พนักงานจ้างเหมาค่าแรง(เอาท์ซอร์ส) จะต้องได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับพนักงานประจำ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22326-220404/2555

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันได้ความว่าจำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓๕ และที่ ๗๔ ถึงที่ ๗๙ จำเลยที่ ๓ เป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์ที่ ๓๖ ถึงที่ ๗๓ จำ เลยที่ ๔ เป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์ที่ ๘๐ ถึงที่ ๘๓ ต่อมาศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ที่ ๒๙ ที่ ๔๙ ที่ ๕๒ และที่ ๕๔ ถอนฟ้อง จึงเหลือโจทก์รวม ๗๙ คน จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๑ ให้จัดหาคนมาทำงานให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔  จัดส่งโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าไปทำงานกับจำเลยที่ ๑ โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าเป็นลูกจ้างเหมาค่าแรงที่เข้าทำงานผลิตชิ้นงานชุดคลัตช์ซึ่งเป็นงานหลักของจำเลยที่ ๑ แต่ได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการไม่เท่ากับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ ๑ ที่ทำ งานผลิตชิ้นงานชุดคลัตช์เช่นเดียวกัน

 

                                 มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ ต้องดำเนินการ ให้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการในค่ำครองชีพ ค่าอาหาร ค่ารถ เงินโบนัสเท่ากับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ เพียงใด เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าทำงานผลิตชิ้นงานชุดคลัตช์ซึ่งเป็นงานหลักของจำเลยที่ ๑ กรณีจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑/๑ วรรคสอง ที่บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ หมายความว่าผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของผู้ประกอบกิจการโดยไม่เลือกว่าเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรง หรือลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง อันเป็นการกำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการ สิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับตามมาตรา ๑๑/๑  จึงเป็นสิทธิตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ บัญญัติไว้โดยตรง แม้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงไม่ได้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องหรือมีส่วน ในการเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจา หรือมีข้อตกลงกับผู้ประกอบกิจการ แต่หากเป็นสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ผู้ประกอบกิจการให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของตนเองไม่ว่าจะเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระเบียบ หรือสัญญาจ้างแรงงาน ผู้ประกอบกิจการก็ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันนั้นได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการดังกล่าว  เช่นเดียวกัน ดังนั้น จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการจึงต้องดำเนินการให้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าซึ่งเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์แล้ว  สวัสดิการในค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่ารถ เงินโบนัส ให้ถูกต้องตามที่จำเลยที่ ๑ จัดให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง โดยต้องดำเนินการให้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าได้รับในส่วนที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ผู้เป็นนายจ้างโดยตรงไม่จัดให้หรือจัดให้น้อยกว่าลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ ๑ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน กับที่จำเลยที่ ๑ จัดให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ซึ่งหากจำเลยที่ ๑ มีหลักเกณฑ์ การจ่ายค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่ารถ เงินโบนัสให้ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงโดยกำหนด จากทักษะ ประสบการณ์ ตำแหน่งงาน จำนวนผลิตผลของงานอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของจำเลยที่ ๑ เช่นเดียวกัน อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น

 

                                 ส่วนที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อไปว่า พนักงานตรวจแรงงานเคยมีคำสั่งให้จำเลย ที่ ๑ ปฏิบัติต่อโจทก์บางคนและลูกจ้างอื่น ๆ โดยเท่าเทียมกัน เงินโบนัสที่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้า ฟ้องเรียกร้องไม่มีปรากฏอยู่ในคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินโบนัส นั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ปฏิบัติต่อโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ ๑ โดยเรียกร้องสิทธิประโยชน์อื่นเพิ่มเติมนอกจากที่พนักงานตรวจแรงงานเคยมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติต่อโจทก์บางคนไว้ กรณีเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑/๑ มิได้ฟ้องขอให้บังคับ จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ได้มีคำสั่งตามมาตรา ๑๒๔ มีเพียงในส่วนของเบี้ยขยันที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติต่อลูกจ้างทุกคน โดยเท่าเทียมกัน แต่ศาลแรงงานกลางก็มิได้กำหนดให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ต้องจ่ายเบี้ยขยันอีกจึงไม่มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าสำหรับเบี้ยขยันอีก  ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าจึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ จ่ายเงินโบนัส และเงินอื่น ๆ ให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าโดยเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติได้ และที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑๕ ทุกระยะ ๗ วัน นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ต้องจ่ายเงินดังกล่าว อุทธรณ์ส่วนนี้ของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้เป็นการโต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

                                  มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมกับ จำเลยที่ ๑ ดำเนินการให้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติตาม  มาตรา ๑๑/๑ วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า มาตรา ๑๑/๑ วรรคสอง บัญญัติให้เฉพาะผู้ประกอบกิจการเท่านั้นที่ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้นเฉพาะจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการเท่านั้นที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๑๑/๑ วรรคสอง จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๒๘ ที่ ๓๐ ถึงที่ ๓๕ และที่ ๗๔ ถึงที่ ๗๙ และเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๑ ให้จัดหำโจทก์ดังกล่าวมาทำงานในกระบวนการผลิตของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ดังนั้นที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จ่ายเงินโบนัสย้อนหลัง ๒ ปี โดยคำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์แต่ละคนไม่ถูกต้อง คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ได้ระบุจำนวนเงินโบนัสที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ จึงไม่ชอบนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ฟังขึ้น สำหรับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งอุทธรณ์มาในทำนองเดียวกันกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ข้างต้นนั้น แม้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้ เห็นว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ ๓๖ ถึงที่ ๔๘ ที่ ๕๐ ที่ ๕๑ ที่ ๕๓ และที่ ๕๕ ถึงที่ ๗๓ และจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ ๘๐ ถึงที่ ๘๓ โดยโจทก์ดังกล่าวเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ปฏิบัติงานให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในกำรดำเนินการให้โจทก์ดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเช่นกัน

 

                                อนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมายังไม่เพียงพอให้ศาลฎีกาใช้ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑/๑ มีดังนี้ ในระยะเวลาที่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าฟ้องเรียกค่าอาหาร ค่ารถ และเงินโบนัสนั้น โจทก์แต่ละคน ซึ่งได้รับค่าจ้างรายวันมีวันที่ไม่ได้รับค่าจ้างหรือไม่ มีจำนวนวันทำงานและจำนวนวันหยุดงานคนละเท่าไร ในแต่ละเดือนโจทก์แต่ละคนได้รับค่าจ้างเดือนละเท่าไร ในแต่ละช่วงที่จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงโจทก์แต่ละคนได้รับค่าจ้างเดือนละเท่าไรรวมแล้วเป็นค่าจ้างในแต่ละช่วงของการจ่ายเงินโบนัสเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อคำนวณเงินโบนัสตามวิธีการของจำเลยที่ ๑ โจทก์แต่ละคนได้รับเงินโบนัสหรือไม่ จำนวนงวดละเท่าใด  โจทก์แต่ละคนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับเงินโบนัสและค่ำครองชีพหรือไม่ โจทก์ที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้รับเงินโบนัสจากจำเลยที่ ๒ แล้วจำนวนเท่าใด เมื่อคำนวณตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสของจำเลยที่ ๒ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ มีกี่ประเภท โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าเทียบได้กับลูกจ้างประเภทใด จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าอาหารและค่ารถให้เฉพาะวันที่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงมาทำงานหรือไม่จ่ายค่าอาหารให้ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงประเภทใด จ่ายเป็นเงินอย่างเดียวหรือจ่ายเป็นเงินและอาหาร มีหลักเกณฑ์ให้ลูกจ้างผู้ได้รับค่าอาหารเป็นเงินต้องปฏิบัติอย่างไรหรือไม่จ่ายค่ารถให้ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงเป็นเงินอย่างเดียวหรือจ่ายเป็นเงินและจัดรถรับส่งให้ด้วย หลักเกณฑ์ในการจ่ายค่ารถ หลักเกณฑ์ที่จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงในช่วงเวลาที่โจทก์แต่ละคนฟ้องเรียกเงินโบนัส อัตราส่วนเงินโบนัสและสูตรการคำนวณเงินโบนัส จำนวนครั้งของการจ่ายใน ๑ ปี จ่ายเมื่อใด วิธีคำนวณเงินโบนัสในกรณีมีวันที่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงหยุดงาน คุณสมบัติของลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงที่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส หลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างโดยตรงจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้จ่ายค่าอาหาร ค่ารถ เงินโบนัส และค่าครองชีพให้โจทก์แต่ละคนหรือไม่ เพียงใด ในกรณีจ่ายเป็นอาหารคำนวณเป็นเงินได้เดือนละเท่าไร ในกรณีจัดรถรับส่งให้คำนวณเป็นเงินได้เดือนละเท่าไร จึงให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่มเติม

 

                               พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ด ำเนินการให้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเก้าได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการในค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่ารถ เงินโบนัสในส่วนที่ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่จัดหรือจัดให้น้อยกว่าลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ ๑ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับที่จำเลยที่ ๑ จัดให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ วรรคสอง ให้ศาลแรงงานกลาง ฟังข้อเท็จจริงข้างต้นเพิ่มเติมให้ครบถ้วน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

 

 

 

 

 

 

 

มาตรา 11/1 ต้องทำงานในขั้นตอนการผลิตสินค้าหรือในขั้นตอนธุรกิจหลักปัจจุบัน (ช่วยจำหน่ายสินค้า / ให้บริการลูกค้า) ดังนั้นกรณีมาตรา 11/1 นี้ จึงไม่คุ้มครอง (1) ในสถานประกอบกิจการ ไม่มีการจ้างเหมาค่าแรง มีแต่จ้างโดยตรง (2) ในสถานประกอบกิจการไม่มีการจ้างโดยตรง มีแต่จ้างเหมาค่าแรง (3) ลักษณะงานระหว่างจ้างโดยตรงกับจ้างเหมาค่าแรงแตกต่างกัน

 

งานในลักษณะเดียวกัน  หมายถึง งานที่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงกับงานที่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของผู้ประกอบกิจการทำมีลักษณะเดียวกัน โดยอาจพิจารณาจากลักษณะงาน ตำแหน่งงาน หน้าที่การงาน หรืออำนาจหน้าที่ เช่น งานตัด งานเย็บ งานประกอบ งานตรวจสอบ คุณภาพงานบัญชี งานธุรการ งานช่าง งานเก็บข้อมูล งานขาย เป็นต้น

 

 

 

สิทธิประโยชน์ และ สวัสดิการ  หมายถึง ค่าตอบแทนหรือรางวัลที่นายจ้างจ่ายให้แก่พนักงาน หรือลูกจ้าง ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินเพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจ และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้าง เช่น ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เบี้ยขยัน ค่ากะ ค่าอาหาร ค่าครองชีพ หอพัก สิทธิในการได้หยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มขึ้นตามอายุงาน สิทธิการได้รับเงินโบนัส หรือเงินพิเศษอื่น การได้โดยสารรถรับส่งที่นายจ้างจัดให้ การได้รับชุดทำงานจากนายจ้าง เป็นต้น

 

 

 

เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ  หมายถึง การพิจารณาจากลักษณะงาน หน้าที่รับผิดชอบ คุณวุฒิ ประสบการณ์ ระยะเวลาทำงาน ทักษะฝีมือ คุณภาพของงานหรือปริมาณของงาน เป็นต้น ดังนั้นหากลูกจ้างทั้งสองประเภทมีคุณสมบัติเหมือนกันจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการภายใต้เงื่อนไขอย่างเดียวกัน เช่น ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงและลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงทำงานในลักษณะเดียวกัน มีหน้าที่รับผิดชอบเหมือนกัน ผลิตผลของงานอยู่ในระดับเดียวกัน เมื่อนายจ้างจัดสวัสดิการชุดทำงานให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงปีละ 2 ชุด ก็ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสวัสดิการชุดทำงานปีละ 2 ชุด เช่นกัน มิฉะนั้นอาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ

 

 

 

 

Visitors: 123,854