เงินเยอะ ซื้อที่ดินมือเปล่าทิ้งไว้ (ภ.บ.ท.5 หรือ สทก.) แต่ไม่ได้ครอบครองตามความเป็นจริง จะฟ้องขับไล่ เอาที่ดิน คืนได้ไหม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4993/2554

 

     โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดิน ตำบลเกาะพยาม อำเภอ

เมืองระนอง จังหวัดระนอง เนื้อที่ประมาณ 115 ไร่  ในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ

"ป่าเกาะพยาม" ซึ่งทางราชการออกเอกสารสิทธิทำกิน (สทก.) ให้แก่ราษฎร

ที่ทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ในเขตที่ดินดังกล่าว โดยซื้อสิทธิทำกินมาจากนายสามารถ

แตงทอง  นายศักดิ์ชาย  แตงทอง  นายนิตย์ แตงทอง  และนายบุญยืน  แตงทอง

เมื่อต้นปี 2533 หลังจากซื้อแล้วโจทก์ใช้ประโยชน์ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มเติมทำนุ

บำรุงต้นไม้ที่มีอยู่เดิม เก็บผลไม้ เช่น มะพร้าวและสมุนไพรในที่ดินมาโดยตลอด ประมาณ

ต้นปี 2544 จำเลยและบริวารได้เข้ามาบุกรุกที่ดินบางส่วนที่โจทก์ซื้อสิทธิมาบริเวณ

ที่ติดกับทะเลด้วยการตัดฟันต้นไม้ปรับสภาพดินและปลูกสร้างบ้างพักตากอากาศ 

ประมาณ 6 ถึง 7 หลัง ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือ

บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ออกไป และชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน

2,000,000 บาท แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามา

รบกวนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด

ออกจากที่ดินพิพาทแล้วปรับสภาพที่ดินให้เหมือนเดิม กับชำระค่าเสียหายเป็นเงิน

2,000,000 บาท แก่โจทก์

     จำเลยให้การว่า  โจทก์ไม่ใช่ผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตามฟ้อง เมื่อปี

2538 จำเลยพบว่าบริเวณที่ดินตามแผนผังเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นที่

ว่างเปล่าที่ชาวบ้านปลูกพืชผลไม้ จึงขอซื้อที่ดินดังกล่าวประมาณ 17 ไร่ จากนาย

สามารถ แตงทอง ผู้ครอบครอง แล้วครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนา

เป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงกลางปี 2539 จึงได้โอนสิทธิในที่ดินและพืชผลดังกล่าว

ให้แก่นายโพธิ์  ไกรวนากุล  และหลังจากโอนไปแล้วจำเลยไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก

ที่โจทก์ฟ้องว่าต้นปี 2544  จำเลยเข้าไปตัดฟันต้นไม้และปลูกบ้านพักตากอากาศ

จึงไม่เป็นความจริง เมื่อที่ดินตามฟ้องไม่ใช่ของจำเลยและจำเลยไม่ได้บุกรุกที่ดิน

โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

     ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายโพธิ์  ไกรวนากุล เข้าเป็น

จำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

     จำเลยร่วมให้การว่า เมื่อปี 2525  จำเลยร่วม นายสามารถ แตงทอง

และนายศักดิ์ชาย แตงทอง  ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามแผนผังที่ดิน

เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เฉพาะส่วนที่เป็นของนายสามารถและนายศักดิ์ชาย

ต่อมาปี 2526  กรมป่าไม้ประกาศให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณดังกล่าว

ยื่นคำขอออกหนังสือสิทธิทำกิน (สทก.1) ได้ จำเลยร่วมให้นายสามารถและนาย

ศักดิ์ชายยื่นคำขอออกหนังสือทำกินโดยใส่ชื่อนายสามารถและนายศักดิ์ชาย

เป็นผู้ทรงสิทธิแทน แต่จำเลยร่วมเป็นผู้ครอบครองด้วยการก่อสร้างที่พัก ปลูกมะพร้าว

มะม่วงหิมพานต์ และทำประโยชน์มาตลอดโดยไม่เคยเห็นโจทก์หรือบริวารของโจทก์

เข้ามายุ่งเกี่ยว ต่อมากลางปี  2539 จำเลยร่วมได้รับโอนที่ดินพร้อมต้นไม้

ทางด้านหนังลึกเข้าไปอีก 17 ไร่ แล้วเข้าทำประโยชน์โดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนา

เป็นเจ้าของตลอดมา โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินตามฟ้องจึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิ

เรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

     ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยและจำเลยร่วมพร้อมบริวารเข้าเกี่ยวข้อง

ในที่ดินพิพาท ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจาก

ที่ดินพิพาท ปรับสภาพที่ดินพิพาทให้เหมือนเดิมและร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน

100,000 บาท แก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์

     จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์

     ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม

ทั้งสองศาลแทนจำเลยและจำเลยร่วม

     โจทก์ฎีกา

     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า

ที่ดินพิพาทเป็นที่ชายทะเลซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่มีราษฎรเข้าไปอยู่อาศัย

ทางราชการกรมป่าไม้จึงออกเอกสารสิทธิทำกิน (สทก.1) ให้แก่ราษฎรเหล่านั้น

หลังจากได้สิทธิทำกินแล้วปรากฏว่ามีการโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก

ที่มิได้อาศัยอยู่บนที่ดินจริง เมื่อปี  2542  จำเลยร่วมเข้าไปปลูกบ้านพักตากอากาศ

ประมาณ 6 หลัง บริเวณชายทะเลอ่าวเขาควาย โดยอ้างว่าได้รับการยกให้ที่ดิน

จากนายเสงี่ยม แตงทอง  ผู้ครอบครองเดิมและบางส่วนได้ซื้อต่อจากจำเลย หลังจาก

จำเลยร่วมก่อสร้างเสร็จแล้ว ประมาณปลายปี 2543 โจทก์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพ

มหานครได้โต้แย้งคัดค้านว่าที่ดินบริเวณที่จำเลยร่วมปลูกบ้านพักตากอากาศนั้น

เป็นของตนโดยซื้อมาจากนายสามารถ แตงทอง และญาติของนายสามารถ ขอให้จำเลย

และจำเลยร่วมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของ

โจทก์มีว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายสามารถและญาติหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิ

ครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของรัฐนั้น  ราษฎรไม่อาจ

ยกสิทธิใดๆ ขึ้นยันรัฐได้ แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันเอง  แต่ละฝ่ายอาจยกสิทธิครอบครอง

ขึ้นยันกันได้ หากฝ่ายใดยึดถือที่ดินพิพาทไว้โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนตาม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ฝ่ายนั้นย่อมมีสิทธิที่จะขัดขวางไม่ให้

อีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกเข้ามารบกวนการครอบครองของตนตามมาตรา

1374 ได้ ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่า  โจทก์ได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนา

จะยึดถือเพื่อตนนับแต่เวลาที่อ้างว่าได้ซื้อที่ดินมาจากนายสามารถตลอดมาจนถึงมี

การก่อสร้างบ้านพักตากอากาศภาพถ่ายหมาย ล.1 หรือไม่ ซึ่งการยึดถือที่จะได้

สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 นั้นจะต้องเป็น

การเข้าไปยึดถือครอบครองตามความเป็นจริง  คือมีการอยู่อาศัยทำประโยชน์บนที่ดิน

ที่ครอบครองพร้อมแสดงอาณาเขตแห่งการยึดถือครอบครองต่อบุคคลภายนอก

อย่างชัดเจน หากจะให้ผู้อื่นยึดถือแทน ผู้ยึดถือแทนก็ต้องยึดถือครอบครองทรัพย์สินนั้น

ตามความเป็นจริงด้วยเช่นเดียวกัน แต่คดีนี้ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์มี

ภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานครได้เดินทางไปดูที่ดินพิพาทเพียงปีละประมาณ 2 ถึง 3 ครั้ง

เท่านั้น ส่วนที่เบิกความว่า โจทก์มอบหมายให้นายธวัช  ขวัญยุบล ผู้รับมอบอำนาจ

โจทก์เป็นผู้ดูแลเป็นหลัก  นายธวัชผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็เบิกความว่า ได้เข้าไปดู

สามเดือนบ้าง หกเดือนบ้าง ซึ่งลักษณะการไปกูแลของนายธวัช ได้ความจากคำเบิก

ความของนายสาอีด  อาจหาญ  คนขับเรือจ้างที่นายธวัชว่าจ้างให้ไปส่งที่เกาะพยามว่า

เมื่อนายสาอีดไปส่งแล้วก็จะรอรับนายธวัชกลับมาด้วย แสดงว่านายธวัชผู้รับมอบ

อำนาจโจทก์ก็ไม่ได้ดูแลก็ในลักษณะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเช่นกัน สำหรับการ

ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยและจำเลยร่วมถามค้านว่า

ได้สั่งให้คนนำมะพร้าวไปปลูกแซมบางส่วน แต่ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่า

ต้นมะพร้าวที่ว่านั้นอยู่ตรงส่วนใดของที่ดินพิพาทและในช่วงเกิดเหตุต้นมะพร้าวนั้น

มีสภาพเช่นใด หรือผู้ใดเป็นคนปลูก คำเบิกความของโจทก์ในส่วนการทำประโยชน์

จึงเป็นคำเบิกความที่เลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเป็นความจริงได้ การแสดงอาณาเขต

ที่ดินที่อ้างว่าครอบครอง โจทก์และจ่าสิบเอกสมนึก  ทับเคลียว ผู้ที่โจทก์ใช้ให้ไปปิด

รั้วลวดหนามบริเวณที่ดินพิพาทก็เบิกความตรงกันว่าจ่าสิบเอกสมนึกได้ดำเนินการ

ปิดเฉพาะด้านริมคลองที่ติดกับทะเลเท่านั้น ส่วนด้านหลังไม่ได้ปิดเพราะเป็นพื้นที่

ลึกเข้าไปอันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้แสดงอาณาเขตที่ดินที่อ้างว่ามีการครอบครอง

ให้ปรากฏชัดแจ้งแต่อย่างใด จากทางนำสืบของโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ยึดถือ

ครอบครองที่ดินพิพาทไว้เพื่อตนตามความเป็นจริง ลำพังเพียงโจทก์ซื้อที่ดินพิพาท

จากนายสามารถและญาติซึ่งอ้างว่ามีสิทธิทำกินนั้น ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครอง

ตามกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาท โจทก์ก็ย่อม

ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและจำเลยร่วมออกจากที่ดินพิพาท กรณีไม่จำต้องวินิจฉัย

ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายสามารถและญาติหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดี

เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า  พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า

โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้ครอบครองเดิมและพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่า

โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

     พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

     (พิศล  พิรุณ  -  พันวะสา  บัวทอง  -  นวลน้อย  ผลทวี)

                                                   ณัฏฐ์พงษ์  สมศักดิ์   -  ย่อ

                                                         ศิริชัย  ศิริกุล  -  ตรวจ

Visitors: 123,755