หลักกฎหมายแพ่งเกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญา (คดีเซเว่นอีเลฟเว่น)

หลักเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จำเลยกล่าวอ้างมานั้น เป็นหลักการพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดในทางแพ่งของสัญญาซื้อขายที่ได้มีการกระทำโดยสุจริต ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการพิจารณาความรับผิดในทางอาญาดังเช่นกรณีนี้ เนื่องจากทรัพย์สินของผู้เสียหายที่วางไว้ในร้านของผู้เสียหายเพื่อจำหน่ายแก่ผู้มาซื้อ กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวย่อมเป็นของผู้เสียหาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเอาไปซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวด้วยวิธีการนำไปซุกซ่อนไว้ในเสื้อผ้าของจำเลย โดยมีเจตนาที่จะไม่ชำระราคาทรัพย์สินนั้น จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริตเพื่อได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว

หมายเหตุท้ายฎีกา ๖๖๕๖/๒๕๕๑ 

          องค์ประกอบภายนอกข้อหนึ่งของความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ก็คือทรัพย์ต้องเป็นของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย หากทรัพย์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำผิดก็ต้องถือว่าขาดองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานลักทรัพย์เพราะสิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองในความผิดฐานลักทรัพย์คือกรรมสิทธิ์และการครอบครอง เมื่อผู้เอาไปซึ่งทรัพย์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จึงไม่มีการทำร้ายกรรมสิทธิ์และไม่อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ ปัญหาว่าอย่างไรเป็นทรัพย์ของผู้อื่นก็ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประเด็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุจึงต้องพิจารณาว่าสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นแล้วหรือยังเพราะถ้าหากสัญญาเกิดขึ้นแล้วตามที่จำเลยต่อสู้ในข้อกฎหมายดังกล่าวไว้ว่าสัญญาเกิดขึ้นเมื่อจำเลยเลือกและหยิบสินค้าออกมาตามต้องการแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ย่อมโอนไปเป็นของจำเลย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้

           ตามกฎหมายแพ่งเยอรมัน สัญญาจะเกิดก็ต่อเมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน ในส่วนของคำเสนอจะต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขสองประการกล่าวคือในประการแรกคำเสนอจะต้องมีความชัดเจน (die Bestimmtheit des Angebots) หมายความว่าประเด็นที่สำคัญในข้อสัญญาจะต้องมีความชัดเจนเช่นในกรณีของข้อเสนอของสัญญาซื้อขาย ตัวทรัพย์ที่ขายกับราคาขายจะต้องกำหนดไว้ ประการที่สองคำเสนอจะต้องแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่จริงจังในการที่จะเข้าทำสัญญา (die Verbindlichkeit des Angebots) ในกรณีนี้หมายความว่าถ้าผู้รับคำเสนอพูดกับตนเองว่าหากเขาตอบตกลงสัญญาก็เกิดขึ้น (Kropholler - Berenbrox, Studienkommentar BGB, 3. Auflage1998, มาตรา 145, หัวข้อ 1)

           เงื่อนไขประการที่สองของคำเสนอนี้ต้องแยกออกจากกรณีของการแสดงความเห็นที่ไม่ผูกมัดในระหว่างการเจรจาทำสัญญาและกรณีของการให้แต่เพียงข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเข้าทำสัญญาที่มีเนื้อหาที่ชัดเจน ปัญหาว่าจะรู้ว่าเป็นกรณีใดก็ทำได้ด้วยการตีความกฎหมาย ในกรณีที่เป็นแต่เพียงการให้ข้อมูลก็อย่างเช่นแผ่นโฆษณา โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ในกรณีนี้ทางตำราเรียกว่าเป็นคำเชิญชวนให้เข้าทำสัญญา (Aufforderung zur Angebotsabgabe) ใครที่ทำคำเชิญชวนก็ยังไม่ต้องการที่จะผูกมัดตนเองหากแต่ปล่อยให้ฝ่ายที่ได้รับคำเชิญชวนทำคำเสนอเข้ามาเพื่อที่จะสามารถเลือกที่จะทำคำสนองรับหรือปฏิเสธคำเสนอดังกล่าว (Vgl. Helmut, BGB Allgemeiner Teil, 24. Auflage 1998, บทที่ 15 หัวข้อ 7-9)

           การวางสินค้าโชว์ไว้ที่กระจกหน้าร้าน ตามความเห็นฝ่ายข้างมาก (Vgl. Brehm,Allgemeiner Teil des BGB,3.Auflage 1997, บทที่ 17, หัวข้อ 515) ยังไม่ถือว่าเป็นคำเสนอ เพราะผู้ขายยังจะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้าและกรณีที่มีผู้สนใจที่จะซื้อสินค้าพร้อมกันหลายราย ก็จะไม่ชัดเจนว่าสัญญาเกิดขึ้นหรือยังและเป็นสัญญาระหว่างใครกับใคร ในทางตรงกันข้าม การวางสินค้าโชว์ไว้ในเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ ถือว่าเป็นคำเสนอแล้วโดยสามารถทำคำสนองด้วยการใส่เหรียญจริงเข้าไปในเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ โดยมีเงื่อนไขว่ายังมีสินค้าอยู่และเครื่องทำงานปกติ (Vgl. Brox,Allgemeiner Teil des BGB, 26.Auflage 2002, บทที่ 81, หัวข้อ 166; Medicus Teil des BGB, 6.Auflage 1994, บทที่ 26, หัวข้อ 362) แต่ในกรณีนี้ Koehler เห็นว่าควรจะถือว่าการที่ลูกค้าหยอดเหรียญไปในเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติเป็นคำเสนอ (Koehler ไม่ได้จำกัดเงื่อนไขว่าเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติจะต้องทำงานปกติ) เพราะในกรณีที่เครื่องขัดข้องแล้วสัญญาไม่เกิดลูกค้าจะได้เรียกร้องเงินคืนตามหลักกฎหมายในเรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 812 ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ไม่ใช่ตามหลักในสัญญาซื้อขายที่ให้ส่งมอบสินค้าตามมาตรา 433 ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน (Vgl. Helmut Koehler, อ้างแล้ว, หัวข้อ 10)

           การวางโชว์สินค้าในร้านที่ลูกค้าต้องบริการตนเอง (die Aufstellung von Waren im Selbstbedienungsladen) นักกฎหมายเยอรมันบางฝ่ายเห็นว่า ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอเพราะพ่อค้าควรจะสามารถปฏิเสธการขายสินค้าให้กับลูกค้าบางคนได้ในทางตรงกันข้าม ในกรณีนี้คำเสนอจะมาจากฝ่ายของลูกค้าที่นำสินค้าไปวางที่แคชเชียร์เพื่อชำระเงินและคำสนองเกิดขึ้นในตอนที่พนักงานคิดราคาสินค้า (Helmut Koehler, อ้างแล้ว, บทที่ 15, หัวข้อ 11; Hans - Joachim Musielak, Gurndkurs BGB, 6.Auflage 1994, บทที่ 3, หัวข้อ 94) แต่ Medicus เห็นว่าในกรณีปกติทั่ว ๆ ไปสินค้าที่วางอยู่ในชั้นถือว่าเป็นคำเสนอแล้ว ถ้าลูกค้าหยิบและนำไปวางไว้ที่แคชเชียร์ก็ถือว่าเป็นการสนองรับสัญญาซื้อขายเกิดขึ้น (ก่อนที่จะนำไปวางที่แคชเชียร์ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอ) เฉพาะในกรณีที่เจ้าของร้านสงวนสิทธิบางประการไว้เช่นให้ซื้อสินค้าในจำนวนจำกัดตามที่กำหนดไว้เป็นต้น ถือว่าการวางสินค้าเป็นแต่คำเชิญชวน ส่วนคำเสนอเกิดขึ้นจากฝ่ายลูกค้าที่นำสินค้าไปวางที่แคชเชียร์และให้เจ้าของร้านมีโอกาสที่จะเลือกว่าจะสนองรับคำเสนอของลูกค้าหรือไม่ (Vgl. Medicus, อ้างแล้ว, หัวข้อ 363)

           ในส่วนของนักกฎหมายไทยเท่าที่ตรวจสอบพบเห็นแต่เพียงความเห็นของรองศาสตราจารย์ดร.จำปี โสตถิพันธุ์,คำอธิบายกฎหมายลักษณะซื้อขายแลกเปลี่ยนให้, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2546, หน้า 238 - 240 ที่เห็นไปในทำนองเดียวกับความเห็นของ Koehler และ Musielak

           ปัญหาว่าในกรณีของการวางโชว์สินค้าในร้านสะดวกซื้อ จะถือว่าสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นในเวลาใดนั้น ผู้เขียนหมายเหตุเห็นด้วยกับความเห็นของ Medicus ที่ต้องแยกสินค้าที่วางโชว์ในชั้นตามร้านสะดวกซื้อเป็นสองกรณีกล่าวคือสินค้าปกติทั่ว ๆ ไปต้องถือว่าการวางโชว์สินค้าตามชั้นในร้านสะดวกซื้อ ถือว่าเป็นคำเสนอแล้วเพราะการวางโชว์สินค้าดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์ทั้งสองประการของคำเสนอที่กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนี้ หากถือว่าการวางโชว์สินค้าดังกล่าวเป็นแต่เพียงคำเชิญชวนตามความเห็นของนักกฎหมายเยอรมันบางฝ่ายแล้วก็จะทำให้เจ้าของร้านสามารถที่จะเลือกปฏิบัติต่อลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อได้เพราะเจ้าของร้านจะสนองรับคำเสนอของลูกค้าหรือไม่ก็ได้ตามแต่ที่ตนเองต้องการ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่ลูกค้าหยิบสินค้าจากชั้นวางสินค้าแล้วจะถือว่าเป็นคำสนองรับเพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติลูกค้าสามารถนำสินค้ากลับไปวางที่ชั้นได้ตราบเท่าที่ยังไม่ได้นำสินค้าไปชำระเงินที่แคชเชียร์ ในกรณีนี้คำสนองเกิดขึ้นเมื่อลูกค้านำสินค้าไปวางที่แคชเชียร์เพื่อชำระเงินส่วนกรณีที่ผู้ขายสินค้าสงวนสิทธิบางประการไว้เช่น ขายให้ไม่เกินครอบครัวละสองแพ็คหรือกรณีเป็นสินค้าในราคาลดพิเศษ ในกรณีนี้ถือว่าการวางสินค้าเป็นคำเชิญชวน สัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ขายสินค้าสนองรับคำเสนอของลูกค้าที่นำสินค้าไปวางที่แคชเชียร์

           ข้ออ้างของจำเลยที่ว่ากรรมสิทธิ์โอนเพราะสัญญาเกิดจึงฟังไม่ขึ้นเพราะถ้าตีความอย่างจำเลยก็จะกลายเป็นว่าเมื่อเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วหยิบสินค้าจากชั้นก็จะเกิดสัญญาซื้อขายทันทีลูกค้าจึงไม่อาจที่จะนำสินค้ากลับไปวางที่เดิมได้ซึ่งขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติ ดังนั้น แม้ว่าการวางสินค้าจะเป็นคำเสนอแต่ก็ไม่มีคำสนองเพราะตามข้อเท็จจริงในคดีจำเลยไม่ได้นำสินค้าไปวางที่แคชเชียร์หากแต่ซ่อนไว้ในเสื้อผ้าของจำเลย สัญญาจึงไม่เกิดกรรมสิทธิ์จึงยังเป็นของผู้เสียหายอยู่ เมื่อจำเลยเอาไปซึ่งทรัพย์ดังกล่าวโดยมีเจตนาทุจริตการกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์

 

 

          สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์


Visitors: 149,783