การเดินแบบเสื้อผ้าไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์(คดีลูกเกตุเมทินี)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2555

โจทก์   นางสาวเมทินี  กิ่งโพยม  กับพวก

จำเลย  บริษัทแดพเพอร์เจ็นเนอรัลอะแพเร็ล จำกัด กับพวก

พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ  (มาตรา 4, 6, 15, 32, 33, 34, 36, 42, 43, 44, 52, 53, 69)

 

     โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดสิทธิของนักแสดงของโจทก์ทั้งสองเพื่อประโยชน์ทางการค้าของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าตอบแทนจากการถ่ายแบบรวมทั้งค่าเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณและภาพพจน์โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 1,000,000 บาท ค่าขาดโอกาสในการรับงานแสดงแบบคนละ 500,000 บาท และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ทั้งรู้เห็นหรือเห็นชอบในการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดด้วยโจทก์ทั้งสองได้มีหนังสือทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสาม

ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

     จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

     จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

     ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนักถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปตามที่โจทก์ทั้งสองขอไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง และให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

     โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

     ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า"ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ยุติว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการ โจทก์ทั้งสองประกอบอาชีพเป็นนางแบบ นักแสดง และผู้นำเสนอสินค้า เมื่อระหว่างวันที่ 6 ถึง 9 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งสองรับจ้างบริษัทโปรดั๊กชั่น สตอรี่ จำกัด เดินแบบแฟชั่นในงานแอล บางกอก แฟชั่น วีค 2003  ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม กรุงเทพมหานครโจทก์ทั้งสองเดินแบบเสื้อผ้าหลายยี่ห้อ รวมทั้งของจำเลยที่ 1 ยี่ห้อ "แด็พเพอร์" ด้วย ต่อมาเดือนมกราคม  2547  โจทก์ทั้งสองทราบว่าจำเลยที่ 1 นำภาพถ่ายการเดินแบบ

ของโจทก์ทั้งสองไปลงโฆษณาในนิตสารแอล หน้า 226, 227  นิตยสารดิฉันหน้า 196, 197 นิตยสารเปรียว หน้า 114, 115 นิตยสารไฮ หน้า 202, 203 โดยมีการโฆษณาชื่อร้าน จำนวน สาขา และระบุสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 ด้วย    

พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นประการแรกว่า การที่โจทก์ทั้งสองแสดงการเดินแบบเสื้อผ้าตามคำฟ้องทำให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิของนักแสดงหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า นักแสดงหรือผู้แสดงต้องแสดงในสิ่งซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้นจึงจะได้สิทธิของนักแสดงที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 44 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 บัญญัติคุ้มครองสิทธิของนักแสดงไว้ในมาตรา 44 ว่า"นักแสดงย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของตน ดังต่อไปนี้

(1) แพร่เสียงแพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดง เว้นแต่จะเป็นการแพร่เสียง แพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนจากสิ่งบันทึกการแสดงที่มีการบันทึกไว้แล้ว (2) บันทึกการแสดงที่ยังไม่มีการบันทึกไว้แล้ว (3) ทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนักแสดงหรือสิ่งบันทึกการแสดงที่ได้รับอนุญาตเพื่อวัตถุประสงค์อื่นหรือสิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 53 " และมาตรา 4 บัญญัติบทนิยายคำว่า "นักแสดง" หมายความว่า ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น  นักรำ และผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์  แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด จากบทบัญญัติ 2 มาตราดังกล่าวนี้ เห็นได้ว่า

กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดเจนเฉพาะความหมายว่า บุคคลเช่นใดบ้างที่ถือว่าเป็นนักแสดงและบัญญัติคุ้มครองโดยให้สิทธิในส่วนการกระทำเกี่ยวกับการแสดงของตน โดยมิได้บัญญัติให้ชัดเจนว่าสิ่งที่แสดงและได้รับความคุ้มครองคืออะไร อย่างไรก็ตามในเรื่องการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงนี้ย่อมถือเป็นสาระสำคัญแห่งสิทธิของนักแสดงดังกล่าว และเป็นไปไม่ได้ที่จะแปลความเป็นว่า ไม่ว่านักแสดงจะกระทำอะไรก็ได้สิทธิของนักแสดงในส่วนเกี่ยวกับการกระทำนั้นทั้งหมดโดยไร้ขอบเขต ดังนี้ จึงต้องตีความถึงลักษณะของการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงนี้ให้ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการให้ความคุ้มครองสิทธิของนักแสดงและการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากบทกฎหมายและเหตุผลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยในเบื้องต้นเมื่อพิจารณาบทกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เคยมีมาแต่เดิมไม่ได้บัญญัติให้การคุ้มครองแก่สิทธิของนักแสดงไว้ เพิ่งนำมาบัญญัติให้การคุ้มครองครั้งแรกภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่อแสดงให้เห็นว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่จะให้การคุ้มครองสิทธิของนักแสดงในลักษณะที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์นั่นเอง โดยในส่วนการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นมีบทบัญญัติที่สำคัญในมาตรา 15 ที่บัญญัติให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่ผู้เดียวดังต่อไปนี้ (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภายยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง (4) ให้ประโยชน์

อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น (5) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (1) (2) หรือ (3) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้ และในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติจำกัดขอบเขตของลิขสิทธิ์ให้มีเฉพาะในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด ซึ่งย่อมเห็นได้ว่ากฎหมายนี้ มีเจตนารมณ์ให้การคุ้มครองลิขสิทธิ์เพื่อส่งเสริมให้บุคคลคิดสร้างสรรค์งานประเภทต่างๆ  ดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่สังคมที่จะได้ใช้ประโยชน์จากงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์

เหล่านี้ได้ แต่ก็ต้องให้ประโยชน์โดยคุ้มครองผู้สร้างสรรค์งานหรือผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำการ เพื่อหาประโยชน์เท่าที่กฎหมายระบุไว้ในมาตรา 15 และมีขอบเขตจำกัดเฉพาะงานต่างๆ  เท่าที่ระบุไว้ในมาตรา 6 เท่านั้น  ทั้งนี้เพื่อมิให้กระทบสิทธิของสาธารณชนอื่นเกินสมควร ส่วนกรณีสิทธิของนักแสดงนั้น เมื่อพิจารณาจากบทนิยามตามมาตรา 4 ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าบุคคลที่จะได้สิทธิของนักแสดงแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่ ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น และนักรำ ส่วนกลุ่มที่สองได้แก่ ผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือลักษณะอื่นใด ซึ่งในกลุ่มแรกนั้นบุคคลผู้เป็นนักดนตรีก็ดี นักร้องก็ดี  ย่อมเห็นได้ชัดว่า

โดยสภาพแล้วสิ่งที่นักดนตรีและนักร้องจะแสดงออกให้ปรากฏต่อผู้อื่นก็คือการเล่นดนตรีและการร้องเพลงอันเป็นงานดนตรีกรรมตามบทบัญญัตินิยามในมาตรา 4 คำว่า "ดนตรีกรรม" นั่นเอง ส่วนนักเต้นและนักรำเมื่อพิจารณาประกอบกับบทนิยามในมาตรา 4 คำว่า "นาฏกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่าหรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และให้หมายความรวมถึงการแสดง โดยวิธีใบ้ด้วย  ก็เห็นได้ว่า งานนาฏกรรมนี้เป็นงานที่นักเต้นและนักรำใช้สำหรับการแสดงของตนนั่นเอง คงมีแต่ในส่วนบุคคลซึ่งผู้แสดงในกลุ่มแรก รวมทั้งผู้ซึ่งแสดง

ในกลุ่มที่สองด้วยที่ยังอาจไม่ชัดเจนว่าต้องแสดงสิ่งใด แต่เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีนักดนตรี นักร้อง นักเต้นและนักรำดังกล่าว ก็น่าจะมีลักษณะเป็นทำนองเดียวกันทั้งหากพิจารณาถึงเหตุผลที่ควรให้การคุ้มครองลิขสิทธิของนักแสดงภายใต้กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้วจะเห็นได้ว่านักแสดงนั้นหากปรากฏว่าเป็นผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น งานดนตรีกรรม งานนาฏกรรม หรืองานวรรณกรรมบทละคร  ก็ย่อมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองในส่วนงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ตนสร้างสรรค์หรือเป็นเจ้าของอยู่แล้ว แต่หากนักแสดงนั้นมิใช่ผู้สร้างสรรค์งาน

หรือเจ้าของลิขสิทธิ์เองโดยเป็นเพียงผู้นำงานอันมีลิขสิทธิ์เช่นว่านั้นมาแสดง เช่นการเล่นดนตรีหรือร้องเพลงที่เป็นงานดนตรีกรรม หรือเต้นหรือรำจากท่าเต้นท่ารำที่เป็นงานนาฏกรรม  ย่อมเป็นผู้นำเสนองานดังกล่าวให้ปรากฏต่อผู้อื่น หรืออาจถือได้ว่า เป็นผู้นำคุณค่าของงานดังกล่าวมาแสดงให้บุคคลอื่นได้ชื่นชม นับได้ว่าเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่อันสำคัญเพื่อประโยชน์ในการแสดงออกซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ จึงมีเหตุผลอันสมควรให้การคุ้มครองแก่นักแสดงเช่นว่านี้ต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจากการคุ้มครองผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์  นอกจากนี้เมื่อพิจารณาบทมาตราในการให้การคุ้มครองสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 44 ดังกล่าวข้างต้นตามมาตรา 44 (1) นักแสดงมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำเกี่ยวกับการแสดงของตนในการแพร่เสียง แพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อาธารณชนซึ่งการแสดง ไม่รวมถึงการแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนจากสิ่งบันทึกการแสดงที่มีการบันทึกไว้แล้ว ส่วนตามมาตรา 44 (2) และ (3) เป็นสิทธิเกี่ยวกับการบันทึกการแสดงที่ยังไม่มีการบันทึกการแสดงไว้แล้ว และการทำซ้ำสิ่งบันทึกการแสดง ซึ่งโดยเฉพาะกรณีตามมาตรา 44 (3) สิทธิการทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงเข้าข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 53 นั้น เมื่อพิจารณามาตรา 53 ก็จะเห็นได้ว่า เป็นบทบัญญัติให้นำเหตุยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 42 และมาตรา 43 มาใช้บังคับแก่สิทธิของนักแสดงโดยอนุโลม  ก็เป็นบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างสิทธิของนักแสดงกับงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น กรณีตามมาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติไว้ใน (5) และ (6) กรณีมีการนำงานอันมีลิขสิทธิ์มานำออกแสดงที่มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือกรณีตามที่มาตรา 36 บัญญัติถึงการนำงานนาฏกรรมหรือดนตรีกรรมออกแสดงเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามความเหมาะสม โดยมิได้จัดทำขึ้นหรือดำเนินการเพื่อหากำไรเนื่องจากการจัดให้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นและมิได้จัดเก็บค่าเข้าชม  และนักแสดงไม่ได้รับค่าตอบแทนในการแสดงนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หากเป็นการดำเนินการโดยสมาคม มูลนิธิ  หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณากุศล การศึกษา การศาสนา หรือสังคมสงเคราะห์ และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง นั้น หากมีการบันทึกการแสดงนี้ไว้ ก็ไม่ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของนักแสดงตามมาตรา 44 (1) และ (2)  แต่นักแสดงยังคงมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการทำซ้ำสิ่งบันทึกการแสดงที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดงดังกล่าว ซึ่งเห็นถึงความเกี่ยวเนื่องกันของงานอันมีลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดงได้ชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติให้การกระทำที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของนักแสดงตามมาตรา 52 เป็นความผิดและมีโทษทางอาญาที่ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และหากเป็นกรณีตามวรรคสองเมื่อเป็นการกระทำเพื่อการค้าต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงจำเป็นต้องตีความการมีสิทธิของนักแสดงโดยต้องคำนึงถือสิทธิที่ควรเป็นเรื่องอันสำคัญอันมีเหตุผล

ที่จะให้การคุ้มครองโดยมาตรการทางอาญาดังกล่าว และต้องตีความโดยเคร่งครัด ดังนี้

ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะตีความว่านักแสดง  แสดงสิ่งใดก็ได้สิทธิอย่างไม่มีข้อจำกัด และย่อม

เป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายจะไม่มีบัญญัติถึงลักษณะของการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงอันเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองไว้ตามมาตรา 44 เว้นแต่จะถือว่าเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติอื่นบัญญัติไว้แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ไม่ได้บัญญัติลักษณะการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงตามมาตรา 44  ไว้ให้ชัดเจนโดยเฉพาะ ก็เป็นเพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่ถือว่าการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงนั้น  ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการแสดงงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะงาน

ดนตรีกรรม งานนาฏกรรมและงานวรรณกรรมที่มีลักษณะทำนองเป็นบทพากย์ บทละครหรือบทที่ใช้แสดงอื่นใดอันอาจสำมาให้บุคคลที่ถือเป็นนักแสดงตามบทนิยามมาตรา 4  แสดงนั่นเอง เพราะลักษณะหรือหลักเกณฑ์ต่างๆ  เกี่ยวกับงานเหล่านี้ ล้วนมีบัญญัติไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วทั้งสิ้น จึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติซ้ำสำหรับใช้กับกรณีสิทธิของนักแสดงอีก  จากบทกฎหมายและเหตุดังวินิจฉัยมาข้างต้น จึงเห็นได้ว่า การได้สิทธิของนักแสดงที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 นั้น ต้องมีองค์ประกอบที่บุคคลที่จะแสดงนั้นเป็นไปตามบทนิยาม คำว่า นักแสดงในมาตรา 4  สิ่งที่แสดงหรือการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดง

ของนักแสดงที่จะได้รับความคุ้มครองนั้นต้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วยเท่านั้น  แต่คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องแสดงให้เห็นเป็นประเด็นให้วินิจฉัยว่า การแสดงการเดินแบบเสื้อผ้าตามฟ้องมีการทำท่าที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวในลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมอย่างไร จึงไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยและฟังว่าการแสดงการเดินแบบนี้เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมโดยตัวเองหรือเป็นการแสดงงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมอยู่แล้ว ดังนี้แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นนักแสดงหรือผู้แสดงท่าทางในการเดินแบบ ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าได้สิทธิของนักแสดง จึงไม่อาจฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิของนักแสดงของโจทก์ทั้งสอง และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์

ข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสองศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น"

     พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

     (ธัชพันธ์  ประพุทธนิติสาร  -  อร่าม  เสนามนตรี  -  ปริญญา  ดีผดุง)

    หมายเหตุ

     เกี่ยวกับนักแสดงนั้น น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดหรือนำเสนองานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นการนำเสนอในรูปแบบของการแสดง การร้อง การเต้น การรำ  การแสดงท่าทางตามบทหรือแสดงออกในลักษณะอื่นใด ตลอดจนนักดนตรีก็ถือว่าเป็นนักแสดงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สิทธิของนักแสดงก็เพิ่งได้รับการยอมรับ และมีการคุ้มครองหลังจากมีการพัฒนากฎหมายลิขสิทธิ์มากขึ้นในช่วงหลัง โดยมีการบัญญัติไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธินักแสดงไว้ในฐานะเป็นสิทธิข้างเคียง (neighbouring right) เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิประโยชน์นักแสดง แม้จะมีการนิยามความหมายของนักแสดงไว้ แต่ในความรู้สึกหรือความเข้าใจของคนทั่วไปหรือแม้แต่ผู้แสดงหรือนักแสดงเองก็ยังเข้าใจไปในทำนองที่ว่า เมื่อมีการแสดงออกท่าทาง

อย่างไรออกไป สิ่งที่แสดงออกไปก็เป็นงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ หรืออย่างน้อยก็มีสิทธินักแสดง ซึ่งกรณีจะเป็นไปดังกล่าวหรือไม่นั้นต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากนักแสดงคิดท่าทางการแสดงไม่ว่าจะเป็นการเดิน การรำ การร้อง ทำท่าทางแสดงออกที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษไม่เหมือนใคร งานสร้างสรรค์ที่จะนำเข้ามาจับหรือบ่งชี้ว่าจะมีความใกล้เคียงกับการมีลิขสิทธิ์หรือไม่ก็คือ งานดนตรีกรรม กับงานนาฏกรรม จึงต้องไปพิจารณาดูความหมายโดยรวมทั้งสองงานดังกล่าว ซึ่งในแง่ของงานดนตรีกรรมอาจจะเข้าใจได้ไม่ยากนัก ส่วนงานนาฏกรรมนั้น มีเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การแสดงนั้นต้องเป็นการแสดงที่ประกอบซึ่งเป็นเรื่องราว ไม่ใช่ทำท่าทางแสดงออกอย่างไรก็เป็นการแสดงไปเสียทั้งหมด ดังนั้น หากจะกล่าวถึงสิทธิของนักแสดงล้วนๆ ไม่ใช่นักแสดงในฐานะผู้สร้างสรรค์งานด้วย ก็คงต้องพิจารณาดูที่ว่า เป็นการแสดงออก

หรือถ่ายทอดงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ แต่ถ้าหากเป็นผู้แสดงด้วย เป็นผู้สร้างสรรค์งานที่แสดงออกมาด้วย ก็ต้องพิจารณาดูที่ว่างานนั้นอยู่ในสถานะของงานที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่ เป็นงานสร้างสรรค์ประเภทใด ลำพังเพียงการเดินแบบเสื้อผ้าโดยไม่ปรากฏว่ามีการแสดงประกอบเป็นเรื่องราวอย่างไรตามข้อเท็จจริงในฎีกานี้ จึงยังไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์และก่อให้เกิดสิทธินักแสดงของผู้เดินแบบแต่อย่างใด     ข้อเท็จจริงตามฎีกานี้ โจทก์ฟ้องอ้างว่าเป็นผู้เดินแบบแฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การเดินแบบเป็นสิทธิของนักแสดง จำเลยนำภาพการเดินแบบของโจทก์

ไปลงโฆษณาในนิตยสารจึงเป็นการละเมิดสิทธิของนักแสดง ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเดินแบบไม่ใช่เป็นสิทธินักแสดง โจทก์ไม่ใช่นักแสดง ซึ่งทางแก้ในเรื่องนี้ หากโจทก์ไม่ต้องการให้มีการนำภาพของโจทก์ไปใช้ประโยชน์หลายครั้งหรือใช้ประโยชน์ทางอื่นก็คงต้องตกลงรายละเอียดกันตามหลักสัญญาทั่วไปในการรับจ้างเดินแบบจึงจะเป็นการสมประโยชน์หรือตรงกับความต้องการของทุกฝ่าย เช่นเดียวกับเงื่อนไขข้อตกลงในการจำหน่ายบัตรเข้าชมกีฬาต่างๆ ซึ่งไม่ใช่การแสดง ผู้จัดจะกำหนดเงื่อนไขอนุญาตให้ผู้เข้าชมถ่ายภาพได้เฉพาะภายนิ่งเท่านั้น ถ่ายภาพเคลื่อนไหวหรือถ่ายวิดีโอไม่ได้หากจะมาหวังพึ่งการคุ้มครองในขอบเขตของกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ต้องเป็นกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นกรณีอยู่ในขอบข่ายของสิทธินักแสดงอย่างแท้จริง

 

                                                                     สุพิศ  ปราณีตพลกรัง

Visitors: 154,313