ล้อเลื่อน (ไม่ใช่งานสร้างสรรค์)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7117/2552
บริษัทเทนเต้-โรลเล่น จำกัด กับพวก
โจทก์
บริษัทโพลีเมอร์ ฟอร์ม จำกัด กับพวก
จำเลย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6
กรณีมีข้อพิจารณาว่าลูกล้อรถเข็นที่ใช้สำหรับทางเลื่อนที่โจทก์ที่
1 เป็นผู้ผลิต และโจทก์ที่ 2
สั่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย
เข้าองค์ประกอบของงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่
โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานจิตรกรรม งานภาพร่าง
หรือแบบจำลองมาเบิกความเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ดังกล่าวด้วยตนเอง
(Originality) โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือความวิริยะอุตสาหะอย่างไร
เป็นการแสดงออกซึ่งความคิด (Expression of idea) ของผู้สร้างสรรค์เช่นใด
นอกจากนี้
เมื่อพิจารณาสินค้าลูกล้อตามวัตถุพยานจะเห็นว่าลูกล้อดังกล่าวมีลักษณะของวัตถุที่ใช้งานในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ได้
โดยมีคุณประโยชน์พิเศษคือมีระบบการล็อกล้อพิเศษสำหรับทางเลื่อน
ซึ่งรูปลักษณะของลูกล้อทางเลื่อนดังกล่าวเป็นไปตามข้อจำกัดของรูปแบบลูกล้อที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมและตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน
รูปลักษณะที่ปรากฏจึงเป็นการสร้างลูกล้อเลื่อนขึ้นตามกรอบวัตถุประสงค์ของการใช้งาน
แล้วจึงปรับปรุงรูปแบบของลูกล้อเลื่อนให้มีความสวยงามน่าดู เช่น กำหนดส่วนเว้าโค้ง
ส่วนมุม และเลือกใช้สีต่าง ๆ
โดยความสวยงามน่าดูตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างนั้นไม่อาจที่จะแยกต่างหากไปจากตัวสินค้าที่มุ่งประสงค์ต่อประโยชน์การใช้สอยได้เลย
พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจึงรับฟังไม่ได้ว่า
ลูกล้อดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นจากงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในแง่ใดแง่หนึ่ง
หรือเริ่มต้นจากงานที่มีความงาม (Aesthetic work) เป็นจุดเริ่มต้น
แล้วนำงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ ลูกล้อทางเลื่อนดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้
________________________________
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน
48,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
และให้จำเลยทั้งสองหยุดการผลิตและจำหน่ายลูกล้อเลียนแบบโจทก์ที่ 1
หากไม่ดำเนินการให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินปีละ
16,000,000 บาท
จนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดการผลิตและจำหน่ายลูกล้อเลียนแบบโจทก์ที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง
โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งสองคนละ 50,000
บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1
เป็นผู้ผลิตลูกล้อรถเข็นที่ใช้สำหรับทางเลื่อน รุ่น 2875
แซดเจพี 125 พี 30 และรุ่น 2875 แซดไอพี 125 พี 30 โจทก์ที่ 2 ได้สั่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ลูกล้อผลิตโดยจำเลยที่ 2
ปัญหาที่เห็นควรวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่า
ลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1
เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองว่า
ลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1 เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
โดยเป็นงานศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรม งานภาพร่าง งานประติมากรรม
และงานศิลปประยุกต์ เห็นว่า
โจทก์ทั้งสองมีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและคำเบิกความของนายแฟรงก์
มานำสืบในทำนองว่า โจทก์ที่ 1 ได้คิดค้น ออกแบบ ประดิษฐ์
สร้างสรรค์ลูกล้อที่ทำจากเทอร์โมพลาสติกด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงาม โจทก์ที่ 1 ร่างภาพลูกล้อเลื่อน สร้างแบบจำลองในลักษณะของงานประติมากรรม
แล้วจึงสร้างลูกล้อเลื่อนซึ่งเป็นงานศิลปประยุกต์ โดยนายอูเว่ วิศวกรของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ออกแบบ การออกแบบเริ่มต้นด้วยการกำหนดรูปร่างที่จะต้องสอดคล้องกับน้ำหนักและขนาด
กำหนดไปพร้อมกับส่วนเว้าโค้งของวัสดุที่นำมาประกอบเป็นลูกล้อ
เป็นลักษณะของงานศิลปะอันละเอียดอ่อนประณีต กล่าวคือ มีการกำหนดส่วนเว้าส่วนโค้ง
เพื่อให้ความรู้สึกอ่อนเบาเมื่อมองจากด้านข้าง
เมื่อมองจากด้านบนเสมือนหนึ่งหุ้มด้วยเกราะเพื่อให้ดูแข็งแกร่งและกลมกลืนด้วยรูปลักษณะโค้งมน
ไม่มีความเป็นเหลี่ยม
ยกเว้นน็อตเป็นเหลี่ยมเพื่อเพิ่มความรู้สึกแข็งแกร่งบนความอ่อนเบา กำหนดสีสัน
ขั้นตอนนี้ เลือกสีและระดับความเข้มอ่อนของสี
เฉดสีต่างกันจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป ลูกล้อพิพาทถูกกำหนดเฉดลักษณะ “ทูโทน”
(เลือกใช้ 2 สีเป็นหลัก)
เพื่อให้สอดคล้องกับน้ำหนักสีที่เข้มอ่อน ในที่สุดเลือกสีเทา
เหตุที่เลือกสีเทาเพราะเป็นสีมาตรฐานของโจทก์ที่ 1
สำหรับวัสดุที่ทำจากโพลิเอไมด์และโพลิยูรีเทน นอกจากนี้สีเทาทำให้รู้สึกแข็งแกร่ง
ดูดี สง่า ภูมิฐาน เหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า “สวยงาม” หรือ “สวยสง่างาม”
อย่างไรก็ดี โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำนายอูเว่
ซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานจิตรกรรม ภาพร่าง
หรือแบบจำลองของลูกล้อทางเลื่อนตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาเบิกความเพื่อแสดงให้เห็นว่า
เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ดังกล่าวด้วยตนเอง (Originality) โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือความวิริยะอุตสาหะของตนอย่างไร
เป็นการแสดงออกซึ่งความคิด (Expression of idea) ของนายอูเว่
ผู้สร้างสรรค์เช่นใด อันเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับคดีนี้
เนื่องจากมีปัญหาข้อโต้แย้งที่ต้องพิจารณาว่า ลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1 เข้าองค์ประกอบของงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ นอกจากนี้
ภาพร่างตามที่ปรากฏในเอกสารก็เป็นภาพร่างของลูกล้อทางเลื่อนที่ยื่นขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร
และภาพร่างที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าคือ ลูกล้อทางเลื่อนทั้งสองรุ่นดังกล่าว
เมื่อพิจารณาโดยสภาพของภาพร่างดังกล่าวประกอบกับเอกสารแนะนำสินค้าแล้ว
ยังฟังไม่ได้ว่าภาพร่างนั้นเป็นต้นร่างหรือต้นฉบับภาพวาดหรือภาพร่างที่นายอูเว่
จัดทำขึ้นตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าเป็นงานจิตรกรรมและงานภาพร่างจริงหรือไม่
รวมทั้งภาพร่างตามที่ปรากฏจะเหมือนหรือแตกต่างจากต้นฉบับภาพร่างของนายอูเว่หรือไม่
อย่างไร เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบให้ชัดเจนเกี่ยวกับงานจิตรกรรม
งานภาพร่างตลอดจนแบบจำลองที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าเป็นงานประติมากรรมแล้ว
ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสองในเรื่องนี้จึงมีน้ำหนักน้อย
และเมื่อพิจารณาสินค้าลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1
แล้วจะเห็นว่า
ลูกล้อทางเลื่อนดังกล่าวมีลักษณะของวัตถุที่ใช้งานในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ได้
โดยมีคุณประโยชน์พิเศษคือมีระบบการล็อกล้อพิเศษสำหรับทางเลื่อน
ซึ่งรูปลักษณะของลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1
เป็นไปตามข้อจำกัดของรูปแบบลูกล้อที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมและตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน
รูปลักษณะที่ปรากฏจึงเป็นการสร้างลูกล้อเลื่อนขึ้นตามกรอบวัตถุประสงค์ของการใช้งาน
แล้วจึงปรับปรุงรูปแบบของลูกล้อเลื่อนให้มีความสวยงามน่าดู เช่น กำหนดส่วนเว้าโค้ง
ส่วนมุมและเลือกใช้สีต่าง ๆ ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบ โดยความสวยงามน่าดูตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างนั้นไม่อาจที่จะแยกต่างหากไปจากตัวสินค้าที่มุ่งประสงค์ต่อประโยชน์การใช้สอยได้เลย
พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจึงรับฟังไม่ได้ว่า ลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1 ถูกจัดทำขึ้นจากงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในแง่ใดแง่หนึ่ง หรือเริ่มต้นจากงานที่มีความงาม
(Aesthetic work) เป็นจุดเริ่มต้นแล้วนำงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ได้
ลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1
จึงไม่อาจถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย
อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองต่อไป
เพราะไม่มีผลทำให้คดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน
ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.
( พรเพชร
วิชิตชลชัย - พลรัตน์ ประทุมทาน - อร่าม เสนามนตรี )