มัคคุเทศก์อิสระ ไม่ใช่ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6067/2545

 

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่มัคคุเทศก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,000 บาท ต่อมาขณะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่นำนักท่องเที่ยวจากสถานีรถไฟวังโพเพื่อไปรับประทานอาหารกลางวันที่ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยคจังหวัดกาญจนบุรี รถตู้โดยสารของจำเลยซึ่งบรรทุกนักท่องเที่ยวมาพร้อมโจทก์ประสบอุบัติเหตุตกเหว โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส แพทย์มีความเห็นว่า โจทก์หายเกือบเป็นปกติสามารถประกอบอาชีพได้ วันที่ 31 มกราคม 2544 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2543ถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 รวม 10 เดือน เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 60,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสามจำนวน คิดเป็นดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง8,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 105,000 บาท ค่าชดเชย 63,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 10,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 100,000 บาท 60,000 บาท และ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่ลูกจ้างจำเลย แต่มารับจ้างทำหน้าที่มัคคุเทศก์อิสระให้จำเลย ได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่ทำงานให้จำเลยในอัตราวันละ600 บาท การทำงานของโจทก์เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นจ้างทำของ หากโจทก์ไม่สามารถมาทำงานให้จำเลยได้โจทก์ไม่ต้องเขียนใบลา การกระทำของจำเลยไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์รับจ้างจำเลยทำงานตำแหน่งมัคคุเทศก์อิสระกำหนดวันทำงานไม่แน่นอน อัตราค่าจ้างขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของงานแต่ละครั้ง หากไม่มาทำงานก็ไม่ได้รับค่าจ้างของวันนั้น ไม่มีกำหนดวันหยุด วันลา และไม่มีสวัสดิการสำหรับโจทก์ จำเลยไม่เคยหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากค่าจ้างของโจทก์ สาระสำคัญของการทำงานของโจทก์จะต้องทำงานให้เป็นผลสำเร็จคือนำนักท่องเที่ยวไปตามตารางทัวร์ที่จำเลยและนักท่องเที่ยวกำหนดไว้ล่วงหน้า โดยใช้รถตู้หรือรถบัสอันเป็นอุปกรณ์ในการนำเที่ยวที่จำเลยมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในทางการค้าของจำเลย หากมีค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการปฏิบัติงานของโจทก์ จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบ โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลย พิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตามความหมายของลูกจ้างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และเป็นคู่สัญญาในลักษณะจ้างแรงงานตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าโจทก์และจำเลยเป็นลูกจ้างและนายจ้างกันหรือไม่นั้น นอกจากจะพิจารณาว่าโจทก์และจำเลยมีความสัมพันธ์กันดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 5 แล้ว ยังต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าโจทก์อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ด้วย คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับจ้างจำเลยทำงานตำแหน่งมัคคุเทศก์อิสระอัตราค่าจ้างขึ้นกับการทำงานแต่ละครั้ง โดยนำนักท่องเที่ยวไปตามตารางทัวร์ที่กำหนดไว้ หากไม่มาทำงานก็จะไม่ได้ค่าจ้างกำหนดวันทำงานไม่แน่นอน ไม่มีการกำหนดวันหยุด วันลา และสวัสดิการสำหรับโจทก์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์มีอิสระในการทำงานกับจำเลย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมิใช่การจ้างแรงงานหรือเป็นลูกจ้างและนายจ้างกันตามบทกฎหมายข้างต้น โจทก์ไม่เป็นลูกจ้างของจำเลย ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

( เกษมสันต์ วิลาวรรณ - วีรพจน์ เพียรพิทักษ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

 

 

Visitors: 123,014