มัดจำที่ถูกริบ หากสูงเกินไป ศาลปรับลดลงได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8942/2554

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.377, 379

พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม.7

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายห้องชุดพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 แล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์พร้อมทั้งรับเงินค่าห้องชุดส่วนที่เหลือ หากไม่สามารถโอนขายห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินจำนวน 1,273,258 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อีกจำนวน 500,000 บาท

 

จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง

 

ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่โจทก์ 773,258 บาท และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก

 

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

 

จำเลยที่ 1 ฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2541 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา 4,218,720 บาทโจทก์ชำระราคาในวันทำสัญญา 1,273,258 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระภายในวันที 17 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด สัญญาข้อ 15 ระบุว่า หากโจทก์ไม่ชำระเงินที่เหลือไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เลิกสัญญาและริบเงินทุกจำนวนที่โจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้แล้วทั้งหมดได้โดยโจทก์จะไม่เรียกร้องใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ต่อมาโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือและรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดภายในวันที่ 2 กันยายน 2541 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ขยายเวลาให้ ดังนั้นวันที่ 3 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่วางไว้ทั้งหมด ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2542 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ในราคา 4,100,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิริบเงินทั้งหมดจำนวน 1,273,258 บาท ที่โจทก์ชำระในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ เห็นว่า เงินดังกล่าวโจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ไว้ในวันทำสัญญาเพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อจะขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ หรือหากโจทก์ละเลยไม่ชำระหนี้ก็ให้ริบเงินนั้นได้ตามสัญญาข้อ 15 เงินจำนวนนี้จึงเป็นมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ เพราะเบี้ยปรับเป็นกรณีที่ลูกหนี้สัญญาจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อตนไม่ชำระหนี้อันเป็นการกำหนดค่าเสียหายเอาไว้ล่วงหน้าเท่านั้น คู่สัญญามิได้มีเจตนาให้ถือเอาเบี้ยปรับเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับ แต่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ที่จำเลยที่ 1 โต้แย้งว่า ในขณะทำสัญญาโจทก์ตกลงด้วยความสมัครใจว่าหากผิดสัญญาให้ริบเงินที่ชำระทั้งหมดจึงลดค่าปรับลงไม่ได้ เห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยให้อำนาจศาลพิจารณาตามที่เห็นสมควรหากมัดจำสูงเกินส่วน ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ทราบก่อนทำสัญญาว่าจำเลยที่ 1 ต้องมีต้นทุนจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาก่อสร้างห้องชุด แต่จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบให้เห็นว่าหากโจทก์ผิดนัดความเสียหายทั้งหมดมีจำนวนเท่าใด มีวิธีคิดอย่างไรและใกล้เคียงกับมัดจำที่โจทก์วางไว้หรือไม่ ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ขายห้องชุดพิพาทให้จำเลยที่ 4 ต่ำกว่าที่ขายให้โจทก์ไป 118,720 บาทหากนับจากวันที่โจทก์ผิดนัดไม่รับโอนห้องชุดครั้งแรกคือวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่จำเลยที่ 1 ขายห้องชุดให้จำเลยที่ 4 ไปเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ที่ศาลล่างทั้งสองริบเงินที่วางไว้หรือมัดจำ 500,000 บาท ยังไม่เหมาะสม เห็นควรให้ริบร้อยละ 50 เป็นเงิน 636,629 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 รับเงินโจทก์ไปแล้ว 1,273,258 บาท จึงต้องคืนให้โจทก์ 636,629 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำ 636,629 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

(วิวรรต นิ่มละมัย-ณรงค์พล ทองจีน-วิกร อังคณาวิศัลย์)

Visitors: 123,039