เอางานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4588/2552
เมอร์ซิส บี.วี. โจทก์
กรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6, 8, 16
การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า
แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8
(9) ห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายเมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ
ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคอื่นโดยวิธีใดๆ
อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตน
ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรือรัฐประศาสโนบายนั่นเอง
เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนจึงมีหรือประกอบด้วยลักษณะอันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตาม
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) และไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 16
________________________________
โจทก์ฟ้องว่า
โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “รูปภาพกระต่าย NIJNTJE” ทะเบียนเลขที่ ค98118 ซึ่งได้รับจดทะเบียนเมื่อวันที่
22 มิถุนายน 2541 จำพวกสินค้า 25 รายการสินค้า ชุดเสื้อผ้าเด็ก ชุดเด็กอ่อน กางเกงขายาว กางเกงขาสั้น
กางเกง (ไม่รวมกางเกงชั้นใน กางเกงกีฬา) ฯลฯ
ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ประกาศโฆษณาเครื่องหมายการค้า “OJOSUN และรูปภาพกระต่ายยืนอยู่บนหลังช้าง” จำพวกสินค้า 25
รายการสินค้า เสื้อ เสื้อกีฬา ยกเว้นเสื้อชั้นใน กางเกง กางเกงกีฬา
ยกเว้นกางเกงชั้นใน คำขอเลขที่449331 ของนายณรงค์กฤษณ์
ผู้ขอจดทะเบียน โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ผู้ขอจดทะเบียนได้ยื่นคำโต้แย้งคัดค้าน
นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านของโจทก์
และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนต่อไป
โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว
แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เพราะเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนี้มีความเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งในส่วนประกอบหลักและสาระสำคัญในตัวเครื่องหมายคือ
“รูปกระต่าย”
รวมทั้งเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าก็เหมือนหรือคล้ายกันคือเรียกว่า
“ตรากระต่าย” เช่นกัน มิได้เรียกขานว่า “โอโจซัน
กระต่ายยืนบนหลังช้างหรือกระต่ายบนหลังช้าง”
ตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัย
เมื่อจำพวกสินค้าและรายการสินค้าต่างก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน
โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าจึงเกิดขึ้นได้
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายและเป็นที่รู้จักอย่างดีในหมู่ผู้บริโภคทั่วโลกสำหรับสินค้าประเภทเสื้อผ้า
เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้ทั่วโลก
นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนยังคล้ายกับงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยเพราะ
“รูปภาพกระต่าย NIJNTJE” ของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของงานอันมีลิขสิทธิ์รูปภาพกระต่ายยืนอยู่บนหลังช้างเรียงกัน
สามเชือก
ที่โจทก์เป็นผู้คิดค้นและออกแบบ
โดยได้ขึ้นทะเบียนลิขสิทธิ์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2529
โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในรูปภาพดังกล่าว
และมีสิทธินำรูปภาพนั้นมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้
คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่
449331
จำเลยให้การว่า
เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของโจทก์
โดยมีรูปลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน
เสียงเรียกขานก็แตกต่างกันไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของและแหล่งกำเนิดของสินค้า
ลิขสิทธิ์ แม้จะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง
แต่มิใช่เครื่องหมายการค้าโจทก์ไม่อาจอ้างเพื่อเป็นเหตุให้ระงับการจดทะเบียนของผู้ขอจดทะเบียนได้
ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่
262/2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 783/2547 ที่ให้ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอเลขที่ 449331
ของผู้ขอจดทะเบียนนั้นต่อไปเสีย ส่วนคำขออื่น
ให้ยก
กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า
“พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า
โจทก์เป็นเจ้าของอันมีลิขสิทธิ์ประเภทจิตรกรรม เป็นรูปกระต่ายยืนบนหลังช้าง
ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 และโจทก์เป็นเจ้าของ
เครื่องหมายการค้า
ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10
ส่วนเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียน
ปรากฏตามเอกสารหมาย
จ.9
เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายมีรูปกระต่ายเป็นภาคส่วนของเครื่องหมายการค้าและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก
25 เหมือนกัน
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นประการแรกว่า
เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้าที่อาจรับจดทะเบียนตามกฎหมายได้หรือไม่
โดยจำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2 (ค) ทำนองว่า
รูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนแตกต่างจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
นอกจากนี้
โจทก์ไม่อาจอ้างงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเป็นเหตุให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้
เห็นว่า
โจทก์ฟ้องและกล่าวอ้างมาโดยตลอดในทำนองว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13 และ จ.16
ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เอกสารหมาย จ.4 กับเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียน เอกสารหมาย จ.9
แล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นรูปภาพกระต่ายยืนอยู่บนหลังช้าง
ซึ่งยืนเรียงกันสามเชือก ส่วนเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนเป็นรูปกระต่ายยืนอยู่บนหลังช้าง
มีกรอบสีทึบล้อมรอบรูปกระต่ายยืนบนหลังช้าง และมีอักษรโรมันคำว่า OJOSUN ล้อมรอบสลับกับขีดเส้นไขว้สามช่องล้อมเป็นวงกลมเป็นภาคส่วนประกอบด้วย
แต่รูปกระต่ายยืนบนหลังช้างอยู่กึ่งกลางของเครื่องหมาย มองเห็นได้เด่นชัดกว่าภาคส่วนอื่น
ถือว่ารูปกระต่ายยืนบนหลังช้างเป็นภาคส่วนสำคัญของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว
งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์กับส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนคือ
ตัวกระต่ายกับช้างนั้นมีลักษณะที่เหมือนกันมาก โดยตัวกระต่ายจะหันหน้าตรง รูปหน้าทรงกลม
มีตาเป็นจุด ปากเป็นเส้นทแยงมุม 2 เส้นตัดกัน
ใบหูยาวตั้งตรงปลายมน ไม่ปรากฏแขนซ้ายขวา และเท้าที่ปรากฏ 2
ข้าง ไม่มีนิ้วเท้า ส่วนช้างหันศีรษะไปทางซ้าย ลำตัวมีลักษณะเป็นเส้นโค้ง
มีตาเป็นจุด ใบหูเป็นเส้นโค้ง ไม่ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนดังกล่าวคิดค้นขึ้นมาได้เช่นใด
และเหตุใดจึงมีความใกล้เคียงกับงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ ทั้งๆ
ที่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นรูปการ์ตูนตัวกระต่ายกับช้างประกอบกันถึง 2 ตัว และมีลักษณะพิเศษเฉพาะ
แตกต่างจากกระต่ายและช้างในลักษณะของสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติโดยทั่วไป
ไม่น่าจะมีการคิดสร้างรูปการ์ตูนกระต่ายที่ยืนบนหลังช้างขึ้นมาเหมือนกันได้โดยบังเอิญเช่นนี้
อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า
เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนทั้งเครื่องหมายแตกต่างจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
จึงไม่อาจรับฟังได้สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่สามารถอ้างงานอันมีลิขสิทธิ์ขอนตนมาเป็นเหตุให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น
เห็นว่า การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าเช่นนี้
แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง
แต่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8
ได้บัญญัติห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประด้วยลักษณะดังนี้....
(9) เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย
เมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ
ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นโดยวิธีใดๆ
อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนเช่นนี้ ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย
และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบายนั่นเอง
เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนี้จึงมีหรือประกอบด้วยลักษณะอันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) และไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
พ.ศ.2534 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 16 ดังนั้น
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามานั้นจึงชอบแล้ว
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล
อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป
เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน
ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
( บุญรอด
ตันประเสริฐ - พลรัตน์ ประทุมทาน - รัตน กองแก้ว )