ที่ดิน ภ.บ.ท.5 ซื้อขายกันได้ แต่ถ้าเป็นที่สาธารณประโยชน์ สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๐๘/๒๕๕๗

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งมีแบบแสดงรายการที่ดิน(ภ.บ.ท.๕) และใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.๑๑)จากจำเลยที่ ๑ โดยปลอดภาระผูกพันหรือภาระติดพันใด ๆ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยเพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุได้หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้ถือว่าเป็นของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๒ และที่ราชพัสดุ หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔ ดังนั้น ที่ดินพิพาทไม่มีภาระผูกพันหรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๒๙ จำเลยที่ ๑ ผู้ขายไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่ครอบครองที่ดินพิพาทและขายสิทธิครอบครองนั้นให้แก่โจทก์โดยโอนไปซึ่งการครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๘ ในระหว่างเอกชนด้วยกัน การขายสิทธิครอบครองที่ดินของรัฐใช้บังคับได้ โจทก์ทำนิติกรรมซื้อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมีแบบแสดงรายการที่ดิน(ภ.บ.ท.๕)และใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่(ภ.บ.ท.๑๑)จากจำเลยที่ ๑ ด้วยใจสมัครตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙ โดยทราบดีว่าเป็นที่ดินมือเปล่าอันเป็นของรัฐ เมื่อจำเลยที่ ๑ โอนไปซึ่งการครอบครองต้องตามวัตถุประสงค์แล้ว โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

(สุรพันธุ์ ละอองมณี – ธราธร ศิลปโอสถ – สุพจน์ ธำรงเวียงผึ้ง)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7464/2555

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม

2547 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์เนื้อที่ 1 ไร่ จากจำเลยราคา

150,000 บาท ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสำราญห้ามมิให้โจทก์เข้าครอบครอง

ทำประโยชน์ในที่ดิน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงิน

ค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยคืนจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์

จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305

บัญญัติว่า  ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่

อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา การที่โจทก์จำเลยทำสัญญา

ซื้อขายที่ดินพิพาท (เป็นที่สาธารณประโยชน์) แก่กัน  จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150  และมีผลเป็นการเสียเปล่าเท่ากับโจทก์จำเลยมิได้ทำสัญญาซื้อขายกันและต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมแก่กันโดยให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 172 แต่การที่โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายโดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์  ถือว่าเป็นการกระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 407 และมาตรา 411 โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับคืนราคาที่ดินที่ชำระแก่จำเลยดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

     พิพากษายืน  ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

     (ฉัตรไชย  จันทร์พรายศรี  -  นิยุต  สุภัทรพาหิรผล  -  ธีระพงศ์  จิระภาค)

 

Visitors: 122,809