ละเมิดบทความและชื่อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11047/2551

นางสาวปองศิริ คุณงาม โจทก์

บริษัทเมกกะ โปรดักส์ จำกัดหรือ บริษัทเมก้า ไลฟ์ ไซแอ็นซ์ พีทีวาย จำกัด กับพวก จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 18

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 74

 

บทความเกี่ยวกับวิตามิน อี ที่โจทก์จัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นบทความที่จัดทำขึ้นด้วยการใช้ข้อความที่แตกต่างกัน แม้จะประกอบด้วยข้อมูลเพียง 3 ถึง 5 ย่อหน้าสั้น ๆ แต่บทความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียบเรียงขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลหรือเป็นการแปลข้อมูลจากบทความอื่นโดยตรง แต่ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะ การตัดสินใจและความวิริยะอุตสาหะในการนำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นบทความ จึงเป็นงานสร้างสรรค์และถือได้ว่าเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

 

กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองการแสดงออก ไม่ได้ให้ความคุ้มครองความคิด ดังนั้น แม้บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิตามิน อี แต่ฝ่ายจำเลยนำสืบให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี มีอยู่แล้วในบทความต่าง ๆ ซึ่งมีปรากฏเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วไป ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องนำมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ทั้งบทความตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มีการระบุถึงแหล่งที่มาของบทความอ้างอิงไว้ด้วย เมื่อเปรียบเทียบบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 กับบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการนำข้อความที่เป็นสาระสำคัญในเนื้อหาของบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มาใช้โดยตรง หรือเป็นการดัดแปลงบทความดังกล่าวเพียงเล็กน้อยหรือในส่วนที่ไม่สำคัญ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ของโจทก์

 

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 บุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อของตน การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อของโจทก์

 

จำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อของโจทก์ หาได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจะนำข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 74 มาใช้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 หรือไม่ เมื่อไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้วโจทก์จะต้องนำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตนให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดสิทธิของโจทก์เช่นใด

 

 

 

________________________________

 

 

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันตีพิมพ์บทความเรื่อง “Vitamin E วิธีง่าย ๆ สู่ผิวสวยใส ไร้ริ้วรอยก่อนวัย” ในนิตยสารเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินตราเมดิคราฟท์ บทความดังกล่าวดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งหกร่วมกันเพิ่มเติมข้อความบางส่วนในบทความ และใช้บทความที่ทำการเพิ่มเติมดังกล่าวเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยทั้งหก โดยตีพิมพ์ในนิตยสารรวม 3 ฉบับ การแก้ไขดังกล่าวไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริง การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิและลิขสิทธิ์ของโจทก์ เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง โจทก์แจ้งให้ชำระค่าเสียหายและบรรเทาความเสียหายแล้ว แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหาย 2,009,041.09 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้สร้างสรรค์บทความที่กล่าวอ้างตามฟ้อง บทความดังกล่าวไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นเพียงข่าวสารเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของวิตามินที่มีอยู่ทั่วไป แหล่งที่มาของข้อมูลประกอบการเรียบเรียงบทความได้แสดงไว้อย่างชัดเจนในส่วนท้ายของบทความ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิตามินอี มีเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย ข่าวสารดังกล่าวไม่ใช่งานในแผนกวรรณกรรม แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง บทความเรื่อง “Vitamin E วิธีง่าย ๆ สู่ผิวสวยใส ไร้ริ้วรอยก่อนวัย” มิได้เป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เป็นแต่เพียงการนำเอาข่าวสารอันเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของวิตามินที่มีอยู่ทั่วไปมาเรียบเรียงให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจประโยชน์และทราบคุณสมบัติของวิตามินไม่ได้เป็นการทำขึ้นเพื่อหากำไร การตีพิมพ์บทความไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ตอบแทนโจทก์ในการเป็นผู้ตรวจทานบทความที่ฝ่ายจำเลยจัดหาและเรียบเรียง จึงไม่ใช่การกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตดังที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการซึ่งกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งหกบรรเทาความเสียหายหรือให้เจรจาชำระค่าเสียหายค่าเสียหายที่อ้างมาเคลือบคลุมและสูงเกินส่วน หากเสียหายจริงไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 30,000 บาท

 

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด ช่วงเกิดเหตุมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาแพทยศาสตร์ สาขาผิวหนังเฉพาะทางด้านศัลยกรรมผิวหนัง จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายและส่งออกสินค้าเวชภัณฑ์และอาหารเสริมสุขภาพ ประเภทอาหารเสริมสำหรับบำรุงผิวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับกระชับสัดส่วน วิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามิน อี ตราเมดิคราฟท์ จำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ และต่อมามีการจัดทำบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.9 ขึ้น แล้วจำเลยที่ 1 ได้ลงตีพิมพ์บทความเรื่อง “Vitamin E วิธีง่าย ๆ สู่ผิวสวยใส ไร้ริ้วรอยก่อนวัย” เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามิน ตราเมดิคราฟท์ โดยระบุชื่อ “พญ.ปองศิริแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง” ไว้ด้วย

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ประการแรกมีว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 หรือไม่ ซึ่งปัญหานี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ เห็นว่า บทความดังกล่าวได้จัดทำขึ้นด้วยการใช้ข้อความที่แตกต่างกันแม้จะประกอบด้วยข้อมูลเพียง 3 ถึง 5 ย่อหน้าสั้นๆ แต่บทความดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียบเรียงขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการรวบรวม (Compilation) ข้อมูล หรือเป็นการแปล (Translation) ข้อมูลจากบทความอื่น เช่น เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.5 โดยตรง ในทางตรงข้ามบทความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงทักษะ การตัดสินใจ และความวิริยะอุตสาหะ (Skill, judgment and effort) ในการนำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นบทความจึงเป็นงานสร้างสรรค์ (Originality) และถือได้ว่าบทความดังกล่าวเป็นงานวรรณกรรม (Literary work) อันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 หรือไม่ ในประเด็นนี้โจทก์มีตัวโจทก์และนางสาวปนิดามาเป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ยืนยันว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 และมอบให้นางสาวปนิดา พนักงานของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นไปส่งมอบให้จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่พอใจเนื้อหาในบทความดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นบทความที่มีเนื้อหาทางด้านวิชาการ ไม่ได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องการตีพิมพ์บทความดังกล่าว และได้แจ้งให้โจทก์ทราบเรื่องนี้แล้ว ส่วนฝ่ายจำเลยมีนางสาววิชชุลดาพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งตัวอย่างบทความที่เภสัชกรของจำเลยที่ 1 เรียบเรียงไว้แล้วพร้อมเอกสารประกอบไปให้โจทก์ตรวจทานโดยทำเป็น 2 ชุด ชุดแรกเป็นบทความตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 และชุดที่ 2 เป็นบทความตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 เมื่อโจทก์ตรวจทานทั้งสองชุดแล้ว จำเลยที่ 1 จึงนำบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มาตีพิมพ์ตามที่โจทก์ตรวจทาน เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เอง โดยมีนางสาวปนิดาเบิกความสนับสนุน พยานของโจทก์ทั้งสองปากเป็นผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดในการติดต่อจัดทำบทความนี้ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า เภสัชกรของจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำบทความและส่งไปให้โจทก์ตรวจแทน แต่กลับไม่ได้นำเภสัชกรหรือบุคคลที่รู้เห็นเกี่ยวกับการจัดทำบทความตามที่ฝ่ายจำเลยกล่าวอ้างมาเบิกความสนับสนุน นางสาววิชชุลดาเองก็เบิกคาวามตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พยานไม่ได้ติดต่อกับโจทก์โดยตรง คำเบิกความของนางสาววิชชุลดาจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า นอกจากนี้ลักษณะของการนำเสนอข้อมูลในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 กับเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ก็มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำขึ้นหลายชุดเพื่อให้โจทก์ตรวจทานตามที่ฝ่ายจำเลยกล่าวอ้าง เมื่อพยานโจทก์เบิกความโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธน่าสงสัย ย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยที่นำสืบมา คดีเป็นอันรับฟังว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์และนางสาวปนิดามาเบิกความเกี่ยวกับการติดต่อให้โจทก์จัดทำบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏนั้น ยังไม่ถึงขนาดที่จะเกิดสัญญาจ้างให้ทำบทความดังกล่าว โดยโจทก์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งหกถามค้านด้วยว่าโจทก์ไม่ได้ค่าตอบแทนใด ๆ จากฝ่ายจำเลย ซึ่งฝ่ายจำเลยเองก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นในทำนองว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้โจทก์สร้างสรรค์บทความนั้น หรือนำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น พฤติการณ์จึงยังไม่พอฟังว่าโจทก์รับจ้างจำเลยที่ 1 ในการสร้างสรรค์บทความของโจทก์ หรือมีข้อตกลงใด ๆ ที่จะให้ลิขสิทธิ์ในบทความดังกล่าวตกเป็นของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้สร้างสรรค์บทความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ประการต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดสิทธิและลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 เป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 หรือไม่ เห็นว่า บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน แต่นำเสนอด้วยข้อความที่แตกต่างกัน ในขณะที่บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 เป็นเอกสารชุดเดียวกัน และเป็นการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับวิตามิน อี เช่นเดียวกับบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แต่ข้อความในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 แตกต่างจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 อย่างเห็นได้ชัดว่าไม่ได้เป็นการทำซ้ำ (Copy) ส่วนจะเป็นการดัดแปลง (Adaptation) หรือไม่นั้น เห็นว่า กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองการแสดงออก (Expression) ไม่ได้ให้ความคุ้มครองความคิด (ldea) ดังนั้น แม้บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิตามิน อี แต่ฝ่ายจำเลยก็นำสืบถึงเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.5 ว่าแนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี มีอยู่แล้วในบทความต่าง ๆ นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังมีปรากฏเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอนุมูลอิสระ (Free radical) หรือโรคร้ายและผลเสียที่เกิดขึ้น หรือสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) หรือแหล่งอาหารที่มีวิตามิน อี หรือประโยชน์ของวิตามิน อี รวมทั้งปริมาณของวิตามิน อี ที่ควรได้รับในแต่ละวัน เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องนำมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ทั้งบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ได้มีการระบุถึงแหล่งที่มาของบทความอ้างอิงไว้ด้วย เมื่อเปรียบเทียบบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 กับบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการนำข้อความที่เป็นสาระสำคัญในเนื้อหา (Substantial part) ของบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มาใช้โดยตรงหรือเป็นการดัดแปลงบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เพียงเล็กน้อยหรือในส่วนที่ไม่สำคัญ (Slavish imitation) จึงไม่อาจถือว่าบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ดัดแปลงมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 และไม่อาจรับฟังต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ของโจทก์

 

อย่างไรก็ตาม โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันละเมิดสิทธิและลิขสิทธิ์ของโจทก์ โดยการดัดแปลงบทความอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และนำไปตีพิมพ์ในนิตยสาร 3 ฉบับ เท่ากับว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า การที่จำเลยที่ 1 ตีพิมพ์บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ในนิตยสารเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ด้วย เมื่อบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มีข้อความว่า “พ.ญ.ปองศิริแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง” ซึ่งหมายถึงโจทก์ปรากฏอยู่ และคดีเป็นอันรับฟังแล้วว่าบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ไม่ใช่บทความที่โจทก์ได้จัดทำขึ้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรพิจารณาต่อไปว่าการใช้ชื่อโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่ ซึ่งฝ่ายจำเลยนำสืบรับว่า มีการลงชื่อของโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จริง แต่ฝ่ายจำเลยอ้างว่าได้ตกลงให้โจทก์มีชื่ออยู่ใต้บทความที่จะโฆษณาเพราะต้องการให้โจทก์มีชื่อเสียงในการโฆษณาดังกล่าวด้วย ส่วนโจทก์ยืนยันว่า โจทก์ไม่ทราบเรื่องและไม่ได้อนุญาตให้ตีพิมพ์บทความดังกล่าว เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 บุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อของตนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของชื่อเบิกความยืนยันว่า ไม่เคยอนุญาตให้นำชื่อของตนไปใช้ ส่วนฝ่ายจำเลยไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงมาแสดงว่าโจทก์ให้ความยินยอมแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าฝ่ายจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 โดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของ่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 นั้น ศาลอาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาแพทยศาสตร์ สาขาผิวหนังเฉพาะทางด้านศัลยกรรมผิวหนัง เท่ากับว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับในสาขาอาชีพของตน การตีพิมพ์บทความซึ่งมีชื่อของโจทก์แต่มีข้อความที่โจทก์ไม่เห็นด้วย เช่น การระบุเน้นถึง ดี-แอลฟา-โทโคเฟอริล อะซิเตต (d-alpha-tocopheryl acetate) ซึ่งมีลักษณะเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์วิตามิน อี ของจำเลยที่ 1 และอาจทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดในคุณสมบัติของวิตามิน อี จากธรรมชาติ รวมทั้งการใช้ชื่อของโจทก์ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์สินค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงตำแหน่งหน้าที่ ตลอดจนสถานภาพในสังคมของโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 ตีพิมพ์บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ในนิตยสารจำนวน 3 ฉบับ น่าจะทำให้บทความดังกล่าวแพร่หลายทั่วไปในสังคม ถือได้ว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ได้สร้างความเสียหายให้แก่โจทก์ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 ติดต่อให้โจทก์จัดทำบทความให้ แต่จำเลยที่ 1 กลับใช้ชื่อของโจทก์ในบทความของตนเองเพื่อใช้ในการโฆษณาเผยแพร่สินค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมจะทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันพึงได้รับจากการสร้างสรรค์บทความของโจทก์ด้วย อย่างไรก็ดี โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏชัดถึงความเสียหายเหล่านี้ที่เกิดขึ้นจริงในลักษณะที่เป็นตัวเงิน ทั้งข้อมูลในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ไม่ปรากฏชัดว่ามีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องเช่นใด รวมถึงข้อนำสืบของโจทก์ในทำนองที่ว่า โจทก์อาจต้องรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลหรือบทความที่ไม่ถูกต้อง สาธารณชนอาจจะไม่เชื่อถือในความรู้ของโจทก์ และการนำเสนอข้อมูลหรือบทความเช่นนี้ขัดกับระเบียบของแพทยสภานั้น ก็ไม่ปรากฏชัดว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นต่อโจทก์แล้วหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรกำหนดให้ตามความเหมาะสมเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นประการสุดท้ายมีว่า จำเลยอื่นต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ โดยฝ่ายจำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 74 มาพิจารณาเป็นข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วย เว้นแต่ฝ่ายจำเลยจะนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นนั้นไม่ถูกต้อง เห็นว่า เมื่อคดีเป็นอันรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อของโจทก์ หาได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้ว กรณีย่อมไม่จำต้องพิจารณาว่าจะนำข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 74 มาใช้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 หรือไม่อีกต่อไปเมื่อไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้ว โจทก์จะต้องนำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตนให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดสิทธิของโจทก์เช่นใด ซึ่งในประเด็นนี้โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความเพียงว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันละเมิดสิทธิของโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการร่วมกับจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิของโจทก์ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยมีนางสาววิชชุลดามาเบิกความในทำนองว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โดยส่วนตัวได้เกี่ยวข้องในการนำบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ตีพิมพ์อย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่พอรับฟังว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดสิทธิของโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในข้อนี้ฟังขึ้น กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 6 ซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1)”

 

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 กันยายน 2547) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 45,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเพียงเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ

 

 

 

 

 

( พรเพชร วิชิตชลชัย - พลรัตน์ ประทุมทาน - อร่าม เสนามนตรี )

 

 

 

 

Visitors: 122,901