ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

เลขที่หนังสือ    : กค 0702/7565

วันที่    : 13 ตุลาคม 2557

เรื่อง    : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

ข้อกฎหมาย    : มาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ                   บริษัท ท. ขอหารือปัญหาภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534

แนววินิจฉัย               การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 500,000 บาท ขึ้นไป ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186(พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534 ดังนี้

          1. กรณีเจ้าหนี้ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง และในกรณีนั้นๆ ได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้ โดยเจ้าหนี้มีหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

               (1) รายงานการติดตามหาทรัพย์สินของลูกหนี้ของทนายความที่เป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและมีหลักฐานการรับทราบของเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือ

               (2) สำเนารายงานการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี ที่แสดงว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ที่จะชำระหนี้ได้ โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรับรองความถูกต้องของรายงานนั้นด้วย หากเจ้าหนี้ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวครบถ้วนแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีใด เจ้าหนี้จึงมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 4 (2) และข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534

          2. กรณีเจ้าหนี้ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และในกรณีนั้นๆ ได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า

               (1) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการตรวจสอบและสามารถรวบรวมทรัพย์สิน ของลูกหนี้ได้ และมีทรัพย์สินที่เหลือภายหลังจากที่กันไว้สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดการแบ่งทรัพย์สินนั้นให้แก่เจ้าหนี้ครั้งแรก หรือ

               (2) กรณีลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินจะให้แบ่ง และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งปิดคดีในคดีล้มละลายดังกล่าว โดยไม่มีการแบ่งทรัพย์สิน ซึ่งหากไม่มีเจ้าหนี้ผู้ใดคัดค้านและ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดคดีแล้ว ตาม ข้อ 77 ของระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีล้มละลายและการชำระบัญชี พ.ศ.2520 กรณีดังกล่าว หากเจ้าหนี้ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามที่กำหนดไว้ใน ข้อ 4 (3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534 ครบถ้วนแล้ว ในรอบระยะเวลาบัญชีใด เจ้าหนี้มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้และถือเป็นรายจ่าย ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534

          3. กรณีหากเจ้าหนี้ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534 ครบถ้วน ในรอบระยะเวลาบัญชีใดแล้ว เจ้าหนี้ต้องจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่าย.ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534 เจ้าหนี้จะจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นไม่ได้

เลขตู้   : 77/39311

 

เลขที่หนังสือ : กค 0702/2200

วันที่ : 22 มีนาคม 2553

เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่าย หนี้สูญ ดังนี้

1. ตามข้อ 4(2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญ จากบัญชีลูกหนี้ กำหนดว่า "การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ในกรณีหนี้ ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 500,000 บาทขึ้นไป บริษัทฯ ต้องดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง และในกรณีนั้นๆ ได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้" นั้น มีความหมายเพียงว่า บริษัทฯ ต้องได้ดำเนินการ ฟ้องคดีแพ่งจนศาลมีคำพิพากษา (ออกหมายเลขคดีแดง) แล้ว จึงจะตัดหนี้สูญได้ หรือ ว่าบริษัทฯ จะต้องดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ จนถึงที่สุดแล้ว จึงจะตัดหนี้สูญได้ และหากต้องดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์แล้ว จะต้อง ใช้เอกสารใดเพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยัน หรืออ้างอิงเพื่อตัดหนี้สูญ

2. ตามข้อ 5(2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ กำหนดว่า "การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ในกรณีหนี้ของ ลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท บริษัทฯ ต้องได้ดำเนินการ ฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งและศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่งและศาล ได้มีคำสั่งรับคำขอนั้นแล้ว" นั้น กรณีบริษัทฯ ยื่นฟ้อง ต่อศาล และศาลได้มีคำสั่งรับฟ้อง (ออกหมายเลขคดีดำ) ในปี 2550 แล้ว ต่อมา ศาล ได้มีคำพิพากษา (ออกหมายเลขคดีแดง) ในปี 2551 บริษัทฯ จะจำหน่ายหนี้สูญในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2551 ที่ศาลได้มีคำพิพากษาได้ หรือไม่

 

แนววินิจฉัย 1. กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทฯ ตาม มาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4(2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ นั้น ต้องปรากฏว่า บริษัทฯ ได้ ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งและได้มีคำบังคับหรือ คำสั่งของศาลแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องมีหลักฐาน พิสูจน์ว่า ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้ โดยบริษัทฯ มีสิทธิใช้หลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) รายงานการ ติดตามหาทรัพย์สินลูกหนี้ของทนายความเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและมีหลักฐานการรับ ทราบของเจ้าพนักงานบังคับคดี

(2) สำเนารายงานการ ยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี ที่แสดงว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ที่จะชำระหนี้ได้ โดย เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรับรองความถูกต้อง ของรายงานด้วย

2. กรณีบริษัทฯ เป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ในมูลหนี้ไม่เกิน 500,000 บาท โดยบริษัทฯ ได้ฟ้องคดีลูกหนี้รายดังกล่าวเป็นคดีแพ่ง และศาลได้มีคำสั่งรับฟ้องแล้ว บริษัทฯ จะต้องจำหน่ายหนี้สูญจาก บัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลมีคำสั่ง รับฟ้องตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 5(2) และข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ บริษัทฯ จะจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลา บัญชีอื่นไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้รายจ่าย ที่ควรจะลงจ่ายเป็นรายจ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีใดต้องลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะ เวลาบัญชีนั้น ห้ามลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะ เวลาบัญชีอื่น ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 73/37217

Visitors: 149,788