กรณีของคุณชูวิทย์ ที่เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลฎีกามีคำตอบอย่างนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9481/2553

พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร

     โจทก์

นายชูชาติหรือชัย กาญจนโภคิน

     จำเลย

 

ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง, 202, 216, 225

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

 

          จำเลยฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ประการหนึ่ง ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกอีกประการหนึ่ง การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา แม้จะถือว่าเป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ ซึ่งจำเลยไม่อาจกระทำได้ เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องการกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง และไม่อาจถือว่าการที่จำเลยยื่นคำร้องนี้เป็นการยื่นคำร้องขอถอนฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 202 ประกอบมาตรา 225 เพราะจำเลยยังติดใจฎีกาในประเด็นการลดโทษและรอการลงโทษจำคุก ทั้งไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาด้วยการสละประเด็นบางข้อเพราะพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 แล้ว แต่การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

          นอกจากจำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนแล้ว จำเลยยังให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยว่า จำเลยรับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจาก อ. และจำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุม อ. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนประมาณ 20,000 เม็ด นับเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 สมควรกำหนดโทษจำเลยให้น้อยลง

 

________________________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 478156667102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และริบของกลาง

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง66 วรรคหนึ่ง จำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม)67 (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 6 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยฎีกา

          ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ประการหนึ่ง ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกอีกประการหนึ่ง การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา แม้จะถือว่าเป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ ซึ่งจำเลยไม่อาจกระทำได้ เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง และไม่อาจถือว่าการที่จำเลยยื่นคำร้องนี้เป็นการยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 202 ประกอบมาตรา 225 เพราะจำเลยยังติดใจฎีกาในประเด็นการลดโทษและรอการลงโทษจำคุก ทั้งไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาด้วยการสละประเด็นบางข้อ เพราะพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 แล้ว แต่อย่างไรก็ดี การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไปว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่

          คดีคงเหลือแต่ประเด็นว่า สมควรจะลดโทษให้แก่จำเลยลงอีก และรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่า นอกจากจำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนแล้ว จำเลยยังให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยว่า จำเลยรับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนายอะรินหรือหม่อง และจำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมนายอะรินได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนประมาณ 20,000 เม็ด นับเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 สมควรกำหนดโทษจำเลยให้น้อยลง และเมื่อจำเลยมาให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาของศาลฎีกาอีก จึงสมควรลดโทษให้แก่จำเลยมากกว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลดโทษให้ แต่เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีจำนวนถึง 300 เม็ด พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่สมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี 4 เดือน ลดโทษให้สองในห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

 

 

( สมศักดิ์ เนตรมัย - ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ - ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร )

 

 

หมายเหตุ 

          การที่จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ (ศาลอุทธรณ์ภาค) แล้วต่อมาเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้การรับสารภาพผลจะเป็นเช่นไร ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ 2 แนว

           1. ถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ (ศาลอุทธรณ์ภาค) พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7531/2546 จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องประการหนึ่ง และขอให้ลดโทษอีกประการหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา แม้จะถือว่าเป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ แต่จำเลยที่ 2 ไม่อาจกระทำได้ เพราะการขอแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง และไม่อาจถือว่าการที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องนี้เป็นการยื่นคำร้องขอถอนฎีกาตามมาตรา 202 ประกอบมาตรา 225 เพราะจำเลยที่ 2 ยังคงติดใจฎีกาในประเด็นการลดโทษดังที่กล่าวมาในคำร้องด้วยว่าขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบา ทั้งไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาด้วยการสละประเด็นบางข้อ เพราะพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาตามมาตรา 216 แล้ว แต่อย่างไรก็ดี การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไปว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

           คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7531/2546 ดังกล่าว

           2. ถือว่าเป็นการขอแก้ฎีกาโดยมิได้เพิ่มเติมประเด็นใหม่ แต่เป็นการสละข้อต่อสู้ในชั้นฎีกา มิใช่การคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ศาลอุทธรณ์ภาค) จึงไม่ตกอยู่ในจำกัดระยะเวลาฎีกา แม้พ้น 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ศาลอุทธรณ์ภาค) ก็แก้ไขได้

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 594/2549 จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงก็ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยยื่นคำร้องขอถอนข้อต่อสู่เดิมตามฎีกาที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง คำร้องขอจำเลยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ซึ่งต้องห้าม ตาม ป.วิ.อ. มาตาม 163 วรรคสอง ที่บัญญัติให้กระทำได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ส่วนที่จำเลยขอแก้ไขฎีกาที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นการขอแก้ไขฎีกาโดยมิได้เพิ่มเติมประเด็นใหม่ แต่เป็นการสละข้อต่อสู้ในชั้นฎีกา ไม่ใช่การคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่ตกอยู่ในจำกัดเวลาฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขฎีกาได้แม้พ้นกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

           คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองแนววินิจฉัยตรงกันว่าคำร้องของจำเลยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง ที่จะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ส่วนที่ต่างกันก็คือ ถือเป็นการแก้คำฟ้องฎีกาหรือไม่ คงมีข้อพิจารณาว่าแนวใดถูกต้อง จะเห็นว่า หากถือว่าล่วงเลยระยะเวลายื่นฎีกาจึงแก้ไขคำฟ้องฎีกาไม่ได้ ฎีกาของจำเลยในส่วนที่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ (ศาลอุทธรณ์ภาค) ก็ยังคงมีอยู่ แม้จะยื่นคำร้องเข้ามาภายหลังขอให้การรับสารภาพ แต่ก็มิได้รับข้อเท็จจริงว่าศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นถูกต้อง ดังนั้น เมื่อมองภาพรวมแล้วจึงเห็นได้ว่า แนวคำพิพากษาศาลฎีกาในกรณีนี้ยังมีฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ค้างอยู่ แต่ถ้าหากวินิจฉัยว่ามิได้เป็นการขอแก้ไขการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ศาลอุทธรณ์ภาค) จึงไม่ตกอยู่ในจำกัดระยะเวลาฎีกา แม้พ้นกำหนด 1 เดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ศาลอุทธรณ์ภาค) ยินยอมให้แก้ฎีกาได้ จะทำให้ฎีกาที่โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ (ศาลอุทธรณ์ภาค) หมดไป เพราะมีการแก้ไขแล้วก็จะราบรื่นดีกว่าปล่อยให้คงไว้ดังกรณีแรก

          

          

          ศิริชัย วัฒนโยธิน


หมายเหตุ คดีนี้ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่คดีคุณชูวิทย์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมาแล้ว อยู่ในขั้นตอนการอ่าน ยากที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาของตน

Visitors: 149,785