สัญญาว่าจ้างนักกีฬา เป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาทางแพ่งประเภทหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9202/2559

 

นายราฟาเอล อานันเซียเซา เดอ ซานตาน่า     โจทก์

 

บริษัททีโอที สปอร์ต คลับ จำกัด     จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 575

 

          เมื่อพิจารณาสัญญาว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว แม้สัญญาดังกล่าวข้อ 3.1 และ 3.2 จะได้ความว่า โจทก์ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของจำเลยทั้งที่กำหนดไว้แล้วในขณะทำสัญญาหรือกำหนดขึ้นใหม่ในภายหน้า ทั้งนี้กฎระเบียบดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โจทก์ต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการฝึกซ้อม แข่งขัน และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ทีมหรือผู้บริหารทีมของจำเลยอย่างเคร่งครัด แต่ก็ปรากฏวัตถุประสงค์หลักของสัญญาในข้อ 8 ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจจุดมุ่งหมายของสัญญาฉบับนี้ถูกต้องตรงกันแล้วว่าผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างมีความผูกพันในความสำเร็จของงาน ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จทางการฝึกซ้อม การแข่งขัน และการมีชื่อเสียงของผู้ว่าจ้างตามนโยบายของผู้ว่าจ้างเท่านั้น ประกอบกับระเบียบปฏิบัติแนบท้ายสัญญาข้อ 3 ถึงข้อ 5 ที่กำหนดการจ่ายโบนัสการแข่งขันโดยพิจารณาจากผลการแข่งขันเฉพาะผลการแข่งขันที่ชนะหรือเสมอว่าหากลงแข่งขันชนะจะได้รับโบนัสรวม 6,000 บาทต่อคน แต่หากผลการแข่งขันเสมอจะได้รับโบนัสรวม 3,500 บาทต่อคน กำหนดการประเมินผลและเงินรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันและเงินรางวัลผู้ทำประตูสูงสุดโดยคิดคำนวณจากการให้คะแนนจัดกลุ่มซึ่งคำนึงถึงการลงแข่งขันและการฝึกซ้อม แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์หลักตามสัญญาว่ามุ่งถึงผลการแข่งขันและการมีชื่อเสียงของจำเลยจึงได้กำหนดค่าตอบแทนในความสำเร็จดังกล่าวไว้ ดังนี้ สัญญาว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ฝึกซ้อม แข่งขัน ตลอดจนการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ทีม หรือผู้บริหารทีมของจำเลย โดยมุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จของงานที่รับจ้างซึ่งก็คือผลการแข่งขันและนำไปสู่การมีชื่อเสียงของผู้ว่าจ้างอันเป็นเป้าหมายสำคัญของจำเลย สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 หากแต่เป็นสัญญาในทางแพ่งประเภทหนึ่ง

 

                                 ________________________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 4,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

 

          ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้างเป็นเงิน 649,999.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 28 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

          จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวปารดาฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับและระเบียบปฏิบัติของจำเลย ต้นเดือนสิงหาคม 2555 ทีมงานผู้ฝึกสอนของจำเลยปฏิเสธไม่ยอมให้โจทก์เข้าร่วมฝึกซ้อมกับเพื่อนร่วมสโมสรและไม่ใส่ใจดูแลโจทก์ ทั้งแจ้งกับโจทก์ว่าไม่ต้องการว่าจ้างโจทก์ให้เป็นนักกีฬาฟุตบอลประจำสโมสรอีกต่อไป แล้ววินิจฉัยว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงาน และจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2555 โดยโจทก์ไม่มีความผิด

 

          คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่าสัญญาว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน เนื่องจากคู่สัญญามุ่งเน้นถึงความสำเร็จของงานเป็นสำคัญ เห็นว่า เมื่อพิจารณาสัญญาว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว แม้สัญญาดังกล่าวข้อ 3.1 และ 3.2 จะได้ความว่า โจทก์ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของจำเลยทั้งที่กำหนดไว้แล้วในขณะทำสัญญาหรือกำหนดขึ้นใหม่ในภายหน้า ทั้งนี้กฎระเบียบดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โจทก์ต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการฝึกซ้อม แข่งขัน และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ทีมหรือผู้บริหารทีมของจำเลยอย่างเคร่งครัด แต่ก็ปรากฏวัตถุประสงค์หลักของสัญญาในข้อ 8 ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจจุดมุ่งหมายของสัญญาฉบับนี้ถูกต้องตรงกันแล้วว่าผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างมีความผูกพันในความสำเร็จของงาน ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จทางการฝึกซ้อม การแข่งขัน และการมีชื่อเสียงของผู้ว่าจ้างตามนโยบายของผู้ว่าจ้างเท่านั้น ประกอบกับระเบียบปฏิบัติแนบท้ายสัญญาข้อ 3 ถึงข้อ 5 ที่กำหนดการจ่ายโบนัสการแข่งขันโดยพิจารณาจากผลการแข่งขันเฉพาะผลการแข่งขันที่ชนะหรือเสมอว่าหากลงแข่งขันชนะจะได้รับโบนัสรวม 6,000 บาทต่อคน แต่หากผลการแข่งขันเสมอจะได้รับโบนัสรวม 3,500 บาทต่อคน กำหนดการประเมินผลและเงินรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันและเงินรางวัลผู้ทำประตูสูงสุดโดยคิดคำนวณจากการให้คะแนนจัดกลุ่มซึ่งคำนึงถึงการลงแข่งขันและการฝึกซ้อม แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์หลักตามสัญญาว่ามุ่งถึงผลการแข่งขันและการมีชื่อเสียงของจำเลยจึงได้กำหนดค่าตอบแทนในความสำเร็จดังกล่าวไว้ ดังนี้ สัญญาว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอล จึงเป็นสัญญาที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ฝึกซ้อม แข่งขัน ตลอดจนการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ฝึกสอนเจ้าหน้าที่ทีมหรือผู้บริหารทีมของจำเลย โดยมุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จของงานที่รับจ้างซึ่งก็คือผลการแข่งขันและนำไปสู่การมีชื่อเสียงของผู้ว่าจ้างอันเป็นเป้าหมายสำคัญของจำเลย สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าว จึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 หากแต่เป็นสัญญาในทางแพ่งประเภทหนึ่ง เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินตามกฎหมายแรงงานในฐานะลูกจ้างเป็นคดีนี้ แต่โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินหรือค่าเสียหายตามสัญญาในฐานะคู่สัญญาที่ศาลที่มีอำนาจต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

 

          พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

 

( ภาวนา สุคันธวณิช - วิชัย เอื้ออังคณากุล - ภาติยะ ดวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสุวรรณ์ นามตะ

Visitors: 122,811