ย้ายสถานประกอบกิจการ ตามมาตรา ๑๒๐ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

ย้ายสถานประกอบกิจการ ตามมาตรา ๑๒๐ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน หมายถึง นายจ้างปิดสถานประกอบการเดิม แล้วย้ายสถานประกอบกิจการไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ (๑๓๕๕๐/๒๕๕๘) แต่ถ้าตั้งสาขาเพิ่ม แล้วย้ายลูกจ้างไปยังสาขา โดยสำนักงานใหญ่ยังคงเปิดทำการอยู่ หรือ ย้ายลูกจ้างจากสำนักงานแห่งใหญ่ ไปทำงานที่สำนักงานสาขาที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือ นายจ้างมีสถานประกอบกิจการ ๒ แห่ง ปิดแห่งหนึ่งและย้ายไปทำอีกที่แห่งหนึ่ง (๒๒๒๘/๒๕๔๕, ๓๓๙๘/๒๕๔๖) หรือ การย้ายสถานที่ทำงานของลูกจ้าง ไม่ถือว่าเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการ (๓๑๙๘-๓๒๗๙/๒๕๕๑)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13550/2558

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 หมายถึง ผู้ประกอบกิจการย้ายสถานที่ผลิตสินค้า ขายสินค้าหรือสถานที่ให้บริการซึ่งมีอยู่เดิมจากแห่งหนึ่งไปยังสถานที่แห่งใหม่ เดิมปี 2536 โจทก์ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์มีสำนักงานเทพลีลาเป็นสถานที่ประกอบกิจการแห่งเดียว ต่อมาปี 2549 โจทก์เปิดสถานประกอบกิจการอีกแห่งหนึ่งแล้วจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสถานประกอบกิจการแห่งใหม่เป็นสำนักงานใหญ่และสำนักงานเดิมเป็นสำนักงานสาขา โจทก์ทยอยปิดสำนักงานเดิมเป็นแผนก ๆ โดยย้ายลูกจ้างไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ ครั้งสุดท้ายวันที่ 30 เมษายน 2552 โจทก์ย้ายลูกจ้างในแผนกที่เหลืออยู่ที่สำนักงานเดิมทั้งหมด ถือว่าเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว

เมื่อโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ทำการสำนักงานใหญ่แล้วทยอยปิดส่วนงานที่สำนักงานเดิมเป็นแผนก ๆ ไปโดยโยกย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ทันที และในที่สุดโจทก์ประกาศปิดการดำเนินกิจการที่สำนักงานเดิมอย่างถาวร แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของโจทก์ว่าต้องการย้ายสถานประกอบกิจการจากสำนักงานเดิมไปยังสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียวตั้งแต่ปี 2549 เพียงแต่ทยอยย้ายแผนกงานและลูกจ้างเท่านั้นไม่ได้ย้ายไปทั้งหมดในทันที การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้สำนักงานเดิมเป็นสาขาเป็นวิธีการหรือกระบวนการของการย้ายสถานประกอบกิจการของโจทก์เท่านั้น แม้จะใช้เวลาถึง 2 ปีเศษ ก็หาใช่โจทก์ย้ายสถานประกอบกิจการไปยังสถานที่อื่นซึ่งโจทก์มีอยู่ก่อนแล้วไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3198 - 3279/2551

การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสอง ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีไปทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ มาจากเหตุที่จำเลยที่ 1 หมดสัญญาอนุญาตให้บริการขายอาหารระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เสนอให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองเลือกไปทำงานในสาขาอื่นของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร โดยจะให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาท เมื่อโจทก์ทั้งแปดสิบสองไม่เลือกและไม่แสดงความจำนงให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 จึงมีความจำเป็นต้องสั่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองไปทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม เมื่อโจทก์ทั้งแปดสิบสองมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะไปปฏิบัติงานหน่วยงานแห่งอื่นของจำเลยที่ 1 และไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ตามวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนด จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (5) และเป็นการละทิ้งการงานไปซึ่งจำเลยที่ 1 จะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทอดแทนก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดสิบสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2545

จำเลยมีคำสั่งปิดสำนักงานแผนกการขายที่กรุงเทพมหานครและย้ายพนักงานขายทั้งหมดไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดภูเก็ต โดยขณะจำเลยสั่งย้ายโจทก์จำเลยมีสถานประกอบกิจการที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ จึงไม่เป็นกรณีที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

Visitors: 123,439