ปัญหาบางประการเกี่ยวกับการลวงขาย
ปัญหาบางประการเกี่ยวกับการลวงขาย
ผู้เขียน พงษ์เดช
วานิชกิตติกูล น.บ., น.บ.ท., LL.M.
(Washington College of Law, American University), ผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี
ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาบทบัณฑิตย์ เล่ม 56 ตอน 3 กันยายน 2543
; หน้า 93 - 103
ปัจจุบันเป็นยุคแห่งการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
ประเทศทั้งหลายทั่วโลกเข้าสู่ระบบการค้าเสรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การแข่งขันทางการค้าจึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง
และสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการแข่งขันทางการค้าก็คือทรัพย์สินทางปัญญา
ซึ่งกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามักจะเน้นหลักการเรื่องใครเป็นเจ้าของหรือผู้ใดมีสิทธิใช้ทรัพย์สินทางปัญญา
การใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้นถูกต้องชอบธรรมหรือไม่
มีการใช้วิธีการที่ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้าหรือไม่
การป้องกันการผูกขาดจากเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญานั้น อาจกล่าวได้ว่า
การแข่งขันทางการค้าเปรียบเสมือนการเล่นเกมกีฬาอย่างหนึ่งที่ประเทศมหาอำนาจทางการค้าอ้างกฎ
กติกาในการเล่น
คือ การเล่นเกมอย่างยุติธรรม (Fair Play) การลวงขายถือเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ใช้วิธีการไม่ชอบธรรมเอาเปรียบผู้แข่งขันอื่น
กฎหมายจึงจำเป็นต้องเข้าไปควบคุมดูแล
เพื่อให้การแข่งขันดำเนินต่อไปอย่างเป็นธรรมต่อผู้ค้าขายทั้งหลาย
ซึ่งเป็นหลักกฎหมายของระบบคอมมอนลอว์สำหรับประเทศที่มีระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์จะมีหลักกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมให้ความคุ้มครองสำหรับการกระทำที่เป็นการลวงขาย
ความหมายและหลักกฎหมายของการลวงขาย
การลวงขาย
(ในประเทศอังกฤษ เรียกว่า passing off ในประเทศสหรัฐอเมริกา
เรียกว่า palming off) หมายถึง เมื่อลูกค้าสั่งสินค้าแล้ว
มีการนำสินค้าของคนหนึ่งไปทดแทนสินค้าอีกคนหนึ่ง ซึ่งการลวงขายนี้มักจะอาศัยวิธีการทำสินค้าให้คล้ายกันเพื่อให้เกิดความสับสนกฎหมายเกี่ยวกับการลวงขายมีรากฐานเดียวกันกับกฎหมายเครื่องหมายการค้า
ซึ่งถือเป็นการละเมิดประการหนึ่ง
แต่สิ่งที่กฎหมายว่าด้วยการลวงขายให้ความคุ้มครองคือ ชื่อเสียงเกียรติคุณ (Goodwill)
ในธุรกิจการค้า โดยถือว่าผู้เป็นเจ้าของชื่อเสียงเกียรติคุณในธุรกิจการค้ามีสิทธิในทางทรัพย์สินที่ควรได้รับการคุ้ม
ครองจากกฎหมาย
Buckley
LJ ได้อธิบายไว้ว่า “บุคคลที่ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์อาจได้
รับชื่อเสียงอันทรงคุณค่าในสินค้าที่เขาค้าขายหรือบริการที่เขาประกอบอยู่หรือในกิจการของเขา
ซึ่งกฎหมายถือว่าชื่อเสียงดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน
ที่ผู้เป็นเจ้าของมีสิทธิได้รับความคุ้มครอง” และ Lord Langdale
MR ได้กล่าวไว้ในคดี Perry v Truefitt ว่า
“บุคคลต้องไม่จำหน่ายสินค้าของตนโดยหลอกลวงว่าเป็นสินค้าของผู้ค้าอีกคนหนึ่ง”
กฎหมายว่าด้วยการลวงขายจัดเป็นอีกหลักกฎหมายหนึ่งในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
ในส่วนของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าหรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมที่ก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในแหล่งที่มาของสินค้า
เรียกว่า Trade Identity Unfair Competition4
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลวงขายตามหลักกฎหมายคอมมอนลอว์ของประเทศอังกฤษปรากฏอยู่ในคดีสำคัญเมื่อปี
๑๙๗๙5 ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนั้นมีว่าโจทก์ผลิตสุราที่ทำจากส่วนผสมคุณภาพดีชื่อว่า
“Advocaat”
จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและจำหน่ายได้จำนวนมาก
จำเลยผลิตสุราที่ทำจากส่วนผสมที่มีคุณภาพด้อยกว่าและราคาถูกกว่าของโจทก์จำหน่ายในตลาด
โดยใช้ชื่อว่า “Keeling’s Old English Advocaat” ซึ่งสามารถแย่งส่วนแบ่งในตลาดของโจทก์ในประเทศอังกฤษได้จำนวนมากแต่ไม่ปรากฏว่าลูกค้าของโจทก์เกิดความสับสนหรือหลงผิดในระหว่างสินค้าของโจทก์และของจำเลย
อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าชื่อเสียงของโจทก์ควรได้การคุ้มครองมิให้คู่แข่งทางการค้านำชื่อสินค้าของโจทก์ไปแสวงหาประโยชน์
Lord Diplock ได้วางหลักกฎหมายเกี่ยวกับการลวงขายไว้ ดังนี้
๑.
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จ (misrepresentation)
๒.
โดยผู้ประกอบการค้า (made by a trader in the course of
trade)
๓. ต่อลูกค้าหรือผู้บริโภคสินค้าหรือบริการที่ตนผลิตออกจำหน่าย
(to
prospective customers of his or ultimate consumers of goods or services
supplied by him)
๔.
ซึ่งเจตนาทำความเสียหายแก่ธุรกิจหรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้ค้าอีกคนหนึ่ง (which
is calculated to injure the business or goodwill of another trader) และ
๕.
ก่อให้เกิดความเสียหายที่แท้จริงแก่ธุรกิจหรือชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ (which
causes actual damage to a business of goodwill of the trader by whom the action
is brought)
ต่อมาในปี
๑๙๙๐ ได้เกิดคดี “Jiff Lemon Case7”
ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่าโจทก์จำหน่ายน้ำมะนาวในขวดพลาสติกที่มีสีและรูปทรงคล้ายผลมะนาว
จำเลยผลิตน้ำมะนาวออกจำหน่ายโดยใส่ในขวดพลาสติกคล้ายของโจทก์ แต่มีขนาดใหญ่กว่า
ด้านหนึ่งเรียบ และใช้ฝาสีเขียว ซึ่งทำให้ลูกค้าหลงผิดคิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์
จำเลยจึงถูกห้ามมิให้ใช้บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวออกจำหน่าย โดยถือเป็นการลวงขาย
Lord Oliver ได้วางหลักกฎหมายเกี่ยวกับการลวงขายอีกครั้งหนึ่งในคดีนี้และได้วางหลักกฎหมายว่าการลวงขายต้องมีองค์ประกอบดังนี้8
๑.
โจทก์ต้องเป็นเจ้าของชื่อเสียงเกียรติคุณ (Goodwill)
๒. มีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับสินค้า
(misrepresentation)
๓.
เกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์(damages)
แม้จะมีผู้พิพากษาหลายท่านพยายามวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลวงขายในคดีต่อมา
แต่ถือกันว่าหลักกฎหมายที่ Lord Diplock วางไว้ใกล้เคียงกับหลักกฎหมายในปัจจุบันและมีผู้อ้างอิงมากที่สุด
สำหรับในประเทศไทยการกระทำเกี่ยวกับการลวงขายมีปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้ามาโดยตลอด
คือ ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ มาตรา ๒๙ วรรคสอง “ท่านว่าข้อความในพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบถึงสิทธิในการฟ้องคดี
ซึ่งจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นและไม่ตัดสิทธิทางแก้อันผู้เสียหายจะพึงมี”และในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.
๒๕๓๔ มาตรา ๔๖ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน
ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลอื่น
ซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น”
ซึ่งมีผู้ให้ความหมายของการลวงขายไว้ว่า “การลวงขายได้แก่การที่จำเลยเอาสินค้าของตนออกขายว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น
เป็นการแสวงหาประโยชน์จากความนิยมในสินค้าของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม” (
สมบูรณ์ บุญภินนท์, ข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีเครื่องหมายการค้า,
บทบัณฑิตย์ เล่มที่ 48 ตอน 1
มีนาคม 2535,
หน้า 82.)
“การลวงขายคือการที่บุคคลหนึ่งเอาสินค้าของตนไปขายโดยกระทำด้วยประการใด
ๆ เพื่อลวงผู้ซื้อว่าเป็นสินค้าของบุคคลอื่น” (ไชยยศ เหมะรัชตะ,
ลักษณะของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา, สำนักพิมพ์นิติธรรม,กรุงเทพมหานคร : 2539, หน้า276 – 277.)
และศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า
“ความหมายคำว่า “ลวงขาย” ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ มาตรา ๒๙
วรรคสอง มิได้จำกัดเฉพาะสินค้าชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันเท่านั้น
หากแต่มีความหมายกว้างครอบคลุมถึงกรณีต่าง ๆ
ซึ่งจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น
ซึ่งมีความหมายได้ว่าไม่ใช่เป็นการลวงในวัตถุเท่านั้น หากแต่เป็นการลวงในความเป็นเจ้าของด้วย
กล่าวอีกนัยหนึ่ง
การลวงขายคือการกระทำใด ๆ
ให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดหรือสับสนในแหล่งกำเนิดของสินค้านั่นเอง อย่างไรก็ดี
กฎหมายว่าด้วยการลวงขายนี้มิได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค (consumer
protection) แต่กฎหมายต้องการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของชื่อเสียงเกียรติคุณ
มิให้ชื่อเสียงเกียรติคุณนั้นถูกทำลายไปจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมของผู้อื่น
ยิ่งกว่าการป้องกันมิให้ผู้ซื้อถูกหลอกลวงให้สับสน หรือ หลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ
ซึ่งหลักการตรงนี้จึงแตกต่างจากกฎหมายเครื่องหมายการค้า
ขอบเขตการให้ความคุ้มครอง
กฎหมายว่าด้วยการลวงขายของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ให้ความคุ้มครองอย่างกว้างขวาง
ไม่ว่าจะเป็นชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนการโฆษณา
หรือรูปแบบการดำเนินกิจการ (general get-up) ซึ่งกล่าวได้ว่าอะไรก็ตามที่ทำให้สินค้า
บริการ หรือกิจการมีลักษณะบ่งเฉพาะ (distinctive) ย่อมได้รับความคุ้มครอง14
เช่น รูปทรงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่น้ำผลไม้จำหน่ายจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
สีของกระดาษห่อลูกอม หรือชื่อสินค้า เป็นต้น
กฎหมายจะให้ความคุ้มครองแก่โจทก์ผู้เสียหายโดยพิจารณาพฤติการณ์ใน
๓ กรณี คือ
๑. กิจการค้า
(The
course of trade) โจทก์และจำเลยจะต้องดำเนินกิจการประเภทเดียวกัน (common
field of activity) หากโจทก์และจำเลยดำเนินกิจการค้าต่างประเภทกันแล้วสาธารณะชนย่อมไม่มีโอกาสสับสนหรือหลงผิดในแหล่งที่มาของสินค้าและไม่ส่งผลต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์แต่อย่างใด
๒.
สิ่งที่กฎหมายคุ้มครอง (Extent of marks and get-up protected)กฎหมายว่าด้วยการลวงขายให้ความคุ้มครองแก่เครื่องหมาย ชื่อ
รูปทรงและบรรจุภัณฑ์ หากสิ่งนั้นมีลักษณะบ่งเฉพาะ
และผู้เป็นเจ้าของได้รับชื่อเสียงเกียรติคุณจากสิ่งนั้นจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่สาธารณะชนผู้ซื้อ
แม้แต่หมายเลขโทรศัพท์ก็ได้รับความคุ้มครอง
๓.
พื้นที่ค้าขาย (Geographical range) ชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้ค้าจะเกิดความเสียหายได้ก็ต่อเมื่อมีการลวงขายแก่กลุ่มลูกค้าของผู้ค้านั้น
การลวงขายย่อมแสดงโดยปริยายว่าพื้นที่ค้าขายระหว่างผู้ค้าสองรายย่อมซ้อนทับกัน
เช่น A ขายสินค้าในพื้นที่ ก. B ขายสินค้าชนิดเดียวกันในพื้นที่
ค. กลุ่มลูกค้าย่อมต่างกันการลวงขายจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้
แต่ปัจจุบันกฎหมายคำนึงถึงโอกาสที่ผู้ค้าจะขยายพื้นที่ค้าขายออกไป ตามตัวอย่างหาก B
ขายสินค้าในพื้นที่ ข. ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ ก. ที่ A
ค้าขายอยู่ โอกาสที่ลูกค้าของ A จะสับสนหรือหลงผิดว่าสินค้าของ
B เป็นของ A ย่อมเกิดขึ้นได้ ดังนั้น
พื้นที่ค้าขายจึงไม่จำเป็นต้องซ้อนทับกันเสียทีเดียว แต่ที่สำคัญสินค้าของ A
ต้องมีชื่อเสียง
เกียรติคุณในพื้นที่
สำหรับกฎหมายไทยมีผู้แยกแยะองค์ประกอบของการลวงขายที่กฎหมายจะให้ความคุ้มครองดังนี้
๑.
สินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องเป็นที่รู้จักแพร่หลายของประชาชน
(น่าจะหมายความถึง Goodwill นั่นเอง)
ถ้าไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย (หรือไม่มี Goodwill) ย่อมไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะทำการลวงขายสินค้าของตนว่าเป็นของโจทก์
๒.การที่จะเป็นลวงขายต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า
จำเลยมิได้แสดงไว้ที่สินค้าอย่างเด่นชัดว่าเป็นสินค้าของจำเลยเอง
ถ้าจำเลยแสดงว่าเป็นสินค้าของจำเลยไว้อย่างเด่นชัดแล้ว จะว่าจำเลยลวงขายไม่ได้ (ซึ่งหมายความว่าจำเลยต้องกระทำการอันเป็นเท็จ
หรือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า misrepresentation )
๓.
ต้องมีประเด็นเรื่องการลวงขาย คือ
ฟ้องโจทก์ต้องอ้างว่าจำเลยเอาสินค้าของจำเลยมาลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์
(ข้อนี้เป็นเรื่องของกฎหมายวิธีพิจารณาความเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท)
เมื่อพิจารณาแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วเห็นว่าหลักกฎหมายเกี่ยวกับการลวงขายของไทยใกล้เคียงกับของประเทศอังกฤษอยู่มากเกี่ยวกับกิจการค้าและพื้นที่ในการค้า
เช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๗๓๔/๒๕๑๙ แถบคอเสื้อ ของโจทก จำเลยต่างใช้อักษรโรมันคำเดียวกัน
แต่เครื่องหมายแถบไม่เหมือนกัน โดยของโจทก์ใช้ตัวเอน และมีอักษรโรมันอื่นประกอบด้วย
ส่วนของจำเลยเป็นอักษรตัวตรง และมีอักษรไทยประกอบแตกต่างกันเห็นได้ชัด
ทั้งโจทก์จำเลยประกอบการค้าในลักษณะแตกต่างกัน คือ
โจทก์ผลิตเสื้อสำเร็จรูปส่งจำหน่ายตามร้านค้า
ส่วนจำเลยตั้งร้านรับจ้างตัดเสื้อกางเกง และใช้แถบติดคอเสื้อเฉพาะที่จำเลยรับจ้างตัดเท่านั้น
จึงไม่พอฟังว่าจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์
ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์
(กฤษณ์
โสภิตกุล – สุมิตร ฟักทองพรรณ – ชุบ วีระเวคิน)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๔๕๓๕/๒๕๓๓ โจทกจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาททั่วโลก
แต่มิได้ส่งสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาจำหน่ายในประเทศไทย
หรือโจทก์มีตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ในประเทศไทย
เมื่อประชาชนคนไทยไม่รู้จักสินค้าของโจทก์ก็ไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ว่าจำเลยผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยทำให้ประชาชนเกิดสับสนในแหล่งกำเนิดหรือคุณภาพสินค้าของจำเลยหรือทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์
(ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล – พัลลภ พิสิษฐ์
สังฆการ – ชุบ
สุกแสงปลั่ง)
สิ่งที่แตกต่างกัน
คือ ขอบเขตของการให้ความคุ้มครอง เนื่องจากตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.
๒๕๓๔ มาตรา ๔๖ วรรคสอง
บุคคลที่จะเป็นผู้เสียหายในกรณีการลวงขายได้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า
ซึ่งเครื่องหมายการค้านั้นไม่ได้จดทะเบียน
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไม่ถูกต้องสมบูรณ์ หรือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เฉพาะสินค้าบางจำพวก
หรือบางชนิด22 ดังนั้น
สิ่งที่กฎหมายจะให้ความคุ้มครองจึงอยู่ภายใต้คำจำกัดความของคำว่า
“เครื่องหมายการค้า” ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
แม้แต่ชื่อของบุคคลที่ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง
ดังปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๐๓๗/๒๕๓๘ จำเลยเอาคำว่า “เซฟตี้แก๊ส”
ชื่อของโจทก์ซึ่งมีความหมายธรรมดาถึงความปลอดภัยของการใช้แก๊สมาต่อท้ายเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่กรมทะเบียนการค้าได้รับจดทะเบียนไว้แล้วมาใช้กับสินค้าหัวปรับแรงดันแก๊สที่จำเลยเป็นผู้ผลิต
ซึ่งสาธารณชนย่อมเข้าใจได้ว่าหัวปรับแรงดันแก๊สภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของจำเลยมิใช่ของโจทก์
กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายคุ้มครองโจทก์ที่จะเรียกให้จำเลยระงับหรือสั่งห้ามมิให้ใช้ชื่อโจทก์ได้
เพราะชื่อของบุคคลกับเครื่องหมายการค้าเป็นคนละเรื่องกัน จำเลยมิได้ทำผิดกฎหมายอันเป็นการล่วงสิทธิโจทก์
(สมภพ
โชติกวณิชย์ –
ประสิทธิ์ แสนศิริ – ทวิช กำเนิดเพ็ชร์)
ในขณะที่กฎหมายคอมมอนลอว์ของประเทศอังกฤษผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเท่านั้น
แต่ยังให้ความคุ้มครองแก่รูปทรง หรือ บรรจุภัณฑ์ของสินค้า (containers,
shape or appearance) ด้วย
ในแง่นี้กฎหมายเกี่ยวกับการลวงขายของไทยจึงมีขอบเขตที่แคบกว่า
เพราะมุ่งคุ้มครองตัวเครื่องหมายการค้ายิ่งกว่าชื่อเสียงเกียรติคุณ (Goodwill)
ของสินค้า และไม่อาจพัฒนาให้ครอบคลุมพฤติการณ์ในการแข่งขันทางการค้าในรูปแบบอื่นได้
เช่น การนำตัวละครหรือการ์ตูนมาจำหน่ายในรูปของสินค้าต่าง ๆ (character
merchandising)
เจตนาของผู้ลวงขาย
แม้ว่าคดีลวงขายส่วนมากจะปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาจงใจใช้ชื่อ
เครื่องหมาย หรือรูปแบบสินค้าของโจทก์
เพื่อแย่งส่วนแบ่งของยอดจำหน่ายสินค้าของโจทก์ก็ตาม การลวงขายก็ไม่จำเป็นที่จำเลยต้องกระทำโดยมี
“เจตนาฉ้อฉล (fraudulentmotive)” เสมอไป
หากจำเลยก่อให้เกิดการหลงผิดหรือสับสนในแหล่งที่มาของสินค้าหรือบริการแก่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภค
และมีความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ (Goodwill)ของโจทก์แล้ว
แม้จะกระทำไปโดยสุจริต (innocently) ศาลอังกฤษก็จะถือว่ามีการลวงขายเกิดขึ้น
และจำเลยย่อมถูกสั่งห้ามการกระทำที่ก่อให้เกิดการสับสนหรือหลงผิดนั้น
เช่น A
เปลี่ยนชื่อเป็น Levi Strauss แล้วนำเอาชื่อที่เปลี่ยนนั้นมาตั้งเป็นชื่อร้านค้าเสื้อผ้ายีนส์
แม้การกระทำเช่นนี้จะไม่ใช่ข้อความเท็จ แต่เป็นไปได้ว่าจะถูกบริษัทผู้ผลิตกางเกงยีนส์ฟ้องในคดีลวงขายได้กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ
“ในคดีลวงขายนั้น
ไม่จำเป็นจะต้องยึดหลักว่าถ้อยคำหรือคำโฆษณาของจำเลยนั้นเป็นความจริงหรือเป็นเท็จ
เพราะไม่ว่าจะเป็นจริงหรือเท็จก็อาจเป็นการลวงขายได้
สิ่งที่จะต้องพิจารณามีอยู่ข้อเดียวว่า จำเลยใช้ถ้อยคำ หรือการโฆษณา
เป็นทางให้ลูกค้าเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์หรือไม่”
สำหรับคดีลวงขายในประเทศไทย
เจตนาของจำเลยมีความสำคัญหรือจำเป็นต่อการพิจารณาคดีหรือไม่
เมื่อพิจารณาถ้อยคำในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๖
วรรคสองแล้ว
ดูเหมือนว่าเจตนาของจำเลยเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นการลวงขาย
เพราะกฎหมายบัญญัติว่า
“เอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น”
แสดงว่าจำเลยต้องทราบอยู่ก่อนแล้วว่ามีผู้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแล้ว
แต่จำเลยก็ยังทำการลวงขายสินค้าของตนว่าเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น
ซึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่าจำเลยต้องมีเจตนาเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์
คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๕/๒๕๓๙ เครื่องหมายการค้าคำว่า ORAL-B
กับ DENTAL-B มีความ
แตกต่างกันเพียงคำแรก
คือ OR
กับ DEN ส่วนสองคำหลังเหมือนกันทั้งตัวอักษรและการอ่านออกเสียง
ประกอบกับเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งสามารถใช้อักษรไม่ให้เหมือนกันได้เป็นจำนวนมาก
แต่หาได้ใช้ไม่ จึงฟังได้ว่าตัวอักษรที่จำเลยที่ ๒
ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีลักษณะ
คล้ายกับอักษรเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงขนาดนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน
เครื่องหมายการค้าคำว่า
ORAL-B
กับ DENTAL-C ของจำเลยที่ ๒
มีความแตกต่างกันทั้งตัวอักษรและการอ่านออกเสียงจุดเด่นที่ทั้งสองฝ่ายเน้นคืออักษรโรมันดังกล่าว
ผู้ซื้อแปรงสีฟันย่อมจะเรียกขานตามยี่ห้อ
หรือหากเลือกสินค้าเองก็คงจะพิจารณาจากชื้อยี่ห้อที่ปรากฏมากกว่าจะไปดูรายละเอียดอักษรยนกล่อง
เครื่องหมายการค้าดังกล่าวใช้อักษรโรมันไม่กี่ตัวและอ่านออกเสียงเพียง ๓ พยางค์
แปรงสีฟันของโจทก์ติดตลาดแล้วย่อมเป็นที่รู้จักดีอีกทั้งยังมีราคาสูงกว่าแปรงสีฟันของจำเลยที่
๒ นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ ยังได้โฆษณาแปรงสีฟัน DENTAL-C ทางสื่อทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาที่จะให้สาธารณชนหลงผิดหรือลวงขายเป็นสินค้า
ORAL-B (เสริม บุญทรงสันติกุล – ยงยุทธ ธารีสาร – ชูชาติ ศรีแสง)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๒๑๐๘/๒๕๓๘ โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่
๔๒ ประเภทอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งซึ่งประกอบด้วย เนื้อ เป็ด ไก่ ปลา และผัก
เช่นเดียวกับสินค้าที่ใช้มานานในต่างประเทศ
แม้สินค้าดังกล่าวจะแตกต่างกับสินค้าของจำเลยซึ่งเป็นลูกกวาด ขนมปังกรอบ
ขนมปังช็อกโกแล็ตและนม แต่สินค้าของจำเลยอยู่ในจำพวกที่ ๔๒ และถือได้ว่าเป็นสินค้าประเภทอาหารด้วย
ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวทั้งหมดอาจเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายเดียวกัน
เป็นการที่จำเลยใช้เครื่อง
หมายการค้าของจำเลยโดยไม่สุจริต
โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทย
เมื่อไม่ปรากกว่าจำเลยได้ลวงขายสินค้าของจำเลยต่อสาธารณชนว่าเป็นสินค้าของโจทก์
กรณีจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา ๒๙
วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔
ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทได้ (จเร อำนวยวัฒนา – ยงยุทธ
ธารีสาร – อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ)
ประเภทของการลวงขาย
ในกฎหมายอังกฤษกล่าวกันว่าการลวงขายมี
๒ ประเภท คือ
๑. Classical
passing off ได้แก่กรณีที่ B ขายสินค้าของตนว่าเป็นสินค้าของ
A
๒. Extended
passing off ได้แก่กรณีที่ B ใช้ชื่อหรือบรรยายสินค้าโดยแสดงว่าคุณภาพของสินค้าของตนดี
โดยอาศัยชื่อเสียงในสินค้าของ A
อย่างไรก็ตาม
วิธีการแข่งขันทางการค้าโดยอาศัยความมีชื่อเสียงของบุคคลอื่นในปัจจุบันมิได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น
เพราะผู้ค้าคนหลังอาจทำให้ผู้ซื้อหลงผิดคิดว่าสินค้าที่มีชื่อเสียงของผู้ค้าคนแรกเป็นสินค้าของตน
เช่น B
ซื้อสินค้าของ A แล้วนำมาเปลี่ยนชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของ
A แล้วจำหน่ายแก่ผู้ซื้อ ทำให้ผู้ซื้อหลงผิดคิดว่าสินค้าของ A
เป็นสินค้าที่ B ผลิตขึ้นเอง
ซึ่งในประเทศอังกฤษเรียกว่าInverse passing off27 หรือ Reverse
passing(palming) off28
ในประเทศสหรัฐอเมริกาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ค้าคนแรก (A) อาจไม่เห็นเด่นชัดนักเพราะ A ได้รับเงินจากการขายครั้งแรกแล้ว
แต่ศาลสหพันธรัฐภาค ๙ ของสหรัฐอเมริกาได้อธิบายความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ A
ไว้ว่า ในกรณีของ Reverse palming off เจ้าของสินค้าที่แท้จริงต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงสินค้าและ
Goodwill ที่จะเกิดขึ้นจากการที่สาธารณะจะได้รับรู้ถึงแหล่งที่มาของสินค้าอย่างถูกต้อง...ขณะเดียวกันผู้ซื้อก็ไม่ได้รับรู้ถึงแหล่งที่มาของสินค้าที่แท้จริงและถูกหลอกลวงให้เชื่อว่ามีแหล่งที่มาจากที่อื่น
สำหรับในประเทศไทยหาก
ข. ซื้อสินค้าของ ก.
นำมาเปลี่ยนป้ายชื่อสินค้าหรือเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าเดิมของ ก. ไปเป็นของ ข.
แล้วจำหน่ายต่อไปให้แก่ผู้ซื้อจะมีความผิดฐานลวงขายหรือไม่
ถ้าพิจารณาตามบทบัญญัติในมาตรา ๔๖ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.
๒๕๓๔ แล้ว ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีความผิดหรือไม่ เพราะกฎหมายใช้ถ้อยคำว่า
“...เอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น”
การจะแปลความในทำนองกลับกันว่า
“เอาสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของตน” ดูจะขัดแย้งกับถ้อยคำในกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
ดังนั้น ในกรณีที่มีการลวงขายแบบ Reverse passing off ศาลไทยอาจต้องนำบทกฎหมายอื่นมาปรับใช้ เช่น ละเมิด
การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือการใช้สิทธิที่มีแต่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
บทสรุป
การลวงขายตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา๔๖ วรรคสอง
มุ่งให้ความคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนยิ่งกว่าชื่อเสียงเกียรติคุณ
(Goodwill)
ของสินค้า
กฎหมายจึงให้ความคุ้มครองแก่การกระทำที่มีต่อเครื่องหมายการค้าเป็นสำคัญ เช่น
มีการขายสินค้าโดยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น หรือ การนำสินค้าของตนไปขายโดยนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาติดไว้ที่สินค้า30
ดังนั้น หลักกฎหมายเกี่ยวกับการลวงขายจึงไม่อาจ
พัฒนาให้ครอบคลุมถึงการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในรูปแบบอื่นได้ดีเท่ากับในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์อย่างไรก็ตาม
หากเกิดข้อเท็จจริงที่เกินกว่าขอบเขตของการลวงขายที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
ศาลน่าจะได้ยึดหลักการของการเล่นเกมอย่างยุติธรรม(Fair Play) มาใช้ในการตัดสินคดีประเภทนี้ กล่าวคือ ยึดหลักความสุจริต และความเป็นธรรม
เช่นเดียวกับลักษณะอื่นของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
ที่มุ่งก่อให้เกิดและรักษาระดับจริยธรรมในวงการค้า
ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังรักษาระดับความสมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้ค้าและสาธารณชน