ค่าที่ปรึกษากฎหมาย เป็นเงินได้ประเภทใด

ค่าที่ปรึกษากฎหมายเป็นเงินได้ตาม 40(2) หรือ 40(6)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8214/2549

 

นายเสรี จินตนเสรี กับพวก     โจทก์

 

กรมสรรพากร กับพวก     จำเลย

 

 ป.รัษฎากร มาตรา 40

 

 

 

          ป.รัษฎากร มาตรา 40 (2) บัญญัติให้เงินได้จากวิชากฎหมายเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระและเป็นเงินได้ประเภทหนึ่งต่างหากจากเงินได้ประเภทอื่น โจทก์สำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายมีเงินได้ที่โจทก์ได้รับมาจากการเป็นที่ปรึกษากฎหมายจึงเป็นเงินได้ตาม 40 (6) หามีบทบัญญัติว่าการประกอบอาชีพกฎหมายจะต้องว่าความหรือฟ้องร้องคดีด้วยไม่ ทั้งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติห้ามผู้ประกับวิชาชีพกฎหมายรวมกันเป็นคณะบุคคลประกอบวิชาชีพกฎหมาย

 

 

 

                             ________________________________

 

 

 

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ประกอบกิจการใช้ชื่อว่า “คณะบุคคลพร่างพราว” จัดตั้งขึ้นโดยสัญญาตกลงจัดตั้งคณะบุคคลมีวัตถุประสงค์ให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากร จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล โดยเป็นกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรฝ่ายสรรพากร จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ในปีภาษี 2544 คณะบุคคลของโจทก์ทั้งสองให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่บริษัทเสรี มานพ จำกัด และบริษัทบางกอกสปริง อินดัสเตรียล จำกัด และได้รับเงินค่าตอบแทนการให้คำปรึกษากฎหมายรวมเป็นเงิน 985,440.80 บาท คณะบุคคลของโจทก์ทั้งสองนำรายได้ดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยแสดงรายการเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2546 เจ้าพนักงานประเมินออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคณะบุคคลของโจทก์ทั้งสองแจ้งให้ชำระภาษีที่ขาดไปจำนวน 47,126.94 บาท พร้อมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 31 มกราคม 2546 จำนวน 7,069.04 บาท โดยให้เหตุผลว่า กรณีเงินได้จากการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย กฎหมายกำหนดให้ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) โจทก์ทั้งสองยื่นแบบแสดงรายการภาษีเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อคำนวณภาษีใหม่โจทก์ทั้งสองต้องชำระภาษีเพิ่มเติมตามจำนวนที่แจ้งการประเมิน โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์ทั้งสอง โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ทั้งสองมีสถานะเป็นคณะบุคคลมีเงินได้จากค่าที่ปรึกษากฎหมาย เงินได้ดังกล่าวถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเงินได้ตามมาตรา 40 (6) นั้น ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่อาจใช้กับคณะบุคคลได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ถือเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากรจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ทั้งสองได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2547 จึงฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง เพราะเงินได้จากค่าที่ปรึกษากฎหมายเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายคำว่า “วิชาชีพ” ว่า คือ “อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ ความชำนาญ” โจทก์ทั้งสองเป็นผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญวิชากฎหมายงานที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายแก่ผู้ให้บริการ เงินค่าตอบแทนที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากการให้คำปรึกษาดังกล่าวขึ้นอยู่กับปริมาณหรือผลงาน ประสบการณ์ และความสามารถของผู้ให้บริการจึงเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระคือกฎหมายตามมาตรา 40 (6) มิใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (2) ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เงินได้ตามมาตรา 40 (6) ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว ทั้งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่า มาตรา 40 (6) ไม่ใช้บังคับกับคณะบุคคล ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ 20071700 (ที่ถูก 2007170)/1/102998 ลงวันที่ 15 มกราคม 2546 ของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ. 2/อธ.3/15/29/47 ฉบับลงวันที่ 26 เมษายน 2547

 

          จำเลยทั้งสี่ให้การว่า เงินได้จากวิชาชีพอิสระคือวิชากฎหมายตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากเป็นที่ปรึกษากฎหมายแล้วยังต้องฟ้องร้องคดีด้วย ถ้าเป็นที่ปรึกษากฎหมายเพียงอย่างเดียว กฎหมายกำหนดให้ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) กรณีของโจทก์ทั้งสองเป็นเงินได้ค่าที่ปรึกษา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองให้คำปรึกษาเพียงอย่าเดียว ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) เงินได้ตามมาตรา 40 (6) ยังเป็นสิทธิเฉพาะตัวบุคคล โจทก์ทั้งสองประกอบกิจการในนามคณะบุคคลไม่อาจมีสิทธิเช่นนั้นได้ เงินได้พึงประเมินของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นเงินได้จากค่าจ้างตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

 

          ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 2007170/1/102998 ลงวันที่ 15 มกราคม 2546 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2/อธ.3/15/29/47 ฉบับลงวันที่ 26 เมษายน 2547 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

 

          จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

          ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย ได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโจทก์ที่ 1 สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตไทยจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษจากลินคอร์นอินน์ ประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ กับได้รับใบอนุญาตเป็นทนายความจากสภาพทนายความ ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายธุรกิจจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โจทก์ทั้งสองร่วมกันเป็นคณะบุคคลพร่างพราว มีวัตถุประสงค์เป็นที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากรได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ปีภาษี 2544 แสดงเงินได้ที่โจทก์ทั้งสองได้รับเป็นค่าที่ปรึกษากฎหมายว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) จำนวน 985,440.80 บาท คำนวณเป็นภาษีจำนวน 68,461.71 บาท แต่เจ้าพนักงานประเมินว่า เงินได้จำนวนดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) คำนวณเป็นภาษีจำนวน 115,588.16 บาท และให้โจทก์ทั้งสองชำระภาษีส่วนที่ขาดเป็นจำนวน 47,126.94 บาท กับเงินเพิ่มตามมาตรา 27 คำนวณถึงวันที่ 31 มกราคม 2546 จำนวน 7,069.06 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ 2007170/1/102998 ลงวันที่ 15 มกราคม 2546 โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่า เงินได้ตามมาตรา 40 (6) เป็นสิทธิเฉพาะตัว โจทก์ทั้งสองเป็นคณะบุคคลเงินได้ค่าที่ปรึกษากฎหมายรายพิพาทจึงเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ.3/15/29/47 โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องคดีนี้

 

          คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า เงินได้ค่าที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ทั้งสองเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (2) ตามความเห็นของจำเลยทั้งสี่หรือเป็นเงินได้ตาม มาตรา 40 (6) ตามความเห็นของโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า เงินได้รายพิพาทไม่ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) เพราะโจทก์ทั้งสองเป็นที่ปรึกษาอย่างเดียวโดยไม่ได้ว่าความหรือฟ้องร้องคดีด้วย และเงินได้ตามมาตรา 40 (6) เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจใช้บังคับในกรณีเป็นคณะบุคคลเช่นโจทก์ทั้งสอง พิเคราะห์แล้ว ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (2) บัญญัติว่า “เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้...”มาตรา 40 (6) บัญญัติว่า “เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย...” ตามบทกฎหมายดังกล่าว เห็นได้ว่า ประมวลรัษฎากรบัญญัติให้เงินได้จากวิชากฎหมายเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระและเป็นเงินได้ประเภทหนึ่งต่างหากจากเงินได้ประเภทอื่น โจทก์ทั้งสองสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย เงินได้รายพิพาทเป็นเงินได้ที่โจทก์ทั้งสองได้รับมาจากการเป็นที่ปรึกษากฎหมายจึงเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) หามีบทบัญญัติว่าการประกอบอาชีพกฎหมายจะต้องค่าความหรือฟ้องร้องคดีด้วยไม่ ทั้งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติห้ามผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายรวมกันเป็นคณะบุคคลประกอบวิชาชีพกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่หามีบทกฎหมายหรือเหตุผลสนับสนุนไม่ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”

 

          พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 600 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง.

 

 

 

 

 

( กำธร โพธิ์สุวัฒนากุล - ทองหล่อ โฉมงาม - เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ )

 

 

 

 

 

หมายเหตุ

 

          เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากรหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท (ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ทวิ) ส่วนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 30 ถ้าเป็นเงินได้จากการประกอบโรคศิลปะ และร้อยละ 30 ถ้าเป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นหรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรก็ได้ (ประมวลรัษฎากร มาตรา 44, พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 11 พ.ศ.2502 มาตรา 6)

 

                   เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) และเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) ต่างเป็นเงินได้ที่มีที่มาจากการรับทำงานให้แก่ผู้อื่น คงต่างกันที่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) มีที่มาจากการรับทำงานโดยใช้ความรู้ความชำนาญในวิชาที่กำหนดไว้ในมาตรา 40 (6) ส่วนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) มีที่มาจากการรับทำงานโดยมิได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องใช้ความรู้ความชำนาญในวิชาใด นอกจากนี้ยังต่างกันที่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) จะเป็นเงินได้ที่ได้รับในจำนวนไม่แน่นอน ได้รับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณงานหรือผลงาน ส่วนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) จะเป็นเงินได้ที่ได้รับในจำนวนแน่นอน มิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณงานหรือผลงานเป็นสำคัญ ดังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2526 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยว่า "เงินได้ของโจทก์ที่ได้รับจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นรายเดือน เป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ประจำในการรักษาผู้ป่วยซึ่งเป็นพนักงานและลูกจ้าง ณ สถานพยาบาลของการไฟฟ้าฯ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) จึงหักค่าใช้จ่ายได้ตามมาตรา 44"

 

                   ที่ปรึกษากฎหมายแม้จะต้องใช้ความรู้ความชำนาญในวิชากฎหมายทำงานให้แก่ผู้อื่น แต่เงินได้ที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) ต่อเมื่อเป็นเงินได้ที่ได้รับตามปริมาณงานหรือผลงานที่ทำให้แก่ผู้ว่าจ้าง มิได้รับในจำนวนแน่นอน หากเป็นการได้รับในจำนวนแน่นอนมิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณงานหรือผลงานเป็นสำคัญแล้ว เงินได้ที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2526 (ประชุมใหญ่) ดังกล่าว

 

                   คดีนี้โจทก์ทั้งสองกล่าวในฟ้องว่าเงินค่าตอบแทนที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากการให้คำปรึกษาทางกฎหมายขึ้นอยู่กับปริมาณงานหรือผลงาน จำเลยกับพวกมิได้ให้การโต้แย้งข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเงินได้ที่โจทก์ทั้งสองได้รับขึ้นอยู่กับปริมาณหรือผลงาน เมื่อการประกอบวิชาชีพอิสระทางกฎหมายมิได้จำกัดเฉพาะการว่าความในศาล แต่รวมถึงการให้คำปรึกษาทางกฎหมายด้วย เงินได้ที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากการให้คำปรึกษาทางกฎหมายจึงถือเป็นเงินได้ถึงประเมินตามมาตรา 40 (6)

 

                   แม้จะให้คำปรึกษาในนามคณะบุคคลก็ไม่ทำให้เงินดังกล่าวกลายเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ดังความเห็นของจำเลยกับพวก เพราะจะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) หรือ (6) ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่างานที่ทำนั้นเป็นงานที่ใช้ความรู้ความชำนาญในวิชาที่กำหนดไว้ในมาตรา 40 (6) หรือไม่ และค่าตอบแทนที่ได้รับนั้นได้รับในจำนวนแน่นอน มิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณหรือผลงานหรือไม่ มิได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล แม้จะเป็นคณะบุคคล แต่ถ้าใช้ความรู้ความชำนาญในวิชาที่กำหนดไว้ในมาตรา 40 (6) ในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างและได้รับค่าตอบแทนตามปริมาณหรือผลงานแล้ว เงินได้ที่ได้รับก็ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) อีกประการหนึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 56 วรรคสอง กำหนดให้คณะบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยมิได้มีข้อยกเว้นว่าคณะบุคคลจะมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) ไม่ได้ คณะบุคคลจึงมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) ได้ แม้แต่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็อาจมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) ได้ ดังเช่นที่มีบัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ฉะนั้น เงินได้ที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคณะบุคคลได้รับจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยไว้           

 

                   ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม

 

นอกจากนี้มีคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 340/2554 (ที่มา http://nukbunchee.com/Webboard/index.php?topic=59.0) ได้วินิจฉัยเดินตาม ที่ปรึกษากฎหมายแม้จะต้องใช้ความรู้ความชำนาญในวิชากฎหมายทำงานให้แก่ผู้อื่น แต่เงินได้ที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) ต่อเมื่อเป็นเงินได้ที่ได้รับตามปริมาณงานหรือผลงานที่ทำให้แก่ผู้ว่าจ้าง มิได้รับในจำนวนแน่นอน หากเป็นการได้รับในจำนวนแน่นอนมิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณงานหรือผลงานเป็นสำคัญแล้ว เงินได้ที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)

Visitors: 123,822