โช้กอัพ ไม่ปรากฏในรายการจดทะเบียน ดังนั้น การโหลดโช้กอัพให้ต่ำลง และถอดนอตที่บริเวณโช้กอัพออก เป็นการเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ หรือไม่ เรื่องนี้มีคำตอบจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๘๗/๒๕๕๖

โช้กอัพ ไม่ปรากฏในรายการจดทะเบียน ดังนั้น การโหลดโช้กอัพให้ต่ำลง และถอดนอตที่บริเวณโช้กอัพออก เป็นการเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ หรือไม่ เรื่องนี้มีคำตอบจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๘๗/๒๕๕๖

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๘๗/๒๕๕๖

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 7, 14, 60

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 60 ปรับ 800 บาท จำเลยให้การรับข้อเท็จจริงบางส่วนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 600 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยดัดแปลงระบบรองรับน้ำหนักด้านหน้า (โช้กอัพ) ของรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขพพ ลำปาง 382 ให้ต่ำลงประมาณ 1 นิ้วถึง 1 นิ้วครึ่ง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้รายการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ขพพ ลำปาง 382 ไม่ปรากฏว่าได้มีการระบุระบบรองรับน้ำหนัก (โช้กอัพ) ของรถจักรยานยนต์ไว้ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 7 (1) บัญญัติว่า "รถที่จะขอจดทะเบียนได้ต้องเป็นรถที่มีส่วนควบและมีเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ พ.ศ.2551 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (2) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 และมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ข้อ 5 กำหนดว่า รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องมีและใช้ส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ตามข้อ 3 (7) คือ ระบบรองรับน้ำหนัก ที่สามารถลดแรงสั่นสะเทือน และรองรับน้ำหนักขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย เช่นนี้ รถจักรยานยนต์ที่จะจดทะเบียนได้จึงต้องเป็นรถจักรยานยนต์ที่มีระบบรองรับน้ำหนัก ที่สามารถลดแรงสั่นสะเทือน และรองรับน้ำหนักขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยตามที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัติและกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย ดังนี้ รายการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 14 จึงมิได้หมายความเฉพาะรายการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในรายการจดทะเบียนเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงส่วนควบและอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ตามกฎกระทรวงกำหนดส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ พ.ศ.2551 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 (1) ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าจะตีความรายการที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 14 หมายความรวมถึงส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถตามกฎกระทรวง ซึ่งมีระบบรองรับน้ำหนักรวมอยู่ด้วยไม่อาจทำได้นั้น เห็นว่า หากเป็นเช่นนั้นรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนก็คงมีรายการจดทะเบียนเฉพาะประเภทรถ ลักษณะรถ ยี่ห้อรถ แบบ รุ่น สีรถ เลขตัวรถ ยี่ห้อเครื่องยนต์ เลขเครื่องยนต์ เชื้อเพลิง จำนวนสูบ แรงม้า/กิโลวัตต์ น้ำหนักรถ น้ำหนักบรรทุก/น้ำหนักลงเพลา น้ำหนักรวม ที่นั่งตามรายการจดทะเบียนเท่านั้น ซึ่งย่อมไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่ต้องการคุ้มครองผู้ใช้รถให้ได้รับความปลอดภัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยดัดแปลงระบบรองรับน้ำหนักด้านหน้า (โช้กอัพ) ของรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขพพ ลำปาง 382 ให้ต่ำลงประมาณ 1 นิ้วถึง 1 นิ้วครึ่ง และได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการตรวจรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าทุกรุ่นว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขโช้กอัพหน้าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้เนื่องจากระยะการยุบตัวของโช้กอัพเหลือน้อยลง ทำให้การซัพแรงกระแทกระหว่างล้อกับแกนโช้กอัพลดน้อยลง หากตกหลุมอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ขับได้ และพยานโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งนายช่างตรวจสภาพรถชำนาญงาน สำนักงานขนส่งจังหวัดลำปาง เบิกความและเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานตรวจสอบรถจักรยานยนต์ของกลางพบว่ามีการโหลดโช้กอัพให้ต่ำลงจากเดิมประมาณ 1 นิ้ว และมีการถอดนอตที่บริเวณโช้กอัพออกข้างละ 1 ตัว ซึ่งอาจเกิดการเลื่อนขึ้นเลื่อนลงไม่ปลอดภัยเช่นเดียวกับกรณีมีนอต 2 ตัว ยึดไว้ จึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทำให้ระบบรองรับน้ำหนัก ที่สามารถลดแรงสั่นสะเทือน และรองรับน้ำหนักขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ พ.ศ.2551 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ไม่ได้นำรถจักรยานยนต์ไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพก่อนและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนโดยแก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนรถ จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 60 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

(พศวัจณ์ กนกนาก-อภิรัตน์ ลัดพลี-ธงชัย เสนามนตรี)

Visitors: 123,626