แรงบันดาลใจหรือแนวความคิด กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่คุ้มครอง

แรงบันดาลใจเป็นเพียงแนวความคิด ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ต้องมีการนำแนวความคิดมาแสดงออกเป็นงานแล้วถึงจะได้รับความคุ้มครอง ถ้ามีแนวความคิดคล้ายกันหรือใช้แนวความคิดที่ได้เป็นแรงบันดาลใจคล้ายกัน แต่มีการแสดงออกซึ่งความคิดต่างกันในรายละเอียด ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการดัดแปลงงาน


คดีเปนชู้กับผี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18803 - 18804/2556

          เนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" ไม่ถึงกับแสดงว่ามีการดัดแปลงมาจากนิยายผีของ ห. การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์จากนิยายผีของ ห. นั้น การได้แรงบันดาลใจนั้นอาจเป็นเพียงความคิดเท่านั้น ซึ่งลำพังแนวความคิดไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคสอง งานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองต้องมีการนำความคิดมาแสดงออกเป็นงานแล้วเมื่อมีแต่บางส่วนที่มีแนวความคิดคล้ายกันหรือใช้แนวความคิดของ ห. ที่ได้เป็นแรงบันดาลใจ ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงงานวรรณกรรมนิยายผีที่ ห. เป็นผู้สร้างสรรค์มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี"

          ภาพผีไต่ลงจากเสาห้อยหัวลงปรากฏว่าเคยมีคนใช้แนวคิดลักษณะเช่นนี้มาแล้ว จึงมีลักษณะเป็นแนวคิดจินตนาการลักษณะอาการของผีให้น่ากลัว หาใช่ว่าบุคคลใดใช้แนวความคิดวาดภาพเช่นนี้แล้วจะหวงกันให้ผู้อื่นไม่มีสิทธิใช้แนวคิดนี้ไปสร้างงานของตนได้

          แม้การโฆษณาอาจทำให้เข้าใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากงานวรรณกรรมของ ห. แต่โฆษณามีรายละเอียดต่อมาอีกมาก เมื่ออ่านโดยรวมแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นการยกย่องผลงานของ ห. และจำเลยที่ 1 ได้แรงบันดาลใจจากผลงานดังกล่าว นอกจากนี้ ในฉากจบยังมีข้อความว่า "ความดีของภาพยนตร์เรื่องนี้ขออุทิศแด่ ห. บรมครูศิลปินผู้เป็นแรงบันดาลใจ" ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์ร่วมและโจทก์ที่ 2 เกรงว่าคนจะเข้าใจผิด ก็ได้รีบเชิญสื่อมวลชนมารับทราบว่าภาพยนตร์ดังกล่าวไม่ได้สร้างจากนิยายผีของ ห. แสดงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ต้องการยกย่องและแสดงถึงการสร้างภาพยนตร์โดยได้แรงบันดาลใจจากงานของ ห. จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้โจทก์ร่วมและโจทก์ที่ 2 ต้องเสียหาย

..........................................................................................................................................................

          คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 ส่วนจำเลยทั้งสามทั้งสองสำนวนคงเรียกเป็นจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ตามลำดับ

          สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสามลงโฆษณาประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีชื่อเสียงจำนวน 10 ฉบับ อาทิ ไทยรัฐ มติชน คมชัดลึก เดลินิวส์ เป็นเวลา 10 วัน ติดต่อกัน เพื่อขอโทษที่ใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและชี้แจงเพื่อไม่ให้ประชาชนหลงผิดเข้าใจว่าฉากที่มีการประกอบกิจกรรมทางเพศในภาพยนตร์มีอยู่ในบทประพันธ์ของนายเหม หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ที่ 1 นำคำพิพากษาลงประกาศหนังสือพิมพ์รายวันที่มีชื่อเสียงจำนวน 10 ฉบับ เป็นเวลา 10 วัน ติดต่อกัน โดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งสามงดการนำภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั้งการฉายภาพยนตร์ทั่วประเทศ เผยแพร่ทั้งหมดหรือบางส่วนในรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทั้งในโทรทัศน์และสื่อต่าง ๆ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 1

          จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

          สำนวนที่สองโจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าตอบแทนในการใช้ชื่อและผลงานของนายเหมที่นำไปโฆษณาในสื่อต่าง ๆ ในภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" เพื่อผลประโยชน์ของจำเลยทั้งสาม ให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยทั้งสามงดการนำภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั้งการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ ทั้งการเผยแพร่ทั้งหมดหรือบางส่วนในรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทั้งในโทรทัศน์และสื่อต่าง ๆ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยทั้งสามลงโฆษณาประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีชื่อเสียงจำนวน 10 ฉบับ เป็นเวลา 10 วัน อาทิ ไทยรัฐ มติชน คมชัดลึก เดลินิวส์ เพื่อลงโฆษณาขอโทษที่ใช้ชื่อและชื่อผลงานของนายเหมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 2 และชี้แจงเพื่อไม่ให้ประชาชนหลงผิดเข้าใจฉากที่มีการประกอบกิจกรรมทางเพศในภาพยนตร์ว่ามีอยู่ในบทประพันธ์ของนายเหม ให้กรรมการของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จุดธูปขอขมาต่ออัฐิของนายเหม โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของนายเหม ที่นำชื่อและชื่อผลงานของนายเหมไปใช้ในภาพยนตร์จนทำให้ชื่อเสียงของนายเหมเสียหาย ณ สถานที่บรรจุอัฐิของนายเหม หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์ที่ 2 นำคำพิพากษามาตีพิมพ์ต่อหนังสือพิมพ์รายวันที่มีชื่อเสียงจำนวน 10 ฉบับ เป็นเวลา 10 วัน โดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลยทั้งสาม

          จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา มูลนิธิบรมครู ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีตามสำนวนแรก ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต ต่อมาโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต หลังจากนั้น โจทก์ทั้งสองและโจทก์ร่วมขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 โดจำเลยที่ 2 ไม่ค้าน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต

          ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          โจทก์ร่วมและโจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์

                   ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า นายเหม เป็นผู้สร้างสรรค์ประพันธ์งานวรรณกรรมนิยายเรื่องผีหลายเรื่อง และต่อมามีการนำนิยายหลายเรื่องดังกล่าวมารวมพิมพ์เป็นหนังสือชุดปีศาจไทย นอกจากนี้นายเหมยังเป็นผู้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมภาพวาดประกอบนิยายผีเรื่อง "นั่งหวย" มีลักษณะเป็นภาพผีผู้ชายไม่สวมเสื้อนุ่งโจงกระเบนห้อยหัวไต่ลงจากเสาเรือน นายเหมถึงแก่กรรมเมื่อปี 2512 โจทก์ที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมและจิตรกรรมของนายเหมในขณะยื่นฟ้องคดีสำนวนแรก โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมของนายเหมกับนางแช่ม และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมและจิตรกรรมของนายเหมในขณะฟ้องคดีสำนวนที่สอง โจทก์ร่วมเป็นมูลนิธิซึ่งดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ของนายเหม จำเลยที่ 1 เป็นผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้กำกับ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ ภาพยนตร์ดังกล่าวมีฉากตอนหนึ่งเป็นภาพผีผู้ชายไม่สวมเสื้อนุ่งโจงกระเบนห้อยหัวไต่ลงจากเสาเรือน ก่อนนำภาพยนตร์ดังกล่าวออกฉายตามโรงภาพยนตร์ จำเลยที่ 1 โฆษณาทางสื่อสารมวลชนต่าง ๆ โดยมีข้อความว่า "จากงานเขียนชุดปีศาจไทยของครูเหม เวชกร สู่...ความสยองใน "เปนชู้กับผี"" และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 เคยให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวว่า เคยอ่านนิยายผีของนายเหม การสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากนายเหม หลังจากมีปัญหาเรื่องการอ้างอิงชื่อนายเหม จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้สื่อสารมวลชนหยุดการอ้างอิงชื่อนายเหมในการโฆษณาภาพยนตร์ดังกล่าว

          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมประการแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันดัดแปลงอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนิยายเรื่องผีของนายเหม โดยนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" หรือไม่ ประเด็นข้อนี้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ร่วมเป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงนี้ จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันดัดแปลงอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนิยายเรื่องผีของนายเหม แต่โจทก์ทั้งสองและโจทก์ร่วมนำสืบพยานหลักฐานโดยมีนายไพศาล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และเป็นเลขาธิการมูลนิธิโจทก์ร่วมเบิกความเป็นทำนองว่า ภาพยนตร์ของจำเลยที่ 1 เรื่องดังกล่าวดัดแปลงมาจากนิยายผีหลายเรื่องของนายเหม เช่น มีฉากตอนแรกที่นางเอกพบแม่บ้าน และฉากตอนจบที่นางเอกทราบว่าคนในบ้านทุกคนเป็นผีซึ่งคล้ายกับนิยายเรื่อง "เลขานุการผี" ของนายเหมที่มีการดำเนินเรื่องตอนแรกโดยพระเอกพบแม่บ้าน และตอนท้ายที่พระเอกทราบว่าคนในบ้านทุกคนเป็นผี และโครงเรื่องเหมือนกัน จึงเห็นว่าเป็นการดัดแปลงงานวรรณกรรมของนายเหม แต่นายไพศาลก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า บทประพันธ์นิยายเรื่อง "เลขานุการผี" ของนายเหมนั้นในรายละเอียดของเรื่องทั้งหมดไม่ตรงกับภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 เบิกความเป็นทำนองว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตคนไทยในยุคโบราณ การแต่งกายและวิถีการดำรงชีวิตก็เป็นเรื่องตามยุคสมัยนั้น โดยมีการค้นคว้าโดยเฉพาะจากผลงานนวนิยายและภาพวาดของนายเหม จนได้แรงบันดาลใจมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ แสดงถึงการนำแนวความคิดมาใช้มากกว่าที่จะเป็นการลอกเลียนดัดแปลง และเมื่อพิจารณาเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ตามดีวีดี เปรียบเทียบกับเนื้อหาในนิยายเรื่อง "เลขานุการผี" ของนายเหมตามหนังสือแล้ว ก็เห็นได้ว่าแม้ในฉากแรกของภาพยนตร์เป็นฉากที่นางเอกไปพบกับนางช้อยแม่บ้านเหมือนการดำเนินเรื่องตอนแรกของนิยายเรื่อง "เลขานุการผี" ก็ตาม แต่การที่พระเอกหรือนางเอกไปพบกับแม่บ้านในฉากแรกของภาพยนตร์หรือนิยายก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ประพันธ์นวนิยายหรือบทภาพยนตร์อาจนำมาเป็นแนวคิดและใช้แสดงในภาพยนตร์ และในภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" นั้น เนื้อเรื่องที่นางเอกไปพบแม่บ้านที่บ้านหลังหนึ่งก็เป็นไปเพื่อตามหาพระเอก ส่วนในนิยายเรื่อง "เลขานุการผี" เป็นกรณีที่พระเอกไปบ้านหลังหนึ่งเพื่อของานทำจากเจ้าของบ้าน อันเป็นการแสดงออกซึ่งแนวความคิดในการดำเนินเรื่องที่แตกต่างกัน ส่วนตอนท้ายของภาพยนตร์ที่มีบทนางเอกทราบว่าคนในบ้านล้วนแต่ตายไปแล้วทั้งหมดนั้น แม้จะมีแนวความคิดเหตุการณ์นี้คล้ายกับนิยายเรื่อง "เลขานุการผี" ที่พระเอกทราบภายหลังว่าคนในบ้านตายทั้งหมดอยู่บ้างก็ตาม แต่การแสดงในบทภาพยนตร์นั้น ฉากตอนท้ายเป็นการเปิดเผยว่าตัวนางเอกก็ได้ตายไปด้วยจากการผูกคอตาย แต่ยังคงวนเวียนกลับไปบ้านหลังดังกล่าว ส่วนในนิยายผีเรื่อง "เลขานุการผี" นั้นตัวพระเอกไม่ตาย แต่หนีออกจากบ้านไปได้ และไม่มีการกลับไปบ้านดังกล่าวอีกซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่ามีการแสดงออกซึ่งความคิดออกมาเป็นเนื้อเรื่องที่แตกต่างกัน โดยในส่วนการเปิดเผยปมของเรื่องราวที่ดำเนินมาทั้งหมดให้ผู้ชมเข้าใจไว้ในตอนท้ายเรื่องก็เป็นเรื่องปกติในบทภาพยนตร์ที่อาจใช้แนวทางเช่นเดียวกันนี้ เห็นได้ว่าเนื้อหาตามบทภาพยนตร์ที่แสดงออกให้ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" ไม่ถึงกับแสดงว่ามีการดัดแปลงมาจากนิยายผีเรื่องดังกล่าวของนายเหม ส่วนที่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยให้สัมภาษณ์ตามนิตยสารว่า ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" จากนิยายผีของนายเหมซึ่งส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำนิยายผีของนายเหมมาดัดแปลงนั้น ก็เห็นได้ว่า การได้แรงบันดาลใจนั้นอาจเป็นเพียงแนวความคิดเท่านั้น ซึ่งลำพังความคิดนั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคสอง โดยงานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองต้องมีการนำความคิดมาแสดงออกเป็นงานแล้ว ดังนั้น เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระสำคัญของงานที่แสดงออกมาให้ปรากฏไม่ถึงขนาดที่จะแสดงว่ามีการนำงานนิยายอันมีลิขสิทธิ์มาใช้ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ดังกล่าวมาข้างต้น คงมีแต่บางส่วนที่มีแนวความคิดคล้ายกันหรือแม้แต่ใช้แนวความคิดของนายเหมที่ได้เป็นแรงบันดาลใจ ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงงานวรรณกรรมนิยายผีที่นายเหมเป็นผู้สร้างสรรค์มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ร่วมประการนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ละเมิดลิขสิทธิ์งานจิตรกรรมของนายเหมโดยนำภาพผีผู้ชายไม่ใส่เสื้อ นุ่งโจงกระเบนห้อยหัวไต่ลงจากเสาเรือน ซึ่งเป็นภาพประกอบนิยายผีเรื่อง "นั่งหวย" มาดัดแปลงเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" หรือไม่ ในข้อนี้โจทก์ทั้งสองและโจทก์ร่วมนำสืบพยานหลักฐานเป็นทำนองว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้นำภาพจิตรกรรมดังกล่าวตามสำเนาภาพผีไต่เสา ไปดัดแปลงทำเป็นฉากตอนท้ายในภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" ตามดีวีดี ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำสืบพยานหลักฐานโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความเป็นทำนองว่าต้องการให้มีภาพผีจำนวนมากปรากฏในฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ และจำเลยที่ 2 อยากให้มีผีอยู่ในภาพทุกมุมมอง โดยไม่ได้นำภาพวาดมาดัดแปลงเป็นฉากสุดท้ายนี้แต่อย่างใด ทั้งนี้โดยลักษณะผียืนกลับหัวนั้นก็เคยมีปรากฏในภาพยนตร์ผีหรือภาพวาดผีมาก่อนตามตัวอย่างภาพผีแดรกคิวลาไต่กำแพงห้อยหัวลงและภาพผีญี่ปุ่นคลานลงบันได เห็นว่า ภาพวาดผีไต่เสาเรือนของนายเหมตามภาพวาด มีลักษณะเป็นภาพผู้ชาย 2 คน มองไปยังผีผู้ชาย 1 ตน ไม่สวมเสื้อนุ่งโจงกระเบนไต่เสาลงมาโดยส่วนหัวอยู่ด้านล่าง โดยเห็นภาพผีด้านหลังเงยหน้ามองลงพื้น ที่โคนเสามีที่ตั้งธูปกับเทียนที่จุดติดไฟไว้ และฉากหลังเป็นต้นไม้ค่อนข้างทึบ ส่วนในภาพยนตร์ตามดีวีดีฉากตอนท้าย ๆ เป็นฉากที่นางเอกเดินอยู่นอกบ้านอยู่ท่ามกลางผีหลายตนเดินไปทางใดก็พบแต่ผีทุกด้าน ส่วนใหญ่เป็นผีผู้ชายกำลังเดินอยู่เป็นจำนวนมากเต็มไปหมด เมื่อมองไปทางบ้านก็ยังมีผี 2 ตน ไต่เสาบ้านห้อยหัวลงโดยเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวแสดงการไต่เสาดังกล่าวในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นช่วง ๆ สลับกับฉากที่มีผีหลายตนเดินอยู่และยังมีฉากที่เป็นผีห้อยหัวลงโดยไม่มีเสาให้เห็น ผีดังกล่าวเห็นด้านหลังเพียงครึ่งตัว ตั้งแต่เอวถึงหัวที่ห้อยลงและแขนทั้งสองข้างห้อยลงเช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดความน่ากลัวน่าตกใจ ทั้งนี้โดยฉากต่าง ๆ ที่เป็นภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่องในภาพยนตร์ดังกล่าวมีลักษณะที่ต้องการสื่อให้ผู้ชมเห็นถึงความน่ากลัวน่าตกใจในเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับผีจำนวนมากเต็มไปหมด ไม่ว่าจะมองทางใดเดินไปทางใดก็ต้องพบกับผีต่าง ๆ มากมาย ทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกับภาพวาดที่เป็นเพียงชาย 2 คนมองไปยังผีที่ไต่เสาลงมาเพียงตนเดียว และแม้ในภาพยนตร์จะมีภาพช่วงหนึ่งในเวลาสั้นมากจากภาพต่อเนื่องในช่วงสลับฉากมีผีตนเดียวก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยอันมีผลมาจากมุมกล้องที่ถ่ายออกมาดังปรากฏตามภาพก็ตาม แต่ในภาพนี้ก็มีลักษณะที่ผีไต่เสาเรือนแตกต่างจากภาพผีในภาพวาด ทั้งในส่วนการเหยียดหรืองอขาและลักษณะหัวห้อยลงมาแต่เอียงคอมองขนานกับพื้นมิได้มองลงพื้นอย่างภาพวาด ทั้งยังมีองค์ประกอบภาพที่เห็นเสาถึง 5 ต้น และผีที่เดินอยู่ทั้งในบ้านและนอกบ้านซึ่งแตกต่างกันมาก คงมีส่วนที่คล้ายกันเพียงผีไต่เสาลงมาเท่านั้น ซึ่งก็ปรากฏว่า เคยมีคนใช้แนวคิดลักษณะผีไต่ลงห้อยหัวลงเช่นนี้มาแล้วดังกล่าวข้างต้น จึงมีลักษณะเป็นแนวคิดจินตนาการลักษณะอาการของผีให้น่ากลัว หาใช่ว่าบุคคลใดได้ใช้แนวความคิดวาดภาพลักษณะของผีในลักษณะเช่นนี้แล้วจะหวงกันให้ผู้อื่นไม่มีสิทธิใช้แนวคิดนี้ไปสร้างงานของตนได้ จึงเห็นได้ว่า งานภาพยนตร์ที่มีฉากผีไต่เสาห้อยหัวลงนี้มีการแสดงออกในส่วนต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบหลายอย่างแตกต่างจากภาพวาดโดยสิ้นเชิง และแม้เครื่องแต่งกายอาจคล้ายกันก็เป็นไปตามความนิยมในการแต่งกายในยุคสมัยนั้น ๆ อันเป็นยุคสมัยเดียวกัน ก็มิใช่เหตุที่จะถือว่าเป็นการดัดแปลงจากงานภาพวาด โดยฉากต่าง ๆ ในภาพยนตร์ที่มีองค์ประกอบแตกต่างไปจากภาพวาดหลายประการ และมีจินตนาการเพื่อแสดงออกทางภาพยนตร์ให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างไปเช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการสร้างงานขึ้นใหม่มิใช่การดัดแปลงงานภาพวาดแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์อีกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความแตกต่างกัน และแตกต่างจากที่เคยให้สัมภาษณ์ลงข่าวทางหนังสือพิมพ์นั้น เมื่อภาพในภาพยนตร์กับภาพวาดมีสาระสำคัญที่วินิจฉัยได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิใช่การดัดแปลงงานภาพวาดแล้ว ในส่วนรายละเอียดคำเบิกความพยานบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่มีนัยสำคัญให้ฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นอีก ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ละเมิดลิขสิทธิ์โดยดัดแปลงภาพวาดผีไต่เสาเรือนซึ่งเป็นงานจิตรกรรมของนายเหมมาเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมประการนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน

          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและโจทก์ที่ 2 เป็นประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยที่ 1 อ้างอิงถึงชื่อนายเหม ในการโฆษณาภาพยนตร์มีข้อความส่วนหนึ่งว่า "จากงานเขียนชุดปีศาจไทยของครูเหม สู่...ความสยองใน "เปนชู้กับผี" "นั้น เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมและโจทก์ที่ 2 เสียหายอย่างใดหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อความดังกล่าวอาจทำให้เข้าใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากงานวรรณกรรมนิยายผีชุดปีศาจไทยของนายเหมก็ตาม แต่นอกจากข้อความดังกล่าวข้างต้นแล้วในโฆษณายังมีข้อความในรายละเอียดต่อมาอีกมาก โดยกล่าวถึงจำเลยที่ 3 ในฐานะคนเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า "จากการที่ (จำเลยที่ 3) ได้คุยกับผู้กำกับ (จำเลยที่ 2) เขาอยากได้หนังผีที่มีความลึก ไม่ใช่แค่น่ากลัวหรือสยองขวัญแบบแหวะ ๆ แต่มันเป็นความน่ากลัวแบบไทย ๆ ที่ชวนขนหัวลุก โดยที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากชิ้นงานของครูเหม เจ้าของสมญานาม "จิตรกรห้าแผ่นดิน" โดยที่เราได้ศึกษางานของครูเหม ซึ่งผลงานของท่านมีทั้งภาพวาดและงานเขียนที่ส่วนมากจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย วิถีชีวิตและแนวคิดของสังคมไทย โดยเฉพาะงานเขียนของท่านถูกนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือชุดปีศาจไทยในสมัยก่อนจนโด่งดัง งานของครูเหมมีสไตล์ที่โดดเด่น ถ้าเป็นเรื่องผีของครูเหมจะมีแบบฉบับเฉพาะคือการเห็นวิญญาณจะเห็นคลุมเครือ เห็นแบบราง ๆ ผีก็จะเห็นผ่านมุ้งไม่ชัด เพราะคนไทยสมัยก่อนจะนอนมุ้งกัน บรรยากาศจะเงียบ ๆ วังเวง บางครั้งก็จะมืด ๆ แสงที่เกิด แหล่งของแสงก็จะมาจากตะเกียง เราก็จะรู้สึกว่าอันนี้คือรูปแบบของผีบ้านเรา ซึ่งจะแตกต่างจากหนังผีสมัยนี้ที่จะชอบทำให้คนดูตกใจตลอดเวลา มันเป็นบรรยากาศเฉพาะของหนังผีไทยที่ประเทศอื่นไม่มี..." อีกตอนก็มีข้อความว่า "เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นจากภาพวาดของครูเหม คือเรื่องผีของครูเหมส่วนมากจะเป็นเรื่องความผูกพันระหว่างคนกับผี การพบการจาก" และอีกตอนมีข้อความว่า "โดยที่เราได้ไปศึกษางานของครูเหม ซึ่งผลงานของท่านมีทั้งภาพวาด และงานเขียนที่ส่วนมากจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย วิถีชีวิต และแนวคิดของสังคมไทย" ซึ่งจากข้อความดังกล่าวทั้งหมดเมื่ออ่านรวมกันแล้วย่อมเข้าใจได้ชัดเจนว่า เป็นข้อความที่มีรายละเอียดยกย่องผลงานภาพวาดและนิยายเรื่องผีของนายเหม และในการสร้างภาพยนตร์ของจำเลยที่ 1 นี้ ก็ได้แรงบันดาลใจจากผลงานของนายเหมดังกล่าว โดยมีการศึกษางานของนายเหม แล้วนำแนวคิดจากงานของนายเหมมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" มิใช่การนำผลงานที่นายเหมเป็นผู้สร้างสรรค์แล้วมาใช้สร้างเป็นภาพยนตร์โดยตรง นอกจากนี้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ฉากตอนจบของเรื่องยังมีข้อความว่า "ความดีของภาพยนตร์เรื่องนี้ขออุทิศแด่ครูเหม บรมครูศิลปินผู้เป็นแรงบันดาลใจ" อันเป็นการย้ำถึงเจตนายกย่องนายเหม นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบปัญหาที่โจทก์ร่วมและโจทก์ที่ 2 ที่เกรงว่าคนจะเข้าใจผิดดังกล่าวแล้วก็ได้รีบแก้ไขโดยเชิญสื่อมวลชนมารับทราบว่าภาพยนตร์ดังกล่าวไม่ได้สร้างจากนิยายผีของนายเหม จากพยานหลักฐานดังกล่าว แสดงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ต้องการยกย่องและแสดงถึงการสร้างภาพยนตร์โดยได้แรงบันดาลใจจากงานของนายเหม มิใช่กระทำให้ประชาชนหลงผิดคิดว่าภาพยนตร์ดังกล่าวสร้างจากนิยายของนายเหม จึงย่อมไม่มีเหตุที่จะทำให้โจทก์ร่วมและโจทก์ที่ 2 ต้องเสียหายแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมและโจทก์ที่ 2 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ประการอื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

(ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร-อร่าม เสนามนตรี-ปริญญา ดีผดุง)

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นางจันทร์กระพ้อ ต่อสุวรรณ สินวถาวร

หมายเลขคดีดำศาลชั้นต้น ทป156/2549

หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้น ทป227/2552





Visitors: 122,414