือว่าทำให้ประชาชน สับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า ถึงแม้ว่าสินค้านำเข้าซ้อนจะมีเครื่องหมายการค้า X ติดอยู่ และแม้ว่าสินค้านั้นจะเป็นสินค้าที่ผลิตโดยบริษัท ก. ซึ่งมิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยก็ตาม กรณีไม่ควรถือว่าผู้บริโภคได้เกิดความสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า เพียงเพราะว่าสินค้านั้นมิได้ผลิตโดยบริษัท ข. ซึ่งเป็นผู้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย

 

กรณีจะไม่เป็นปัญหามากนัก หากเครื่องหมายการค้านั้นเป็นเครื่องหมายร่วมของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ (collectivemarks) เพราะเมื่อเครื่องหมายการค้าที่ใช้เป็นเครื่องหมายร่วมของกลุ่มบริษัท แล้วสาธารณชนก็จะไม่เข้าใจว่าเครื่องหมายการค้านั้นเป็นของบริษัทใดบริษัท หนึ่ง หากแต่เป็นสินค้าที่มาจากบริษัทที่เป็นสมาชิกของกลุ่มบริษัทนั้น การนำเข้าซ้อนสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัทในกลุ่มในต่างประเทศจึงไม่ทำ ให้ประชาชนสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า

 

(14) มีข้อควรพิจารณาต่อไปว่า การนำเข้าซ้อนควรได้รับอนุญาตหรือไม่หากปรากฏว่าสินค้านำเข้าซ้อนมีคุณภาพ แตกต่างไปจากสินค้าที่จำหน่ายในประเทศเพราะอาจจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของ กฎหมายในการให้ผู้บริโภคทราบถึงแหล่งกำเนิดและคุณภาพของสินค้า

 

การที่สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าเดียวกันที่จำหน่ายในประเทศต่าง ๆ จะมีคุณภาพแตกต่างกันนั้น ถือเป็นเรื่องปกติและพบเห็นได้เสมอ สินค้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายเดียวกันอาจมีคุณภาพแตกต่างกันได้ ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบธุรกิจข้ามชาติจำเป็นต้องปรับแต่งคุณภาพสินค้าของตน ให้สอดคล้องกับสภาพตลาด ความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ

 

แต่การกล่าวว่าเครื่องหมายการค้าทำหน้าที่บ่งบอกคุณภาพของสินค้านั้นดู เหมือนจะเป็นการตีความหน้าที่ของเครื่องหมายการค้าเกินเลยไปจากหลักการของ กฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องหมายการค้าเพียงแต่ทำหน้าที่บ่งระบุแหล่งกำเนิดของ สินค้าเท่านั้น ส่วนการที่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดดังกล่าวจะมีคุณภาพเป็นเช่นไรนั้น เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องคาดหวังเอาเอง ดังนั้น จึงเป็นการไม่สมควรที่จะห้ามการนำเข้าซ้อนด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่าสินค้าที่ มีการนำเข้าซ้อน มีคุณภาพที่แตกต่างไปจากคุณภาพของสินค้าที่จำหน่ายอยู่ในประเทศ

 

หากผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายสินค้า ไม่ต้องการให้ผู้บริโภคสับสนในคุณภาพของสินค้าของตน ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายสินค้าก็ควรจะหาทางทำให้สินค้าที่จำหน่ายในประเทศ ต่าง ๆ มีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือมิเช่นนั้นก็ควรจะบ่งระบุไว้ในสินค้าว่า สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นมีคุณภาพเป็นเช่นไร

 

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าสินค้านำเข้าซ้อนมีคุณภาพแตกต่างไปจากสินค้า ที่จำหน่ายในประเทศหรือไม่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและศาลฎีกาจึงมิได้มีคำ วินิจฉัยในปัญหานี้

 

(15) คำพิพากษาฎีกานี้ได้แสดงว่า ประเทศไทยจะไม่เปิดโอกาสให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าใช้สิทธิของตนเพื่อ ยับยั้งการนำเข้าซ้อน ซึ่งประโยชน์ที่คาดเห็นได้ก็คือสิทธิในเครื่องหมายการค้าจะไม่ถูกนำไปใช้ เป็นเครื่องมือรักษาระบบการจัดจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจข้ามชาติ เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะไม่สามารถใช้นโยบายด้านราคาได้ตามที่ตนต้องการ เนื่องจากอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันจากการนำเข้าซ้อนเชื่อได้ว่า คำพิพากษาฎีกานี้จะส่งผลให้สินค้าในประเทศไทยมีราคาที่ไม่สูงเกินสมควรเมื่อ เปรียบเทียบกับราคาของสินค้าชนิดเดียวกันที่จำหน่ายอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

 

จักรก ฤษณ์ควรพจน์หมายเหตุ

 

(1) การนำเข้าซ้อน (Parallelimport) ไม่ใช่คำที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า หมายถึงการนำเข้าซึ่งสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายในประเทศแรกไป จำหน่ายในประเทศหลังหรือย้อนกลับมาจำหน่ายในประเทศแรกในขณะที่ประเทศที่มี การจำหน่ายนั้น มีผู้ทรงสิทธิในเครื่องหมายการค้าเดียวกันจำหน่ายสินค้าเดียวกันนั้นอยู่ แล้ว และอาจเกิดขึ้นในหลายลักษณะด้วยกัน

 

(2) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2543 ที่บันทึกอยู่นี้นับเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาไทยเรื่องแรกที่วินิจฉัยปัญหาการ "นำเข้าซ้อน"(Parallelimport)ไว้ค่อนข้างจะชัดเจน เป็นการเปิดศักราชการเดินไปในแนวทางอนุญาตให้มีการนำเข้าซ้อนซึ่งสินค้าที่ มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันได้ อันสอดคล้องกับแนวทางในการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเมื่อปี 2542

 

(3) ในอดีตศาลฎีกาไทยเคยมีความเห็นไปในทางไม่อนุญาตให้นำเข้าซ้อนได้ไม่ว่าจะ เป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า MYCOCHLORIN(ไมโคคลอริน) กับสินค้ายา(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 657/2499) เครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าเครื่องยนต์(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1271-1273/2508) เครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าเครื่องพิมพ์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669-1672/2523) และเครื่องหมายการค้าเบลป๊อปที่ใช้กับสินค้ากล้องยาสูบ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2533) แม้จะมีคดีเรื่องหนึ่งที่ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยสั่งสินค้าชนิดเดียวกัน (แป้งนม "ซิมิแลค") มาขายในประเทศไทยได้ ไม่เป็นละเมิด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 794/2500) ก็อาจเป็นเพราะข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวไม่เหมือนกับคดีอื่น ๆ ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไปในทางตรงข้ามกล่าวคือ โจทก์สั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยในฐานะเป็นตัวแทนช่วงขาย สินค้า แล้วจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของสินค้านั้นที่กรมทะเบียนการค้า(ซึ่งเป็น หน่วยงานที่รับผิดชอบในขณะนั้น ปัจจุบันหน่วยงานที่มีหน้าที่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคือกรมทรัพย์สิน ทางปัญญา) ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ทำให้ผู้จดทะเบียนได้สิทธิเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า นั้น เพราะตนไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์ จึงอาจสรุปได้ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2543 ที่บันทึกอยู่นี้ได้กลับหลักฎีกาเดิมไปแล้ว

 

(4) เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ทรงสิทธิมีอยู่ในงานหรือสินค้าที่ตนสร้าง สรรค์หรือผลิตขึ้นอาจระงับสิ้นไป (Exhaustionofrights) ด้วยการจำหน่ายงานหรือสินค้านั้น ๆ ก็ได้ แม้ตามความตกลง TRIPs จะไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ก็ตาม ประเทศต่าง ๆ มีสิทธิโดยอิสระที่จะยึดหลักเกณฑ์ใดหลักเกณฑ์หนึ่งเพื่อใช้วินิจฉัยความ ระงับสิ้นไปซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา บางประเทศใช้หลักการขายครั้งแรก (Firstsaledoctrine) บ้างก็ใช้หลักระงับสิ้นไปเฉพาะภายในประเทศ แต่ไม่ระงับสิ้นไปในต่างประเทศ (Nationalexhaustion) บ้างก็ใช้หลักระงับสิ้นไป เฉพาะในภูมิภาค แต่นอกภูมิภาคไม่ระงับสิ้นไป (Regionalexhaustion)บ้างก็ใช้หลักระงับสิ้นไปทั้งภายในและต่างประเทศ (Internationalexhaustion)ส่วนคอมมอนลอว์ของอังกฤษยึดหลักการอนุญาตโดย ปริยาย (Impliedlicense)ซึ่งหมายถึงผู้ทรงสิทธิอนุญาตโดยปริยายให้ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ นำผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปใช้ประโยชน์รวมทั้งการนำไปขายต่อได้ เว้นแต่ผู้ทรงสิทธิจะห้าม

 

Visitors: 122,689