เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ร้องขอบังคับคดีภายใน 10 ปี จะยังมีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองได้หรือไม่

เดิมมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.18391/2556 ฎ.3334/2557 ฎ.3329/2558 ฎ.4952/2558 วินิจฉันว่า โจทก์มิได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แต่การไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี ดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป การจำนองห้องชุดพิพาทจึงยังคงมีอยู่ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 

ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4613/2559 วินิจฉัยว่า การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองต้องกระทำในระยะเวลาสิบปีนับแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดเมื่อโจทก์ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดแล้วโจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2558

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 175,599.67 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ในต้นเงิน 152,312.27 บาทนับจากวันที่ 30 มิถุนายน 2536เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นและให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยในแต่ละปีนับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองถ้าจำเลยไม่ชำระและโจทก์ชำระแทนให้โจทก์มีสิทธิบังคับเอาจากจำเลยได้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงถ้าหากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วนกับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท

ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์มีความประสงค์จะบังคับคดียึดทรัพย์ห้องชุดเลขที่ 99/52 อาคารเลขที่ 1 ชั้นที่ 3 ชื่ออาคารชุด 5 กระรัต 1 ตำบลหัวหมาก(หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองอันเป็นการใช้สิทธิบังคับกับทรัพย์จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าการใช้สิทธิของโจทก์เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ที่ให้โจทก์บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งและมีคำสั่งยกคำร้องขอยึดทรัพย์ของโจทก์จึงขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้ยกคำร้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ


โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ


ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 182,000 บาทโดยจำนองห้องชุดเลขที่ 99/52 อาคารเลขที่ 1 ชั้นที่ 3 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 206998 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครมีข้อตกลงท้ายสัญญาจำนองว่าเมื่อบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดแก่โจทก์จนครบต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 175,599.67 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปีในต้นเงิน 152,312.27 บาท นับจากวันที่ 30 มิถุนายน 2536 หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบคดีถึงที่สุด ต่อมาศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้จำเลยชำระเงิน 175,599.67 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ในต้นเงิน 152,312.27 บาท นับจากวันที่ 30 มิถุนายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนอง คือ ห้องชุดเลขที่ 99/52 อาคารเลขที่ 1 ชั้นที่ 3 ชื่ออาคารชุด5 กระรัต 1 ตำบลหัวหมาก(หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครอันเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าการใช้สิทธิของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ที่ให้โจทก์บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้งดดำเนินการยึดทรัพย์และยกคำร้องโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดและให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 และได้มีการออกหมายบังคับคดี ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2546 แต่โจทก์แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์จำนองเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 กรณีย่อมเท่ากับโจทก์มิได้บังคับคดีแก่จำเลยจนล่วงเลยกำหนดเวลาบังคับคดีแล้วโจทก์ย่อมไม่อาจบังคับคดีแก่จำเลยตามกฎหมายและไม่อาจขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียกคำขอของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง


มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตามที่กฎหมายบัญญัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์หมดสิทธิในการบังคับคดีในหนี้ตามคำพิพากษาแล้วแต่โจทก์ยังคงทรงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในฐานผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองหรือเจ้าหนี้มีประกันภัยย่อมมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองแต่ทั้งนี้จะบังคับได้แต่ในต้นเงินจำนองและดอกเบี้ยไม่เกินห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 745 เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้และคดีถึงที่สุดแล้วโดยโจทก์มิได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แต่การไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี ดังกล่าว ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไปการจำนองห้องชุดพิพาทจึงยังคงมีอยู่ ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนองแม้หนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองจึงคงมีสิทธิบังคับจำนองเป็นเงิน 152,312.27 บาท สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นั้น เห็นว่า หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อนการบังคับจำนองจึงจะกระทำได้เมื่อหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธานกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใดหนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงไม่เกินที่ศาลกำหนดเมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี จึงไม่อาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าอัตราดังกล่าวได้ เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับเป็นว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดห้องชุดเลขที่ 99/52 อาคารเลขที่ 1 ชั้นที่ 3 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 206998 ตำบลหัวหมาก(หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไม่เกินหนี้จำนอง 152,312.27 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปีที่ค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

(นุจรินทร์ จันทร์พรายศรี-วิวรรต นิ่มละมัย-ปกรณ์ มหรรณพ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4613/2559 (ประชุมใหญ่) ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อมีกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 744 (1) ถึง (6) ดังนี้ ผู้รับจำนองซึ่งทรงทรัพยสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันหรือสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความเพียงแต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 745 บัญญัติไว้แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติซึ่งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่กรณีที่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันโดยหากเจ้าหนี้ประสงค์บังคับตามสิทธิก็ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพราะเหตุถูกลูกหนี้โต้แย้งสิทธิตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 อันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติคือกฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติไว้และเมื่อคดีเข้าสู่ศาลกระบวนพิจารณาก็ต้องบังคับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น(10731/2558 ประชุมใหญ๋ 14517/2558 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15084/2558) สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำในระยะเวลาสิบปีดังกล่าวซึ่งจะเป็นการบังคับคดีที่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาความแต่โจทก์เพิ่งยื่นคำขอฉบับลงวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2543 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย อย่างไรก็ตามทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้ (ฉบับเต็มตามเอกสารแนบ)


Visitors: 124,006