พฤติกรรมเช่นใดที่จะถือว่า เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๑๙(๑)

พฤติกรรมเช่นใดที่จะถือว่า เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๑๙(๑)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๔๒/๒๕๕๙

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีอำนาจอนุมัติการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีอำนาจรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานในกรณีพนักงานลืมตอกบัตร ทั้งต้องดูแลควบคุมให้พนักงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดตรงตามที่ขออนุมัติ กลับจงใจลงลายมือชื่อรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานของ ท. อันเป็นความเท็จ เช่นนี้การกระทำของโจทก์ถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่อยู่ในความหมายของการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาแก่ ท. เพราะผลจากการร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้มีการตรวจสอบและโจทก์แก้ไขเอกสารเสียก่อน ท. ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำของโจทก์ก็หาทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตไปได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๓๑๐/๒๕๕๗

การที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขายของจำเลย ดำเนินการขายรถยนต์ให้แก่บริษัท ย. ในนามตัวแทนของจำเลย รับดำเนินการทางทะเบียนรถยนต์ให้แก่บริษัท ย. โดยมิได้มีหน้าที่โดยตรงแล้วอาศัยโอกาสเรียกให้บริษัท ย. โอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ 15,000 บาท แล้วนำส่งจำเลยเป็นค่ามัดจำป้ายทะเบียนรถยนต์ป้ายแดง 4,000 บาท และค่าจดทะเบียนรถยนต์ 3,800 บาท ส่วนที่เหลือ 7,200 บาท ไม่คืนให้แก่บริษัท ย. เป็นเหตุให้บริษัท ย. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ เป็นการประพฤติตนไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ คดโกง ถือได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (1) และกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๘๒๐/๒๕๕๓

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เปิดบริษัทนำเข้าและส่งออกเสื้อผ้ากีฬา และโจทก์ได้ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ และพนักงานของจำเลยที่ 3 บางส่วนทำงานส่วนตัวของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 อีกตำแหน่งหนึ่ง มีหน้าที่ในการระดมหารายได้ให้แก่จำเลยที่ 3 จึงต้องปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างในระหว่างทำงานให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตเพื่อหวังจะให้เกิดผลคุ้มค่าจ้างที่นายจ้างให้เป็นการตอบแทน การที่โจทก์ไปเปิดบริษัทนำเข้าและส่งออกเสื้อผ้ากีฬาแม้ลักษณะกิจการของโจทก์จะไม่เหมือนกับกิจการของจำเลยที่ 3 และไม่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับงานของจำเลยที่ 3 ที่โจทก์ทำอยู่เป็นประจำก็ตาม แต่การที่โจทก์เปิดบริษัทประกอบกิจการดังกล่าวก็ย่อมทำให้โจทก์ไม่สามารถทำงานให้แก่จำเลยที่ 3 ได้เต็มที่ดังเดิม นอกจากนี้การที่โจทก์ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือและพนักงานของจำเลยที่ 3 บางส่วนทำงานส่วนตัวของโจทก์โดยปราศจากสิทธิอันชอบ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเบียดบังเวลาและทรัพย์สินของนายจ้างโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อมุ่งแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างย่อมได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อจำเลยที่ 3 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๑๗/๒๕๕๑

ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า หากโจทก์สุจริตใจจริง โจทก์ก็น่าจะยอมรับว่าเอากล้องไปใช้ตั้งแต่แรก แต่กลับปรากฏว่าจำเลยต้องเปิดหน่วยความจำในกล้องให้ดูโจทก์จึงยอมรับเพราะจำนนต่อหลักฐาน การกระทำของโจทก์เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เอาทรัพย์สินของจำเลยไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดทรัพย์สินของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย มิใช่เป็นกรณีถือวิสาสะดังที่ศาลแรงงานภาค 5 วินิจฉัย โจทก์ไม่ซื้อสัตย์ต่อจำเลย จึงมีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้และมิได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง ศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่า ในการสอบสวนนั้นโจทก์แจ้งว่าโจทก์ได้รับกล้องที่เป็นของสมนาคุณมาจริงแล้วนำไปไว้ในที่เก็บสินค้าของจำเลยยังมิได้นำออกใช้ แต่เมื่อตรวจดูหน่วยความจำที่บันทึกภาพถ่ายในกล้องปรากฏว่ามีภาพอยู่จำนวน 26 ภาพเป็นภาพถ่ายที่โจทก์บันทึกไว้เป็นการส่วนตัว โจทก์จึงยอมรับว่าเอากล้องดังกล่าวไปใช้แล้วจริง การที่โจทก์ยอมรับว่าเอากล้องดังกล่าวไปใช้แล้วจึงเป็นเพราะโจทก์จำนนต่อหลักฐานนั่นเอง ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นการนำไปใช้โดยถือวิสาสะ เพราะหากโจทก์คิดว่าโจทก์มีสิทธิจะนำไปใช้ได้ โจทก์ก็น่าจะยอมรับว่าเอาไปใช้แล้วจริงตั้งแต่ต้น ไม่น่าจะต้องให้ตรวจดูหน่วยความจำที่กล้องบันทึกไว้เสียก่อน เมื่อปรากฏว่ามีภาพถ่ายที่โจทก์บันทึกไว้เป็นการส่วนตัว โจทก์จึงเพิ่งจะยอมรับ กล้องดังกล่าวเป็นของสมนาคุณที่จำเลยได้มาและมีไว้เพื่อให้พนักงานของจำเลยจับรางวัลในงานขึ้นปีใหม่ การที่โจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยทราบว่าได้กล้องดังกล่าวมา ทั้งยังนำไปใช้โดยพลการ เมื่อมีการสอบสวนก็ยังไม่ยอมรับว่าเอาไปใช้แล้วจนต้องมีการตรวจสอบหาความจริงจากหน่วยความจำที่กล้องบันทึกไว้ด้วยเช่นนี้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติไม่ซื่อตรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) ทั้งยังเป็นการทำอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ทั้งการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในกรณีนี้เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น" พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๔๘/๒๕๕๑

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 8 บทที่ 8.2 ข้อ (4) ที่ระบุว่า ใช้สถานที่ของบริษัทฯ เป็นที่กระทำการอื่นใดนอกจากหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามปกติ โดยมิได้รับอนุญาตจากฝ่ายบริหาร และข้อ (12) ที่ระบุว่า การกระทำอื่นๆ ตามที่ฝ่ายบริหารเห็นว่าร้ายแรง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่บริษัทฯ และอาจมีผลกระทบถึงส่วนรวมหรือทำผิดระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ ซึ่งระบุเป็นโทษร้ายแรงไว้ เป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า การจะถือว่ากรณีใดเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ มิใช่จะดูแต่เพียงว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดว่า เป็นความผิดร้ายแรงแล้ว ต้องถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงเสมอไป จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแต่ละกรณีไปตลอดจนผลเสียหายที่เกิดขึ้นมีมากน้อยเพียงใดด้วย ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่าหลังจากนางสาววิไลวรรณตกลงจะเช่าช่วงพื้นที่ภายใต้ชื่อร้านว่า เซนซ์ซาลอน หรือบิวตี้ ซาลอน จากนางพเยาว์แล้ว นางสาววิไลวรรณต้องชำระเงิน 500,000 บาท แก่นางพเยาว์ แต่นางพเยาว์เป็นลูกหนี้เงินกู้นายอภิชาติจำนวน 500,000 บาท นางสาววิไลวรรณจึงชำระเงิน 500,000 บาท ให้แก่นายอภิชาติ หลังจากนั้นนางสาววิไลวรรณได้เข้าไปดำเนินการในร้านเสริมสวย ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2545 นางสาววิไลวรรณนำเงิน 120,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ซึ่งนางพเยาว์เป็นหนี้โจทก์แทนนางพเยาว์ และเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2545 นางสาววิไลวรรณกับนางพิศมัยร่วมกันซื้อเครื่องปรับอากาศราคา 18,000 บาท ให้โจทก์เนื่องในโอกาสที่โจทก์จะขึ้นบ้านใหม่ นอกจากนี้นางสาววิไลวรรณและนายยูกิได้ชำระค่าแหวนทองคำฝังเพชรและพลอย 1 วง ราคา 9,000 บาท ซึ่งโจทก์สั่งทำไว้แทนโจทก์ กับนายยูกิสามีของนางสาววิไลวรรณก็ได้ซื้อกล้องถ่ายรูปดิจิตอลยี่ห้อแคนนอน 1 กล้อง ราคาประมาณ 10,000 บาท จากประเทศญี่ปุ่นให้โจทก์พฤติการณ์และการกระทำของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้เรียกรับผลประโยชน์ซึ่งเป็นทรัพย์สินจากนางสาววิไลวรรณเป็นแหวนเพชร กล้องถ่ายรูปดิจิตอลและเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือนางวิไลวรรณเช่าช่วงและช่วยเหลือในการต่อสัญญาเช่ากับจำเลยออกไปอีก 3 ปี โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่โจทก์ทำงานอยู่กับจำเลย ทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงและมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๙๑/๒๕๔๙

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546 โจทก์จ้างนายอภิเชษฐ วิจิตรเวชการ ทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายซ่อมบำรุง ได้รับค่าจ้างเดือนละ 8,820 บาท และค่าตำแหน่งเดือนละ 500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 โจทก์เลิกจ้างนายอภิเชษฐตามใบปลดออกจากงานเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2548 นายนายอภิเชษฐร้องทุกข์ต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยได้มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา ที่ 11/2548 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยจำนวน 26,460 บาท แก่นายอภิเชษฐ โจทก์อุทธรณ์ว่า นายอภิเชษฐได้เรียกเก็บเงินจากนายอำไพ สุวรรณโรจน์ ผู้จำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ แม้จะยังไม่ได้รับเงินจากที่เรียกร้องก็เป็นการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดวินัยกรณีร้ายแรงแล้ว นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังข้อเท็จจริงว่า นายอภิเชษฐนัดหมายนายอำไพรับประทานอาหารและเรียกเงินเป็นค่าตอบแทนในการอำนวยความสะดวกติดต่อซื้อขายอะไหล่เครื่องยนต์จริงและปรากฏตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา ที่ 11/2548 เอกสารหมาย ล.4 ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำสั่งเป็นที่ยุติในชั้นศาลแรงงานภาค 9 ว่า นายอภิเชษฐมีหน้าที่รับผิดชอบซ่อมแซมเครื่องจักรและบางครั้งสามารถสืบเสาะราคาอุปกรณ์เครื่องจักรที่จะซื้อเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาจัดซื้อ โดยพิจารณาสินค้าจากตัวแทนขายต่าง ๆ รวมทั้งนายอำไพตัวแทนขายของห้างหุ้นส่วนจำกัดสิริฉัตรเทรดดิ้ง ดังนั้น การที่นายอภิเชษฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ซ่อมแซมสืบเสาะราคาอุปกรณ์ในเครื่องจักร นัดหมายนายอำไพตัวแทนของห้างหุ้นส่วนจำกัดสิริฉัตรเทรดดิ้ง รับประทานอาหารและเรียกเงินเป็นค่าตอบแทนนั้น แม้ว่าการสืบเสาะราคาอุปกรณ์เครื่องจักรที่จะซื้อจะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของนายอภิเชษฐก็ตาม แต่นายอภิเชษฐก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยและได้เรียกรับเงินจากตัวแทนขายอันเป็นบุคคลภายนอกในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ให้แก่โจทก์ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยอาศัยโอกาสในการทำงานกับโจทก์เป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อสัตย์ ทำให้บุคคลภายนอกขาดความเชื่อถือและส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงทางทำมาหาได้ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (1) และการกระทำดังกล่าวยังเป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ บทที่ 7 ระเบียบวินัยและการดำเนินการทางวินัย ข้อ 33 ความซื่อสัตย์ ข้อย่อย 5 ที่ห้ามมิให้พนักงานหาผลประโยชน์ให้ตนเอง และเป็นความผิดร้ายแรงตาม ข้อ 36 เรื่องการเสนอหรือยอมรับอามิสสินจ้างในการทำงาน ซึ่งกำหนดให้ลงโทษเพียงการไล่ออกขั้นตอนเดียว เมื่อนายอภิเชษฐกระทำความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) โจทก์ผู้เป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างนายอภิเชษฐลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ที่ศาลแรงานภาค 9 พิพากษาว่า การกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีร้ายแรงซึ่งนายจ้างจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น"

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๓๓/๒๕๔๙

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,600 บาท โจทก์ได้เรียกรับสุรา 4 ขวด จากคู่ค้าของจำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 3.34 เป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2545 ซึ่งจำเลยอ้างเหตุในหนังสือเลิกจ้างว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและวินิจฉัยว่า การที่โจทก์รับสุราจากคู่ค้าของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 3.34 ซึ่งตำแหน่งของโจทก์อาจเอื้อประโยชน์หรือให้คุณให้โทษต่อคู่ค้าที่จำหน่ายสินค้าให้จำเลย ถือเป็นเรื่องสำคัญ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีเหตุสมควรและถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่การกระทำดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์ฉ้อโกงหรือประพฤติชั่วในกิจการงานของจำเลย กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญา โดยเจตนาแก่จำเลยตามที่จำเลยอ้างในหนังสือเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน คิดเป็นเงิน 25,740 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมาย และคดีนี้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเนื่องจากยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอจะวินิจฉัยคดี ศาลแรงงานกลางได้รับฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันเพิ่มเติมตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง (ธัญบุรี) ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 ไว้เป็นใจความว่า คู่ค้าของจำเลยได้รับโทรศัพท์จากโจทก์ขอสุราจากร้านโดยอ้างว่าบริษัทจำเลยจะไปเที่ยวในวันที่ 20 และ 21 ตุลาคม 2545 คู่ค้าของจำเลยหลงเชื่อตามโจทก์อ้างจึงให้สุราแก่โจทก์ไปรวม 4 ขวด การเรียกรับสุรานั้นจำเลยไม่ได้สั่งการ โจทก์ได้ใช้สุราทั้ง 4 ขวด ในการไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงานประมาณ 30 คน โดยไปเที่ยวกันเอง โจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบมาก่อน ที่จำเลยอุทธรณ์เป็นใจความว่า การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของโจทก์ในการจัดซื้อ จัดหา ตลอดจนคัดเลือกกลุ่มสั่งซื้อของเข้าบริษัทจำเลย การที่โจทก์เรียกรับสุรา 4 ขวด จากคู่ค้า เป็นการแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองโดยทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของจำเลย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 3.34 อันเป็นกรณีร้ายแรงแล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้ และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรมคือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ที่ได้สุรา 4 ขวด มาจากคู่ค้าของจำเลย เพราะโจทก์เรียกรับเอาเองในขณะที่โจทก์มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของจำเลย อันเป็นตำแหน่งที่อาจเอื้อประโยชน์หรือให้คุณให้โทษต่อคู่ค้า คู่ค้าจึงอาจเกรงใจจำยอมหรือยอมให้โดยไม่ได้สมัครใจอย่างแท้จริง ทั้งการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจะนำเที่ยวในวันดังกล่าว คู่ค้าหลงเชื่อจึงให้สุราไป ความจริงโจทก์กับเพื่อนร่วมงานนำสุราทั้ง 4 ขวดใช้ในการเที่ยวส่วนตัวการกระทำของโจทก์จึงเป็นความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๐๙/๒๕๔๘

การที่ลูกจ้างได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ปกปิดไม่เสนอใบราคารายการใหม่และใบเปรียบเทียบราคาแก่กรรมการผู้มีอำนาจของนายจ้างนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ และไม่รักษาผลประโยชน์ของนายจ้าง ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่

Visitors: 123,459