หลักการพิจารณาว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือจ้างทำของ

คำพิพากษาฎีกาที่  12553/56

                               โจทก์ฟ้องว่า  ตั้งแต่วันที่  18  กุมภาพันธ์  2546  จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานเป็นวิศกรเครื่องกลอาวุโสหลายฉบับติดต่อกัน  โดยสัญญาแต่ละฉบับมีกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอน  เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างฉบับหนึ่งจำเลยก็จะทำสัญญาจ้างอีกฉบับต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ  จนถึงสัญญาฉบับสุดท้ายมีกำหนดระยะเวลาจ้างตั้งแต่วันที่  1  มกราคม - 30  มิถุนายน  2550  ซึ่งตั้งแต่วันที่  17  กุมภาพันธ์  2546  - 30 มิถุนายน  2550  จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นวิศกรเครื่องกลอาวุโสมาโดยตลอด  ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ  82,000  บาท  ต่อมาวันที่  15  มิถุนายน  2550  จำเลยมีหนังสือแจ้งว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้วขอเลิกจ้างโจทก์  และตั้งแต่วันที่  1  กรกฎาคม  2550  เป็นต้นมาจำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างโจทก์  จึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด  โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ  3  ปี  จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย  180  วัน  เป็นเงิน  492,000  บาท  แต่จำเลยไม่จ่าย  ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน  492,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  15  ต่อปี  นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

                              จำเลยให้การว่า  สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน  โจทก์เป็นผู้กำหนดวันเวลาในการทำงานเอง  ไม่ได้อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย  โจทก์จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างลูกจ้างกัน  จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์  ขอให้ยกฟ้อง

 

                       ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว  พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน  492,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  15  ต่อปี  นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

                                จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

                             ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว  ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า  จำเลยประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง  รับเป็นวิศวกรที่ปรึกษาและควบคุมงานก่อสร้างให้แก่ทั้งภาครัฐและเอกชน  จำเลยจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งวิศวกรอาวุโสตั้งแต่วันที่  18  กุมภาพันธ์  2546  ติดต่อกันมาจนถึงวันที่  30  มิถุนายน  2550  จำเลยทำสัญญาว่าจ้างเป็นสัญญาหลายฉบับ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเดิมก็จะทำสัญญาฉบับใหม่ติดต่อกันมาโดยตลอด  ในเดือนมกราคมปี  2547  ปี  2548  และปี  2549  จำเลยจ่ายเงินพิเศษให้โจทก์ด้วย  ในสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายตามเอกสารหมาย  จ.5  ( ที่ถูก  เป็นเอกสารหมาย  จ.2 )  มีข้อกำหนดว่าโจทก์ต้องปฏิบัติงานเต็มเวลาโดยมีการลงตารางเวลาตามที่กำหนดไว้  ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของผู้ว่าจ้างตลอดจนเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป  ถือว่าสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงาน  ไม่ใช่สัญญาจ้างทำของ  เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด  ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง

 

                         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่  เห็นว่า  ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากกว่าจำเลยประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง  รับเป็นวิศวกรที่ปรึกษาและควบคุมงานก่อสร้างให้แก่ทั้งภาครัฐและเอกชน  ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย  จ.2  ข้อ  1.1  กำหนดว่าผู้ว่าจ้างตกลงจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างตามหน้าที่....ตามที่ผู้จัดการโครงการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสั่งการกำหนด  ในตำแหน่งวิศวกรเครื่องกล....โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการด้านวิศวกรรม  การตรวจสอบรายละเอียดแบบแปลนก่อสร้าง  ให้ข้อเสนอแนะในการบริหารโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่เจ้าของโครงการกำหนด  ข้อ  1.2  ผู้รับจ้างจะต้องปฏิบัติงานเต็มเวลาโดยมีการลงตารางเวลาตามที่กำหนดไว้โดยผู้บังคับบัญชาจะต้องลงชื่อรับทราบด้วยทุกครั้ง  มิเช่นนั้นผู้รับจ้างจะต้องถูกตัดค่าจ้างตามวันเวลาที่ขาดไปในแต่ละเดือนตามสัดส่วนค่าจ้าง  ข้อ  2.2  วันและเวลาทำการปกติคือวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 8 น. - 17 น. วันละ  8 ชั่วโมง  ข้อ  3.1  สถานที่ปฏิบัติงานของผู้รับจ้างคือพื้นที่ทำงานตามสัญญาการทำงานหรือหน่วยงานตามที่ผู้ว่าจ้างเห็นสมควร  ข้อ  4.1  ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างในอัตราค่าจ้างต่อเดือน  เงินเดือน  82,000  บาท  ข้อ  7  ผู้รับจ้างจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของผู้ว่าจ้างทั้งที่มีอยู่ในขณะทำสัญญาหรือที่จะมีต่อไปในภายภาคหน้า  ตลอดจนเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป  ข้อตกลงของสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ต้องทำงานตามที่จำเลยมอบหมายภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยหรือตัวแทนของจำเลย  ตามวันเวลาการทำงานที่จำเลยกำหนดต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  โดยจำเลยจ่ายค่าตอบแทนตลอดเวลาที่โจทก์ทำงานเป็นเงินเดือน  สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  575  และอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ.  2541  ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ  ตามหลักฐานหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย  ที่จำเลยออกให้เป็นหลักฐานแก่โจทก์ว่าโจทก์ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภทมิใช่รายได้จากเงินเดือน  ค่าจ้าง  ตามมาตรา  40  ( 1 )  แห่งประมวลรัษฎากร  แต่เป็นค่าบริการวิชาชีพ  ทั้งโจทก์ได้ยื่นแสดงแบบการเสียภาษีต่อกรมสรรพากรแสดงว่ารายได้ที่โจทก์ได้รับเป็นรายได้ที่เกิดตามข้อ  5  เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  ( 6 )  แห่งประมวลรัษฎากร  เงินได้จากวิชาชีพอิสระ  เงินที่โจทก์ได้รับจึงไม่เป็นค่าจ้างนั้น  เห็นว่า  การที่โจทก์และจำเลยจะร่วมกันดำเนินการยื่นแบบการเสียภาษีอย่างไร  ด้วยวัตถุประสงค์ใด  และการยื่นแสดงแบบการเสียภาษีเช่นนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดเก็บและแสดงหลักฐานการเสียภาษี  และการที่โจทก์ไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาตั้งแต่ปี  2546  และจะมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม  พ.ศ.  2533  หรือไม่  ล้วนไม่ใช่สาระที่จะนำมาเป็นข้อพิจารณาว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่  ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาและให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว  อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

                                 พิพากษายืน.

 

Visitors: 123,048