หลักเกณฑ์การวินิจฉัยว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมารวมคำนวนค่าชดเชยหรือไม่

หลักเกณฑ์การวินิจฉัยว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมารวมคำนวนค่าชดเชยหรือไม่

 

มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

 

๑..สิ่งที่จะเป็นค่าจ้างตามกฎหมายจะต้องเป็นเงินเท่านั้น สิ่งของหรือสิทธิประโยชน์ ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ไม่ถือเป็นค่าจ้าง เช่น ตกลงให้หุ้นของบริษัทเมื่อลูกจ้างทำงานครบตามระยะเวลที่กำหนดกันไว้  หรือ จัดอาหารให้แก่ลูกจ้างวันละ ๓ มื้อ เป็นเงินมื้อละ ๔๐ บาท รวม ๑๒๐ บาท

 

นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินนั้น เช่น จ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง เงินเดือนนั้น เป็นค่าจ้าง หากคนอื่นจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง เช่น ผู้ใช้บริการให้เงินค่าทิปแก่บ๋อยในห้องอาหาร ผู้เล่นกอล์ฟให้เงินรางวัลแก่แคดดี้ เงินค่าทิปและเงินรางวัลดังกล่าว ไม่ใช่ค่าจ้างเพราะคนจ่ายไม่ใช่นายจ้าง หรือเงินที่คนไข้จ่ายให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาโดยนายจ้างรับไว้แทนและจ่ายคืนให้แพทย์โดยหักไว้ส่วนหนึ่ง

 

๒. จ่ายให้แก่ลูกจ้าง หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายนั้นต้องได้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ลูกจ้าง หากลูกจ้างได้รับมาแล้วต้องจ่ายต่อให้ผู้อื่นไม่ถือเป็นค่าจ้าง เมื่อลูกจ้างต้องจ่ายต่อให้คนอื่น โดยมีหลักฐานการจ่ายต่อ เช่น ใบเสร็จรับเงินใบกำกับภาษี หรือ หลักฐานแสดงว่ามีการจ่าย ไม่ถือเป็นค่าจ้าง

 

ถ้าลูกจ้างรับมาโดยไม่มีหลักฐานการจ่ายต่อ ถือว่าลูกจ้างได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกจ้าง จึงเป็นค่าจ้าง

 

ตัวอย่างเช่น นายจ้างจ่ายเงินค่าน้ำมันรถให้ลูกจ้างเดือนละ ๓,๐๐๐ บาทหรือ จ่ายเงินรับรองให้เดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท โดยต้องนำใบเสร็จค่าน้ำมันใบเสร็จค่าโรงแรม ค่าอาหาร หรือค่าเล่นกีฬามาแสดง กรณีนี้ ไม่ใช่ค่าจ้างเพราะลูกจ้างไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ หากจ่ายโดยไม่ต้องมีใบเสร็จมาแสดงถือเป็นค่าจ้าง

 

๓. เพื่อตอบแทนการทำงาน หมายถึงนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งแยกเป็น ๓ กรณี

 

๓.๑ ตอบแทนโดยตรง คือ ลูกจ้างต้องทำงานจึงจ่ายตอบแทน เช่น ลูกจ้างรายวันได้เงินเฉพาะวันที่มาทำงาน ลูกจ้างรายชั่วโมงได้เงินเฉพาะชั่วโมงที่ทำงาน หรือ ลูกจ้างตามผลงานได้เงินตามผลงานที่ทำได้ เงินที่ลูกจ้างได้มาดังกล่าว ถือว่าเป็นการตอบแทนการทำงานโดยตรง หรือ ค่าครองชีพเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เพื่อตอบแทนการทำงานทำนองเดียวกับเงินเดือนสำหรับการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้าง

 

 

๓.๒ ตอบแทนโดยอ้อม คือ กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างแม้ไม่ต้องมาทำงาน เช่น

 ลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ ลูกจ้างทุกประเภทได้ค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างทุกประเภทได้ค่าจ้างในวันลา เช่น วันลาป่วย วันลาคลอด ลาเพื่อรับราชการทหาร เป็นต้น

 

๓.๓ ตอบแทนพิเศษ หมายถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ที่นายจ้างกำหนด เช่น จ่ายเบี้ยกันดารให้เมื่อไปทำงานในท้องที่ทุรกันดาร จ่ายค่ากะกลางคืนเมื่อลูกจ้างมาทำงานกะกลางคืน จ่ายเงินประจำตำแหน่งเมื่อลูกจ้างได้ดำรงตำแหน่งที่กำหนด ค่าชั่วโมงบินของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินตามชั่วโมงการทำงาน ค่าตอบแทนพิเศษการทำงานประจำในต่างประเทศ หรือ เงินค่าตำแหน่ง เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานตามหลักเกณฑ์พิเศษที่นายจ้างกำหนดสำหรับการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้างเงิน

 

 

กรณีที่จ่ายให้เป็นสวัสดิการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในกรณีต่างๆ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง เช่น เงินช่วยเหลือค่าที่พัก เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างมิใช่จ่ายตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงไม่ใช่ค่าจ้าง ค่าอาหาร ค่าพาหนะ ค่าโทรศัพท์ ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เงินเดือนเดือนที่ ๑๓ เงินเพิ่มจูงใจ หรือจ่ายให้เพื่อความประสงค์อื่น เช่น เบี้ยขยันเพื่อจูงใจให้ทำงานขยันขันแข็ง โบนัส เพื่อจูงใจให้ทำงานดี เงินบำเหน็จเงินสะสมเพื่อให้ลูกจ้างอยู่ทำงานนาน ๆ ค่าชดเชย เพื่อทดแทนการออกจากงาน เงินทดแทนจ่ายเมื่อลูกจ้างได้รับบาดเจ็บในงาน เป็นต้น

 

แต่ถ้าเงินที่จ่ายดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์ ๓ ประการ คือ ๑. จ่ายช่วยเหลือทั่วไปโดยไม่ได้เจาะจงช่วยเหลือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ๒.จ่ายเป็นประจำ เช่น จ่ายทุกเดือน ทุกงวด ๑๕ วัน เป็นต้น

๓.จ่ายจำนวนแน่นอน เช่นจ่ายเดือนละ ๓๐๐ บาท หรือ เดือนละ ๕๐๐ บาท เป็นต้น เหตุผลที่เป็นค่าจ้างเพราะการจ่ายในลักษณะดังกล่าวเป็นการจ่ายทำนองเดียวกันกับค่าจ้าง

 

๔.จ่ายสำหรับเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน 

 

ถ้าจ่ายตอบแทนในวันไม่ปกติ คือ ตอบแทนการทำงานในวันหยุดเช่น ค่าทำงานในวันหยุด ไม่ใช่ค่าจ้างเพราะเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานในวันหยุด

 

ถ้าจ่ายตอบแทนในเวลาทำงานไม่ปกติ คือ ตอบแทนการทำงานนอกเวลาหรือเกินเวลา เช่น ค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นต้น

 

ถ้าจ่ายตอบแทนในการทำงานที่ไม่มีวันหรือเวลาทำงานปกติ เช่น ค่าเปอร์เซ็นการขาย (ค่าคอมมิชชั้น) ของพนักงานขายที่ต้องออกเร่ขายของนอกสถานที่โดยไม่มีวันเวลาทำงานที่แน่นอน เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

Visitors: 124,034