บรรดาภาพถ่าย ภาพวาด หรือภาพประดิษฐ์ซึ่งมีสภาพเป็นเพียงเครื่องหมายเท่านั้น ยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเครื่องหมายการค้าจนกว่าจะมีผู้นำภาพต่าง ๆ เช่นว่านี้มาใช้อย่างเครื่องหมายการค้า

ฎีกา ๘๒๖๕/๒๕๕๕ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้เสื้อยืดของกลางวัตถุพยานที่โจทก์กล่าวอ้างว่ามีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายนั้น ปรากฏว่าเป็นเสื้อยืดแขนสั้น คอเป็นรูปตัววี สีดำทั้งตัว โดยด้านหน้ามีลายเส้นสีทองและลายทึบสีทองบางส่วนประกอบกันเป็นรูปประดิษฐ์ตัวการ์ตูนขนาดใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ด้านหน้าของเสื้อยืดนี้ และรูปตัวการ์ตูนดังกล่าวมองดูคล้ายรูปตัวการ์ตูนมิกกี้ เม้าส์ ที่ใช้เป็นรูปเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่คอเสื้อส่วนหลังด้านในมีแถบสีขาวติดอยู่โดยมีคำว่า “GOODSGOOD” ซึ่งน่าจะแสดงถึงเครื่องหมายการค้าของผู้เป็นเจ้าของสินค้านี้ เมื่อการเสนอจำหน่ายสินค้าที่จะเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 นั้น จะต้องมีองค์ประกอบความผิดว่า สินค้าที่เสนอจำหน่ายนั้นต้องเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรและการเลียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 109 ก็ต้องมีองค์ประกอบที่เป็นเจตนาพิเศษเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่าสินค้าเสื้อยืดของกลางดังที่ปรากฏตามเสื้อยืดวัตถุพยาน ที่จำเลยทั้งสองเสนอจำหน่ายนั้นมีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายหรือไม่ ซึ่งโดยเฉพาะลักษณะหรือความหมายของคำว่า “เครื่องหมายการค้า” นั้นตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติกำหนดความหมายของคำว่า “เครื่องหมายการค้า” ที่ใช้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้โดยเฉพาะ โดยหมายความว่า “เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น” อันเป็นความหมายที่กำหนดจากหลักการว่า เครื่องหมายการค้าเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่แสดงถึงแหล่งที่มาของสินค้าและแสดงความแตกต่างเพื่อแยกให้เห็นว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้ารายหนึ่งต่างจากสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าอื่นของเจ้าของเครื่องหมายการค้ารายอื่นเป็นข้อสำคัญ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของตนเพื่อบ่งบอกได้ว่า สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด และมีความแตกต่างจากสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้อื่น นอกจากนี้บทบัญญัติมาตรา 4 นี้ก็ยังบัญญัติให้คำว่า “เครื่องหมาย” หมายความว่า “ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ...” ด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับความหมายของคำว่า “เครื่องหมายการค้า” ดังกล่าวข้างต้นก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า บรรดาภาพถ่าย ภาพวาด หรือภาพประดิษฐ์ซึ่งมีสภาพเป็นเพียงเครื่องหมายเท่านั้น ยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเครื่องหมายการค้าจนกว่าจะมีผู้นำภาพต่าง ๆ เช่นว่านี้มาใช้อย่างเครื่องหมายการค้า โดยทำหน้าที่แสดงแหล่งที่มาของสินค้าและแยกให้เห็นว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนี้เป็นเครื่องหมายการค้าแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น ดังนั้นการที่สินค้ามีภาพใดปรากฏอยู่ย่อมยังไม่อาจถือได้ว่าภาพนั้นเป็นเครื่องหมายการค้า เว้นเสียแต่ว่าจะมีการใช้ภาพนั้นทำหน้าที่แสดงแหล่งกำเนิดและแยกความแตกต่างต้องตามความหมายของคำว่าเครื่องหมายการค้าอย่างชัดเจนเท่านั้น คดีนี้พยานหลักฐานโจทก์มีเพียงนายดานิโล ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายเบิกความว่า เหตุที่พยานแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเพราะสินค้าเสื้อยืดของกลางพิมพ์ลายตัวการ์ตูนมิกกี้ เม้าส์ และร้านขายเสื้อผ้าที่เกิดเหตุก็ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของผู้เสียหาย ทั้งยังเบิกความอีกว่า เสื้อยืดดังกล่าวไม่มีป้ายยี่ห้อของผู้เสียหายติดอยู่ โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบให้เห็นว่าการที่เสื้อยืดของกลางมีลวดลายตัวการ์ตูนมิกกี้ เม้าส์ ซึ่งเป็นรูปตัวการ์ตูนคล้ายกันกับรูปตัวการ์ตูนที่ผู้เสียหายได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้นั้น มีลักษณะที่เป็นการสื่อให้สาธารณชนผู้บริโภคเห็นว่าเสื้อยืดที่ใช้ลวดลายเช่นนี้ต้องเป็นเสื้อยืดที่มีแหล่งกำเนิดมาจากผู้เสียหาย โดยแม้การแสดงเครื่องหมายการค้าที่สินค้าอาจทำให้ปรากฏที่ส่วนใดของสินค้าได้ก็ตาม แต่สิ่งที่แสดงไว้เป็นเครื่องหมายการค้านั้นก็ต้องทำหน้าที่ของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาข้างต้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมามีลักษณะเลื่อนลอย ปราศจากข้อเท็จจริงและเหตุผลที่แสดงว่ารูปประดิษฐ์ตัวการ์ตูนบนเสื้อยืดของกลางดังกล่าวนี้เป็นรูปที่ใช้เป็นที่หมายเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อให้ประชาชนที่เห็นแล้วตัดสินใจซื้อสินค้าเสื้อยืดของจำเลยทั้งสองเพราะเห็นรูปตัวการ์ตูนมิกกี้ เม้าส์ ที่ปรากฏบนเสื้อยืดแล้วเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายอันเป็นที่หมายแสดงว่าสินค้าเป็นสินค้าที่ผลิตจากผู้เสียหายหรือผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยรูปประดิษฐ์ตัวการ์ตูนบนเสื้อยืดของกลางคดีนี้อาจมีลักษณะเป็นลวดลายประดับเสื้อยืดให้ดูสวยงามเพื่อให้ลูกค้าที่เห็นเกิดความพึงพอใจในลวดลายเช่นนี้และตัดสินใจเลือกซื้อจากความพึงพอใจในลวดลายและความสวยงามของสินค้าดังเช่นลวดลายอื่น ๆ บนเสื้อยืดที่ใช้กันทั่วไปตามเจตนาของจำเลยทั้งสองดังที่อุทธรณ์เท่านั้น ไม่ปรากฏชัดถึงลักษณะที่ส่อแสดงให้เห็นเป็นพิเศษว่า รูปประดิษฐ์ตัวการ์ตูนนี้เป็นเครื่องหมายการค้าที่แสดงแหล่งกำเนิดของสินค้าเสื้อยืดนี้แต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า สินค้าเสื้อยืดของกลางที่จำเลยทั้งสองเสนอจำหน่ายโดยมีรูปประดิษฐ์ตัวการ์ตูนนี้เป็นรูปแสดงเป็นเครื่องหมายการค้า การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง และเมื่อฟังไม่ได้ว่าเสื้อยืดของกลางมีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย จึงไม่อาจริบเสื้อยืดของกลางตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 ด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสองและริบของกลางตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนเสื้อยืดของกลางแก่เจ้าของ

 

 

( ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร - อร่าม เสนามนตรี - ปริญญา ดีผดุง )


Visitors: 124,059