การสิ้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

การสิ้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

การสิ้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามความตกลงระหว่างประเทศ

ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการคุ้มครองผลงานต่างๆที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์

หรือประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเช่น การประดิษฐ์เทคโนโลยีหรือยารักษาโรค

ที่ได้รับความคุ้มครองโดยสิทธิบัตรเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าก็จะได้รับ

ความคุ้มครองโดยเครื่องหมายการค้าหรือหนังสือเรียนหรือผลงาน

ทางวิชาการที่ได้รับความคุ้มครองโดยลิขสิทธิ์เป็นต้น โดยกฎหมายทรัพย์สิน

ทางปัญญาแต่ละประเภทนี้ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ได้สร้างสรรค์

หรือประดิษฐ์คิดค้นผลงานดังกล่าวในฐานะ“เจ้าของสิทธิ” โดยการให้สิทธิ

ต่างๆแก่เจ้าของสิทธิในการที่จะแสวงหาประโยชน์จากผลงานดังกล่าวได้

แต่เพียงผู้เดียว(exclusive rights) ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการจำหน่าย ผลิต

ทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งหากบุคคลอื่นใดกระทำ

การดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิ์ก็จะเป็นการละเมิด

ทรัพย์สินทางปัญญาเว้นแต่จะเป็นการกระทำ ที่ได้รับการยกเว้น

ตามกฎหมายมิให้เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานี้

 

ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า

(TRIPs)ซึ่งเป็นความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกและประเทศไทย

ก็มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามได้บัญญัติไว้ในข้อ ๖ ว่าไม่มีบทบัญญัติใด

ในความตกลงที่จะนำมาใช้เพื่อกล่าวถึงการสิ้นสิทธิในทรัพย์สิน

ทางปัญญาดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับกฎหมายภายในของแต่ละ

ประเทศที่จะกำหนดเกี่ยวกับการสิ้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานี้

กรณีการซื้อสินค้าที่มีทรัพย์สินทางปัญญาถูกต้องจากประเทศหนึ่งแล้วนำเข้ามาจำหน่ายในอีกประเทศหนึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับขอบเขตของสิทธิแต่เพียงผู้เดียวว่าหลังจากที่เจ้าของสิทธิได้จำหน่ายสินค้าของตนไปแล้ว เจ้าของสิทธิควรจะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะเข้าไปควบคุมหรือห้ามผู้ซื้อจากการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวต่อไปหรือไม่ซึ่งโดยหลักการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากรณีนี้จะถือว่าสิทธิของเจ้าของสิทธิได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อได้มีการจำหน่ายสินค้าออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกหรือที่เรียกว่า “หลักการสิ้นสิทธิ

ในทรัพย์สินทางปัญญา”(exhaustion of rights) ด้วยเหตุผลพื้นฐาน

ที่ว่าเจ้าของสิทธิได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าของตน

ไปแล้วจึงต้องมีการจำกัดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของสิทธิ เนื่องจาก

หากยินยอมให้เจ้าของสิทธิมีสิทธิที่จะควบคุมหรือห้ามผู้ซื้อจากการจำหน่าย

สินค้าที่ตนได้จำหน่ายไปแล้วนั้นก็จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ซื้อ

และประโยชน์สาธารณะได้

 

หลักการสิ้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแบ่งได้เป็น๓ ประเภท

๑.การสิ้นสิทธิภายในประเทศ (National exhaustion of rights)

คือกรณีที่เจ้าของสิทธิได้จำหน่ายสินค้าของตนในประเทศใดประเทศ

หนึ่งสิทธิของเจ้าของสิทธิจะหมดสิ้นไปเฉพาะในประเทศนั้น

๒.การสิ้นสิทธิภายในภูมิภาค (Regional exhaustion of rights)

คือกรณีที่เจ้าของสิทธิได้จำหน่ายสินค้าของตนในประเทศใดประเทศ

หนึ่งในภูมิภาคสิทธิของเจ้าของสิทธิจะหมดสิ้นไปเฉพาะในภูมิภาค

๓.การสิ้นสิทธิระหว่างประเทศ (International exhaustion of

rights) คือ กรณีที่เจ้าของสิทธิได้จำหน่ายสินค้าของตนในประเทศใด

ประเทศหนึ่งแต่สิทธิของเจ้าของสิทธิจะหมดสิ้นไปทั่วโลก

 

กรณีการสิ้นสิทธิระหว่างประเทศในทรัพย์สินทางปัญญานี้เป็นประเด็น

ที่มีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากหลักการดังกล่าวยอมรับว่า เมื่อเจ้าของสิทธิได้จำหน่ายสินค้าของตนไปแล้วเจ้าของสิทธิจะไม่มีสิทธิควบคุมหรือห้ามผู้ซื้อจากการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวได้อีกต่อไปไม่ว่าในประเทศใดก็ตามกล่าวคือ ผู้ซื้อสินค้าสามารถนำสินค้านั้นไปจำหน่ายต่อไปได้ทั่วโลก

การสิ้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายไทย

ทรัพย์สินทางปัญญามีหลายประเภทซึ่งจะมีกฎหมายเฉพาะที่คุ้มครอง

ทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเภทด้วยนอกจากนั้น รัฐธรรมนูญ

แห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ไว้เป็นแนวนโยบายที่รัฐจะต้องดำเนินการโดยมาตรา ๘๖ (๒) บัญญัติ

ให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ทรัพย์สิน

ทางปัญญาและพลังงาน โดยส่งเสริมการประดิษฐ์หรือการค้นคิดเพื่อให้

เกิดความรู้ใหม่รักษาและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย

รวมทั้งให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

(๑)สิทธิบัตร

เมื่อปี๒๕๔๒ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสิทธิบัตร

พ.ศ.๒๕๒๒ โดยได้บัญญัติรองรับการสิ้นสิทธิในกฎหมายสิทธิบัตรว่า

การใช้ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร

ซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรไม่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ทรงสิทธิ

หากผู้ทรงสิทธิบัตรได้อนุญาตหรือยินยอมให้ผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์

ดังกล่าวแล้ว(มาตรา ๓๖ วรรคสอง (๗))

(๒) เครื่องหมายการค้า

ในกรณีของเครื่องหมายการค้าพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.

๒๕๓๔ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่ใช้บังคับในปัจจุบัน

ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการรองรับการสิ้นสิทธิของเจ้าของเครื่องหมาย

การค้าไว้อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยโดยยอมรับหลักการ

สิ้นสิทธิระหว่างประเทศนี้เช่นกัน(คำวินิจฉัยศาลฎีกาที่ ๒๘๑๗/๒๕๔๓)

ซึ่งในคดีดังกล่าวโจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยนโดยมีเครื่องหมาย

การค้าว่า“WAHL” ซึ่งได้จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาและ

ประเทศไทยส่วนจำเลยนั้นได้ซื้อสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้า

ดังกล่าวโดยถูกต้องจากตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ที่ประเทศสิงคโปร์

แล้วนำมาจำหน่ายในประเทศไทยโดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การมีผู้ซื้อ

สินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไปเป็นเรื่อง

ปกติธรรมดาในการประกอบการค้าซึ่งเมื่อผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเจ้าของ

เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้จำหน่ายสินค้าของตนในครั้งแรกโดยได้รับ

ประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่าย

ไปเสร็จสิ้นแล้วจึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกติ

นำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไป

(๓) ลิขสิทธิ์

ในกรณีของลิขสิทธิ์พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งเป็น

กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ใช้บังคับในปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติรองรับการ

สิ้นสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ไว้นอกจากนั้น ก็ยังไม่เคยมีแนวคำวินิจฉัย

ของศาลยอมรับหลักการสิ้นสิทธิระหว่างประเทศในกรณีของลิขสิทธิ์ไว้

แต่อย่างใดอย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเห็นว่า สามารถพิจารณานำ

บทบัญญัติอื่นๆในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาปรับใช้กับกรณี

การสิ้นสิทธิระหว่างประเทศได้ดังนี้

- สิทธิในการนำเข้า

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้บัญญัติรองรับสิทธิ

แต่เพียงเดียวไว้หลายประการตามมาตรา๑๕ แต่ไม่มีการบัญญัติเกี่ยวกับ

การรับรองสิทธิในการนำเข้าไว้ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายคุ้มครอง

ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นเช่น สิทธิบัตรที่บัญญัติรองรับสิทธิใน

การนำเข้าไว้อย่างชัดเจนจึงอาจกล่าวได้ว่า การที่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้

บัญญัติรองรับสิทธิในการนำเข้าไว้เจ้าของลิขสิทธิ์จึงไม่มีสิทธิในการควบคุม

หรือห้ามการนำเข้ามาในประเทศไทยซึ่งสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก

ต่างประเทศ

-ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์

หลักการสิ้นสิทธิอาจนำมาอ้างได้ภายใต้ข้อยกเว้นการละเมิด

ลิขสิทธิ์โดยอาศัยมาตรา๓๒ วรรคหนึ่งโดยลำพัง หากการนำเข้ามาจำหน่าย

ในประเทศนั้นไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรก็จะไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ในกรณีที่นำมาตรา๓๒ วรรคหนึ่งมาใช้โดยลำพังนั้น วิเคราะห์ได้ว่า

การที่บุคคลใดได้ซื้อสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องจากต่างประเทศแล้วนำมาจำหน่ายในประเทศไทยก็ควรที่จะเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่งนี้เนื่องจากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับผลตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวไปแล้วจึงไม่เป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรนอกจากนั้น หากจะให้เจ้าของลิขสิทธิ์เข้าไปควบคุมการจำหน่ายดังกล่าวต่อไปก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าและเป็นการเปิดช่องทางให้เจ้าของลิขสิทธิ์ใช้สิทธิโดยมิชอบ

บทสรุป

หลักการสิ้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกลไกสำคัญในกฎหมายทรัพย์สิน

ทางปัญญาที่จะคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและเพื่อป้องกันการใช้สิทธิ

ในทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากเจ้าของสิทธิได้รับผลตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวไปแล้วในครั้งแรกซึ่งหากเปิดโอกาสให้เจ้าของสิทธิสามารถหาผลประโยชน์ได้อีกจากสินค้าที่มีการจำหน่ายไปแล้วนั้นอีกต่อไปก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อได้โดยวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานี้มิใช่เป็นการคำนึงเพียงแต่ผลประโยชน์ของเจ้าของสิทธิเท่านั้นแต่ก็จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะด้วยดังที่บัญญัติไว้ในข้อ ๘ ของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าว่าประเทศสมาชิกสามารถที่จะกำหนดหรือบังคับใช้มาตรการต่างๆที่จำเป็นตามกฎหมายเพื่อปกป้องประโยชน์ทางสาธารณสุขและการโภชนาการและเพื่อส่งเสริมประโยชน์สาธารณะ(public interest) ในส่วนที่มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมและการพัฒนาทางเทคโนโลยีรวมตลอดจนมาตรการต่างๆที่เหมาะสมที่ประเทศสมาชิกอาจกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการบังคับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เหมาะสมหรือการบังคับสิทธิที่เกินขอบเขต

ที่มา

ข่าวสารพัฒนากฎหมาย ลำ ดับที่ 80

1 กุมภาพันธ์ 2556

จัดทำโดย ฝ่ายพัฒนากฎหมาย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 2

394/14 ถนนสามเสน เขตดุสิต

กรุงเทพฯ 10300 http://www.lawreform.go.th

 

 

 

Visitors: 122,744