ตีความคำว่า แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6359/2551
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด
โจทก์
นายธีรพล อุ่นอนุโลม จำเลย
ป.อ. มาตรา 56
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29(1)
การที่จำเลยจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการบันเทิงต่างประเทศในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสอง
โดยการลักลอบใช้อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม (จานดาวเทียม)
รับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวเข้ามาแล้วส่งผ่านเข้าไปในเครื่องรวมสัญญาณ
จากนั้นจึงส่งสัญญาณผ่านทางสายนำสัญญาณไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ที่อยู่ในห้องพักในอพาร์ตเมนต์
โดยเรียกเก็บเงินและผลประโยชน์เป็นค่าบริการรายเดือนรวมอยู่ในค่าเช่าห้องพักของจำเลย
เป็นการกระทำเพื่อการค้า และก่อความเสียหายอย่างมากแก่ผู้เสียหายทั้งสอง
เนื่องจากอาคารดังกล่าวมีห้องพักที่เปิดให้สาธารณชนทั่วไปเช่าพักได้หลายห้อง
ซึ่งหากผู้เช่าห้องพักแต่ละห้องบอกรับเป็นสมาชิกของผู้เสียหายทั้งสองเอง
ผู้เสียหายทั้งสองก็จะได้รับค่าสมาชิกและค่าบริการรายเดือนเป็นจำนวนมาก
การกระทำของจำเลยจึงนับว่าร้ายแรง หากศาลไม่กำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย จำเลยก็จะไม่หลาบจำกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก
และเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่ผู้อื่น
จึงเห็นสมควรลงโทษจำเลยไปโดยไม่รอการกำหนดโทษ
จำเลยแพร่สัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองให้สาธารณชนผู้ใช้บริการเช่าห้องพักในอาพาร์ตเมนต์ของจำเลยได้รับชมรับฟังด้วยการต่อสัญญาณเข้าไปในห้องเช่า
ซึ่งมีลักษณะเป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพต่อไปจากการแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่มีการบันทึกงานนั้นไว้ก่อน
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพตามมาตรา 29
(1)
________________________________
โจทก์ฟ้องว่า
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 เวลากลางวัน
จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ของบริษัทยูไนเต็ด
บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 1
และบริษัทยูบีซี เคเบิ้ล เน็ตเวอร์ค จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 โดยการนำงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการบันเทิงต่างประเทศ
รายการอัศจรรย์กับเรื่องเหลือเชื่อ
อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองไปจัดเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ผู้เช่าพักห้องเช่าในอาคารซี
เฮ้าส์อพาร์ตเมนท์ ตั้งอยู่แขวงหนองจอก เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ของจำเลย
ซึ่งจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการ ได้ฟังและชม
โดยการลักลอบใช้อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม (จานดาวเทียม)
รับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวเข้ามาแล้วส่งผ่านเข้าไปในเครื่องรวมสัญญาณ
จากนั้นจึงส่งสัญญาณผ่านทางสายนำสัญญาณไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ที่อยู่ในห้องพักในอพาร์ตเมนต์
โดยเรียกเก็บเงินและผลประโยชน์เป็นค่าบริการรายเดือนรวมอยู่ในค่าเช่าห้องพักของจำเลยเพื่อการค้า
ทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง
เหตุเกิดที่แขวงหนองจอก เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ต่อมาเจ้าพนักงานยึดได้จานรับสัญญาณดาวเทียม
(DTH) 1 จาน ตัวรวมสัญญาณ 1 เครื่อง
เครื่องแปลงสัญญาณภาพและเสียง 2 เครื่อง และบัตรสมาร์ตการ์ด
(อุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณภาพและเสียง) 2 ใบ จากที่เกิดเหตุ
อันเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นของกลาง
ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4,
6, 8, 15, 29, 69, 70, 75, 76, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,
33 ริบของกลาง
และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า
จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
มาตรา 29 (2), 69 วรรคสอง ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ริบของกลาง
คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า
“ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการกำหนดโทษนั้น เห็นว่า
การที่จำเลยจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการบันเทิงต่างประเทศในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองด้วยวิธีการตามฟ้องโดยแพร่สัญญาณไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ของผู้เช่าห้องพักในอพาร์ตเมนต์ของจำเลย
เป็นการกระทำเพื่อการค้า และก่อความเสียหายอย่างมากแก่ผู้เสียหายทั้งสอง
เนื่องจากอาคารดังกล่าวมีห้องพักที่เปิดให้สาธารณชนทั่วไปเช่าพักได้หลายห้อง
ซึ่งหากผู้เช่าห้องพักแต่ละห้องบอกรับเป็นสมาชิกของผู้เสียหายทั้งสองเอง
ผู้เสียหายทั้งสองก็จะได้รับค่าสมาชิกและค่าบริการรายเดือนเป็นจำนวนมาก
การกระทำของจำเลยจึงนับว่าร้ายแรง หากศาลไม่กำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย
จำเลยก็จะไม่หลาบจำกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก และเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่ผู้อื่น
จึงเห็นสมควรลงโทษจำเลยไปโดยไม่รอการกำหนดโทษอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2537 มาตรา 29 (2) นั้น เห็นว่า
การแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำตาม มาตรา 29 (2) เป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำงานแพร่เสียงแพร่ภาพที่บันทึกไว้ก่อนแล้ว
แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ที่จำเลยให้การรับสารภาพปรากฏว่าจำเลยแพร่สัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองให้สาธารณชนผู้ใช้บริการเช่าห้องพักในอพาร์ตเมนต์ของจำเลยได้รับชมรับฟังด้วยการต่อสายสัญญาณเข้าไปในห้องเช่า
ซึ่งมีลักษณะเป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพต่อไปจากการแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่มีการบันทึกงานนั้นไว้ก่อน
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพตามมาตรา 29 (1)
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา
29 (2) จึงเป็นการปรับบทมาตราผิด
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า
จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
มาตรา 29 (1), 69 วรรคสอง ให้ลงโทษปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ
ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 50,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 76
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
( อร่าม
เสนามนตรี - พลรัตน์ ประทุมทาน - พินิจ บุญชัด )