ตัวอย่างการปรับใช้มาตรา 32 วรรคหนึ่ง
คดีหมายเลขแดงที่ อ 5210/2547
”สำหรับความผิดเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมของผู้เสียหายโดยการให้นักร้องประจำร้านอาหารของจำเลยขับร้องให้ลูกค้าฟังนั้นสิทธิผูกขาดที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับตามกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทยนั้นอยู่ภายใต้ประโยชน์ที่สาธารณะได้รับจากการสร้างสรรค์ของเจ้าของงานลิขสิทธิ์สิทธิผูกขาดของเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งมีขึ้นเพื่อจำกัดการเข้าถึงงานลิขสิทธิ์นั้นจึงถูกคานหรือดุลโดยหลักการเข้าถึงซึ่งงานลิขสิทธิ์อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หมวดที่1 ส่วนที่6 ได้บัญญัติข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่เรียกว่าการใช้อย่างเป็นธรรม (Fair Use) ไว้ในมาตรา32 ถึงมาตรา43 เพื่อให้ใช้ในการคานหรือดุลระหว่างสิทธิผูกขาดของเจ้าของสิทธิกับสิทธิสาธารณะข้างต้นการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญารวมทั้งกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีความสมดุลและให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลนั้นต้องมีการชั่งระหว่างประโยชน์ของเจ้าของสิทธิและประโยชน์ของสาธารณะเสมอและไม่สามารถปรับใช้กฎหมายโดยคำนึงแต่เพียงด้านของประโยชน์เจ้าของสิทธิฝ่ายเดียวการใช้กฎหมายโดยยึดเพียงประโยชน์ของเจ้าของสิทธิฝ่ายเดียวย่อมมีผลเป็นการกันไม่ให้สาธารณเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้อันเป็นการกระทบต่อความสมดุลของระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของสังคมและประชาชนโดยตรง ดังนั้นในประเด็นของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในกฎหมายลิขสิทธิ์ในคดีนี้แม้จำเลยมิได้ให้การไว้ แต่เมื่อศาลเห็นสมควรก็สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5)ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา15 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา26
การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดฟังเพลงที่มีผู้แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องและมีความชื่นชมในคุณค่าของงานดนตรีกรรมนั้นจนแสดงความชื่นชอบหรือการเข้าใจคุณค่าของงานนั้นโดยการนำมาร้องหรือบรรเลงให้ปรากฏขึ้นมาเป็นเพลงถือเป็นการกระทำโดยทั่วไปของมนุษย์ที่สามารถเข้าใจและชื่นชมงานลิขสิทธิ์ได้และเป็นประโยชน์สาธารณะพื้นฐานที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาต้องรักษาไว้โดยต้องคานให้สมดุลกับการรักษาสิทธิผูกขาดของผู้เสียหายที่อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ประกอบกับรายงานการสืบเสาะและพินิจรับฟังเป็นข้อยุติว่าร้านอาหารของจำเลยเป็นร้านอาหารทั่วไปและข้อเท็จจริงในคำฟ้องปรากฏว่ามีผู้ร้องเพลงของผู้เสียหายเพียงหนึ่งเพลงคือเพลง ดอกหญ้าในป่าปูนในขณะที่ผู้เสียหายเป็นบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมดังกล่าวดังนี้วัตถุประสงค์และลักษณะของการแสวงหาประโยชน์ของจำเลยซึ่งจัดให้มีการร้องเพลงของผู้เสียหายหนึ่งเพลงนั้นน่าจะเป็นไปเพื่อความบันเทิงของลูกค้าในร้านอาหารเท่านั้นในขณะที่การแสวงหาผลประโยชน์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนั้นไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้มีการแสวงหาประโยชน์ที่ซ้ำกันหรืออยู่กลุ่มธุรกิจเดียวกันกับจำเลยโดยตรงส่วนผลกระทบไม่ว่าในด้านของการตลาดหรือคุณค่าของลิขสิทธิ์นั้นก็ไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยจัดให้มีการร้องเพลง ดอกหญ้าในป่าปูนในวันเกิดเหตุตามคำฟ้อง สามารถส่งผลกระทบสิทธิของผู้เสียหายจนเกินสมควรดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการร้องเพลงในร้านอาหารตามคำฟ้องขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ตามปกติและกระทบถึงสิทธิของเจ้าของสิทธิเกินสมควรแต่ประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา32 วรรคหนึ่ง”