สัญญาจ้างแรงงาน มีข้อความว่า ห้ามพนักงานไปทำงานในสถานประกอบการอื่นซึ่งประกอบธุรกิจในลักษณะหรือประเภทเดียวกันกับธุรกิจของบริษัท หรือเป็นคู่แข่งทางการค้ากับบริษัท หรือ เข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการพัฒนาทำ ผลิต หรือจำ

สัญญาจ้างแรงงาน มีข้อความว่า  พนักงานจะไม่กระทำการต่อไปนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทภายในกำหนดระยะเวลา  1  ปี  นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดหรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัท  5.1  ไปทำงานในสถานประกอบการอื่นซึ่งประกอบธุรกิจในลักษณะหรือประเภทเดียวกันกับธุรกิจของบริษัท  หรือเป็นคู่แข่งทางการค้ากับบริษัท  5.2  เข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการพัฒนาทำ  ผลิต  หรือจำหน่าย  ซึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท  และพนักงานเคยมีส่วนเกี่ยวข้องในระหว่างที่ทำงานกับบริษัท เป็นสัญญาที่บังคับได้หรือไม่

 

คำพิพากษาฎีกาที่  8307/54

 

                                                โจทก์ฟ้องว่า  เมื่อวันที่  8  สิงหาคม  2548  โจทก์ตกลงรับจำเลยที่  1  เข้าทำงานตำแหน่งพนักงานขาย    มีหน้าที่ขายสินค้าของโจทก์ประเภทกล่องบรรจุภัณฑ์โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่  1  จะไม่ประกอบธุรกิจหรือทำงานในลักษณะหรือธุรกิจประเภทเดียวกันหรือเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์ในระยะเวลา  1  ปี  นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน   หากผิดสัญญาต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนไม่น้อยกว่า  200,000  บาท  และหากผิดสัญญาโดยฝ่าฝืนตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างแรงงาน  ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน  100,000  บาท  อีกต่างหากด้วย  จำเลยที่  2  เป็นผู้ค้ำประกันตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายในวงเงิน  20,000  บาท  เมื่อวันที่  31 มีนาคม  2549  จำเลยที่  1  ลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์อ้างว่าไปทำธุรกิจส่วนตัว  ปรากฏว่ายังไม่พ้นกำหนดเวลา  1  ปี  จำเลยที่  1  ไปทำงานกับบริษัทอินเตอร์ไฟเบอร์  คอนเทนเนอร์  จำกัด  ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันและประกอบธุรกิจผลิตกล่องกระดาษประเภทเดียวกับโจทก์  จำเลยที่  1  ต้องหยุดการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนสัญญาจ้างแรงงานที่ทำไว้กับโจทก์  และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน  200,000  บาท  และตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างแรงงานอีก  100,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป  ขอให้มีคำสั่งห้ามจำเลยที่  1  กระทำการที่ถือว่าฝ่าฝืนต่อสัญญาจ้างแรงงานที่ทำไว้กับโจทก์  โดยห้ามมิให้จำเลยที่  1  ทำงานกับบริษัทอินเตอร์ไฟเบอร์  คอนเทนเนอร์  จำกัด  และห้ามมิให้จำเลยที่  1  ทำธุรกิจหรือทำงานในธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์ในระยะเวลา  1  ปี  นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์  กับบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย  200,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์  หากจำเลยที่  1  ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอีก  100,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับแต่วันที่จำเลยที่  1  ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามนั้น

 

                                

                                                จำเลยทั้งสองให้การว่า  โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่  1  กระทำด้วยการเอาข้อมูลใดอันเป็นความลับทางการค้าใดของโจทก์ไปเปิดเผยแก่ลูกค้ารายใด  ที่ไหน  เมื่อใด  ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร  อันทำให้จำเลยที่  1  เข้าใจข้อหาตามฟ้องได้  ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม  หลังจากจำเลยที่  1  ทดลองงานเป็นเวลา  4  เดือน  โจทก์ให้ทำสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างว่าจะนำไปใช้ในทางธุรกิจและเพื่อความสะดวกในการจ่ายเงินเดือนและภาษี  หากจำเลยที่  1  ไม่ลงลายมือชื่อในสัญญาจะไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของโจทก์  จำเลยที่  1  หลงเชื่อและลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างแรงงานโดยสำคัญผิดทั้งนำแบบสัญญาค้ำประกันซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความไปขอร้องให้จำเลยที่  2  ลงลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่  1  ข้อกำหนดห้ามจำเลยที่  1  ไปประกอบธุรกิจหรือทำงานประเภทเดียวกับโจทก์ในสัญญาจ้างแรงงานมีลักษณะเป็นการตัดทางประกอบอาชีพของจำเลยที่  1  ทั้งหมด  เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยที่  1  โดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้  ทั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  เป็นโมฆะ  ข้อมูลการผลิตสินค้าของโจทก์ที่อ้างว่าเป็นความลับมีจำนวนมาก  และจำเลยที่  1  ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแก่บุคคลภายนอก  จำเลยที่  1  ลาออกจากการเป็นพนักงานโจทก์เนื่องจากทะเลาะกับกรรมการโจทก์แล้วไปทำงานที่บริษัทบิ๊กบอลฟู้ดส์  จำกัด  ซึ่งประกอบธุรกิจอาหารสำเร็จรูปคนละประเภทกับธุรกิจของโจทก์  ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินความเป็นจริง  และจำเลยที่  2  รับผิดไม่เกิน  20,000  บาท  ขอให้ยกฟ้อง

 

 

 

                                                ระหว่างพิจารณา  โจทก์ขอถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่  2  ศาลแรงงานกลางอนุญาต  จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่  2  ออกจากสารบบความ

 

 

                                                ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว  พิพากษาให้จำเลยที่  1  ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน  50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์  คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

 

 

                                                โจทก์และจำเลยที่  1  อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

 

                                                 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว  จำเลยที่  1  อุทธรณ์ข้อแรกว่า  คำฟ้องเคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายว่าโจทก์ทำการอบรมให้จำเลยที่  1  ทราบเกี่ยวกับการผลิตและการขายสินค้ากล่องกระดาษ  จำเลยที่  1  เอาข้อมูลใดอันเป็นความลีบทางการค้าใดของโจทก์ไปเปิดเผยแก่ลูกค้ารายใด  ที่ไหน  เมื่อใด  ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร  จำเลยที่  1  ไม่เข้าใจข้อหาตามฟ้อง  เห็นว่า  โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความว่าโจทก์จ้างจำเลยที่  1  ทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย  มีหน้าที่ขายสินค้าของโจทก์ประเภทกล่องบรรจุภัณฑ์  ในการทำงานตำแหน่งหน้าที่นี้ทำให้จำเลยที่  1  ทราบความลับทางการค้าของโจทก์  เช่น  ราคาสินค้าซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่คู่แข่งทางการค้าของโจทก์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปิดเผยความลับดังกล่าว  โจทก์จึงทำสัญญากับจำเลยที่  1  ว่า  ข้อมูลทางการค้าอันเป็นความลับของโจทก์ที่จำเลยที่  1  ทราบระหว่างทำงานตามสัญญา  จำเลยที่  1  จะไม่เปิดเผยหรือใช้ประโยชน์ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น  และภายใน  1  ปี  นับแต่วันพ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์  จำเลยที่  1  จะไม่ประกอบธุรกิจหรือทำงานในลักษณะหรือธุรกิจประเภทเดียวกัน  หรือเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์  หากผิดสัญญาจำเลยที่  1  ต้องชดใช้ค่าเสียหายไม่น้อยกว่า  200,000  บาท  และหากฝ่าฝืนบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างแรงงาน  จำเลยที่  1  ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน  100,000  บาท  อีกต่างหาก  โดยมีรายละเอียดตามเอกสารแนบท้ายฟ้อง  ต่อมาจำเลยที่  1  ลาออกอ้างว่าเพื่อทำธุรกิจส่วนตัวแต่ความจริงจำเลยที่  1  เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทอินเตอร์ไฟเบอร์  คอนเทนเนอร์  จำกัด  ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันและทำธุรกิจผลิตกล่องกระดาษประเภทเดียวกับโจทก์  ภายในกำหนดระยะเวลาต้องห้ามตามสัญญา  หากจำเลยที่  1  นำความลับทางการค้าของโจทก์ไปช่วยบริษัทดังกล่าวโดยขายตัดราคาของโจทก์  โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย  จำเลยที่  1  ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์  ตามคำฟ้องพอเข้าใจได้ว่า  จำเลยที่  1  ทราบความลับของโจทก์เรื่องใดได้อย่างไร  และหลังจากลาออกจากโจทก์แล้ว  จำเลยที่  1  จะนำความลับทางการค้าดังกล่าวไปช่วยบริษัทนายจ้างใหม่ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์อย่างไร  ถือได้ว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ  กับข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จะให้เข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว  หาเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมไม่  อุทธรณ์ของจำเลยที่  1  ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

 

                                                จำเลยที่  1  อุทธรณ์ข้อสองว่า  สัญญาจ้างแรงงานตามเอกสารหมาย  จ. 4  ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2540  ตกเป็นโมฆะ  จำเลยที่  1  ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์  เห็นว่า  สัญญาจ้างแรงงานตามเอกสารหมาย  จ. 4   ข้อ  5  มีข้อความว่า  พนักงานจะไม่กระทำการต่อไปนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทภายในกำหนดระยะเวลา  1  ปี  นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดหรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัท  5.1  ไปทำงานในสถานประกอบการอื่นซึ่งประกอบธุรกิจในลักษณะหรือประเภทเดียวกันกับธุรกิจของบริษัท  หรือเป็นคู่แข่งทางการค้ากับบริษัท  5.2  เข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการพัฒนาทำ  ผลิต  หรือจำหน่าย  ซึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท  และพนักงานเคยมีส่วนเกี่ยวข้องในระหว่างที่ทำงานกับบริษัท  ข้อ  6  มีข้อความว่ากรณีที่พนักงานผิดสัญญาหรือฝ่าฝืนข้อกำหนดใด  ในสัญญาฉบับนี้  พนักงานยินยอมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทตามความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกประการ  ถ้าเป็นกรณีผิดสัญญา  ข้อ  5  พนักงานต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินไม่น้อยกว่า  200,000  บาท  ทันทีโดยปราศจากเงื่อนไขทั้งสิ้น  ข้อความตามสัญญาดังกล่าวไม่ได้ห้ามจำเลยที่  1  อย่างเด็ดขาด  เพราะหากโจทก์ยินยอมจำเลยที่  1  ย่อมมีสิทธิไปกระทำการต่าง ๆ   ตามข้อห้ามในสัญญาได้  และการกระทำที่เข้าข้อห้ามก็มีเฉพาะการไปทำงานในสถานประกอบการอื่นที่ประกอบธุรกิจแข่งขันทางการค้ากับโจทก์  และการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนา  ทำ  ผลิต  หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์อันเป็นการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์  หรือที่จำเลยที่  1  เคยมีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างทำงานกับโจทก์  ทั้งกำหนดระยะเวลาที่ห้ามก็เพียง  1  ปี  นับแต่จำเลยที่  1  พ้นจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์  จึงไม่เป็นการตัดโอกาสในการประกอบอาชีพของจำเลยที่  1  เสียทั้งหมดคงเป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งไม่นานเกินควร  และเป็นสัญญาที่รักษาสิทธิประโยชน์ของคู่กรณีให้เป็นไปโดยชอบในเชิงการประกอบธุรกิจ  ย่อมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2540  ไม่ตกเป็นโมฆะ  เมื่อจำเลยที่  1  ผิดสัญญาก็ต้องรับผิดตามสัญญาแก่โจทก์  อุทธรณ์ของจำเลยที่  1  ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

 

                                                 โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า  ศาลแรงงานกลางไม่ได้ตัดสินคดีตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ  โดยข้ามไปตัดสินคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย  ไม่ตัดสินคำขอให้บังคับจำเลยที่  1  หยุดกระทำการที่เป็นการฝ่าฝืนสัญญาก่อน  และเมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยที่  1  ผิดสัญญาจ้างแรงงานแล้ว  ศาลแรงงานกลางต้องพิพากษาห้ามจำเลยที่  1  ทำงานกับบริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์  คอนเทนเนอร์  จำกัด  หรือไม่ให้ทำธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์ภายใน  1  ปี  แต่หาได้พิพากษาเช่นนั้นไม่  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น  เห็นว่า  ศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยในคำพิพากษาว่าหลังจากจำเลยที่  1  ลาออกจากโจทก์ไม่ถึง  1  เดือน  ก็ไปทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์ในกำหนดระยะเวลาต้องห้าม  ถือว่าผิดสัญญาจ้างแรงงาน  ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเบี้ยปรับ  50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  โดยไม่กำหนดให้จำเลยที่  1  ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่  1  ทำให้ยอดขายสินค้าของโจทก์ลดลง  และจำเลยที่  1  ไปขายสินค้าตัดราคาของโจทก์โดยอาศัยข้อมูลความลับทางการค้าของโจทก์  ทั้งไม่อาจห้ามจำเลยที่  1  ไปทำงานกับบริษัทอินเตอร์ไฟเบอร์  คอนเทนเนอร์  จำกัด  หรือห้ามจำเลยที่  1  ทำธุรกิจหรือทำงานในธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์ภายใน  1  ปี  ดังข้างต้นได้  เพราะโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากสาเหตุที่จำเลยที่  1  กระทำการดังกล่าว  แสดงให้เห็นว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีตามคำขอของโจทก์ครบถ้วนทุกข้อชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  142  วรรคหนึ่ง  ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน  พ.ศ.  2522  มาตรา  31  แล้ว  และเมื่อวินิจฉัยว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะสาเหตุที่จำเลยที่  1  ทำให้ยอดขายสินค้าของโจทก์ลดลงหรือจำเลยที่  1  ขายสินค้าตัดราคาของโจทก์โดยอาศัยข้อมูลความลับทางการค้าของโจทก์ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจพิพากษาคดีโดยไม่ห้ามจำเลยที่  1  ทำงานกับบริษัทอินเตอร์ไฟเบอร์  คอนเทนเนอร์  จำกัด  หรือไม่ให้ทำธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์ภายใน  1  ปี  นับแต่พ้นจากสถานะลูกจ้างของโจทก์  คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว  อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

 

                                                โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า  สัญญาจ้างแรงงานข้อ  6  ที่กำหนดให้จำเลยที่  1  ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินไม่น้อยกว่า  200,000  บาท  เมื่อผิดสัญญาข้อ  5  ให้แก่โจทก์ไม่ใช่เบี้ยปรับ  ศาลแรงงานกลางไม่อาจลดลงได้  ต้องพิพากษาให้จำเลยที่  1  ชดใช้เต็มจำนวนแก่โจทก์  เห็นว่า  สัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดให้จำเลยที่  1  ต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์  เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ  หากสูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  383  อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น 

                                                พิพากษายืน.

 

Visitors: 122,743