คนต่างด้าวร้องขอครอบครองปรปักษ์คอนโดได้หรือไม่
ฎีกาที่
๗๕๐๐/๒๕๕๒ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า
ผู้ร้องมีอำนาจร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในห้องชุดหรือไม่โดยผู้ร้องฎีกาว่า
พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522
ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการถือกรรมสิทธิ์ของคนต่างด้าว อนุญาตให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้เมื่อรวมกันต้องไม่เกินร้อยละสี่สิบเก้าของเนื้อที่ห้องชุด
ผู้ร้องไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเกินกว่าสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด
และได้ครอบครองห้องชุดติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 นั้น เห็นว่า
คนต่างด้าวอาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้โดยต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอาคารชุด
พ.ศ.2522 มาตรา 19 (1) (2) หรือ (5) กล่าวคือ
ต้องเป็นคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
หรือเป็นคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
หรือเป็นคนต่างด้าวซึ่งนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรหรือถอนเงินจากบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศหรือถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ
และต้องแสดงหลักฐานการเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
หรือหลักฐานการเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
หรือหลักฐานการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรหรือหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศหรือถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศในจำนวนไม่น้อยกว่าค่าห้องชุดที่จะซื้อต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา
19 ตรี ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานดังกล่าวตามมาตรา 19
หากเป็นเอกสารที่ถูกต้องตามมาตรา 19 ตรี
และอัตราส่วนการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างด้าวทั้งผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้วและผู้ที่ขอรับโอนไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา
19 ทวิ วรรคหนึ่ง หรืออยู่ในหลักเกณฑ์ตามมาตรา 19 ทวิ วรรคสองและวรรคสาม
อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
พนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับห้องชุด
ให้แก่คนต่างด้าวผู้ขอรับโอนได้ และคนต่างด้าวที่จะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง
พ.ศ.2522 มาตรา 41 คือ
จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการและด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี และตามวรรคสอง
ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า
คณะกรรมการจะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของคนต่างด้าวโดยคำนึงถึงรายได้
สินทรัพย์ ความรู้ ความสามารถในด้านวิชาชีพ
และฐานะในครอบครัวของคนต่างด้าวดังกล่าวกับบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย
เงื่อนไขเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติหรือเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสม
เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
โดยมีข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามมาตรา 44
ถ้าปรากฏว่า
เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศหรือเป็นผู้ไม่สามารถประกอบการหาเลี้ยงชีพได้
เพราะกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
หรือมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
จะเห็นได้ว่าคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไม่อาจขอรับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้
หากผู้ร้องประสงค์ที่จะขอรับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด
ผู้ร้องชอบที่จะดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522
และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522
ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
1382 เพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค
2 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในห้องชุดนั้น
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ