ผู้ให้กู้ กรอกจำนวนเงินกู้ในสัญญากู้ เกินกว่าความจริง ผู้กู้ต้องชดใช้เงินตามที่ผู้ให้กู้กรอกไว้หรือไม่ และผู้ให้กู้มีความผิดฐานใดบ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2518/2547

 

          จำเลยได้กู้เงินไปเพียง 30,000 บาท แต่โจทก์กลับไปกรอกข้อความในสัญญาเงินกู้เป็นเงินถึง 109,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้ยินยอม สัญญากู้จึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่อาจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีได้ เมื่อเงินกู้จำนวนดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้กู้มาแสดง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ได้

 

 

 

________________________________

 

 

 

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 109,000 บาท จำเลยรับเงินครบถ้วนแล้ว ตกลงให้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย ภายหลังทำสัญญาจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ย ครั้นหนี้ถึงกำหนดชำระจำเลยไม่นำต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างมาชำระ ทำให้โจทก์เสียหาย ดอกเบี้ยคิดจากวันกู้ถึงวันฟ้อง 17,914.07 บาท รวมเป็นหนี้คิดถึงวันฟ้อง 126,914.07 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 126,914.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 109,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

          จำเลยให้การว่า จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์เพียง 30,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อเดือน โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มสัญญากู้ท้ายฟ้องโดยไม่มีการกรอกข้อความใดๆ หลังจากนั้นจำเลยได้ผ่อนชำระไปแล้วเดือนละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 18,000 บาท คงค้างต้นเงินจำนวน 12,000 บาท โจทก์กับสามีสมคบกันไปกรอกจำนวนเงินเองเป็น 109,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นและยินยอม สัญญากู้ท้ายฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

 

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

 

          โจทก์อุทธรณ์

 

          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 126,914.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 109,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 มีนาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์

 

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

 

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.1 จริง มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญากู้ฉบับดังกล่าวหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์กับนายถวิล สมบูรณ์ เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2541 จำเลยได้มาขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ไป 109,000 บาท โจทก์ตกลงให้กู้และได้มอบเงินให้จำเลยรับไปแล้วได้ทำสัญญากู้ไว้ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.1 นายถวิลเบิกความยืนยันว่าตนเป็นทำสัญญาดังกล่าวโดยเป็นผู้กรอกข้อความลงในช่องว่างแล้วให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความยืนยันว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเพียง 30,000 บาท เท่านั้น และได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.1 จริง แต่สัญญากู้ดังกล่าวไม่ได้กรอกข้อความไว้ โจทก์มากรอกข้อความภายหลัง เห็นว่า พยานบุคคลทั้งสองฝ่ายต่างเบิกความไปคนละทาง จึงเป็นการยากที่จะเชื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ แต่เมื่อได้พิเคราะห์หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.1 แล้ว ปรากฏว่าสีหมึกที่ใช้เขียนข้อความในช่องทำที่กับข้อความในช่องว่างในข้อ 2 แตกต่างกับสีหมึกที่ใช้เขียนข้อความในช่องว่างต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นลายมือชื่อของจำเลยในช่องผู้กู้สีของหมึกที่ใช้เขียนก็แตกต่างออกไปอีก แสดงให้เห็นว่าใช้ปากกาคนละด้ามเขียน ดังนั้น ที่นายถวิลเบิกความข้อความที่เขียนในเอกสารและที่จำเลยลงลายมือชื่อใช้ปากกาด้ามเดียวกัน จึงรับฟังไม่ได้เป็นพิรุธ นอกจากนี้ในสัญญากู้ดังกล่าวระบุว่า นายสุทัศน์สามีจำเลยเป็นผู้กู้แต่จำเลยกลับลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ด้วยตนเองซึ่งหากมีการเขียนสัญญากู้ในวันที่จำเลยมาขอกู้ยืมเงินจริงก็ไม่น่าจะเกิดการผิดพลาดได้เช่นนี้ พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นพิรุธน่าสงสัยมีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สัญญากู้ดังกล่าวมีการกรอกข้อความในภายหลังตามที่จำเลยนำสืบ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์นำสืบว่า จำเลยกู้ยืมเงินไป 109,000 บาท แต่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่ากู้ยืมเงินไปเพียง 30,000 บาท ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีแต่พยานบุคคลเบิกความยันกันเท่านั้น ส่วนหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นพยานเอกสารนั้นข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า เป็นการกรอกข้อความภายหลัง จึงไม่อาจใช้เป็นพยานเอกสารสนับสนุนข้อนำสืบของโจทก์ได้ แต่เมื่อได้พิเคราะห์ฐานะของโจทก์ในขณะที่ให้จำเลยกู้ยืมเงินแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในขณะนั้นโจทก์ยังเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาห้วยยอด อีกหลายจำนวน ซึ่งรวมกันแล้วโจทก์เป็นหนี้ถึง 430,000 บาท และยังเป็นลูกหนี้ของบรษัทสหมิตรธุรกิจอีกถึง 30,000 บาท หนี้ทั้งหมดโจทก์ยังมิได้ชำระให้แก่เจ้าหนี้แต่อย่างใด จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะมีเงินถึงจำนวน 109,000 บาท มาให้จำเลยกู้ได้ ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อได้ว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปเพียง 30,000 บาท ตามที่จำเลยนำสืบเท่านั้น มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยจะต้องชำระหนี้จำนวน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้กู้เงินไปเพียง 30,000 บาท แต่โจทก์กลับไปกรอกข้อความในสัญญากู้เป็นจำนวนเงินถึง 109,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้ยินยอม สัญญากู้จึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่อาจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในฟ้องคดีได้เมื่อเงินกู้จำนวนดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้กู้มาแสดง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

 

          พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

 

( องอาจ โรจนสุพจน์ - ประชา ประสงค์จรรยา - พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ )


หมายเหตุ นอกจากนี้ ผู้ให้กู้ยังมีความผิดฐานฐานเบิกความเท็จ ฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี จำคุก ฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม อีกด้วย

 

Visitors: 122,374