เจ้าของที่ดินเดิมมีเจตนาอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะย่อมมีผลให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันที โดยไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่อาจซื้อกันได้ ผู้ซื้อย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นทางสาธารณะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10185/2555

นายฉลองชัย ปิยะชาติบดี

     โจทก์

เทศบาลตำบลสำโรงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ

     จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 1304(2)

 

            ว. เจ้าของที่ดินเดิมมีเจตนาอุทิศที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะเพื่อให้ประชาชนใช้ร่วมกัน จึงย่อมมีผลให้ที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันที โดยไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วก่อนที่ ว. จะขายที่ดินให้แก่โจทก์ กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ประชาชนทั่วไปในละแวกนั้นจะได้ใช้ทางเดินพิพาท และเมื่อทางเดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์เสียก่อนแล้ว การที่จำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานทางเดินพิพาทตามแนวทางเดินเดิมที่ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว ทางเดินพิพาทจึงมิอาจโอนให้แก่กันได้โดยทางนิติกรรม เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 29420 ซึ่งรวมเอาทางเดินพิพาทไว้ด้วยภายหลังจากที่ทางเดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

 

________________________________

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนถนนคอนกรีตทางทิศตะวันตกของที่ดินแปลงดังกล่าวออกไปทั้งหมดโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากจำเลยไม่ทำการรื้อถอน ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนถนนคอนกรีตดังกล่าวออกไปจากที่ดินของโจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์1,500 บาท แทนจำเลย

          โจทก์ฎีกา

            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินส่วนที่เป็นสะพานทางเดินคอนกรีตตกเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่ เห็นว่า จากคำเบิกความและสำเนาบันทึกให้ข้อเท็จจริงของนายวิรัช ได้ความว่า นายวิรัชทราบเรื่องที่มีชาวบ้านเดินผ่านที่ดินแปลงนี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ซื้อที่ดินมาจากนายถนอม แต่ก็ไม่ปรากฏว่านายวิรัชจะเคยติดใจหวงกัน ส่วนเรื่องการสร้างสะพานทางเดินคอนกรีตทางทิศตะวันตกของที่ดิน แม้นายวิรัชจะไม่ทราบมาก่อนและไม่ได้อนุญาตให้สุขาภิบาลสำโรงใต้หรือจำเลยก่อสร้างเนื่องจากนายซาไม่เคยแจ้งให้ทราบ แต่เมื่อนายวิรัชทราบเรื่องแล้วก็ไม่ได้ติดใจโต้แย้งคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าสะพานทางเดินดังกล่าวสร้างอยู่ริมโฉนดที่ดินและสะพานทางเดินดังกล่าวเป็นการสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่น โดยนายวิรัชเบิกความตอบทนายจำเลยถามติงว่า พยานทราบมาก่อนที่จะขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ว่ามีการสร้างทางเดินคอนกรีตในที่ดิน ทั้งยังเบิกความด้วยว่า พยานตกลงขายที่ดินให้แก่โจทก์แบบเหมาทั้งแปลงตามสภาพที่ดินที่เป็นอยู่ และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พยานได้ตกลงให้โจทก์ไปดูสภาพที่ดินก่อนที่จะซื้อ ซึ่งสอดคล้องกับข้อความในสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ระบุว่า เป็นการขายที่ดินในราคาเหมารวม 6,172,500 บาท มิใช่เป็นการคำนวณราคาขายตารางวาละ 7,500 บาท ดังที่โจทก์อ้างไม่ โจทก์เองก็เบิกความรับว่าได้ไปดูที่ดินก่อนซื้อและพบว่าทางทิศตะวันตกของที่ดินมีทางเดินเป็นปูนซีเมนต์ซึ่งมีสภาพเก่ามีวัชพืชและต้นไทรปกคลุมบางส่วนของทางเดิน ทางเดินจึงมีลักษณะเปลี่ยวไม่ค่อยมีคนเดินสัญจรไปมา หลังจากโจทก์ซื้อที่ดินมาจากนายวิรัชแล้ว จำเลยได้ก่อสร้างสะพานทางเดินพิพาททับทางเดินเดิมดังกล่าว อันเจือสมกับคำเบิกความของนายวิรัชที่ว่า พยานได้ทราบเรื่องทางเดินคอนกรีตเดิมในที่ดินพิพาทแล้ว แต่พยานก็มิได้คัดค้านการก่อสร้างทางเดินดังกล่าวแต่อย่างใด แม้ว่าแต่เดิมประชาชนจะใช้ทางเดินทางทิศตะวันออกหรือบริเวณกลางที่ดินผ่านออกไปสู่ถนนสาธารณะก่อนที่จะมีการสร้างสะพานทางเดินคอนกรีตพิพาทบนที่ดินทางทิศตะวันตกก็คงเนื่องด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นร่องสวนสอดคล้องกับรายงานการของบประมาณของสุขาภิบาลสำโรงใต้ที่ระบุว่า ได้ก่อสร้างสะพานทางเดินคอนกรีตทางทิศตะวันตกของที่ดินเชื่อมระหว่างทางเดินที่ลงมาจากสะพานข้ามคลองออกไปยังถนนสาธารณะอันมีลักษณะเป็นสิ่งก่อสร้างถาวรเมื่อปี 2538 ให้ประชาชนได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรผ่านไปมาอย่างเป็นระเบียบเป็นแนวเดินแน่นอนนับแต่นั้น อันมิใช่เป็นกรณีที่ชาวบ้านใช้ทางเดินผ่านที่ดินอย่างถือวิสาสะโดยใช้ทางเดินกลางที่ดิน หรือทางทิศตะวันออกของที่ดิน หรือตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ดังเช่นที่ผ่านมา โดยที่นายวิรัชเจ้าของที่ดินในขณะนั้นเมื่อทราบเรื่องแล้วก็มิได้หวงห้ามหรือสงวนสิทธิใด ๆ ทั้งนายวิรัชยังให้ข้อเท็จจริงแก่จำเลยว่า การก่อสร้างทางเดินดังกล่าวเป็นการสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นเป็นทำนองเห็นดีด้วยกับประโยชน์ที่ประชาชนในละแวกนั้นจะได้รับ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นายวิรัชมีเจตนาอุทิศที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะเพื่อให้ประชาชนใช้ร่วมกันโดยปริยาย ดังนี้ จึงย่อมมีผลให้ที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ทันทีโดยไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วก่อนที่นายวิรัชจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ประชาชนทั่วไปในละแวกนั้นจะได้ใช้ทางเดินพิพาทดังที่โจทก์ฎีกาไม่ และเมื่อทางเดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์เสียก่อนแล้วการที่จำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานทางเดินพิพาทตามแนวทางเดินเดิมที่ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้วเนื่องจากทางเดินเดิมที่สร้างไว้ในปีงบประมาณ 2538 ชำรุดทรุดโทรมจึงได้อนุมัติงบประมาณสร้างใหม่ในปี 2547 ตามคำเบิกความของนายสรรเกียรติ นายกเทศมนตรีตำบลสำโรงใต้ ทางเดินพิพาทจึงมิอาจโอนให้แก่กันได้โดยทางนิติกรรม เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 29420 ซึ่งรวมเอาทางเดินพิพาทไว้ด้วยภายหลังจากที่ทางเดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นนี้แทนจำเลย 3,000 บาท

 

 

( เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ - ไชยยงค์ คงจันทร์ - นพวรรณ อินทรัมพรรย์ )

 

ศาลจังหวัดสมุทรปราการ - นางสาวสุภี สมสวัสดิ์วิบูลย์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นางสมศรี หรูจิตตวิวัฒน์

 

 

Visitors: 123,901