คดี นวนิยายหางเครื่อง (แนวความคิด หรือ การแสดงออกซึ่งความคิด)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่๖๖๕๖/๒๕๔๙

 

ประเด็นของคดีนี้เป็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานประพันธ์วรรณกรรมประเภทนวนิยายการพิจารณาปัญหานี้จึงต้องพิจารณาผลงานการสร้างสรรค์นวนิยายทั้งเล่มซึ่งรวมทั้งโครงสร้างของเรื่อง ลำดับการนำเสนอเนื้อเรื่องการแสดงให้เห็นถึงความคิดหลักของนวนิยาย และรายละเอียดการนำเสนอในส่วนที่เกี่ยวกับตัวละครหลักและ ตัวละครประกอบตลอดจนสำนวนโวหารและลีลาการเขียนเนื่องจากการคุ้มครองงานสร้างสรรค์วรรณกรรมนวนิยายไม่อาจแยกพิจารณาได้เป็นส่วน ๆเหมือนงานสร้างสรรค์บางประเภท เช่นงานสร้างสรรค์ดนตรีกรรมที่อาจแยกพิจารณาได้ทั้งงานประพันธ์ทำนอง หรือคำร้องหรือการเรียบเรียงเสียงประสาน ดังนั้นการทำซ้ำหรือเลียนแบบงานประพันธ์ของบุคคลอื่นแม้เพียงส่วนหนึ่งส่วนใด เช่นลอกสำนวนโวหารหรือข้อความส่วนหนึ่งส่วนใดอันเป็นงานประพันธ์ที่ชี้ให้เห็นถึงความเฉพาะเจาะจงจะเป็นเรื่องที่นักประพันธ์ที่ดีไม่ทำกันแต่ก็ไม่ถึงกับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายในงานสร้างสรรค์วรรณกรรมประเภทนวนิยาย

 

การพิจารณาปัญหานี้จึงจำเป็นต้องตรวจพิจารณานวนิยายทั้งสองเรื่องซึ่งจากการตรวจพิเคราะห์แล้ว พบว่านวนิยายทั้งสองเรื่องมีโครงเรื่องคล้ายคลึงกันคือเป็นเรื่องของนักร้องผู้หญิงที่ยากจนอยากเป็นนักร้องจนต้องยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนักข่าวนักหนังสือพิมพ์และมีตอนจบที่นักร้องซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องได้มีชีวิตอย่างมีความสุขกับคนที่ตนรัก

 

ในเรื่องความคล้ายกันของโครงเรื่องนี้จำเลยนำสืบว่า เอาโครงเรื่องของนิยายเรื่อง “นักร้องอย่างหล่อน”ที่เคยเขียนไว้มาแต่งเติมเขียนเป็นนวนิยายเรื่อง “หางเครื่อง”โดยได้แรงบันดาลใจจากนักร้องชื่อนาง ว. เมื่อพิจารณาประกอบกับประสบการณ์ของจำเลยที่เคยเป็นนักดนตรีนักร้องและคลุกคลีอยู่ในวงการบันเทิงจึงเป็นไปได้ที่จำเลยจะได้ซึมซับแนวคิดของโครงเรื่องในลักษณะที่เขียนในนวนิยายทั้ง ๒ เรื่อง คือเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของเด็กสาวในชนบทที่มีฐานะยากจนใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้องและต้องยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนักดนตรีและผู้สื่อข่าวบันเทิง

 

หลักการของกฎหมายลิขสิทธิ์ตามที่ปรากฎในมาตรา๖ ของพระราบัญญัติลิขสิทธิ์ ฑ.ศ.๒๕๓๗ กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองการแสดงออกของความคิดแต่มิได้คุ้มครองความคิดหรือแนวคิด จำเลยนำพยานผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในงานวรรณกรรม๔ ปาก มานำสืบให้เห็นได้ว่า นวนิยายทั้งสองเรื่องมีเพียงโครงเรื่องหรือแก่นของเรื่องที่คล้ายกันเท่านั้นและไม่อาจสรุปได้ว่าจำเลยลอกเลียนผลงานของโจทก์เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวประกอบเหตุผลที่ว่าโครงเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของหญิงสาวที่มีฐานะยากจนใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้องและยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศกับหัวหน้าวงดนตรีและผู้สื่อข่าวบันเทิงนั้นเป็นลักษณะของชีวิตที่ปรากฎให้เห็นได้ในธุรกิจบันเทิงเมื่อจำเลยนำสืบว่าเขียนนวนิยายเรื่องนี้จากชีวิตและประสบการณ์ของนักร้องชื่อนางว.และนาง ว.ได้มาเบิกความรับรองข้อกล่าวอ้างของจำเลยพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยสร้างสรรค์ผลงานด้วยการประพันธ์นวนิยายเรื่อง“หางเครื่อง”โดยไม่ได้คัดลอกหรือเลียนงานวรรณกรรมเรื่อง “ไฟพระจันทร์”ของโจทก์จำเลยจึงไม่ได้ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์

 

หมายเหตุ(พยานหลักฐานของโจทก์เป็นการสรุปเปรียบเทียบส่วนที่คล้ายกันของนวนิยายที่แสดงผ่านออกทางข้อเขียนเป็นตัวหนังสือรวม๒๒ จุด เป็นเพียงการวิเคราะห์และสรุปด้วยความเห็นของโจทก์เท่านั้นโจทก์หาได้นำผู้เชี่ยวชาญในงานวรรณกรรมมาสืบสนับสนุนบทสรุปและความเห็นดังกล่าวของโจทก์ไม่จึงทำให้พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์)

 

 

 

 

Visitors: 149,789