สิทธิครอบครองที่ดินภ.บ.ท.๕ ซื้อขายกันได้หรือไม่ และเมื่อผู้ซื้อเข้าครอบครองที่ดินแล้ว จะเปลี่ยนใจขอเงินคืนได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๐๘/๒๕๕๗

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งมีแบบแสดงรายการที่ดิน(ภ.บ.ท.๕)และใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.๑๑)จากจำเลยที่ ๑ โดยปลอดภาระผูกพันหรือภาระติดพันใด ๆ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยเพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุได้หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้ถือว่าเป็นของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๒ และที่ราชพัสดุ หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔ ดังนั้น ที่ดินพิพาทไม่มีภาระผูกพันหรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๒๙ จำเลยที่ ๑ ผู้ขายไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่ครอบครองที่ดินพิพาทและขายสิทธิครอบครองนั้นให้แก่โจทก์โดยโอนไปซึ่งการครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๘ ในระหว่างเอกชนด้วยกันการขายสิทธิครอบครองที่ดินของรัฐใช้บังคับได้ โจทก์ทำนิติกรรมซื้อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมีแบบแสดงรายการที่ดิน(ภ.บ.ท.๕)และใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่(ภ.บ.ท.๑๑)จากจำเลยที่ ๑ ด้วยใจสมัครตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙ โดยทราบดีว่าเป็นที่ดินมือเปล่าอันเป็นของรัฐ เมื่อจำเลยที่ ๑ โอนไปซึ่งการครอบครองต้องตามวัตถุประสงค์แล้ว โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

(สุรพันธุ์ ละอองมณี – ธราธร ศิลปโอสถ – สุพจน์ ธำรงเวียงผึ้ง)

Visitors: 123,965