เดิม ซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.โดยส่งมอบการครอบครองให้แล้ว สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ ผู้ขายฟ้องขับไล่ผู้ซื้อออกจากที่ดินได้ (ฎีกา 2293/2552 และ 3424/2557) ต่อมาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า ผู้ขายที่ดิน ส.ป.ก.ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต (

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11165/2558

         

          จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้สละการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินโดยการขายให้จำเลยแล้ว โจทก์จึงมิใช่ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทในอันที่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน โจทก์ฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต

          ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา ต่อมาโจทก์ทำบันทึกจะคืนเงินให้จำเลยและจำเลยส่งมอบการครอบครองคืนโจทก์ แต่โจทก์ไม่คืนเงินให้จำเลย การที่โจทก์กลับมาอ้างว่า เป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินและฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3424/2557

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า สัญญาซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เลขที่ 1701 แปลงเลขที่ 14 อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ และให้จำเลยส่งมอบการครอบครองคืนแก่โจทก์ให้โจทก์และจำเลยกลับสู่ฐานะเดิม และให้จำเลยและบริวารอกจากที่ดินพิพาทห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีก ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 15,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท

 

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

 

          ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงตามคำให้การ จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย

 

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

 

          โจทก์อุทธรณ์

 

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01) เลขที่1701 แปลงเลขที่ 14 อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ และปรับสภาพที่ดินให้คืนสภาพเดิม ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

 

          จำเลยฎีกา

 

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน  โจทก์เป็นผู้ได้รับสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต่อมาปี 2548 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยในราคา 212,500 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำวินิจฉัยว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเพียงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าภายหลังจากขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โจทก์เป็นฝ่ายละทิ้งการครอบครองทำให้การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์สิ้นไป เห็นว่า ในเขตปฏิรูปที่ดิน  บุคคลที่ไม่ได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองจากผู้ที่ได้รับการจัดสรร เพราะหากผู้ได้รับการจัดสรรละทิ้ง การครอบครองไป การครอบครองก็จะตกกลับมาเป็นของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง  ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้พิจารณาและอนุมัติให้จำเลยหรือบุคคลอื่นได้รับสิทธิในที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งยังมีชื่อเป็นผู้ได้รับสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่า และมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทได้ ศาลอุทธรณ์

 

ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

 

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

     (อดิศักดิ์  ปัตรวลี  -  ทวีศักดิ์  ทองภักดี  -  เฉลิมศักดิ์  ภัทรสุมันต์)

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2293/2552

 

             โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินแปลงที่ 28 และแปลงที่ 31 ตำบลหนองตะไก้ อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมาและให้ปรับที่ดินให้กลับคืนสู่สภาพเดิมด้วยทุนทรัพย์ของจำเลยและห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินอีก กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นับแต่วันบุกรุก (ปลายเดือนธันวาคม 2542) ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 60,000 บาท และถัดจากวันฟ้องปีละ 60,000 บาท จากว่าจะออกไปพ้นจากที่ดินของโจทก์และค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว

 

นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

 

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

 

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินแปลงที่ 28 และแปลงที่ 31 ตำบลหนองตะไก้ อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมาและปรับสภาพที่ดินให้คืนสภาพเดิม ทั้งห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวอีก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

 

          จำเลยอุทธรณ์

 

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

 

          จำเลยฎีกา

 

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับกันว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินโจทก์เป็นผู้ได้รับสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อมาจำเลยได้เข้าไปไถหน้าดินปลูกมันสำปะหลังจนเต็มพื้นที่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกว่า จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งจำเลยได้ซื้อมาจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยัง สถาบันเกษตรกร ฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้จะมีการซื้อขายที่พิพาท (ส.ป.ก.) ระหว่างโจทก์กับจำเลยกันจริง นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยก็เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 ดังนั้น ปัญหาข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

 

          จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ที่ดินพิพาทมีเพียงสิทธิครอบครอง เมื่อจำเลยแย่งการครอบครองมาเกินกว่า 1 ปี แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองปัญหานี้จำเลยได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การและในชั้นอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ แต่เป็นข้อที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่าง จำเลยย่อมฎีกาได้สำหรับปัญหานี้เห็นว่า ในเขตปฏิรูปที่ดิน บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองจากผู้ที่ได้รับการจัดสรร เพราะหากผู้ใดรับการจัดสรรละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองจะตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมต่อไปและพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 37 บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล"

 

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

    (ม.ล. ไกรฤกษ์ เกษมสันต์  -  ฐานันท์  วรรณโกวิท  -  อัปษร  หิรัญบูรณะ)

 

 

 

Visitors: 122,960