หนังสือเตือนต้องมีข้อความเช่นใดจึงเป็นหนังสือเตือนที่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5222/2545
ป.พ.พ. มาตรา 583
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา
119(4)
หนังสือเตือนนอกจากจะมีข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำนั้นของตนได้แล้ว
ก็จะต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้ลูกจ้างกระทำการเช่นนั้นซ้ำอีกด้วย
แม้หนังสือเตือนของจำเลยจะมีข้อความแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการที่โจทก์ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของจำเลยเพียงพอที่โจทก์จะเข้าใจการกระทำของโจทก์ได้
แต่ไม่มีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้โจทก์กระทำเช่นนั้นซ้ำอีก
คงมีแต่คำว่า "ใบเตือนครั้งที่ 1" และ "ใบเตือนครั้งที่
2"อยู่ด้านบนของเอกสาร
เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหนังสือของจำเลยที่แจ้งการฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของโจทก์ให้โจทก์ทราบเท่านั้น
ไม่เป็นหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119(4)
จำเลยสั่งให้โจทก์ขับรถยนต์บรรทุกไปรับสินค้าที่อาคารเกษรพลาซ่า
แต่โจทก์เดินทางไปไม่ถึงเพราะเหลือเวลาอีกประมาณ 43 นาที
ก็จะติดเวลาห้ามรถยนต์บรรทุกแล่นในเขตกรุงเทพมหานคร
โจทก์จึงนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงานของจำเลย
เมื่อจำเลยมีระเบียบว่าในกรณีที่พนักงานขับรถไม่สามารถขับรถยนต์ไปถึงที่หมายปลายทางได้ทันเวลาและจะต้องนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงาน
พนักงานขับรถจะต้องแจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน
แต่โจทก์ไม่ได้แจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน
การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยอันไม่ใช่กรณีร้ายแรง
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวโดยไม่ได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน
จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แต่เมื่อโจทก์ได้เคยฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ขับรถมาแล้วถึง
2 ครั้ง ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเป็นอาจิณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
583
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว
________________________________
โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง
ทำหน้าที่พนักงานขับรถต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด
และจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย
ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,500
บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 40,000 บาท
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
ของต้นเงิน40,000 บาท และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,500 บาท
นับแต่วันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 29 สิงหาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า
"คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า
โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่าหนังสือเตือนไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โต้แย้งไว้ในชั้นพิจารณาของศาล
ศาลมีอำนาจยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้หรือไม่ และเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2
เป็นหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) หรือไม่ เห็นว่า
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย
ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยให้การว่าโจทก์กระทำความผิดโดยฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย
จำเลยเคยมีหนังสือเตือนโจทก์สองครั้งแล้ว โจทก์ยังกระทำความผิด
จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยกเหตุมาตรา
119(4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 ซึ่งบัญญัติว่า
"ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน"
ขึ้นอ้างเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ด้วย
เมื่อจำเลยอ้างว่าเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 เป็นหนังสือเตือนตามบทกฎหมายข้างต้นในการวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ในการรับและจ่ายค่าชดเชยของโจทก์และจำเลย
ศาลชอบที่จะพิจารณาและวินิจฉัยว่าเอกสารที่จำเลยว่าเป็นหนังสือเตือนดังกล่าวมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการตักเตือนโจทก์ตามบทกฎหมายนั้นหรือไม่โดยโจทก์ไม่จำต้องบรรยายในคำฟ้องหรือโต้แย้งคัดค้านในชั้นพิจารณาของศาลว่าหนังสือเตือนไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
หนังสือเตือนตามบทกฎหมายข้างต้นแม้กฎหมายจะมิได้บัญญัติว่าต้องระบุข้อความใดไว้บ้าง
แต่ย่อมเป็นที่เข้าใจได้โดยทั่วไปว่าหนังสือตักเตือนนั้น
นอกจากจะมีข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำนั้นของตนได้แล้ว
ก็จะต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามมิให้ลูกจ้างกระทำการเช่นนั้นซ้ำอีกด้วยแม้เอกสารหมาย
ล.1 และ ล.2 จะมีข้อความแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการที่โจทก์ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของจำเลยเพียงพอที่โจทก์จะเข้าใจการกระทำของโจทก์ได้แต่ก็ไม่มีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามมิให้โจทก์กระทำการเช่นนั้นซ้ำอีกคงมีแต่คำว่า
"ใบเตือนครั้งที่ 1" และ "ใบเตือนครั้งที่ 2" อยู่ด้านบนของเอกสารดังกล่าวเท่านั้น
เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2
จึงเป็นเพียงหนังสือของจำเลยที่แจ้งการฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของโจทก์ให้โจทก์ทราบเท่านั้น
ไม่เป็นหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)
แต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อมาว่า
โจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เห็นว่า
ตามหนังสือเลิกจ้าง เอกสารหมายจ.2 จำเลยได้ระบุเหตุผลที่เลิกจ้างโจทก์ว่า
เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม
2544โจทก์ได้กระทำผิดกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย
ซึ่งโจทก์ได้กระทำผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 2 ครั้ง
และได้ตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว แต่โจทก์กระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง
ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2544เวลาประมาณ 14
นาฬิกา จำเลยสั่งให้โจทก์ขับรถยนต์บรรทุกไปรับสินค้าที่อาคารเกษรพลาซ่า
บริเวณสี่แยกราชประสงค์
แต่โจทก์เดินทางไปไม่ถึงอาคารดังกล่าวเพราะเหลือเวลาอีกประมาณ 43 นาที
ก็จะติดเวลาห้ามรถยนต์บรรทุกแล่นในเขตกรุงเทพมหานคร
โจทก์จึงนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงานของจำเลย ดังนี้
เมื่อจำเลยมีระเบียบว่าในกรณีที่พนักงานขับรถไม่สามารถขับรถยนต์ไปถึงที่หมายปลายทางได้ทันเวลาและจะต้องนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงาน
พนักงานขับรถจะต้องแจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน
แต่โจทก์มิได้แจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อนการกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยอันมิใช่กรณีร้ายแรง
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวโดยมิได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อนจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้เคยฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ขับรถมาแล้วถึง
2 ครั้ง คือในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2544 กรณีถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเป็นอาจิณตามมาตรา
583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามบทกฎหมายดังกล่าว
จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
( เกษมสันต์ วิลาวรรณ - วีรพจน์
เพียรพิทักษ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )
หมายเหตุ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5222/2545
วินิจฉัยข้อกฎหมาย 3 กรณีคือ
กรณีแรก
หนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)
มีหลักเกณฑ์สำคัญ ดังนี้
1.
หนังสือเตือนนั้นต้องออกโดยนายจ้างหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้ออกหนังสือเตือนได้
ซึ่งส่วนใหญ่จะมอบหมายไว้ในระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
2. การเตือนต้องทำเป็นหนังสือ
จึงจะมีผลทำให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำผิดซ้ำคำเตือนโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
หากเตือนด้วยวาจาจะมีผลทางจิตวิทยาหรือทางบริหาร แต่ไม่มีผลให้เลิกจ้างลูกจ้าง
3.
หนังสือเตือนนั้นต้องระบุการกระทำผิดของลูกจ้างอย่างชัดเจนโดยย่อว่าลูกจ้างทำผิดอะไร
เมื่อไร อย่างไร ที่ทำให้ลูกจ้างเข้าใจได้
4.
หนังสือเตือนต้องมีข้อความห้ามลูกจ้างกระทำผิดอีก หากทำผิดอีกจะลงโทษ
5. นายจ้างต้องแจ้งหนังสือเตือนลูกจ้างทราบด้วยการให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อรับทราบ
หรืออ่านให้ลูกจ้างทราบหรือส่งให้ลูกจ้างทราบ ณ ภูมิลำเนาของลูกจ้าง
คดีนี้
แม้ว่าหนังสือเตือนของนายจ้างจะออกโดยนายจ้างโดยบรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของลูกจ้างอย่างชัดเจนโดยย่อ
แต่ไม่มีข้อความห้ามไม่ให้ลูกจ้างกระทำผิดซ้ำอีก ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อ 4
ดังกล่าวข้างต้น จึงไม่เป็นหนังสือเตือนแม้ลูกจ้างจะกระทำผิดซ้ำในหนังสือเตือน
(ที่ไม่เป็นหนังสือเตือน) อีก ก็ไม่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน
นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
กรณีที่สอง
ลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของนายจ้างในกรณีไม่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบ
ข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หมายถึง นายจ้างมีระเบียบ
ข้อบังคับและคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วแต่ลูกจ้างไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติผิดไปจากระเบียบ
คำสั่งหรือข้อบังคับ
2. ในกรณีไม่ร้ายแรง
ซึ่งต้องพิเคราะห์ถึงลักษณะการกระทำ พฤติการณ์ของการกระทำ ผลเสียหายจากการกระทำ
ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ประกอบกัน
3. นายจ้างต้องตักเตือนลูกจ้างก่อน
จะเลิกจ้างทันทีไม่ได้ มิฉะนั้นต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
คดีนี้
นายจ้างมีระเบียบว่าในกรณีที่พนักงานขับรถยนต์ไม่สามารถขับรถยนต์ไปถึงที่หมายปลายทางได้ทันเวลา
และจะต้องนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงาน
พนักงานขับรถยนต์จะต้องแจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน
แต่โจทก์ไม่แจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน
เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของนายจ้าง
แต่พฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของโจทก์นั้นไม่มีลักษณะรุนแรง
และไม่ปรากฏว่าทำให้นายจ้างเสียหายมากน้อยเพียงใดจึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนในกรณีร้ายแรง
เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
กรณีที่สาม
การบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17
ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1.
การบอกเลิกสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน
2.
นายจ้างหรือลูกจ้างต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างด้วยการแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือ
3.
ฝ่ายที่บอกเลิกสัญญาจ้างต้องบอกเลิกก่อน
หรือในวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า
4. นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง
นายจ้างต้องให้เหตุผลในหนังสือเลิกจ้างมิฉะนั้นนายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119
ขึ้นมาอ้างปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้
5.
นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
6.
การเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้ามี 3 กรณี คือ
6.1
สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง เมื่อครบกำหนดเวลาการจ้าง
6.2
ลูกจ้างกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
6.3
ลูกจ้างกระทำผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
คดีนี้
โจทก์เคยฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยมาแล้วถึง 2 ครั้ง
ถือว่าลูกจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างเป็นอาจิณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
583
จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
รุ่งโรจน์ รืนเริงวงศ์