อ้างว่า ไฟแนนซ์ให้มายึดรถที่ค้างค่างวดคืน ถ้าไม่อยากให้ยึด ต้องจ่ายค่าติดตามมา อย่างนี้ ผู้เช่าซื้อจะดำเนินคดีอาญากับพวกแอบอ้างอย่างนี้ได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5146/2557

โจทก์   พนักงานอัยการ จังหวัดอุดรธานี

จำเลย  นายเอกกร  คำจันทร์

ป.อ. กรรโชก  มาตรา 337 วรรคแรก

 

     โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337, 83

กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 2,300 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย

     จำเลยให้การปฏิเสธ

     ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83  จำคุก 3 ปี ลักษณะของความผิด

ของจำเลยเป็นการหลอกลวงประชาชนผู้สุจริตให้ได้รับความเดือดร้อน โดยมุ่งแสวงหา

ประโยชน์สวนตนโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายของผู้อื่น เป็นเรื่องที่ร้ายแรง

จึงไม่รอการลงโทษ ให้จำเลยคืนเงิน  2,300 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย

     จำเลยอุทธรณ์

     ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

     จำเลยฎีกา

     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า

การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก

หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริง

ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4  ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตาม

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า

นางบุษกร ผู้เสียหาย และนายเสริญ เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน

นช  2738 อุดรธานี ที่ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของ แต่ผู้เสียหาย

และนายเสริญไม่ได้ทำสัญญาเช่าซือรถยนต์กระบะคันดังกล่าวจากธนาคารเกียรตินาคิน

จำกัด (มหาชน) จำเลยไม่ได้เป็นพนักงานธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยกับพวกมาที่บ้านผู้เสียหาย แจ้งว่าผู้เสียหายค้างชำระ

ค่างวดรถยนต์ 3 งวด และมาติดตามค่างวด ผู้เสียหายบอกว่าสามีไม่อยู่ ไม่รู้เรื่องรถ

จำเลยจึงบอกว่าถ้างั้นเอาค่าติดตามมา ธนาคารให้จำเลยกับพวกมาติดตาม

รถยนต์คืน ผู้เสียหายบอกว่าไม่มี จำเลยถามว่ามีเท่าไร ผู้เสียหายบอกว่ามี

2,300 บาท จำเลยพูดว่าถ้าไม่งั้นจะเอารถยนต์ไป ผู้เสียหายกลัวจำเลยกับพวก

จะยึดรถยนต์ไปจึงบอกให้จำเลยกับพวกเอาเงิน 2,300 บาท ไป จำเลยจึงเอาเงิน

จำนวนดังกล่าวไป เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก บัญญัติว่า

"ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะ

ที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต

ร่างกาย  เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม

จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก" ดังนี้ การขู่เข็ญว่า

จะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญเป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจว่า

จะได้รับภัยในทรัพย์สินของตนจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญ ซึ่งอาจขู่เข็ญตรงๆ

หรือใช้ถ้อยคำหรือทำกริยาให้เข้าใจเช่นนั้นก็ได้  โดยไม่จำเป็นที่ผู้ขู่เข็ญต้องกระทำ

ต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญจนเสียรูปทรงหรือเปลี่ยนรูปทรงไปจากเดิมหรือใช้การไม่ได้

หรือทำให้เสื่อมค่าเสื่อมราคาดังที่จำเลยฎีกา  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น 

การที่จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายจ่ายเงินค่าติดตามรถยนต์คืน หากไม่นำมาใช้จะยึดรถยนต์กระบะ

ของผู้เสียหายไป จึงเข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตราย

ต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญคือรถยนต์กระบะของผู้เสียหายแล้ว  ซึ่งทำให้ผู้เสียหาย

เกิดความกลัวและยินยอมนำเงิน  2,300 บาท ให้จำเลย การกระทำของจำเลย

จึงเป็นความผิดฐานกรรโชก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

     พิพากษายืน

 

     (ปกรณ์  มหรรณพ  -  สมยศ  เข็มทอง  -  นุจรินทร์  จันทร์พรายศรี)

 

                                                                 ประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์  -  ย่อ

                                                              ชนากานต์  ธีรเวชพลกุล  -  ตรวจ

Visitors: 123,775