สมาคมศิษย์เก่าฯ สมาคมผู้ปกครองฯ ต้องเสียภาษี หรือไม่

เรื่องนี้มีคำตอบ จากกรมสรรพากร http://www.rd.go.th/publish/44182.0.html

ความหมายของมูลนิธิ หรือสมาคม     ฟังเสียงข่าว


               คำว่า “มูลนิธิ” ตามมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาประโยชน์มาแบ่งปันกันและได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ และการจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิ ต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง

               โดยมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนแล้วจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 122 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               คำว่า “สมาคม ตามมาตรา 78 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง หมายถึง การก่อตั้งสมาคมเพื่อกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกันและมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน ต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้

               โดยสมาคมที่ได้จดทะเบียนแล้วจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               นอกจากนี้สมาคมยังอาจจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น ๆ ดังนี้

               - พระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509

               - พระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 

               - พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

 

หน้าที่ของมูลนิธิหรือสมาคมที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

   
               (1) ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
               (2) ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อจ่ายเงินให้แก่ผู้รับ
               (3) ต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากร
               (4) ต้องยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษี

               การขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

               มูลนิธิหรือสมาคมซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (ล.ป.10) ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือวันที่เริ่มประกอบกิจการในประเทศไทย แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง

               สถานที่ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี

               (1) มูลนิธิหรือสมาคมซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานครในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
               (2) มูลนิธิหรือสมาคมซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำร้อง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิหรือสมาคม ตั้งอยู่
               (3) มูลนิธิหรือสมาคมสามารถยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรประเภทนิติบุคคลโดยผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ http://www.rd.go.th โดยระบบจะให้บันทึกข้อมูลรายการต่าง ๆ เช่น เลขทะเบียนนิติบุคคล วันที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ รอบระยะเวลาบัญชี และลักษณะการเป็นนิติบุคคล เป็นต้น

               การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

               มูลนิธิหรือสมาคมต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อจ่ายเงินได้ดังต่อไปนี้ให้แก่ผู้รับ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วแต่กรณี ดังนี้ 

               1. เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
               2. เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้
               3. ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น ๆ
               4. เงินได้ประเภทดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ
               5. เงินได้ประเภทค่าเช่าทรัพย์สินฯ
               6. เงินได้ค่าวิชาชีพอิสระ
               7. เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญ นอกจากเครื่องมือ
               8. เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ใน 1. ถึง 7. เฉพาะที่เป็นเงินได้จากการจ้างทำของ รางวัลจากการประกวดแข่งขัน ชิงโชค ค่าโฆษณา ค่าแสดงที่จ่ายให้นักแสดงสาธารณะ รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์อย่างอื่นเนื่องจากการส่งเสริมการขาย การประกันวินาศภัย การขนส่ง (ไม่รวมค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ) การให้บริการอื่นๆ (ไม่รวมถึงค่าบริการของโรงแรม ค่าบริการของภัตตาคาร และค่าเบี้ยประกันชีวิต)

               การจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี

               ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการนำส่งให้แก่ผู้รับเงิน โดยรวมจำนวนที่จ่ายเป็นประจำวัน และรวมยอดเป็นรายเดือน เมื่อสิ้นวันสุดท้ายของเดือนและต้องเก็บรักษาบัญชีพิเศษดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี ที่สำนักงานที่มีการจ่ายเงิน

               กรณียกเว้นไม่ต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี

               1. การจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยตั๋วเงินของธนาคาร สหกรณ์ บริษัท ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้น สำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
               2. กรณีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และต้องนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน
               3. กรณีอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

               การยื่นแบบแสดงรายการและการนำส่งภาษี

               มูลนิธิหรือสมาคมผู้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พร้อมทั้งนำเงินภาษีส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนที่มีการจ่ายเงิน

               แบบแสดงรายการที่ใช้ยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

               1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย

                   (1) ภ.ง.ด.1 ใช้สำหรับนำส่งภาษีเป็นรายเดือน กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง หรือเงินได้จากตำแหน่งงานที่ทำ การรับทำงานให้ เช่น ค่านายหน้า ค่าบำเหน็จ ฯลฯ ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร 
                   (2) ภ.ง.ด.1 ก ใช้สำหรับแสดงรายการสรุปการจ่ายเงินได้และจำนวนเงินภาษีที่ได้นำส่งไว้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า หรือบำเหน็จ ฯลฯ ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดเวลายื่นแบบภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป 
                   (3) ภ.ง.ด.2 ใช้สำหรับนำส่งภาษีเป็นรายเดือน กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทค่าสิทธิ ดอกเบี้ย เงินปันผล ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนตราสารหนี้หรือตราสารทุน ฯลฯ ตามมาตรา 40 (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร 
                   (4) ภ.ง.ด.2 ก ใช้สำหรับแสดงรายการสรุปการจ่ายเงินได้และจำนวนเงินภาษีที่ได้นำส่งในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทค่าสิทธิ ดอกเบี้ย เงินปันผล ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนตราสารหนี้หรือตราสารทุน ฯลฯ ตามมาตรา 40(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดเวลายื่นแบบภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป 
                   (5) ภ.ง.ด.3 ใช้สำหรับนำส่งภาษีเป็นรายเดือน กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทค่าเช่าทรัพย์สิน ค่าวิชาชีพอิสระ การรับเหมา การรับจ้างทำของ หรือเงินได้จากการประกอบธุรกิจการพาณิชย์ ฯลฯ ตามมาตรา 40(5) ถึง (8) แห่งประมวลรัษฎากร

               2. ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย 

                   (1) ภ.ง.ด.53 ใช้สำหรับนำส่งภาษีกรณีจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไปให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 
                   (2) ภ.ง.ด.54 ใช้สำหรับนำส่งภาษี สำหรับ 
                        (ก) กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)-(6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายจากหรือในประเทศไทย และมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่ง 
                        (ข) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย

clear-gif
การเสียภาษีเงินได้ของมูลนิธิหรือสมาคม     ฟังเสียงข่าว

   
               มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบการมีรายได้ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มิได้ประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องนำรายได้ที่ได้รับก่อนหักรายจ่ายใดๆ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้มูลนิธิหรือสมาคม ตามแบบ ภ.ง.ด.55 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

               1. รายได้ของมูลนิธิหรือสมาคมที่จะต้องเสียภาษีเงินได้

                   รายได้ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ของมูลนิธิหรือสมาคม ได้แก่ รายได้จากการ ประกอบกิจการ เช่น ค่าเช่า รายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการ และรายได้จากทุน เช่น ดอกเบี้ย และเงินปันผล เป็นต้น 

                   มูลนิธิหรือสมาคมจะต้องนำรายได้ดังกล่าวมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามอัตรา ที่กฎหมายกำหนด โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

               2. รายได้ของมูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

                   มูลนิธิหรือสมาคมที่ไม่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำรายได้ดังต่อไปนี้มาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่

                   1. ค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้จากสมาชิก

                   2. เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาค

                   3. เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการให้โดยเสน่หา

                   4. เงินได้จากกิจการโรงเรียนเอกชนของมูลนิธิหรือสมาคม ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายของ การรับจ้างทำของ หรือการให้บริการอื่นใดที่โรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทอาชีวศึกษาได้รับจากผู้ซึ่งมิใช่นักเรียน

 

อัตราภาษีและการคำนวณภาษี     ฟังเสียงข่าว

 

               อัตราภาษี

                   มูลนิธิหรือสมาคมซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องเสียภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายในอัตรา ดังนี้

                   (ก) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)-(7) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น เงินได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ค่าสิทธิ ค่านายหน้า เป็นต้น เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0

                   (ข) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก่เงินได้จากธุรกิจการพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่น ๆ นอกเหนือจาก(ก) เสียภาษีในอัตราร้อยละ 2 .0

               การคำนวณภาษี

                   เมื่อมูลนิธิหรือสมาคมมีรายได้จากการประกอบกิจการจะต้องนำรายได้ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นมาคำนวณภาษี โดยคำนวณจากรายได้ก่อนหักรายจ่าย คูณด้วยอัตราภาษีร้อยละ 10.0 หรือร้อยละ 2.0 แล้วแต่กรณี ผลที่ได้เป็นภาษีที่ต้องเสีย 

                   การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคม จะต้องคำนวณตามรอบระยะเวลาบัญชีเช่นเดียวกับ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล”

               ตัวอย่างการคำนวณภาษี

                  สมาคม ก. มีรายได้จากการประกอบกิจการ และไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ในปี 2555 สมาคมมีรายได้ ดังนี้


 

(1) ค่าลงทะเบียน

50,000

 

บาท

 

(2) เงินที่ได้รับจากการบริจาค

120,000

 

บาท

 

(3) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

10,000

 

บาท

 

(4) รายได้จากค่านายหน้า

20,000

 

บาท

 

(5) รายได้จากการขายหนังสือ

10,000

 

บาท

 

(6) รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สินของสมาคม

20,000

 

บาท

 

(7) รายได้จากการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม

60,000

 

บาท



               การคำนวณภาษี

 

(1) ค่าลงทะเบียน และ

 

(2) เงินที่ได้รับจากการบริจาคได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้

 

(3) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

 

 

อัตราภาษี 10%

(10,000x10%)

=

1,000

 

บาท

 

(4) ค่านายหน้า

 

 

อัตราภาษี 10%

(20,000x10%)

=

2,000

 

บาท

 

(5) ค่าจำหน่ายหนังสือ

 

 

อัตราภาษี 2%

(10,000x2%)

=

200

 

บาท

 

(6) ค่าเช่าทรัพย์สิน

 

 

อัตราภาษี 10%

(20,000x10%)

=

2,000

 

บาท

 

(7) ค่าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม

 

 

อัตราภาษี 2%

(60,000x2%)

=

1,200

 

บาท

 

 

รวมภาษีที่ต้องเสีย

 

6,400

 

บาท

มูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับการยกเว้นภาษี     ฟังเสียงข่าว



                   มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะมีรายได้จากกิจการประเภทใด และผู้บริจาคได้รับสิทธิ ดังนี้

  1. บุคคลธรรมดาบริจาคเงินให้กับมูลนิธิหรือสมาคม มีสิทธินำเงินบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ในการคำนวณเงินได้สุทธิ
  2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้กับมูลนิธิหรือสมาคมมีสิทธินำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
  3. ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทขายสินค้า นำสินค้าไปบริจาคให้กับมูลนิธิหรือสมาคม ผู้ประกอบกิจการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลนิธิหรือสมาคม

 

 

หลักเกณฑ์การพิจารณาประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล     ฟังเสียงข่าว



                   มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล จะไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องเข้าหลักเกณฑ์การพิจารณาตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 531)ฯ ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ดังต่อไปนี้

  1. “รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ” หมายความว่า รายจ่ายเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะในประเทศไทย เช่น การสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และหมายความรวมถึง รายจ่ายเพื่อการรณรงค์ส่งเสริมหรือปลูกจิตสำนึกต่อสังคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษา และรายจ่ายเพื่อการกีฬา ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 44) เรื่อง กำหนดรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ รายจ่ายเพื่อการศึกษา และรายจ่ายเพือการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2535
  2. มูลนิธิที่ประสงค์จะขอให้พิจารณาประกาศเป็นองค์การ หรือสถานสาธารณกุศลจะต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อกรมสรรพากร เพื่อพิจารณาเสนอกระทรวงการคลัง
  3. ชื่อมูลนิธิจะต้องไม่เป็นชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้า
  4. มูลนิธิจะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะในประเทศไทยเท่านั้น และจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งที่จะให้ประโยชน์เฉพาะแก่บุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือเป็นส่วนใหญ่
  5. การดำเนินงานของมูลนิธิต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์เท่านั้น และไม่มีการดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว และไม่มีการใช้ชื่อมูลนิธิเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว
  6. กรมสรรพากรจะตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของมูลนิธินั้นก่อน เช่น งบดุลและบัญชีรายได้รายจ่ายซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับรองแล้ว โดยจะตรวจสอบย้อนหลังหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ถ้าปรากฏดังต่อไปนี้ จะไม่ประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล

    1. 6.1 รายได้ของมูลนิธิได้นำไปเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะน้อยกว่าร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งสิ้นในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วมา หรือรายได้เฉพาะดอกผลของมูลนิธิได้นำไปเป็นรายจ่าย เพื่อการกุศลสาธารณะน้อยกว่าร้อยละ 60 ของรายได้ดอกผลในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วมา กรณีตราสารจัดตั้งระบุว่า ให้นำดอกผลมาเป็นรายจ่ายเท่านั้น เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นต้องเก็บสะสมรายได้ เพื่อดำเนินการตามโครงการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ 
      6.2 รายได้ของมูลนิธิจะต้องมิใช่เป็นการได้มาจากการซื้อขายหรือการให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนเป็นปกติธุระ เว้นแต่การซื้อขายหรือการให้บริการนั้น เกี่ยวข้องกับการศาสนา การศึกษา การสถานพยาบาล หรือการสังคมสงเคราะห์ และไม่นำรายได้ดังกล่าวไปจ่ายในทางอื่น 
      6.3 รายจ่ายของมูลนิธิเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะน้อยกว่าร้อยละ 65 ของรายจ่ายทั้งสิ้นในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วมา 
      6.4 รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะของมูลนิธิต้องกระจายเป็นการทั่วไป
  7. มูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นยังไม่ครบ 1 ปี จะไม่พิจารณาประกาศให้
  8. องค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล หรือสถานศึกษาใดที่มิได้มีฐานะเป็นมูลนิธิจะไม่พิจารณาประกาศให้ เว้นแต่จะมีวัตถุประสงค์และการดำเนินงานเช่นเดียวกับมูลนิธิจะพิจารณาประกาศให้เป็นรายๆ ไป ในหลักเกณฑ์เดียวกัน หรือตามที่เห็นสมควร
  9. มูลนิธิ องค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล หรือสถานศึกษาใดที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 ถึงข้อ 8 จะไม่ประกาศให้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะพิจารณาเห็นสมควร
  10. มูลนิธิ องค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล หรือสถานศึกษา ที่ได้รับการประกาศให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลแล้ว เว้นแต่สภากาชาดไทย วัดวาอาราม และสถานพยาบาล หรือสถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล จะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

    1. 10.1 ใบรับที่ออกให้แก่บุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งซึ่งบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ให้ระบุลำดับที่ได้รับการประกาศด้วย 
      10.2 ส่งรายงานการประชุมใหญ่ งบดุล และบัญชีรายได้รายจ่าย พร้อมทั้งรายงานการดำเนินงานของกิจการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาให้กรมสรรพากรทราบภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี โดยยื่นผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่องค์การหรือสถานสาธารณกุศลนั้นตั้งอยู่
  11. มูลนิธิ องค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล หรือสถานศึกษาที่ได้รับการประกาศให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลแล้ว ให้สำนักงานสรรพากรภาคที่องค์การหรือสถานสาธารณกุศลนั้นตั้งอยู่ ดำเนินการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน หากปรากฏว่าผลการดำเนินงานเข้าลักษณะดังต่อไปนี้ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้แจ้งผลการตรวจสอบให้กรมสรรพากรทราบเพื่อพิจารณาเสนอกระทรวงการคลังเพิกถอนการประกาศต่อไป ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีถัดจากรอบระยะเวลาบัญชีที่ประกาศเพิกถอนในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

    1. 11.1 การดำเนินงานขององค์การหรือสถานสาธารณกุศล ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์หรือมีการใช้ชื่อมูลนิธิดำเนินการเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว 
      11.2 รายได้ขององค์การหรือสถานสาธารณกุศล ได้นำไปเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะน้อยกว่าร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งสิ้นในสามรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วมา หรือรายได้เฉพาะดอกผลขององค์การหรือสถานสาธารณกุศล ได้นำไปเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะน้อยกว่าร้อยละ 60 ของรายได้ดอกผลในสามรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วมา กรณีตราสารจัดตั้งระบุว่า ให้นำดอกผลมาเป็นรายจ่ายเท่านั้น เว้นแต่กรณีมีเหตุจำต้องเก็บสะสมรายได้ เพื่อดำเนินการตามโครงการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ 
      11.3 รายจ่ายขององค์การหรือสถานสาธารณกุศล เป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะน้อยกว่าร้อยละ 65 ของรายจ่ายทั้งสิ้นในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี และรายจ่ายดังกล่าว ได้นำไปเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะน้อยกว่าร้อยละ 75 ของรายจ่ายทั้งสิ้นในสามรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วมาเว้นแต่กรณีมีเหตุอันสมควร 
      11.4 รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะขององค์การหรือสถานสาธารณะกุศลไม่กระจายเป็นการทั่วไป และรายได้ของมูลนิธิได้มาจากการซื้อขายหรือการให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนเป็นปกติธุระเว้นแต่การซื้อขายหรือการให้บริการนั้น เกี่ยวข้องกับการศาสนา การศึกษา การสถานพยาบาล หรือการสังคมสงเคราะห์ และไม่นำรายได้ดังกล่าวไปจ่ายในทางอื่น 
      11.5 องค์การหรือสถานสาธารณกุศลไม่ปฏิบัติตามข้อ 10
  12. องค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่ถูกเพิกถอนการประกาศแล้ว หากประสงค์จะขอให้พิจารณาประกาศเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลใหม่ สามารถยื่นคำขอได้เมื่อพ้นสามรอบระยะเวลาบัญชี นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีถัดจากรอบระยะเวลาบัญชีที่ประกาศเพิกถอนในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


 

การขอให้พิจารณาเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามประกาศกระทรวงการคลัง     ฟังเสียงข่าว



                   หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ของมูลนิธิหรือสมาคม  สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่  โดยมูลนิธิหรือสมาคมที่ประสงค์จะขอให้พิจารณาประกาศกำหนดเป็นองค์การสถานสาธารณกุศล  สามารถยื่นคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกับแนบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินงานของมูลนิธิหรือสมาคมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 531)ฯ  ลงวันที่ 15  ตุลาคม  2555  ต่ออธิบดีกรมสรรพากร  อาคารกรมสรรพากร  เลขที่ 90  ซอยพหลโยธิน 7   ถนนพหลโยธิน  แขวงสามเสนใน  เขตพญาไท  กรุงเทพฯ  10400  เพื่อเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลต่อไป หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่หมายเลข 1161



 

ายชื่อมูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร     ฟังเสียงข่าว



                รายชื่อมูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร  สามารถดูรายละเอียดได้จาก  ประกาศกระทรวงการคลัง  ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) ทางอินเทอร์เน็ตเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ www.rd.go.th หัวข้อ บริการข้อมูล

Visitors: 124,068