มาตรา ๑๑๙ วรรคท้าย หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง ต้องระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้าง หมายความว่าอย่างไร

มาตรา ๑๑๙ วรรคท้าย หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง ต้องระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้าง หมายความว่าอย่างไร

 

๑.ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นรายละเอียดของเหตุแห่งการเลิกจ้างเพียงพอที่ทำให้ลูกจ้างได้ทราบว่าตนเองถูกเลิกจ้างด้วยเหตุใด เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๒/๒๕๔๖ แม้นายจ้างมิได้อ้างว่า ลูกจ้างกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างข้อใดไว้ในหนั้งสือเลิกจ้าง แต่เมื่อนายจ้างได้อ้าง การกระทำของลูกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างแล้ว ย่อมยกเป็นข้อต่อสู้ได้

 

๒.ระบุเหตุผลอันเป็นหลักแห่งการกระทำความผิดของลูกจ้าง โดยไม่จำต้องระบุเหตุผลอันเป็นรายละเอียดข้อเท็จจริงการกระทำความผิด เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๗๓๔/๒๕๔๔ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าหนังสือเลิกจ้างระบุว่าโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ ๕.๑.๑, ๕.๑.๓, ๕.๑.๔, ๕.๑.๑๐, ๕.๑.๑๔ ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรง เป็นการระบุว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งในข้อดังกล่าว หนังสือเลิกจ้างจึงได้ระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างโจทก์ไว้แล้ว ส่วนพฤติการณ์การกระทำของโจทก์เป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยจึงยกเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงขึ้นอ้างในคำให้การเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๗ วรรคสาม 

Visitors: 123,457