โจทก์เป็นลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือเป็น ผู้รับจ้าง ตาม สัญญาจ้างทำของ

หมายเหตุท้ายฎีกา ๕๑/๒๕๓๗

คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องโจทก์เป็นลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือเป็น ผู้รับจ้าง ตาม สัญญาจ้างทำของ ซึ่งมีข้อพิจารณาดังนี้

          1. หากเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ย่อมอยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าวเช่นมีสิทธิเกี่ยวกับเรื่องวัน เวลาทำงาน ได้ค่าล่วงเวลา มีสิทธิหยุดงานในวันหยุดต่าง ๆ มีสิทธิในการลาเมื่อได้รับบาดเจ็บจะได้เงินทดแทน ได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าถูกเลิกจ้างก็มีสิทธิได้ค่าชดเชย เป็นต้น นอกจากนี้หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ถือว่าเป็นคดีแรงงานซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8

          2. หากเป็นผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ ก็ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในลักษณะจ้างทำของ ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน เช่น เมื่อถูกเลิกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยและเมื่อมีข้อพิพาทก็ต้องฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หรือศาลแพ่งธนบุรี แล้วแต่กรณี

          3. กรณีที่มีปัญหาว่าข้อพิพาทนั้นเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของ ซึ่งศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้หรือไม่นั้น อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อมีคำวินิจฉัยแล้วย่อมเป็นที่สุด (พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9)

          4. สัญญาแรงงาน มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 575 ว่า "อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้"สาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน

          1. บุคคล 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่านายจ้าง อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน

          2. นายจ้างตกลงให้ลูกจ้างทำงานและจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน

          3. ลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง

          4. นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้าง

           เรื่องนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชานั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่านายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาแต่มีกฎหมายบัญญัติรับรองอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 ว่า "ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดีหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดีละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้" และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14)ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2536 ข้อ 47 บัญญัติว่า "นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

          (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งหนังสือเตือนนั้นต้องมีผลบังคับไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้รับทราบหนังสือเตือน เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน"

           หลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่านายจ้างมีอำนาจออกคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมให้ลูกจ้างทำงาน หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีอำนาจลงโทษลูกจ้างได้ สรุปแล้วอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการ คือ

          1) นายจ้างมีอำนาจออกคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายให้ลูกจ้างทำงานได้

          2) นายจ้างมีอำนาจลงโทษ ลูกจ้างที่ฝ่าฝืนคำสั่งได้

          5. สัญญาจ้างทำของ มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 587 ว่า "อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น"สาระสำคัญของจ้างทำของ

          1. บุคคล 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน

          2. ผู้ว่าจ้างตกลงให้ผู้รับจ้างทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จโดยจ่ายสินจ้าง

          3. ผู้รับจ้างตกลงทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยรับสินจ้าง

          6. เปรียบเทียบสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ

          6.1 ข้อที่เหมือนกัน

          6.1.1 บุคคล 2 ฝ่ายตกลงกัน

          6.1.2 ฝ่ายหนึ่งตกลงให้ทำงานและจ่ายสินจ้าง

          6.1.3 อีกฝ่ายหนึ่งตกลงทำงานให้และรับสินจ้าง

          6.1.4 เป็นสัญญาต่างตอบแทน

          6.1.5 เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ

          6.2 ข้อที่แตกต่างกัน

          6.2.1 สัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชา

           สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชา

          6.2.2 สัญญาจ้างแรงงาน ลูกจ้างต้องมาทำงานตามวันเวลาที่นายจ้าง

           กำหนด ไม่จำต้องทำงานจนสำเร็จ สัญญาจ้างทำของ ผู้รับจ้างจะทำงานเมื่อใด เวลาใดก็ได้ แต่ต้องทำงานจนสำเร็จ

           ข้อแตกต่างทั้งสองประการดังกล่าว ข้อที่สำคัญที่สุดที่สามารถแยกให้ทราบว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของ คืออำนาจบังคับบัญชา กล่าวคือ หากมีอำนาจบังคับบัญชาแล้วเป็นสัญญาจ้างแรงงานหากไม่มีอำนาจบังคับบัญชาแล้วก็เป็นสัญญาจ้างทำของ

           กรณีที่อาจทำให้เข้าใจสับสนก็คือ ผู้รับทำงานให้ต้องทำงานจนสำเร็จ และได้รับค่าตอบแทนตามผลสำเร็จของงานซึ่งเป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของ แต่ผู้ให้ทำงานมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือผู้ทำงานเช่นนี้ จะเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือจ้างทำของ ก็ตอบได้ว่า กรณีดังกล่าว ถือว่า เป็นสัญญาจ้างแรงงาน เพราะ ถืออำนาจบังคับบัญชาเป็นข้อสำคัญ ซึ่งเรียกลูกจ้างประเภทนี้ว่า "ลูกจ้างตามผลงาน"

          7. ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2537 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจสั่งการคือกำหนดเวลาทำงาน และตรวจสอบเวลาทำงานของโจทก์ หากโจทก์ฝ่ามือ เช่น ขาดงาน หรือมาทำงานสายจำเลยที่ 1 มีอำนาจหักรายได้ของโจทก์ได้ ซึ่งเป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 มีอำนาจสั่งให้โจทก์ทำงานและมีอำนาจลงโทษโจทก์เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งเช่นนี้ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานโดยโจทก์เป็นลูกจ้างประเภทลูกจ้างตามผลงาน โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าชดเชย

           รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์

Visitors: 144,863