รถถูกขโมยไปจากคอนโด ใครต้องรับผิดชอบ

มีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินไว้ 2 คดีทำนองเดียวกันว่า นิติบุคคลอาคารชุด ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะไม่ใช้ทรัพย์ส่วนกลาง แต่บริษัทรักษาความปลอดภัยที่นิติบุคคลจ้างมานั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ถ้าฝ่าฝืนระเบียบการป้องกันรักษาความปลอดภัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2369/2557

         โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อและครอบครองรถยนต์ ยี่ห้อ โตโยต้า หมายเลขทะเบียน สฬ 9768 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สิน ที่อยู่ภายในอาคารชุดจำเลยที่ 3 นายสมบูรณ์ วันสว่างเมือง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 8/219 ซึ่งอยู่ภายในอาคารชุดจำเลยที่ 3 ชั้น 17 โจทก์มอบหมายให้นายสมบูรณ์ครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา นายสมบูรณ์ขับรถยนต์ คันพิพาทเข้าไปจอดบริเวณลานจอดรถภายในอาคารชุดจำเลยที่ 3 จนเวลา 11.45 นาฬิกา นายสมบูรณ์จึงทราบว่ารถยนต์คันพิพาทถูก คนร้ายลักไป จากการตรวจสอบจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของจำเลยที่ 3 พบว่ามีคนร้ายลักรถยนต์ไปเมื่อเวลา 11.30 นาฬิกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่พนักงานรักษาความปลอดภัยในอาคารชุดจำเลยที่ 3 การที่รถยนต์คันพิพาทถูกคนร้ายลักไปเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานและบัตรจอดรถจากบุคคลที่นำรถเข้าออก แต่จำเลยที่ 1 ละเลยไม่ตรวจสอบหลักฐานตามระเบียบ คนร้ายจึงลักรถยนต์ของ โจทก์ออกไปได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นตัวการของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ โดยต้องร่วมกันคืนรถยนต์ที่ถูกคนร้ายลักไป หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาเป็นเงิน 370,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 3,193 บาท ค่าขาดประโยชน์นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้อง 42 วัน เป็นเงิน 21,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 394,193 บาท ขอ ให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันคืนรถยนต์คันพิพาทหรือ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 394,193 บาท พร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะ โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์ที่ถูกลักไปมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลย ที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อเนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ ปฏิบัติตามระเบียบในการตรวจสอบและให้ผู้นำรถยนต์ที่เข้าออกอาคาร ทุกคันต้องแลกบัตรทุกครั้ง แต่โจทก์ไม่ให้ความร่วมมือโดยไม่ยอม แลกบัตร อีกทั้งโจทก์ยังยินยอมให้บุคคลหลายคนใช้รถยนต์จนไม่อาจ ทราบได้แน่ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่แท้จริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้อง รับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินควร ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เพราะ จำเลยที่ 3 มีหน้าที่จัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางซึ่งหมายถึงส่วน ของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมเท่านั้น เมื่อรถยนต์ที่สูญหายเป็นทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลมิใช่ทรัพย์ส่วนกลาง จำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีหน้าที่ดูแลรักษา อีกทั้งจำเลยที่ 3 มิใช่ ตัวการของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 เพียงแต่จัดจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลความปลอดภัยในอาคารชุดตามข้อบังคับของจำเลยที่ 3 อันเป็น การกระทำเพื่อประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วมทุกคน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรืแทนกันคืน รถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หรือร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกัน หรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าธรรมเนียม (ที่ถูก ค่าขึ้นศาล) ให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

         จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับ จำเลยที่3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ในศาลชั้น ต้น และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้ เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

         โจทก์ฎีกา

         ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันใน ชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อและครอบครองรถยนต์ หมายเลขทะเบียน สฬ 9768 กรุงเทพมหานคร ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.1 โจทก์มอบให้นายสมบูรณ์ วันสว่างเมือง เป็น ผู้ใช้รถยนต์คันดังกล่าว นายสมบูรณ์เป็นเจ้ากรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 8/219 ในอาคารชุดเซ็นทรัล รัชโยธิน ปาร์ค ตามหนังสือสัญญาขาย ห้องชุดเอกสารหมาย จ.6 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยที่อาคารชุดเซ็นทรัล รัชโยธิน ปาร์ค มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 สิ้นสุดวันที่ 1 ธันวาคม 2553 ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสาร หมาย จ.4 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา นายสมบูรณ์ขับรถยนต์ของโจทก์ไปจอดไว้ที่ชั้น 5 ของอาคารจอดรถ ภายในอาคารชุดเช็นทรัล รัชโยธิน ปาร์ค ต่อมาเวลา 11.30 นาฬิกา มีคนร้ายลักรถยนต์คันดังกล่าวไป โดยในช่วงเวลานั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยที่บริเวณทางเข้าออกของอาคารจอดรถด้วยความ ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์ของโจทก์ไปได้อันเป็น การละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ในผลแห่งละเมิดนั้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ต้อง ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มิได้มีหน้าที่ดูแลเพียงอาคารจอดรถซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลาง เท่านั้น แต่จะต้องดูแลรถยนต์ของโจทก์ที่จอดอยู่ในอาคารจอดรถนั้น ด้วย ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความ ปลอดภัยโดยใช้เงินจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางและมีการวางมาตรการใน การรักษาความปลอดภัยต่าง ๆเป็นการแสดงออกให้เข้าใจได้ว่าเป็น ไปเพื่อดูแลรักษาทรัพย์สินและความปลอดภัยของผู้พักอาศัยใน อาคารชุดด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ได้กระทำ ละเมิดต่อโจทก์ภายในขอบวัตถุประสงค์ที่จำเลยที่ 3 มอบหมายสั่งการ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า พระราช บัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 วรรคสี่ บัญญัติว่า ทรัพย์ส่วนกลาง หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม ส่วนการจัดการทรัพย์ส่วนกลางต้องเป็นไป ตามมาตรา 17,33,36 และ 37  แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดตามมติเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินั้นและตามข้อบังคับโดยมี ผู้จัดการหรือคณะกรรมการเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลาง ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่านิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคลแต่ ประการใด จำเลยที่ 3 จึงมีเพียงหน้าที่ในการจัดการและดูแลรักษา ทรัพย์ส่วนกลางของอาคาชุดที่เกิดเหตุ รวมทั้งมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามข้อบังคับและมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด เอกสารหมาย จ.5 ที่ระบุในข้อที่ 6 ว่า จำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและให้มีอำนาจกระทำการ ใด ๆ ตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพักอาศัยและการใช้ทรัพย์ส่วนกลางร่วมกัน สัญญาที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย จ.4 ก็มีข้อความระบุชัดเจนในข้อ 1. ว่า จำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ซึ่งย่อมหมายถึงทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเซ็นทรัล รัชโยธิน ปาร์ค เท่านั้น ไม่รวมไปถึงรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ในความครอบครองของนายสมบูรณ์แต่อย่างใด แม้จะได้ความตามคำเบิกความของนางสาวรุ่งทิพย์ ศุภนัตร์ ผู้จัดการอาคารชุด จำเลยที่ 3 ว่า ภายหลังทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ได้แจ้งระเบียบรักษาความปลอดภัยซึ่งได้มาจากการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินจากคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและเจ้าของร่วม เช่น การตรวจสอบสติ๊กเกอร์ที่ติดรถยนต์ การรับบัตรอนุญาตจอดรถยนต์ และการตรวจสอบ การขนของเข้าออกอาคารตามระเบียบรักษาความปลอดภัยเอกสาร หมาย ล.10 แต่ก็เป็นเพียงมาตรการให้เกิดความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยในอาคารชุด ทั้งเป็นการควบคุมผู้ใช้สอยอาคารจอดรถ ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลางในอาคารชุด มิให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ เท่านั้น หาได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์ส่วนบุคคลของผู้ใดเพราะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เช่นว่านั้นจึงไม่ก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 3 ในอันที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์อันเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของผู้เป็นเจ้าของร่วมดังที่โจทก์อ้าง คำพิพากษาฎีกาต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างมา ในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยมีลักษณะเป็นการทำแทนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทุกคนในอาคารชุดรวมทั้ง นายสมบูรณ์ผู้ครอบครองรถยนต์ของโจทก์ด้วย เงินที่ใช้ในการว่าจ้าง จำเลยที่ 2 ก็มาจากเงินที่เจ้าของร่วมทุกคนชำระเป็นเงินกองทุนและ เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางนั่นเอง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของร่วมในการว่าจ้างจำเลย ที่ 2 รักษาความปลอดภัยก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

(เมทินี ชโลธร ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล สุพจน์ กิตติรักษนนท์)

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------        

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5259/2551

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของห้องชุดในอาคารชุดเซ็นทรัล ซิตี้ นอธ-เซาท และเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 อ-1867 กรุงเทพมหานคร ขณะเกิดเหตุมีราคา 800,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นผู้จัดการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรักษาความปลอดภัยและรับจ้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดจนควบคุมดูแลการนำรถยนต์เข้าจอดในอาคารชุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2540 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ถึงเช้าวันที่ 7 เมษายน 2540 มีคนร้ายเข้าไปลักรถยนต์ของโจทก์คันดังกล่าว ซึ่งจอดอยู่ในอาคารชุดดังกล่าวไปโดยคนร้ายได้ขับรถผ่านป้อมยามทางเข้าออกของอาคารซึ่งมีจำเลยที่ 4 ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 กำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ แต่จำเลยที่ 4 เห็นบุคคลภายนอกขับรถยนต์ของโจทก์แล้วมิได้เรียกให้หยุดเพื่อตรวจสอบผู้ขับหรือสอบถามเหตุผลในการเข้าออกจากอาคารชุดดังกล่าวตามหน้าที่ เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถลักรถยนต์ของโจทก์ไปได้ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 60,000 บาท

          จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเซ็นทรัล ซิตี้ นอธ-เซาท เท่านั้น ไม่มีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ผู้ว่าจ้างคือจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 3 เป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งผู้รับจ้างหรือลูกจ้างของผู้รับจ้างกระทำไปนอกจากนี้จำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่เรียกผู้ขับรถยนต์ที่เข้าออกอาคารชุดดังกล่าวให้หยุดเพื่อตรวจสอบ โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๙ อ-1867 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ของโจทก์ไม่ได้สูญหาย ทั้งมีราคาไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างการพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางสุมลรัตน์ภริยาโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ

          จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท

          จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 อ-1867 กรุงเทพมหานคร และห้องชุดในอาคารชุดเซ็นทรัล ซิตี้ นอธ-เซาท เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2540 เวลา 20.30 นาฬิกา จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณทางรถแล่นผ่านเข้าออกอาคารชุดดังกล่าวเห็นรถยนต์ของโจทก์แล่นออกจากที่จอดรถอาคารชุดดังกล่าว มีคนนั่งมาด้านหน้าข้างคนขับอีก 1 คน แต่เห็นหน้าไม่ชัดเจนและเห็นว่าเป็นรถยนต์ของผู้ที่พักในอาคารชุด จึงมิได้เรียกหยุดตรวจรถยนต์คันดังกล่าวหยุดรับชายอีกสองคนบริเวณสวนหย่อมแล้วแล่นออกไป วันรุ่งขึ้นนายภานุวัฒน์บุตรโจทก์ทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวหายไปจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

          จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาประการแรกโดยอ้างข้อตกลงยกเว้นความรับผิดที่ทำขึ้นกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอกภัยเอกสารหมาย ล.1 มาปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การแต่เพียงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยเฉพาะทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินส่วนตัวของผู้พักอาศัยในอาคาร จำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ให้การว่า ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย ล.1 ดังนั้นที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อ้างในฎีกาว่า ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เนื่องจากมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย ล.1 จึงนอกเหนือจากคำให้การและเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

          ปัญหาข้อต่อไปว่า รถยนต์ของโจทก์มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุดติดหน้ากระจกรถยนต์หรือไม่ โจทก์มีนายภานุวัฒน์บุตรโจทก์เบิกความว่า โจทก์มีรถยนต์ 2 คัน และนำบัตรติดรถยนต์ไปติดไว้ที่รถยนต์อีกคัน นายภานุวัฒน์ขับรถยนต์ของโจทก์คันที่สูญหายเข้าออกอาคารชุดไม่ต้องแลกบัตร เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยจำนายภานุวัฒน์ได้ว่าพักอาศัยอยู่ในอาคารชุดแม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีนายทวีวัฒน์กรรมการจำเลยที่ 3 และนายนครกรรมการจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความว่ารถยนต์ของโจทก์มีบัตรติดรถยนต์ติดหน้ากระจก แต่เป็นเพียงการคาดคะเนเอาว่ารถยนต์ที่แล่นผ่านเข้าออก หากไม่มีบัตรติดรถยนต์ พนักงานรักษาความปลอดภัยจะลงบันทึกไว้ สำหรับรถยนต์ของโจทก์ไม่มีการบันทึก คำเบิกความของพยานทั้งสองปากมิได้รู้เห็นโดยตรงว่ารถยนต์ของโจทก์มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุดติดหน้ากระจกรถยนต์หรือไม่ ทั้งที่มีจำเลยที่ 4 และนายทองแดงพนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นประจักษ์พยานขณะเกิดเหตุโดยตรงแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับไม่นำมาเบิกความเป็นพยาน ประกอบกับจำเลยที่ 4 ได้ให้การไว้ว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 20.30 นาฬิกา จำเลยที่ 4 เห็นรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าแล่นมาที่ป้อมยามทางเข้าออกอาคารชุดจำได้ว่าเป็นรถยนต์ของผู้ที่พักอาศัยในอาคารชุด จึงอนุญาตให้ผ่านออกไป การที่จำเลยที่ 4 ให้การดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 4 ไม่เห็นว่ารถยนต์ของโจทก์มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออก เพียงแต่จำได้ว่าเป็นรถยนต์ของผู้ที่พักอาศัยเท่านั้น เป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของนายภานุวัฒน์ทำให้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถยนต์ของโจทก์ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุดติดหน้ากระจกรถยนต์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 4 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อรถยนต์ของโจทก์ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุดติดหน้ากระจกรถยนต์ตามระเบียบการผ่านเข้าออกของจำเลยที่ 1 พนักงานรักษาความปลอดภัยจะต้องดำเนินการแลกบัตรหรือให้แจ้งชื่อ ที่อยู่ของผู้ขับรถยนต์ที่จะผ่านเข้าออกอาคารชุดตามคู่มือระเบียบและข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.6 หน้า 83 แต่คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณป้อมยามของทางเข้าออกอาคารชุดเห็นแล้วว่ารถยนต์ของโจทก์ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุด มิได้เรียกให้หยุดรถเพื่อแลกบัตรหรือให้ผู้ขับรถยนต์แจ้งชื่อ ที่อยู่ตามระเบียบดังกล่าว กลับปล่อยให้รถยนต์ที่เป็นของโจทก์แล่นผ่านออกไปอันเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์สูญหาย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องของจำเลยที่ 4 เป็นประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท

( มนูพงศ์ รุจิกัณหะ - ประทีป เฉลิมภัทรกุล - วีระชาติ เอี่ยมประไพ )

 

Visitors: 123,818