ซื้อรถยนต์มือสองจากบริษัทขายรถยนต์ ต่อมารถยนต์ถูกตำรวจยึด เพราะเจ้าของรถไปแจ้งความว่ารถถูกขโมย ผู้ซื้อรถต้องทำอย่างไร เสียทั้งเงินเสียทั้งรถ

ซื้อรถยนต์มือสองจากบริษัทขายรถยนต์ ต่อมารถยนต์ถูกตำรวจยึด เพราะเจ้าของรถไปแจ้งความว่ารถถูกขโมย ผู้ซื้อรถต้องทำอย่างไร เสียทั้งเงินเสียทั้งรถ

 

ในเรื่องนี้ คงต้องบอกว่า รถที่ซื้อและถูกยึดไปนั้น คงไม่ได้คืน ผู้ซื้อต้องฟ้องบริษัทขายรถให้ชดใช้ราคาได้เท่านั้น อายุความ ๑๐ ปี ครับ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไว้อย่างนี้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๐/๒๕๑๘ (ประชุมใหญ่)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตั้งร้านค้าจำหน่ายรถจักรยานยนต์อยู่ในตลาดเทศบาลเมืองสิงห์บุรี ใช้ชื่อร้านค้า "ไทยฮวด" เมื่อปี พ.ศ. 2510 โจทก์ซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าชนิด 175 ซี.ซี. จากร้านค้าของจำเลย 1 คันราคา 9,000 บาท เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2512 ตำรวจยึดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์อ้างว่ามีผู้ปลอมแปลงเอกสารเจ้าของแท้จริงจึงเอาคืนไป โจทก์ซื้อรถจากจำเลยในท้องตลาดโดยสุจริต เป็นความผิดและความบกพร่องของจำเลยที่ขโมยรถของผู้อื่นมาขาย โจทก์มีรถแทร็กเตอร์รับจ้างเกรดดินและมีรถยนต์รับจ้างบรรทุกสินค้านับแต่รถถูกตำรวจยึด โจทก์ต้องว่าจ้างรถผู้อื่นไปติดต่องานเสียค่าจ้างเดือนละ 500 บาท เป็นเวลาประมาณ 8 เดือน เป็นเงิน 4,000 บาท ขอให้จำเลยคืนเงินราคารถจักรยานยนต์ 9,000 บาทและค่าเสียหาย 4,000 บาทให้โจทก์ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเงินเสร็จ

จำเลยให้การว่า ไม่ได้ตั้งร้านค้าจำหน่ายรถจักรยานยนต์ใช้ชื่อว่าร้านไทยฮวด แต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้ซื้อรถจักรยานยนต์ไปจากจำเลย โจทก์ซื้อรถจักรยานยนต์จากร้านค้าของบุคคลอื่นซึ่งได้รถมาในทางการค้าขายในท้องตลาดโดยสุจริต และโจทก์ซื้อไปจากผู้ขายในท้องตลาดโดยสุจริต จึงได้กรรมสิทธิ์โดยชอบ ไม่จำต้องมอบรถคันดังกล่าวให้แก่ผู้ใดโดยยังไม่ได้รับชำระราคา ตำรวจยึดรถไปจากโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง หากจะมีก็เป็นการที่โจทก์ยอมให้ยึดไป จึงเป็นความผิดของโจทก์เอง ไม่ใช่เรื่องการรอนสิทธิ โจทก์ไม่มีธุรกิจที่จะใช้รถจักรยานยนต์ติดต่อการงาน และไม่ได้จ้างรถจักรยานยนต์เดือนละ 500 บาท จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย โจทก์มิได้ฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่โจทก์มอบรถจักรยานยนต์ให้แก่บุคคลอื่นไป คดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยฮวดพานิช โดยนายเจ็งเกียจิ๋ว แซ่เจ็ง ผู้จัดการเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ซื้อรถจักรยานยนต์ไปจากท้องตลาดโดยสุจริต จำเลยร่วมได้มาในทางการค้าโดยสุจริต โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ควรไปเรียกร้องเอากับผู้ที่เอารถไปจากโจทก์ จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด จำเลยร่วมไม่ทราบและไม่รับรองว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถจักรยานยนต์ไปจากโจทก์ หากจะเป็นความจริงก็เพราะโจทก์ยอมให้ยึดไป เป็นความผิดของโจทก์เอง โจทก์ไม่ได้เสียหายดังฟ้อง โจทก์ไม่ได้ฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่โจทก์มอบรถจักรยานยนต์ให้บุคคลอื่น คดีขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอากับจำเลยในเหตุรอนสิทธิได้ โจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยใช้ราคารถจักรยานยนต์และค่าเสียหายได้ สำหรับค่าเสียหายเรียกได้เดือนละ 50 บาท ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 ต้องใช้อายุความตามมาตรา 164 ซึ่งมีกำหนด 10 ปีบังคับ พิพากษากลับ คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ราคารถจักรยานยนต์กับค่าไม่ได้ใช้รถ รวมเป็นเงิน 9,400 บาท และค่าไม่ได้ใช้รถเดือนละ 50 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้ราคารถจักรยานยนต์ 9,000 บาทแก่โจทก์

จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถจักรยานยนต์คันที่โจทก์ซื้อจากร้านจำเลยร่วมนั้นเป็นของบริษัทคาวาซากิที่หายไป และตำรวจได้ยึดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไว้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า

1. จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะการรอนสิทธิหรือไม่

2. โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ราคารถจักรยานยนต์และค่าเสียหายหรือไม่

3. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ปัญหาข้อ 1 เห็นว่า แม้โจทก์จะได้รถจักรยานยนต์จากการซื้อขายในท้องตลาดและมีสิทธิที่จะติดตามเอารถคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏว่าเป็นรถของ ค. ที่หายไป ซึ่งโจทก์จะต้องคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง และพนักงานสอบสวนในคดีที่จำเลยต้องหาว่ารับของโจรก็ว่า ถึงโจทก์จะมาขอรับรถจักรยานยนต์คืนก็ไม่คืนให้ จำเลยในฐานะผู้ขายจึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะทรัพย์สินที่ซื้อขายหลุดไปจากโจทก์เพราะเหตุแห่งการรอนสิทธิตามมาตรา 479 และแม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเอารถคืนหรือขอให้ชดใช้ราคาจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของรถโดยตรงตามมาตรา 1332 ก็มิได้หมายความว่า โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยในเหตุรอนสิทธิไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้

ปัญหาข้อที่ 2 ความรับผิดในการรอนสิทธิของจำเลยมีมูลมาจากสัญญาซื้อขาย การที่โจทก์ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์และต้องว่าจ้างรถคนอื่นไปใช้งาน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิให้จำเลยใช้ราคารถและค่าเสียหายนั้นได้

ปัญหาข้อที่ 3 การยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนด 3 เดือนนั้นศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ต้องเป็นการยอมโดยสมัครใจ การที่ตำรวจยึดรถจักรยานยนต์ไปจากโจทก์ด้วยอำนาจของกฎหมายซึ่งโจทก์จำต้องยอมให้ยึด มิฉะนั้นโจทก์อาจจะต้องมีความผิดในทางอาญานั้น ความรับผิดของจำเลยผู้ขายไม่อยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 481 แต่ต้องอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 164 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๓๙๖/๒๕๒๙

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อรถยนต์ใช้แล้วยี่ห้อง บี.เอ็ม.ดับบลิว หมายเลขทะเบียน ๔ ก - ๕๐๓๐ กรุงเทพมหานคร โดยเปิดเผยและโดยสุจริตจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นพ่อค้าขายรถยนต์ที่ตลาดนัดรถยนต์ อันเป็นท้องตลาดที่พ่อค้าเสนอขายรถยนต์ในราคา ๑๖๐,๐๐๐ บาท ตกลงชำระราคาเป็นงวด ๆ และโจทก์นำรถยนต์ของโจทก์ราคา ๕๐,๐๐๐ บาทกับเงินสดจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท ชำระแก่จำเลยที่ ๑ ส่วนราคาที่เหลือจำเลยที่ ๑ ติดต่อสมยอมกับจำเลยที่ ๒ จัดการโอนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๔ก-๕๐๓๐ เป็นของจำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาให้โจทก์เช่าซื้อผ่อนชำระเดือนละงวดงวดละ ๓,๗๓๔ บาท รวม ๓๐ งวด คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นค่าเช่าซื้อด้วย รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๑๒,๐๒๐ บาท โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อถึงงวดที่ ๑๖ จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนแผนก ๒ กองกำกับการ ๑ กองปราบปรามสังกัดกรมตำรวจ ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๔ ได้มีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ ๓ ทราบดีอยู่แล้วว่ากองทะเบียน กรมตำรวจ ได้ตรวจสอบสภาพและทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวและอนุมัติให้ทำการซื้อขายได้แล้ว จำเลยที่ ๓ กลับอ้างว่าสัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าซื้อไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยึดรถคันดังกล่าวไป เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการใช้รถ ต้องว่าจ้างรถแท็กซี่ใช้ในกิจการของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นเหตุให้โจทก์ถูกรอนสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๔ก-๕๐๓๐ หรือใช้ราคาเป็นเงิน ๑๙๒,๐๒๐ บาท และใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๒๙,๖๐๐ บาท กับค่าเสียหายนับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นเงินวันละ ๒๐๐ บาทจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์หรือใช้ราคาแก่โจทก์

จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยขายรถยนต์ยี่ห้อ บี.เอ็ม.ดับบลิว หมายเลขทะเบียน ๔ก-๕๐๓๐ แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ มิได้กระทำให้โจทก์ถูกรอนสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ ๒ ให้การว่าจำเลยที่ ๒ ไม่เคยสมยอมกับจำเลยที่ ๑ รับซื้อรถยนต์ตามฟ้อง โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ติดต่อให้จำเลยที่ ๒ รับซื้อรถยนต์ตามฟ้องไว้เพื่อโจทก์จะได้เช่าซื้อจากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงได้รับซื้อและจดทะเบียนเป็นของจำเลยที่ ๒ และให้โจทก์เช่าซื้อไป เหตุที่รถยนต์ถูกยึดไปและโจทก์ถูกรอนสิทธิไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ให้การว่า นายชัยวัฒน์ กิตติเจริญพงษ์ ได้ร้องทุกข์ต่อผู้กำกับการ ๑ กองปราบปราม กรมตำรวจ ว่า นายชัยวัฒน์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๔ก-๕๐๓๐ กรุงเทพมหานคร นายสิทธิชัย ตันติสันติสุข ยักยอกรถยนต์ดังกล่าวไป นายชัยวัฒน์ได้ร้องทุกข์ไว้แล้วและรถยนต์ดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ในกรุงเทพมหานคร ขอให้ดำเนินคดีกับนายสิทธิชัย จำเลยที่ ๓ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสืบสวนสอบสวน แล้วต่อมาจำเลยที่ ๓ สืบสวนทราบว่ารถยนต์ดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยที่ ๓ จึงมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริง ต่อมาโจทก์ไปพบและนำรถยนต์ดังกล่าวไปมอบให้จำเลยที่ ๓ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี จำเลยที่ ๓ จึงส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธร อำเภอหัวหินซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ จำเลยที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริต จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนางบุญมี ม่วงสกุล และนายสิทธิชัย ตันติสันติสุข เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และให้เรียกนางบุญมี ม่วงสกุล เป็นจำเลยที่ ๕ เรียกนายสิทธิชัย ตันติสันติสุข เป็นจำเลยที่ ๖

จำเลยที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายและการเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้อง เนื่องจากนายชัยสิทธิ์ได้ยืมเงินจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาทไปจากจำเลยที่ ๕ แล้วให้จำเลยที่ ๕ ไปรับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๕ จึงไปรับเงินจำนวนดังกล่า ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ ๖ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๕ และที่ ๖ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๒๐,๔๑๙.๙๑ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งหกรับผิดตามฟ้อง

จำเลยที่ ๒ ที่ ๕ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๖ ร่วมกันชำระเงิน ๑๕๔,๕๔๔ บาทแก่โจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายวันละ ๑๐๐ บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ซื้อรถยนต์ยี่ห้อ บี.เอ็ม.ดับบลิว. หมายเลขทะเบียน ๔ก-๕๐๓๐ กรุงเทพมหานคร ราคา ๑๖๐,๐๐๐ บาท จากจำเลยที่ ๑ และที่ ๖ ผู้ค้ารถยนต์ที่ตลาดนัดรถยนต์สามแยกไฟฉาย โจทก์ได้มอบรถยนต์ของโจทก์ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท เงินสดจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท ชำระราคาแก่ผู้ขาย และผู้ขายได้มอบรถยนต์ที่โจทก์ซื้อแก่โจทก์แล้ว ส่วนราคารถที่เหลืออีกเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท ผู้ขายติดต่อให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ ๒ ในราคาค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๑๒,๐๒๐ บาท โดยให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อเดือนละงวด รวม ๓๐ งวดเป็นเงินเดือนละ ๓,๗๓๔ บาท โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยที่ ๒ แล้วรวม ๑๖ งวด ต่อมาจำเลยที่ ๓ พนักงานสอบสวนแผนก ๒ กองกำกับการ ๑ กองปราบปรามซึ่งสังกัดกรมตำรวจ จำเลยที่ ๔ ได้ยึดรถยนต์ดังกล่าวไปจากโจทก์ และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๓ รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ซื้อรถยนต์ตามฟ้องโดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๒ จำเลยที่ ๓ ไม่มีอำนาจหน้าที่ยึดรถยนต์ดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๓ ยึดรถยนต์ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ จำเลยที่ ๓ อยู่ในสังกัดของกรมตำรวจ จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ต้องร่วมกันรับผิดตามฟ้องต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า เนื่องจากนายชัยวัฒน์ร้องทุกข์ต่อกองปราบปราม กรมตำรวจ ว่านายสิทธิชัยยักยอกรถยนต์ตามฟ้องซึ่งเป็นของนายชัยวัฒน์ไป ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๘ พันตำรวจเอกสรศรี สุธีสร ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๓ สั่งให้จำเลยที่ ๓ พนักงานสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวน จำเลยที่ ๓ จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแสวงหาข้อเท็จจริง พิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ การที่จำเลยที่ ๓ สืบสวนทราบว่ารถยนต์ดังกล่าวซึ่งเป็นของนายชัยวัฒน์อยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ยึดรถยนต์ดังกล่าวไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า ตามพฤติการณ์ที่โจทก์ซื้อรถยนต์ตามฟ้อง โจทก์ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๒ จำเลยทุกคนต้องร่วมกันส่งมอบรถยนต์ตามฟ้องแก่โจทก์ หากส่งมองไม่ได้ต้องใช้ราคารถยนต์ดังกล่าวเป็นเงิน ๑๙๒,๐๒๐ บาท และชำระค่าเสียหายเป็นเงินวันละ ๒๐๐ บาท ตามฟ้องแก่โจทก์นั้น เห็นว่ากรณีดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๒ หาได้บัญญัติให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์รถยนต์ที่ซื้อนั้นไม่ หากแต่บัญญัติว่าผู้ซื้อไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ดังนี้เมื่อเจ้าของติดตามรถยนต์ดังกล่าวคืน โดยตำรวจยึดรถยนต์นั้นไปและศาลพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระราคาเพราะเหตุที่โจทก์ถูกรอนสิทธินั้นแล้ว โจทก์จึงขอบังคับให้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์อีกไม่ได้ อนึ่งโจทก์ซื้อรถยนต์ดังกล่าวโดยชำระราคาครั้งแรก กับชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยที่ ๒ รวม ๑๖ งวด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๓๔,๗๔๔ บาท โจทก์ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ ๓๐ งวด ดังนี้โจทก์จะขอให้ชดใช้ราคารถยนต์จำนวน ๘๐,๐๐๐ บาทและค่าเช่าซื้อรวม ๓๐ งวด เป็นเงิน ๑๑๒,๐๒๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๙๒,๐๒๐ บาทแก่โจทก์ทั้ง ๆ ที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วเพียง ๑๖ งวดหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระราคารถยนต์คืนเป็นเงิน ๑๓๙,๗๔๔ บาทเท่านั้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๖ ชำระค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๔,๘๐๐ บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๘๓๙/๒๕๓๘

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2529จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันขายรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าคันหมายเลขทะเบียน 9จ-6478 กรุงเทพมหานครให้แก่โจทก์ ในราคา 300,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อโอนทะเบียนรถให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในฐานะสามีของจำเลยที่ 2ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2530 เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถจากโจทก์เพื่อคืนให้เจ้าของที่แท้จริง เนื่องจากรถถูกโจรกรรมมาแล้วเปลี่ยนทะเบียนก่อนที่จะขายให้โจทก์ โจทก์ไม่อาจใช้รถได้ตามความประสงค์โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากการรอนสิทธิ โดยจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชดใช้ราคารถที่ได้รับไปจากโจทก์แล้วจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2530เป็นต้นไป ซึ่งขอคิดถึงวันฟ้องเพียง 10 เดือน เป็นเงิน18,750 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้วก็เพิกเฉยจึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน318,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2ขายรถคันพิพาทให้โจทก์และไม่ได้รับเงินค่าราคารถจากโจทก์ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากมิได้กล่าวอ้างโดยชัดแจ้งว่าการที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อยินยอมให้โอนรถเป็นเหตุให้ต้องร่วมรับผิดอย่างไร ปรากฏภายหลังว่ารถถูกลักมา ดังนั้นการซื้อขายจึงเป็นโมฆะ ความยินยอมของจำเลยที่ 1 จึงใช้ไม่ได้ การซื้อขายรถมิใช่หนี้ร่วมที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ขายรถคันพิพาทให้โจทก์ในราคา 300,000 บาท ตั้งแต่วันที่3 มิถุนายน 2529 และโจทก์ได้รับรถไปแล้วในวันดังกล่าวโจทก์ใช้ประโยชน์ในรถจนถึงวันที่ถูกยึดคืนเป็นเวลา323 วัน โดยอาจนำออกให้เช่าได้วันละ 1,500 บาทคิดเป็นเงินจำนวน 484,500 บาท คุ้มกับจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องแล้ว จำเลยที่ 2 ซื้อรถมาจากนายธงชัย ศรีจั่นแก้วโดยไม่ทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมา ทั้งได้ตรวจสอบใบคู่มือการจดทะเบียนรถแล้วต่อมาจำเลยที่ 2 ทราบว่าเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากนางสาววิไล เนื่องจำนงค์ได้นำเอกสารหลักฐานปลอมไปแสดงต่อเจ้าพนักงานกองทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีขอจดทะเบียนรถและเพราะความประมาทเลินเล่อของพันตำรวจโทชัยวัฒน์ชำนาญพูด ร้อยตำรวจเอกโอภาส ยศปิยะเสถียรและนายดาบตำรวจสุพจน์ วงศ์ธนู ได้ออกใบคู่มือการจดทะเบียนรถให้เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเป็นการร่วมกันทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการซึ่งกรมตำรวจต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายธงชัย ศรีจั่นแก้วนางสาววิไล เนื่องจำนงค์ พันตำรวจโทชัยวัฒน์ ชำนาญพูดร้อยตำรวจเอกโอภาส ยศปิยะเสถียร นายดาบตำรวจสุพจน์ วงศ์ธนูและกรมตำรวจเข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยร่วมที่ 2 ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 2 ไม่เคยเป็นเจ้าของรถคันพิพาท และไม่เคยนำไปขายให้จำเลยที่ 1ใบคู่มือการจดทะเบียนเป็นของปลอมเหตุที่มีชื่อของจำเลยร่วมที่ 2 เนื่องจากมีบุคคลอื่นร่วมทำขึ้นหรือจำเลยร่วมที่ 1ร่วมกับบุคคลอื่นทำขึ้น ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การทำนองเดียวกันว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในมูลคดีผิดสัญญาซื้อขาย แต่จำเลยที่ 2ให้การว่าจำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 กระทำโดยประมาทอันเป็นมูลคดีเรื่องละเมิดซึ่งต่างกัน จำเลยที่ 2จึงชอบที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ จำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ได้รับจดทะเบียนรถคันพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2ด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใดกล่าวคือ สภาพของรถอยู่ในสภาพใหม่ ไม่มีร่องรอยเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือขูดลบดัดแปลงหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังตลอดจนเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีข้อพิรุธน่าสงสัยว่าจะเป็นเอกสารปลอมต่อมาจำเลยร่วมที่ 2ได้จดทะเบียนโอนรถให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 แล้ว จำเลยร่วมที่ 1ได้แจ้งย้ายรถไปใช้ที่กรุงเทพมหานคร จำเลยร่วมที่ 3 ตรวจสอบพบว่าเอกสารหลักฐานของจำเลยร่วมที่ 2 เป็นเอกสารปลอมและรถถูกลักมา จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยร่วมที่ 2ทั้งแจ้งให้นายทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานครทราบเพื่อให้ระงับการทำนิติกรรมและให้ยึดรถให้ยึดรถไว้ตรวจสอบโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานการซื้อขายรถและตามใบคู่มือการจดทะเบียนก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อโจทก์หรือจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หากจำเลยที่ 2 นำใบคู่มือการจดทะเบียนไปตรวจสอบจริงก็ ย่อมจะต้องทราบว่ารถถูกลักมาหากจำเลยที่ 2ซื้อรถจากจำเลยร่วมที่ 1 แล้วก็ชอบที่จะนำรถไปจดทะเบียนโอนภายใน 15 วัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็จะต้องทราบว่ารถถูกลักมาการที่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายจึงเกิดความประมาทเลินเล่อ หากโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 โดยตรวจดูใบคู่มือการจดทะเบียนเสียก่อนว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ก็จะทราบว่ารถถูกลักมา กรณีจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ราคาซื้อขายรถระหว่างจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นเงิน 250,000 บาทดังนั้นราคารถในขณะที่ถูกยึดย่อมมีราคาน้อยลงเนื่องจากใช้มานายย่อมเสื่อมสภาพลงจึงมีราคาไม่เกิน 50,000 บาทและโจทก์ใช้รถเพื่อประโยชน์มาตลอด จึงไม่มีค่าเสียหายจากการรอนสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยร่วมที่ 6 ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ ใช้ความละเมิดรอบคอบระมัดระวังมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ทั้งปริมาณงานที่แผนกทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีมีมากในแต่ละวันเมื่อตรวจพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารก็ได้แจ้งให้นายทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานครทราบแล้ว การซื้อขายรถนี้หากจำเลยทั้งสองหรือโจทก์ไปดำเนินการทางทะเบียนโอน จดทะเบียนโอนที่แผนกทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานคร ก็ย่อมจะทราบว่ารถคันพิพาทเป็นรถที่จำเลยที่ 2 ได้มาโดยไม่ชอบโจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในรถแล้วเป็นเวลา 323 วันรถมีอายุใช้งานประมาณ 1 ปีเศษแล้ว ย่อมเสื่อมสภาพหากโจทก์ขายรถก็จะได้เงินไม่เกินจำนวน 80,000 บาทขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 250,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 6

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ได้ซื้อรถคันพิพาทไปจากจำเลยทั้งสองในราคา 300,000 บาทโดยไม่ทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมาและมีใบคู่มือการจดทะเบียนปลอมมาก่อน ต่อมาเจ้าพนักงานได้ตรวจพบว่าใบคู่มือการจดทะเบียนของรถคันพิพาทเป็นเอกสารปลอมตามเอกสารหมาย จ.1 จึงมีการยึดรถคันพิพาทไปจากโจทก์เพื่อคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันใช้ราคารถคันพิพาทให้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหรือไม่เพียงใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 บัญญัติว่า"หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น" และมาตรา 479 บัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการรอนสิทธิก็ดี ฯลฯ ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้ซื้อรถคันพิพาทถูกรอนสิทธิเพราะเจ้าของรถคันพิพาทมีสิทธิเหนือรถคันพิพาทในขณะที่มีการซื้อขาย ดังนั้นจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขายต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ถูกรอนสิทธิโดยชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถคันพิพาทจากโจทก์ด้วยนั้นเห็นว่า การที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถคันพิพาทนั้นมิใช่เป็นค่าหรือราคารถคันพิพาทที่จำเลยจะต้องส่งคืนดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักกับราคาของรถคันพิพาทได้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยในปัญหาที่ว่าความเสียหายอันเกิดแต่การรอนสิทธินั้น โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดขึ้นโจทก์จึงต้องรับผิดในจำนวนค่าเสียหายกึ่งหนึ่งด้วยนั้น เห็นว่าในปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในศาลชั้นต้น แม้จำเลยทั้งสองจะได้อุทธรณ์ในข้อนี้มาด้วยก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่าจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 6 กระทำโดยประมาทเลินเล่อจึงต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยร่วมที่ 3เป็นนายทะเบียนยานพาหนะประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี จำเลยร่วมที่ 4 เป็นผู้ช่วยนายทะเบียนและจำเลยร่วมที่ 5 ได้รับมอบหมายให้รวบรวมรายได้ค่าภาษีและค่าธรรมเนียมของงานทะเบียนยานพาหนะจำเลยร่วมที่ 6 เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2529จำเลยร่วมที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีได้แจ้งต่อนายทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานครว่าใบคู่มือการจดทะเบียนรถคันพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1เป็นเอกสารปลอม ให้ระงับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงใด ๆ และให้อายัดรถคันพิพาทไว้ ดังปรากฏตามเอกสารหมายล.2 และ ล.3 ต่อมาปรากฏว่าวันที่ 3 มิถุนายน 2529จำเลยทั้งสองได้ตกลงขายรถคันพิพาทให้โจทก์ จากการนำสืบพยานหลักฐานของ จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 6 ได้ความว่าการจดทะเบียนและการออกใบคู่มือการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.1 นั้นจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 ได้ดำเนินการไปตามอำนาจและหน้าที่ดังที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจไว้และได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการทุกประการโดยเฉพาะได้กระทำไปโดยสุจริต หลังจากที่ทราบว่าใบคู่มือการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอมแล้วก็รีบแจ้งต่อนายทะเบียนยานพาหนะที่เกี่ยวข้องทราบและอายัดรถคันพิพาททันที เกิดเหตุแล้วได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการที่สอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นต้องกันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีที่เกี่ยวข้องทุกคนได้ดำเนินการไปโดยชอบและสุจริตแล้ว และมิได้กระทำไปโดยความประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.31 ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองนั้นคงนำสืบลอย ๆ ว่า จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเท่านั้น ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างใดเห็นว่า พยานจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 6มีน้ำหนักดีกว่า ฟังได้ว่า จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ กรณีเช่นนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองและโจทก์ที่ควรจะต้องไปตรวจสอบพยานหลักฐานทางทะเบียนของรถคันพิพาทก่อนที่จะมีการซื้อขายกันตามวิสัยของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปพึงจะกระทำกันประการสำคัญโจทก์ได้ซื้อ รถคันพิพาท หลังจากที่ได้มีการแจ้งอายัดจากจำเลยร่วมที่ 3 แล้ว ซึ่งหากโจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ไปจดทะเบียนโอนกันตามกฎหมายแล้วก็จะทราบทันทีว่าใบคู่มือการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอมความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองมากกว่า ดังนั้น จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5ตลอดจนจำเลยร่วมที่ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 สังกัดอยู่จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองด้วยแต่ประการใด

พิพากษายืน

(ชัยนาท พันตาวงศ์-สะสม สิริเจริญสุข-สมชัย สายเชื้อ)


คำพิพากษาฎีกาที่  981/2523

     ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยต้องรับผิดในการที่โจทก์ถูกรอนสิทธิโดยต้องชำระราคารถพร้อมด้วยดอกเบี้ยเป็นเงิน  43,900 บาทให้แก่โจทก์   ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน  จำเลยฎีกา

     ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า  "ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและจำเลยมิได้ฎีกาคัดค้าน คงรับฟังได้ว่า  โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดราชายนต์ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลย เป็นการซื้อโดยสุจริตในท้องตลาดจากพ่อค้าซึ่งขายรถยนต์ โดยในขณะที่ซื้อโจทก์ไม่รู้ว่าเป็นรถที่ถูกคนร้ายลักมา ต่อมาความปรากฏว่ารถยนต์พิพาทเป็นของนายทรงเกียรติ ศิริปิยะวัฒน์  นายทรงเกียรติ  ศิริปิยะวัฒน์ ได้ไปแจ้งความไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่าถูกคนร้ายลักไป พนักงานสอบสวนจึงยึดเอาไว้เป็นของกลางในคดีนั้น และไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ตามฎีกาของจำเลย มีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่า  จำเลยจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการที่เจ้าพนักงานยึดรถยนต์พิพาทไปตามอำนาจหน้าที่เพราะเป็นหลักฐานประกอบคดี มิใช่เพราะเจ้าพนักงานมีสิทธิเหนือรถนั้น ไม่เป็นการรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 475 หรือมาตรา 479 จำเลยไม่ต้องรับผิด และโจทก์ได้รับความคุมครองตามมาตรา 1332 อยู่แล้ว โดยมีสิทธิเรียกรถยนต์พิพาทคืนจากพนักงานสอบสวน และไม่จำต้องคืนให้แก่นายทรงเกียรติ ศิริปียะวัฒน์ เว้นแต่นายทรงเกียรติ  ศิริปิยะวัฒน์ จะชดใช้ราคา  โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยรับผิดเรื่องการรอนสิทธิอีก  ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่รถยนต์พิพาทถูกพนักงานสอบสวนยึดเอาไปเป็นของกลางในคดีอาญาและไม่ยอมคืนให้โจทก์  เนื่องจากเป็นรถของนายทรงเกียรติ  ศิริปิยะวัฒน์ และนายทรงเกียรติ  ศิริปิยะวัฒน์  ได้ไปแจ้งความไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่าถูกคนร้ายลักไป  ตามพฤติการณ์ย่อมฟังได้ว่านายทรงเกียรติ  ศิริปิยะวัฒน์  ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทอันแท้จริงมาก่อนการรบกวนข้อสิทธิของโจทก์ผู้ซื้อในอัน จะใช้สอยหรือครอบครองรถยนต์พิพาทโดยปกติสุข เพราะนายทรงเกียรติ  ศิริปิยะวัฒน์  มีสิทธิเหนือรถยนต์พิพาทอยู่ในเวลาที่ซื้อขายกัน ถึงแม้โจทก์จะเป็นผู้ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตจากมาตรา 1332 ซึ่งมีสิทธิไม่จำต้องคืนรถยนต์พิพาทให้แก่นายทรงเกียรติ ศิริปิยะวัฒน์ เว้นแต่นายทรงเกียรติ  ศิริปิยะวัฒน์  จะชดใช้ราคาที่ซื้อมา แต่วัตถุประสงค์ของโจทก์ในการซื้อรถยนต์พิพาทก็เพื่อจะได้มาเป็นกรรมสิทธิ์หาใช่เพื่อรับชดใช้ราคาคืนไม่ ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 ก็มิได้บัญญัติว่าผู้ซื้อรถยนต์โดยสุจริตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332  ไม่อยู่ในฐานะที่จะถูกรอนสิทธิ ดังนั้นเมื่อนายทรงเกียรติ  ศิริปิยะวัฒน์  เจ้าของแท้จริงมารบกวนขัดสิทธิโจทก์ผู้ซื้อตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงถือได้ว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิ จำเลยผู้ขายมีหน้าที่ต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธินั้น  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 475  และเมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนยึดเอารถยนต์พิพาทไป ไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์เพราะเป็นของนายทรงเกียรติ  ศิริปิยะวัฒน์ ซึ่งถูกคนร้ายลักไป กรณีจึงเห็นได้ว่ารถยนต์พิพาทได้หลุดไปจากโจทก์ผู้ซื้อ จำเลยผู้ขายต้องรับผิดชำระราคารถยนต์พิพาทคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479  ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่าโจทก์ปล่อยให้รถยนต์พิพาทหลุดพ้นไปจากตนโดยมิได้เรียกคืนก่อนตามสิทธิ จึงเป็นการที่สิทธิของโจทก์ได้สูญไปเพราะความผิดของโจทก์เอง จำเลยไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 482 (1)นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีเรื่องนี้ฟังได้ว่า พนักงานสอบสวนได้ยึดเอารถยนต์พิพาทไปเป็นของกลางในคดีอาญาเอง และโจทก์ก็ได้มีหนังสือขอคืนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนไม่ยอมคืนให้ หาใช่ว่าโจทก์ทำให้รถยนต์พิพาทหลุดไปจากโจทก์หรือทำให้สิทธิของโจทก์สูญไปโดยความผิดของโจทก์เองไม่"

     พิพากษายืน

 

     (แต่ง  ทองภักดี  -  สมชัย  ทรัพย์วณิช  -  เฟื่องขจิต  รัศมิภูติ)

 

 

Visitors: 123,815