ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุว่า “หากพนักงานจะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีต้องยื่นใบลาล่วงหน้าก่อนถึงวันลา หากไม่ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีใดให้ถือว่าสละสิทธิการลาพักผ่อนในปีนั้น และหมดสิทธิที่จะนำไปสะสมไว้ในปีต่อไป” ข้อบังคับดังกล่าวใช้บังคับได้หรือไม่

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุว่า “หากพนักงานจะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีต้องยื่นใบลาล่วงหน้าก่อนถึงวันลา หากไม่ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีใดให้ถือว่าสละสิทธิการลาพักผ่อนในปีนั้น และหมดสิทธิที่จะนำไปสะสมไว้ในปีต่อไป” ข้อบังคับดังกล่าวใช้บังคับได้หรือไม่

อ.พงษ์รัตน์ เคลือกลิ่น เห็นว่าข้อบังคับดังกล่าวใช้บังคับได้ โดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๑๐/๒๕๒๖ แต่ อ.เกษมสันต์ วิลาวรรณ เห็นว่า ข้อบังคับดังกล่าวขัดต่อกฎหมายแรงงาน ซึ่งผู้เขียนเห็นพ้องด้วยเพราะเหตุที่ว่า ข้อบังคับฯ ดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดขั้นตอนวิธีการในการใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี โดยจะต้องยื่นใบลาล่วงหน้าเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่ นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือ กำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน (ถ้าลูกจ้างยื่นใบลาและนายจ้างอนุมัติ จึงจะถือว่า นายจ้างและลูกจ้างตกลงร่วมกันในการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี) แม้ข้อบังคับดังกล่าวจะระบุให้ถือว่า เป็นการสละสิทธิการลาพักผ่อนประจำปีนั้นก็ตาม ก็ไม่มีผลบังคับใช้เพราะขัดต่อมาตรา ๓๐ วรรแรก เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๖๖๑/๒๕๔๗

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๑๐/๒๕๒๖

โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างของจำเลย ตามข้อบังคับของจำเลยโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนได้ไม่น้อยกว่าปีละ 10 วันทำงาน แต่จำเลยไม่เคยจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ และไม่ได้จ่ายค่าจ้างอีกเท่าหนึ่งสำหรับการทำงานในวันหยุด ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. 2523 และ พ.ศ. 2524 ให้แก่โจทก์ทั้งห้าพร้อมดอกเบี้ย

 

จำเลยให้การว่า ตามข้อบังคับของจำเลย หากพนักงานจะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีต้องยื่นใบลาล่วงหน้าก่อนถึงวันลาอย่างน้อย 5 วัน หากไม่ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีใดให้ถือว่าสละสิทธิการลาพักผ่อนในปีนั้น โจทก์ทั้งห้าไม่ใช้สิทธิลาพักผ่อนเอง จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ที่ 5 ได้ลาพักผ่อนประจำปี 2523 แล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ

 

วันนัดพิจารณา โจทก์รับว่าข้อบังคับของจำเลยมีอยู่จริง และโจทก์ที่ 5ลาพักผ่อนประจำปี 2523 แล้ว

 

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งห้าไม่ใช่สิทธิลาพักผ่อนและมาทำงานโดยความสมัครใจของตนเอง โดยจำเลยมิได้สั่งหรือขอให้มาทำงาน โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง

 

ผู้พิพากษาสมทบนายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์

 

โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 วรรคสอง บัญญัติใจความว่า นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไว้และจะนำไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้ จึงไม่ใช่บทบังคับ แต่ให้สิทธินายจ้างและลูกจ้างที่จะทำความตกลงกันดังที่บัญญัติไว้นั้นได้ ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่านายจ้างและลูกจ้างได้ทำความตกลงกันในข้อนี้ เมื่อข้อบังคับของจำเลยซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดว่า ถ้าไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีให้ถือว่าสละสิทธิในการหยุดพักผ่อนและหมดสิทธิที่จะนำไปสะสมไว้ในปีต่อไป ข้อบังคับนั้นก็ใช้บังคับได้ หาเป็นการขัดต่อกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ข้อบังคับของจำเลยให้ถือว่าเป็นการสละสิทธิ การสละสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปีจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือดังที่โจทก์อุทธรณ์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๖๖๑/๒๕๔๗

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนับจากวันฟ้องเป็นต้นไป และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยนับจากวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 21,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยเป็นเงิน 2,060,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 370,800 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 599,109.79 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าชดเชยและค้าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 และในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 ธันวาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย (ที่ถูกยกฟ้องแย้งด้วย)

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าตอบแทนสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปี 2541 ถึงปี 2544 ให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปี 2541 ยังไม่ขาดอายุความและโจทก์มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนของปีดังกล่าวด้วย ส่วนจำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปี 2542 ถึงปี 2544 ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 30 วัน โดยถือตามปีปฏิทิน พนักงานสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้จัดให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้หยุดในวันหยุดพักผ่อนประจำปีของแต่ละปีที่โจทก์ทำงานกับจำเลย ย่อมแสดงว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติตามบทกฎหมายข้างต้นที่ให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนประจำปีในแต่ละปีที่ทำงานหรือต้องตกลงกับโจทก์เพื่อกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิ จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 64

สิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ซึ่งสิทธิเรียกร้องของปี 2541 นั้น โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 สิทธิเรียกร้องของปี 2541 จึงขาดอายุความ ส่วนสิทธิเรียกร้องของปี 2542 และปี 2543 นับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่ขาดอายุความ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๑๖/๒๕๒๙

โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย วันที่ 29 มกราคม 2528 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างที่ค้างชำระ ค่าเบี้ยขยันค่าเช่าบ้าน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ให้แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย

 

จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 6เป็นลูกจ้างประจำระดับหัวหน้าพนักงาน ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและเบี้ยขยันโจทก์ทุกคนใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. 2527 ครบ 18 วันแล้วเหตุเลิกจ้างเนื่องจากเดิมโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นกรรมการลูกจ้าง ทั้งมีเงินเดือนสูง และความรู้ความสามารถจำกัดจำเลยจึงไม่อาจจัดตำแหน่งหน้าที่ที่เหมาะสมให้ทำได้ จำเลยจึงร้องขอเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดต่อศาลแรงงานกลาง ซึ่งต่อมาศาลแรงงานกลางได้อนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างได้ จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ด เมื่อวันที่ 29มกราคม 2528 โดยจ่ายค่าชดเชย และเป็นกรณีไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ค่าเบี้ยขยันค่าเช่าบ้านให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ค่าเบี้ยขยันให้โจทก์ที่ 4 ค่าเช่าบ้านให้โจทก์ที่ 5และที่ 7 คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3

 

โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ได้ความว่า ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางซึ่งอนุญาตให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการลูกจ้างได้ หลังจากที่ศาลแรงงานกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา 1 วัน จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้ ปัญหาแรกมีว่าการเลิกจ้างรายนี้จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 52แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นบทคุ้มครองลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้าง การเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างจึงต้องผ่านการพิจารณาจากศาลแรงงานเสียก่อนว่ามีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้หรือไม่เพื่อให้พ้นจากการกลั่นแกล้งของนายจ้างคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแรงงานตามนัยนี้จึงมีผลเป็นเพียงคำอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างได้เท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งแทนนายจ้างให้เลิกจ้างกันได้โดยทันทีแต่อย่างใดหรืออีกนัยหนึ่งคำสั่งหรือคำพิพากษาที่อนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเพียงให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะเลิกจ้างได้เท่านั้นนายจ้างจะใช้สิทธินี้ต่อไปหรือไม่ก็ย่อมแล้วแต่ความประสงค์ของนายจ้าง ดังนั้นเมื่อศาลแรงงานมีคำสั่งหรือคำพิพากษาอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างได้แล้วสภาพการจ้างยังคงมีอยู่ นายจ้างมีหน้าที่ต้องออกคำสั่งเลิกจ้างตามที่ศาลแรงงานได้อนุญาตแล้ว สัญญาจ้างแรงงานจึงจะเป็นอันสิ้นสุดลงทั้งมิได้มีบทยกเว้นไว้แต่อย่างใดว่า การเลิกจ้างในกรณีเช่นนี้นายจ้างไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากนี้ การบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างโดยตรงต่อลูกจ้างว่านายจ้างมีความประสงค์จะเลิกจ้างลูกจ้างนั้น แต่การที่จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลแรงงานกลางเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเพียงวิธีการที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กำหนดไว้อีกส่วนหนึ่งต่างหาก การยื่นคำร้องขอดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการแสดงเจตนาต่อโจทก์ทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2528 ก่อนวันจ่ายเงินเดือน 2 วันโดยโจทก์ทั้งเจ็ดมิได้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 และมิได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งเจ็ด

 

ปัญหาต่อไปที่ว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ ได้ความว่า จำเลยได้มีคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.10 ให้โจทก์ทั้งเจ็ดหยุดพักผ่อนประจำปีโดยกำหนดให้หยุดตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2527 เป็นต้นไปโดยมิได้กำหนดให้หยุดในวันใดให้เป็นที่แน่นอนและโจทก์ทั้งเจ็ดมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10กำหนดว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้ ดังนั้นกรณีที่จำเลยได้มีคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.10 ให้โจทก์ทั้งเจ็ดหยุดพักผ่อนประจำปีโดยกำหนดให้หยุดตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2527 เป็นต้นไป ย่อมถือได้ว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 ดังกล่าวข้างต้นแล้วและเป็นการกำหนดช่วงระยะเวลาให้โจทก์ทั้งเจ็ดพิจารณาเลือกวันหยุดเอาเองตามความสะดวกและความเหมาะสมของแต่ละคน เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ยอมหยุดตามที่จำเลยกำหนดไว้เช่นนี้ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด

 

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน5,808 บาท 8,341 บาท 4,405 บาท 3,685 บาท 11,349 บาท 9,770 บาท และ5,285 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึง โจทก์ที่ 7 ตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Visitors: 123,823