ปัญหาการรับฟังเทปบันทึกเสียงในคดีแพ่ง ถ้าคู่ความยอมรับ เสียงสนทนาเป็นของตนเองจริง ย่อมนำมารับฟังประกอบในการชั่งน้ำหนักพยานได้

ปัญหาการรับฟังเทปบันทึกเสียงในคดีแพ่ง ถ้าคู่ความยอมรับ เสียงสนทนาเป็นของตนเองจริง ย่อมนำมารับฟังประกอบในการชั่งน้ำหนักพยานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6116/2544

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินจำนวน 1,148,547 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 900,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2538จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 248,547 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปตามฟ้องจริงหรือไม่  โจทก์มีตัวโจทก์และนางชุติมา วารีเวส ภรรยาโจทก์ซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เงินมาเบิกความยืนยันต้องกันว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 จำเลยได้มาขอกู้เงินโจทก์จำนวน 900,000 บาท มีการทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้ โดยโจทก์เป็นผู้กรอกข้อความในสัญญาต่อหน้าจำเลยและก่อนที่จำเลยจะลงลายมือชื่อได้อ่านข้อความในสัญญาแล้ว ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าสัญญากู้เงินเกิดจากจำเลยนำเช็คของนายอำไพหรืออภัย เอื้อทรงธรรม 3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 300,000 บาท ไปแลกเงินสดจากโจทก์ให้แก่นายอำไพหรืออภัย โจทก์ได้ให้จำเลยลงลายมือชื่อในแบบหนังสือสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความให้แก่โจทก์ไว้ต่อมานายอำไพหรืออภัยได้ชำระหนี้เป็นสินค้าให้แก่โจทก์จนครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้คืนหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวแก่จำเลยนั้น เห็นว่า นอกจากจำเลยจะไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการนำเช็คของนายอำไพหรืออภัยไปแลกเงินสดจากโจทก์มาแสดงแล้ว ที่จำเลยนำสืบว่าเป็นผู้นำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์ด้วยตนเองก็ขัดกับคำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยเป็นผู้แนะนำผู้มีชื่อให้นำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลหรือความจำเป็นอย่างใดที่จำเลยจะต้องนำเช็คมาขายแลกเงินสดจากโจทก์แทนนายอำไพหรืออภัยโดยต้องยอมตนเข้าผูกพันเช่นนั้น แม้จำเลยจะมีเช็คซึ่งจำเลยอ้างว่านายอำไพหรืออภัยเป็นผู้นำมาเปลี่ยนให้โจทก์ เมื่อเช็คของนายอำไพหรืออภัยที่จำเลยนำมาแลกเงินสดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แต่จำเลยก็ไม่อาจนำนายอำไพหรืออภัยมาเบิกความยืนยันจนศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยานปากนี้ ทั้งโจทก์ก็นำสืบปฏิเสธว่าเช็คดังกล่าวไม่เกี่ยวกับหนี้รายนี้ ส่วนที่จำเลยนำนายปราโมทย์ ชัยเพิ่มกุลนางสุภารัตน์ สุขพึ่งธรรม นายชูศิลป์ คงสุนทร นายพนาวัลย์ จีนถนอมและนายพรศิริ คำสระ มาเป็นพยานเบิกความทำนองว่า จำเลยนำเช็คของนายอำไพหรืออภัยไปขอแลกเงินสดจากโจทก์มิได้กู้เงินโจทก์ แต่พยานเหล่านี้ก็ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเองคงรับฟังข้อเท็จจริงจากจำเลยหรือบุคคลอื่นเท่านั้น จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง และที่จำเลยอ้างแถบบันทึกเสียงพร้อมบันทึกข้อความซึ่งอ้างว่าถอดข้อความจากแถบบันทึกเสียงเป็นพยานนั้นเห็นว่า จำเลยอ้างส่งแถบบันทึกเสียงเข้ามาลอย ๆ ในขณะที่ทนายจำเลยถามค้านตัวโจทก์ ทั้งในระหว่างพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยอมรับว่าเสียงในแถบบันทึกเสียงดังกล่าวเป็นของโจทก์แต่อย่างใดจึงไม่อาจใช้ยันโจทก์ได้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้เงิน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4674/2543

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินกู้ 400,000 บาทรวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในเงินต้น 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพียง 160,000 บาทโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน เหตุที่ลงจำนวนเงินไว้ 400,000 บาท เพราะมิฉะนั้นโจทก์จะไม่ให้กู้ยืม ในการกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 ได้มอบบัตรถอนเงินอัตโนมัติให้โจทก์นำไปถอนเงินเดือนของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2534 ถึงเดือนธันวาคม 2537 โจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่คืนหนังสือสัญญากู้ยืมให้ จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 280,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน160,000 บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2540 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินโจทก์ไป 400,000 บาทหรือ 160,000 บาท ได้ความจากตัวโจทก์ว่าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้มากู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1รับเงินไปในวันทำสัญญา 320,000 บาท และรวมหนี้เก่าอีก 80,000 บาทเป็น 400,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันปรากฏตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่าได้รับเงินไปจากโจทก์เพียง 160,000 บาท เท่านั้น เหตุที่สัญญากู้ยืมลงจำนวนเงิน 400,000 บาท เพราะโจทก์ให้ลงเงินจำนวนดังกล่าว หากไม่ลงจะไม่ยอมให้กู้ยืมเงิน เห็นว่า แม้โจทก์จะมีสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงว่าจำเลยที่ 1กู้ยืมเงินโจทก์ไป 400,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังนำสืบโต้แย้งจำนวนเงินที่กู้ไปจากโจทก์ว่า ไม่ได้รับเงินไปครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย จำเลยทั้งสองย่อมนำสืบได้หาใช่เป็นกรณีต้องห้ามมิให้นำสืบดังที่โจทก์ฎีกา และในการกู้ยืมเงินโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด คงมีตัวโจทก์เบิกความเพียงคนเดียวว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไป 400,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1นอกจากจะมีจำเลยที่ 1 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ไป 160,000บาท แล้วจำเลยที่ 1 ยังมีหนังสือที่จำเลยที่ 1 มีไปถึงโจทก์ขอสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาประดิพัทธ์คืน จำเลยที่ 1 ก็ระบุว่าได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเป็นจำนวน 160,000 บาท แต่ได้ทำสัญญากู้ยืมให้โจทก์ไว้เป็นจำนวน 400,000 บาท โดยโจทก์ยึดสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวและบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1 ไว้ นอกจากนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ไปแจ้งความเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อว่า สมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาประดิพัทธ์ และบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1อยู่ที่โจทก์ จำเลยที่ 1 ติดต่อทวงถามคืนไม่ได้ จำเลยที่ 1 ก็ระบุในรายงานประจำวันของเจ้าพนักงานตำรวจว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไป 160,000 บาท นายอำนาจ ไต่เพชร พยานจำเลยอีกคนหนึ่งก็เบิกความว่าพยานเคยไปกู้ยืมเงินจากโจทก์ประมาณ 10,000 บาท แต่โจทก์ให้พยานเขียนสัญญากู้ยืมจำนวน30,000 บาท พร้อมกับยึดบัตรถอนเงินอัตโนมัตของพยานไว้ จากพยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยนำสืบมามีน้ำหนักน่าเชื่อได้ว่า ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 1ได้รับเงินจากโจทก์เป็นจำนวน 160,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 มอบสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาประดิพัทธ์ และบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไว้ดังที่จำเลยนำสืบต่อสู้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า จำเลยทั้งสองได้ชำระเงินจำนวน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า ในการกู้ยืมเงินโจทก์ยึดสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาประดิพัทธ์ และบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1 ไว้ แต่โจทก์ได้รับเงินไปเท่าใดนั้น จำเลยทั้งสองนำสืบว่าในปี 2534 ถึง 2537 โจทก์นำบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1ไปเบิกเงินเดือนของจำเลยที่ 1 จนหมดเป็นเงินประมาณ 300,000 บาท การนำสืบการใช้เงินโดยวิธีดังกล่าวจำเลยทั้งสองชอบที่จะทำได้เพราะเป็นการนำสืบว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ โดยจำเลยทั้งสองอ้างส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งบันทึกการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 พร้อมเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนาดังกล่าวและรายการบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1เป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ไปครบถ้วนแล้ว แม้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์จะเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าเทปบันทึกเสียงนั้น บันทึกเสียงมาจากที่ใดและเสียงที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียงไม่ใช่เสียงของโจทก์ก็ตาม แต่ในชั้นอุทธรณ์ฎีกาโจทก์ยอมรับว่าเสียงที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียงเป็นเสียงของโจทก์ คงโต้เถียงเพียงว่าจำเลยที่ 1 แอบบันทึกเสียงไว้โดยโจทก์ไม่รู้ตัวและไม่ยินยอม เทปบันทึกเสียงดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเท่านั้น ดังนี้ ย่อมรับฟังได้ว่าเสียงที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียง เป็นเสียงของโจทก์จริงเทปบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนานั้น นับเป็นพยานหลักฐานซึ่งเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองจะนำสืบในประเด็นเรื่องการใช้เงินนี้แม้ในขณะนั้นโจทก์จะไม่ทราบว่ามีการบันทึกเสียงไว้ก็ตาม แต่เมื่อเสียงที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียงเป็นเสียงของโจทก์จริง และการบันทึกเสียงดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงไว้เอง ซึ่งโดยปกติจำเลยที่ 1ย่อมมีสิทธิที่จะเบิกความอ้างถึงการสนทนาในครั้งนั้นได้อยู่แล้ว ดังนี้ จึงไม่ถือว่าเทปบันทึกเสียงและเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนานั้นเป็นการบันทึกถ้อยคำซึ่งเกิดจากการกระทำโดยมิชอบ อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540มาตรา 243 วรรคสอง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่ตามเทปบันทึกเสียงและเอกสารดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ไปแล้วเท่าไร คงปรากฏจากรายการบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ว่ามีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวโดยใช้บัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติระหว่างปี 2534 ถึง 2537 หลายรายการเมื่อฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1อยู่ในช่วงเวลานั้น พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวมาโดยตลอด เมื่อนำจำนวนเงินที่มีการเบิกถอนแต่ละรายการคำนวณหักจากหนี้เงินกู้จำนวน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีโดยคำนวณหักจากดอกเบี้ยก่อนหากมีเหลือจึงหักจากเงินต้นตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 แล้วเห็นได้ว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ไปแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น"

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7155/2539

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ขับร้องเพลงบันทึกเสียงเพื่อการค้าโดยตกลงทำเพลงอย่างน้อยปีละ 1 ชุด(1 ตลับ) มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี จำเลยตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์เป็นเงิน 25,000 บาท สำหรับการร้องเพลงบันทึกเสียง1 ชุด และเมื่อจำเลยนำแถบบันทึกเสียงเพลงออกจำหน่ายถ้าเพลงที่ขับร้องออกจำหน่ายไม่เกิน 30,000 ตลับ จำเลยจะให้ค่าตอบแทนตลับละ 2 บาท ในส่วนที่เกินโดยห้ามมิให้โจทก์ขับร้องเพลงให้แก่ผู้อื่นด้วย นับแต่จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์แล้วจนเวลาล่วงเลยมากกว่า 1 ปี จำเลยไม่เคยให้โจทก์ขับร้องเพลงบันทึกในแถบบันทึกเสียงทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาจำเลยได้ติดต่อโจทก์หลายครั้งให้มาขับร้องเพลง โจทก์กลับอ้างต่อจำเลยว่า ขอไปศึกษาต่อต่างประเทศก่อนหลังจากนั้นได้ย้ายภูมิลำเนาและหลบเลี่ยงการติดต่อกับจำเลยนอกจากนี้ยังไปขับร้องเพลงให้บุคคลภายนอกและแสดงคอนเสิร์ตต่อสาธารณชนหลายครั้งโดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายและเบี้ยปรับเป็นเงิน 3,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยติดต่อให้โจทก์ไปขับร้องบันทึกเสียงโจทก์ไม่เคยหลบเลี่ยงเมื่อพ้นระยะเวลา1 ปี แล้วจึงได้มีการบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยโจทก์ไปขับร้องเพลงกับบุคคลภายนอกหลังจากบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและเบี้ยปรับให้จำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน25,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงในส่วนของฟ้องโจทก์ได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2533โจทก์ได้ทำสัญญากับจำเลย มีนายชัยพร จิรจิตโกศลกับนางสาวทัศนีย์ อรุณเกียรติกุล ลงชื่อในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลย เป็นสัญญาที่จำเลยว่าจ้างให้โจทก์ร้องเพลง โดยมีกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขแห่งข้อสัญญาปรากฏในเอกสารหมาย ล.7(ซึ่งตรงกับสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11) เมื่อครบกำหนด1 ปี จำเลยมิได้จัดให้โจทก์ร้องเพลงและมิได้ให้ผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาแก่โจทก์ ในระหว่างระยะเวลา1 ปี ดังกล่าว โจทก์แสดงภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือสามหนุ่มสามมุมและกลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ โดยมีเพลงประกอบภาพยนตร์ดังกล่าวจำนวน 3 แพลง และภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนั้นผู้อื่นจัดทำและแพร่ภาพทางโทรทัศน์ในทางการค้า มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือไม่ และโจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่เพียงใดจำเลยฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ยอมร้องเพลงที่จำเลยดำเนินการว่าจ้างให้ผู้อื่นประพันธ์เนื้อร้องทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานอยู่ โดยโจทก์ บิดาและมารดาโจทก์มาพบนายชัยพรผู้จัดการบริษัทจำเลยเพื่อขอยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ทำสัญญาเพียง 4 เดือน นายชัยพรได้บันทึกเสียงพูดคุยไว้ในแถบบันทึกเสียงหมาย ล.8 ซึ่งถอดข้อความตามเอกสารหมาย ล.9สำหรับเรื่องนี้โจทก์นำสืบว่า ไปพบนายชัยพรพร้อมกับนายกฤษณ์และนางบุษฎีจริง เพื่อบอกจำเลยว่าโจทก์จะเดินทางไปต่างประเทศ แต่เป็นเวลาภายหลังจากทำสัญญาครบ 1 ปีแล้วโดยที่จำเลยไม่มีงานร้องเพลงให้โจทก์ร้องตามที่ระบุไว้ในสัญญา พยานโจทก์จำเลยต่างยันกันอยู่ ข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่ฝ่ายใดนำสืบนั้น เห็นว่า แถบบันทึกเสียงหมาย ล.8 เป็นพยานวัตถุแม้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องถอดข้อความหรือจะต้องนำเข้าถามค้านพยานอีกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าพยานได้กล่าวถ้อยคำเช่นที่บันทึกในแถบบันทึกเสียงจริงหรือไม่ แต่การที่จะให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงที่จำเลยประสงค์จะนำสืบก็น่าจะได้นำเข้าถามค้านพยานโจทก์โดยการเปิดเสียงเพื่อให้พยานโจทก์ที่จำเลยอ้างว่าได้บันทึกเสียงไว้ รับรองหรือปฏิเสธเสียงนั้นหรือข้อความนั้นว่ามีอยู่จริงหรือไม่ จึงเป็นพยานหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้จำเลยจะอ้างส่งประกอบคำเบิกความของนายชัยพรพยานจำเลยและเมื่อเปิดฟังแถบบันทึกเสียงนั้นแล้ว จะมีข้อความดังคำถอดข้อความเอกสารหมาย จ.9 ที่อ้าง ก็ยังไม่พอฟังเป็นยุติได้เพราะการบันทึกเสียงในแถบบันทึกเสียงอาจมีการตัดต่อหรือดัดแปลงลอกเลียนเสียงได้ไม่ยากนัก ดังนั้น จำเลยจะอาศัยพยานหลักฐานในแถบบันทึกเสียงและคำถอดข้อความดังกล่าวมาสนับสนุนพยานหลักฐานอื่นของจำเลยโดยพยานโจทก์ไม่ได้ฟังข้อความในแถบบันทึกเสียงและไม่ได้ยอมรับคำถอดข้อความที่จำเลยอ้างนั้นว่าเป็นข้อความที่บันทึกไว้ในวันเดือนปีใดและมีข้อความเช่นนั้นจริงหรือไม่ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานโจทก์จำเลยยันกันอยู่จึงชอบแล้วข้ออ้างตามฎีกาจำเลยที่ว่าได้เตรียมเนื้อร้องและทำนองเพลงไว้ให้โจทก์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์2534 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ทำสัญญาตามเอกสารหมาย ล.7(จ.11) เพียง 4 เดือน และเหตุที่ต้องหยุดงานไว้ก่อนเพราะโจทก์และบิดามารดาโจทก์มาบอกว่าโจทก์จะเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศจึงคงมีแต่คำเบิกความของนายชัยพรเท่านั้นส่วนพยานจำเลยคนอื่นก็เป็นพยานบอกเล่าไม่อาจสนับสนุนคำเบิกความของนายชัยพร คงฟังได้เพียงว่าภายในระยะเวลา 1 ปีหลังจากทำสัญญาแล้วนั้น จำเลยไม่มีเพลงให้โจทก์ร้องแต่อย่างใดส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่อาจติดต่อโจทก์ได้เพราะโจทก์ย้ายที่อยู่นั้น ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.7 (จ.11)ไม่ได้กำหนดว่าหากฝ่ายใดย้ายที่อยู่จะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบแม้โจทก์ย้ายที่อยู่จริงก็ไม่พอแสดงว่าย้ายเพื่อจะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้ต่อจำเลย ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น

สำหรับปัญหาที่ว่า การที่สัญญาตามเอกสารหมาย ล.7 (จ.11)ระบุไว้ในข้อ 1 ว่า ผู้ว่าจ้าง (จำเลย) ตกลงจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับจ้างร้องเพลงบันทึกเสียงเพื่อการค้าโดยทำเพลงอย่างน้อยปีละ 1 ชุด และสัญญามีอายุ 3 ปี ตามข้อ 6 จะถือได้หรือไม่ว่าการที่จำเลยไม่มีเพลงให้โจทก์ร้องในปีแรกเป็นการผิดสัญญาอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ พิเคราะห์สัญญาตามเอกสารหมาย ล.7 (จ.11) แล้วเห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนผู้รับจ้างจะมีรายได้เป็นรายปีเริ่มตั้งแต่ปีแรก ส่วนการกำหนดวิธีการที่จะทำให้มีรายได้เป็นเรื่องที่ฝ่ายผู้ว่าจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการให้โจทก์ได้รับผลประโยชน์จนล่วงเลยระยะเวลาของปีแรกก็ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้ว แม้จำเลยจะได้ว่าจ้างให้ผู้ประพันธ์เนื้อร้องทำนองเพลงเพื่อให้โจทก์ร้องแต่ก็ยังไม่ครบจำนวนที่ตกลงไว้ และนายชัยพรพยานจำเลยก็ได้ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า หากไม่ครบ 10 เพลงหรือ 1 ชุดก็จะไม่มีการจ่ายผลประโยชน์ให้โจทก์ แม้จะฟังว่าจำเลยเตรียมเนื้อร้องและทำนองเพลงไว้แต่มิได้ดำเนินการจนกระทั่งโจทก์มีรายได้หรือผลประโยชน์ตามสัญญา เมื่อไม่อาจฟังได้ว่าโจทก์ไม่ยอมร้องเพลงที่ฝ่ายจำเลยเสนอให้ร้องแต่กลับฟังว่าฝ่ายจำเลยไม่มีเพลงครบ 1 ชุด ให้โจทก์ร้องภายในกำหนดเวลา 1 ปีแรก โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้เป็นกรณีที่วัตถุประสงค์แห่งสัญญานั้น ว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้จะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ณ เวลามีกำหนดก็ดีหรือภายในระยะเวลาอันใดอันหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ก็ดี และกำหนดเวลาหรือระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้มิจำต้องบอกกล่าว ฯลฯ" ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 ข้อที่จำเลยอ้างในฎีกาว่าโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติก่อนจึงจะเลิกสัญญาได้นั้นจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาในประเด็นนี้ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปคือ ฝ่ายโจทก์ผิดสัญญาโดยการร้องเพลงให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างอายุสัญญาหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันคือ ก่อนที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมายจ.1, จ.3 และ จ.12 นั้น โจทก์ได้แสดงภาพยนตร์ 2 เรื่องคือ สามหนุ่มสามมุม ซึ่งมีเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้2 เพลง คือเพลงสามหนุ่มสามมุมและเพลงเดินเรื่อยเปื่อยกับภาพยนตร์เรื่องกลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ซึ่งมีเพลงประกอบภาพยนตร์ 1 เพลงคือเพลงพรุ่งนี้เป็นวันของเรา แม้การแสดงภาพยนตร์ดังกล่าวไม่มีข้อห้ามระบุไว้ในสัญญาตามเอกสารหมาย ล.7 (จ.11) จึงเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำได้ แต่เพลงที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ซึ่งโจทก์ขับร้องนั้นมีลักษณะเป็นแถบบันทึกภาพและเสียงตามความหมายในสัญญาเอกสารหมาย ล.7(จ.11) ข้อ 3 ซึ่งมีข้อห้ามและได้กำหนดเบี้ยปรับไว้ด้วยในข้อ 7 แห่งสัญญาที่ระบุว่า ในระหว่างอายุสัญญานี้ผู้รับจ้างจะไม่ทำการขับร้องเพลงให้กับบุคคลอื่นใดในลักษณะวิธีการและหลักการที่ตกลงกับผู้จ้าง หากผิดสัญญายอมให้ผู้ว่าจ้างปรับเป็นเงินเพลงละ 1,000,000 บาท เมื่อภาพยนตร์ซึ่งมีเพลงประกอบภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องดังกล่าวได้นำออกแพร่ภาพทางโทรทัศน์ในทางการค้าจึงถือว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาต่อจำเลยแล้ว

ปัญหาต่อไปคือโจทก์จะต้องรับผิดชอบเพียงใดนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 บัญญัติว่า"ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายมิใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ฯลฯ" เมื่อคำนึงถึงว่าผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับตามสัญญามีเพียงจำนวนเงิน25,000 บาท ต่อการร้องเพลง 1 ชุด (10 เพลง) และหากการจำหน่ายแถบบันทึกเสียงที่โจทก์ขับร้องนี้เกินกว่า 30,000 ตลับจำเลยจะชำระเงินแก่โจทก์ในอัตรา 2 บาท ต่อตลับ จากจำนวนแถบบันทึกเสียงที่จำหน่ายเกินจำนวนดังกล่าวตามที่ปรากฏในสัญญาเอกสารหมาย ล.7 (จ.11) ข้อ 1 และข้อ 5ดังนั้นที่กำหนดเบี้ยปรับไว้เพลงละ 1,000,000 บาท จึงสูงเกินส่วนศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เพลงละ 100,000 บาท รวม 3 เพลงเป็นเงิน 300,000 บาท ฎีกาจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้นบางส่วนซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในส่วนนี้ด้วย

อนึ่ง ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ต้องชดใช้เบี้ยปรับจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย เพื่อความสะดวกในการบังคับคดีตามคำพิพากษา ศาลฎีกาจึงหักหนี้กันโดยให้มีผลนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โดยเมื่อหักหนี้กันแล้วโจทก์ต้องชำระเงินให้จำเลย 275,000 บาท"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 275,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3911/2534

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า หม่อมหลวงเจริญ ศิวะเกื้อ เจ้ามรดกทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2521 ยกทรัพย์สินที่จะได้จากผลในคดีหมายเลขดำที่ 10798/2520 ของศาลชั้นต้น โดยให้ผู้ร้องกับนางดวงแข ศิวะเกื้อ และให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาคดีถึงที่สุด โดยเจ้ามรดกได้ที่ดิน 2 แปลง พร้อมตึกแถว 2 คูหาเจ้ามรดกได้ทำสัญญาจะขายทรัพย์ที่ได้มาบางส่วน ต่อมาเจ้ามรดกตายมีเหตุขัดข้องเกี่ยวกับการรับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากผลของคดีและการโอนขายตามสัญญา ผู้ร้องมีส่วนได้เสียและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก

ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 ไปขอรับมรดกดังกล่าว แต่มีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องมิใช่ทายาท ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ไม่มีสิทธิจะเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสีย และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก

ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของเจ้ามรดก และนายแทน บุนนาค ก่อนตายเจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สิน ให้ แก่ผู้ใด ผู้คัดค้านที่ 2 มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 มิใช่ทายาท ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก

ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมหลวงเจริญ ศิวเกื้อให้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป

ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 บรรยายไว้ขัดแล้วว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยเป็นผู้รับพินัยกรรมและมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย เมื่อบรรยายไว้ชัดแล้วเช่นนี้ จึงหาจำเป็นต้องแนบพินัยกรรมมาท้ายคำคัดค้านไม่การที่คำคัดค้านระบุว่าเจ้ามรดกยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านที่ 1เพียงผู้เดียว แต่ในชั้นพิจารณาได้ความตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.1ว่า ทรัพย์สินรายการที่ 1 คือที่ดินพร้อมตึกแถว 2 คูหา เจ้ามรดกได้ทำสัญญาจะขายให้บุคคลภายนอก รับเงินมัดจำมาแล้ว เงินส่วนที่ขาดอยู่ได้ยกให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนหนึ่ง กับยกให้นายสดมภ์ อีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นเรื่องพยานหลักฐานที่นำสืบได้ความไม่เต็มบริบูรณ์ตามคำคัดค้าน แต่ก็ยังได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกอยู่ เพราะตามพินัยกรรมฉบับดังกล่าวนอกจากเงินค่าที่ดินส่วนหนึ่งจะตกได้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 แล้ว ยังมีที่ดิน 50 ตารางวา ซึ่งเป็นทรัพย์สินรายการที่ 2 ตกได้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 อีกด้วย

ส่วนการที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบโดยมิได้ถอดเทปออกมาและได้นำเทปมาเปิดต่อเมื่อถึงวาระที่ตัวผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความ มิได้นำมาเปิดต่อหน้าผู้ร้องในขณะพิจารณาคดีฝ่ายผู้ร้องนั้น หามีกฎหมายบังคับให้ถอดข้อความออกมาหรือต้องนำสืบโดยนำเทปมาเปิดในขณะพิจารณาคดีฝ่ายผู้ร้องหรือต้องถามค้านพยานผู้ร้องเสียก่อนไม่ เพราะการนำสืบเสียงพูดเป็นการนำสืบวัตถุพยาน วิธีการใดที่จะทำให้ศาลได้ฟังและรับเสียงนั้นไว้เป็นพยานหลักฐานได้ ผู้นำสืบก็ชอบที่จะทำได้

พินัยกรรมเอกสารหมาย ค.1 ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับหลังเป็นพินัยกรรมที่เจ้ามรดกทำขึ้นตามเจตนาของเจ้ามรดก มิใช่เอกสารปลอมและโดยที่เป็นพินัยกรรมที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินรายเดียวกับที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 อันเป็นพินัยกรรมฉบับก่อนพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.1 จึงมีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับหมาย ร.3 แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1647 สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 จึงระงับลง แม้พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 จะได้ระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกไว้ก็ตาม แต่เจ้ามรดกได้กำหนดให้นางดวงแขจ่าสิบตำรวจชุมพล และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ถ้าผู้ใดเสียชีวิตลงให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่ดำเนินการแทนต่อไป ดังนั้น เมื่อนางดวงแข ถึงแก่กรรมไปก่อน ผู้ร้องกับจ่าสิบตำรวจชุมพล ต้องร่วมกันจัดการมรดก การที่ผู้ร้องมาร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้าของมรดกแต่เพียงลำพัง จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้ามรดกตามพินัยกรรมดังกล่าว เมื่อไม่อาจตั้งผู้จัดการมรดกให้เป็นไปตามข้อกำหนดพินัยกรรมได้ และผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องค้ดค้าน โดยขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ด้วยเช่นนี้จึงเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าสมควรจะแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ส่วนผู้ร้องไม่ได้เป็นทายาทโดยธรรม และไม่มีส่วนได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเลย ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกจึงเหมาะสมแล้ว

พิพากษายืน.

Visitors: 123,742