การจัดการมรดก

โดย: เจษฎา [IP: 223.206.219.xxx]
เมื่อ: 2023-02-11 16:19:35
นางเลนผู้เป็นมารดามีบุตรทั้งหมดสี่คน ภายหลังนางเลนได้ตายและให้นายทวีผู้เป็นบุตรคนแรกเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมานายทวีซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกโอนมรดกให้นายสวิททองแต่เพียงผู้เดียว(นายสวิทเดือดร้อนจึงขอให้นายทวีโอนที่ให้ตนก่อนเพื่อจะได้นำไปจำนอง) หลังจากนั้นนายสวิททองได้นำที่ดินไปจำนองกับนางสาวอภิวันท์ผู้รับจำนอง เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี นายสวิททองได้ไปไถ่ถอนที่ดินจาก นางสาวอภิวันท์ หลังจากไถ่ถอนที่ดินมาแล้วนายสวิททองไม่ยอมโอนที่ดินให้นายทวี ต่อมาบุตรทั้งสองที่ยังไม่ได้รับมรดกมาท้วงถามนายสวิททองว่าทำไมยังไม่โอนที่ดินให้นายทวี(ผู้จัดการมรดก) นายสวิททองจึงอ้างว่าเวลาผ่านไป 10 ปี ที่ดินได้เป็นของตนแล้ว แต่ความเป็นจริงในที่ดินนั้นมีบ้านที่ปลูกด้วยกันทั้งหมด 4 หลัง(เป็นบ้านของบุตรทุกคน) บุตรทั้งสองอ้างว่าจะฟ้องร้องต่อศาลถ้านายสวิททองไม่ยอมโอนให้นายทวี จึงเกิดการไกล่เกลี่ยกัน ท้ายที่สุดนายสวิททองก็ยอมโอนให้นายทวีเป็นผู้จัดการมรดกตามเดิม(มรดกเป็นของบุตรทุกคน) ในโจมย์นี้มีมาตราใดเกี่ยวข้องบ้างคับอธิบายให้หน่อย
#1 โดย: มโนธรรม [IP: 223.205.248.xxx]
เมื่อ: 2023-02-11 17:16:23
การจัดการมรดก

น่าจะเป็นเรื่องในการเรียนวิชากฎหมาย หรืออาจจะเป็นเรื่องตามที่กล่าวอ้าง ก็เป็นไปได้... ที่จริงผู้ถามก็สามารถหาคำตอบได้เองไม่ยากเย็นอะไร แต่ในเมื่อมีการถาม ก็ขอแสดงความเห็นตามสมควร เพื่อพัฒนากาารในข้อกฎหมาย ตามสมควร...

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่

- ม.1629 กล่าวถึงทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดก..ตามข้อเท็จจริงที่เล่ามา เมื่อมารดา(เจ้ามรดก)เสียชีวิต ทรัพย์มรดกของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ตาม ม.1629 (1) คือผู้สืบสันดาน คือบุตร ทั้ง 4 คน
- ม.1633 ทายาทลำดับเดียวกัน จะได้ส่วนแบ่งเท่าๆกัน
-ม.1713 ทายาท ผู้มีส่วนได้เสีย หรืออัยการ จะร้องเป็นผู้จัดการมรดกกได้ ตามหลักการ ใน (1) (2) (3) โดยเฉพาะ (2) เมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก
- ม.1727 การถอดถอนผู้จัดการมรดก ที่ละเลยไม่ทำหน้าที่ฯ
- ม.1728 -ม.1729 กล่าวถึงหน้าที่ของผู้จัดการมรดก เช่น ทำบัญชีทรัพย์มรดก ที่มีผู้มีส่วนได้เสียรับรองอย่างน้อยสองคน
- ม.1732 ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการมรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปี ตามเวลาที่ระบุไว้ ม.1728
- ม.1733 คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ห้ามทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสสุดลง
- ม. 1750 การแบ่งปันมรดก อาจทำโดยให้ทายาทต่างเข้าครบครองมรดกเป็นสัดส่วน
- ม. 1754 อายุความการฟ้องคดีมรดก ห้ามเกินหนึ่งปี นับแต่เจ้ามมรดกตาย หรือห้ามฟ้องเกินกว่า 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ซึ่งเป็นทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ว่าจะใช้อายุใด..

คำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562

ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้

แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้
#2 โดย: เจษฎา [IP: 223.206.219.xxx]
เมื่อ: 2023-02-11 19:40:17
ในกรณีข้างต้นนายทวีผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายได้โอนให้นายสวิททองผู้เป็นบุตรเช่นกันแต่ที่ดินที่เป็นมรดกเป็นที่ดินใช้รวมกันของบุตรทั้ง4คนของผู้ตาย จะสามารถโอนให้นายสวิททองผู้เป็น1ในทายาท ได้ไหมคับ เพราะในมรดกนี้ทายาทที่เหลือก็ต่างมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้เช่นกัน จะฟ้องร้องได้หรือไม่ ขอบคุณคับ
#3 โดย: มโนธรรม [IP: 223.205.248.xxx]
เมื่อ: 2023-02-12 08:12:19
การจัดการมรดก(ต่อ)

ผู้จัดการมรดกสามารถโอนทรัพย์มรดกให้ ใครก็ได้ ไม่เฉพาะบุตร(สวิททอง)ที่เป็นทายาทเท่านั้น ทายาทคนอื่นๆที่ไม่ได้รับการแบ่งปันตามสิทธิ ต้องโต้แย้งการโอนนั้น การโอนทรัพย์มรดกไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาท ถือว่าจัดการมรดกไม่ชอบ ทายาทสามารถฟ้องเพื่อถอดถอนผู้จัดการมรดก และขอให้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นใหม่ได้ แต่การฟ้องร้องไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก การเจรจาหาทางออกที่สันติ คือทางออกที่ดีที่สุด ตามที่เล่า ในเมื่อมีการโอนทรัพย์มรดกคืนแก่ผู้จัดการมรดกแล้ว ทายาทก็สามารถเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกให้ตนแต่ละรายตามสิทธิ์ ถ้าผู้จัดการมรดกไม่แบ่งปัน จึงค่อยฟ้องร้องให้แบ่งปันมรดก หรือร้องขอให้อัยการคุ้มครองสิทธิ์ ให้เรียกผู้จัดการมรดก และทายาท ที่มีสิทธิ์รับมรดก ไปเจรจากันหาทางออก โดยไม่ต้องมีการฟ้องร้อง จะเป็นทางออกทีท่ดีทีท่สุด....ด้วยความปรารถนาดี ครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 124,320