ทำสัญญากู้กันไว้ โดยส่งมอบโฉนดไว้เป็นประกัน ผู้กู้จะฟ้องเรียกโฉนดคืนได้หรือไม่ เมื่อยังไม่ชำระหนี้ หรือในกรณีส่งมอบโฉนดไว้เป็นประกัน แต่ไม่ได้ทำสัญญากู้กันไว้ หรือ ศาลพิพากษาให้ชำระหนี้แล้ว แต่ไม่ได้บังคับภายใน ๑๐ ปี เจ้าหนี้ยังยึดโฉนดไว้ได้หรือไม่ จนกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6664/2556

          โจทก์ฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 6488 ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ (ที่ถูก กิ่งอำเภอศรีนครินทร์)จังหวัดพัทลุง และโฉนดที่ดินเลขที่ 37061 ตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช คืนแก่โจทก์ กับให้จำเลยคืนหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือให้หนังสือสัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ

          จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และขอให้บังคับโจทก์ชำระหนี้เงินกู้ 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันทำหนังสือสัญญากู้เงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องแย้งเป็นเวลา 10 เดือน เป็นเงิน 28,125 บาท

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 6488 ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ (ที่ถูก กิ่งอำเภอศรีนครินทร์) จังหวัดพัทลุง และโฉนดที่ดินเลขที่ 37061 ตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กับหนังสือสัญญากู้เงินพิพาทคืนแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้โจทก์ชำระเงินต้น 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2550 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ดอกเบี้ยคิดคำนวณถึงวันฟ้องแย้งต้องไม่เกิน 28,125 บาท ตามที่จำเลยขอ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลเป็นเงิน 6,000 บาท เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้วให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 6488 ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ (ที่ถูก กิ่งอำเภอศรีนครินทร์) จังหวัดพัทลุง และโฉนดที่ดินเลขที่ 37061 ตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กับหนังสือสัญญากู้เงินพิพาทคืนแก่โจทก์

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 6333 ตำบลบ้านนา กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง พร้อมลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญากู้เงินเพื่อให้นางนอม ไปกู้เงินแทนโจทก์เพราะต้องการเงินมาเลี้ยงสุกร วันที่ 12 พฤษภาคม 2550 โจทก์ได้ไปติดต่อขอโฉนดที่ดินเลขที่ 6333 คืนจากนายเจริญ บิดาจำเลย ต่อมาวันรุ่งขึ้นโจทก์ได้ทำสัญญากู้เงินจำนวน 450,000 บาท จากจำเลย โดยมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 6488 ตำบลบ้านนา กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง และโฉนดที่ดินเลขที่ 37061 ตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้จำเลยไว้เป็นหลักประกัน นายเกื้อกูล บุตรเขยโจทก์เป็นผู้เขียนสัญญาและนางมัลลิกา บุตรสาวโจทก์เป็นพยานตามหนังสือสัญญากู้เงินและโฉนดที่ดิน หลังจากทำสัญญากู้เงินแล้ว นายเจริญได้มอบโฉนดที่ดิน พร้อมหนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญากู้เงิน คืนให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 โจทก์ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่านางนอมได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 6333 ของโจทก์ไป เป็นเหตุให้โจทก์ต้องทำสัญญากู้เงินจากนางสาวพรพิไล เป็นเงิน 450,000 บาท ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน และวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 โจทก์ฟ้องนางนอมในข้อหาฉ้อโกงตามสำเนาคำฟ้อง ต่อมาโจทก์ได้ถอนฟ้องนางนอมแล้วดำเนินการฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขอโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญากู้เงิน คืนจากจำเลยได้หรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มอบอำนาจให้นางนอมไปกู้เงินแทนโจทก์เพื่อนำเงินมาเลี้ยงสุกร โดยโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญากู้เงิน มอบให้นางนอมไปพร้อมโฉนดที่ดิน ปรากฏว่าโฉนดที่ดิน พร้อมหนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญากู้เงิน อยู่ในการยึดถือครอบครองของนายเจริญบิดาจำเลย ทำให้น่าเชื่อว่านางนอมไปกู้เงินจากนายเจริญแทนโจทก์ โฉนดที่ดิน พร้อมหนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญากู้เงิน จึงไปอยู่ในการยึดถือครอบครองของนายเจริญและโจทก์ย่อมทราบเรื่องนี้ดีจึงได้ไปติดต่อนายเจริญเพื่อขอโฉนดที่ดินคืน ซึ่งสอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลย หากนางนอมไม่ได้ไปขอกู้เงินนายเจริญแทนโจทก์จริง โจทก์ก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์หรือดำเนินการฟ้องร้องเรียกโฉนดที่ดินคืนจากนายเจริญได้ โดยไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องทำสัญญากู้เงิน และมอบโฉนดที่ดินไว้กับจำเลยเพื่อที่จะได้โฉนดที่ดินคืนจากนายเจริญ แต่เหตุการณ์กลับปรากฏว่าหลังจากโจทก์ทำสัญญากู้เงินจากจำเลยแล้ว โจทก์ได้ไปแจ้งความเป็นหลักฐานว่านางนอมได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 6333 ของโจทก์ไป เป็นเหตุให้โจทก์ต้องทำสัญญากู้เงินจากนางสาวพรพิไลเป็นเงิน 450,000 บาท และโจทก์ได้ฟ้องนางนอมในข้อหาฉ้อโกง แต่กลับถอนฟ้องนางนอมแล้วมาดำเนินคดีกับจำเลยเป็นคดีนี้ทั้ง ๆ ที่โจทก์สามารถดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์หรือดำเนินการฟ้องร้องนางนอมและนายเจริญได้ทันทีโดยไม่จำต้องไปทำสัญญากู้เงินแต่อย่างใด พฤติการณ์ของโจทก์ส่อแสดงให้เห็นว่าล้วนแต่ดำเนินการไปด้วยเจตนาไม่สุจริต ส่วนที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เงิน นั้น ปรากฏว่าในสัญญากู้เงิน มีข้อความระบุว่าข้าพเจ้าได้รับเงินไปครบถ้วนเสร็จแล้วตั้งแต่วันทำสัญญานี้ โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนแต่อย่างใด ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยโดยให้เหตุผลและรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ชอบแล้ว ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ทำสัญญากู้เงิน จากจำเลยโดยมอบโฉนดที่ดินไว้เป็นหลักประกัน แม้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมจะไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 เพราะหนี้เงินกู้ไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์พิพาท แต่เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ระบุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทไว้เป็นประกันจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ เป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำกันไว้ ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมมีผลบังคับ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิยึดถือทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดิน และหนังสือสัญญากู้เงินคืนจนกว่าโจทก์จะได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

( ประยูร ณ ระนอง - อนันต์ ชุมวิสูตร - สมชาติ ธัญญาวินิชกุล )

 ศาลจังหวัดพัทลุง - นายทวีศักดิ์ สุขชุ่ม

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายสมบูรณ์ วัฒนพรมงคล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  18952/2555

          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,224,202 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 6,224,562 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 22355, 22356 และ 22357 ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร แก่จำเลยที่ 2

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กรกฎาคม 2544) ต้องไม่เกินจำนวน 1,999,640 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี กับให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 22355, 22356 และ 22357 ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร แก่จำเลยที่ 2 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้เป็นพับ

          โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันและร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์และมอบโฉนดที่ดิน 3 ฉบับ คือ โฉนดที่ดินเลขที่ 22355, 22356 และ 22357 ดังกล่าวให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกันและหนังสือมอบอำนาจให้แก่โจทก์เพื่อจดทะเบียนจำนองต่อเจ้าพนักงาน แต่โจทก์มิได้นำเอกสารไปจดจำนอง ภายหลังจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่สามารถชำระหนี้ตามที่ตกลงกัน ในปี 2542 โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงคิดดอกเบี้ยกันใหม่ โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้จำนวน 6,224,562 บาท และจำเลยที่ 2 ยังสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ 1 ฉบับ มีจำนวนเงินในเช็คเท่ากับจำนวนเงินในสัญญากู้เงิน มีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสลักหลัง เมื่อเช็คถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน

          ...โจทก์ฎีกาในข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีคดีฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับ โดยจำเลยที่ 2 มอบให้ยึดถือเป็นประกันเงินกู้ โจทก์จึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืน อันเป็นบุคคลสิทธิบังคับกันได้ระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาต่อกัน แม้การที่โจทก์ยึดถือโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับเป็นประกันเงินกู้ที่โจทก์จะได้รับคืน ซึ่งไม่ได้เป็นคุณแก่โจทก์เกี่ยวด้วยที่ดินโฉนดพิพาททั้งสามฉบับดังกล่าว กรณีจึงหาใช่สิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 ซึ่งหมายถึง การที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นก็ตาม แต่โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับเป็นประกันจนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืน เมื่อจำเลยยังไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับแก่จำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

          พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ยังคงยึดถือโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับดังกล่าวไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ครบถ้วน ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องกับฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

 

( ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ - ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ - สุทธิโชค เทพไตรรัตน์ )

 

ศาลแพ่งธนบุรี - นายสุชิน ต่างงาม

ศาลอุทธรณ์ - นายสมศักดิ์ จันทกุล

 

แต่ถ้า ไม่มีสัญญากู้ต่อกันหรือมีสัญญากู้ต่อกันและศาลพิพากษาให้ชำระหนี้แล้ว แต่ไม่ใช้สิทธิบังคับคดีภายใน ๑๐ ปี ผู้ให้กู้ไม่มีสิทธิยึดโฉนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  16776/2555

          โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแทนโจทก์

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

            ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 22400 ตำบลในเมือง (ปทุม) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ส่งมอบคืน ให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแทนโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นายสวัสดิ์ กู้ยืมเงินจำเลยโดยมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 22400 ตำบลในเมือง (ปทุม) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน ต่อมาจำเลยยื่นฟ้องนายสวัสดิ์ให้ชำระหนี้เงินกู้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้นายสวัสดิ์ชำระเงินแก่จำเลย ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 หลังจากนายสวัสดิ์ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก

          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินเลขที่ 22400 ของนายสวัสดิ์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา จำเลยย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีแก่นายสวัสดิ์และทายาทเมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยเป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ไม่อาจบังคับคดีได้เสียแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกต่อไป ที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี แต่จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 และ 244 เห็นว่า เหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมายได้ต้องปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น จึงจะใช้สิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ได้ แต่การที่นายสวัสดิ์กู้ยืมเงินและส่งมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้นั้น หนี้เงินกู้ดังกล่าวหาได้เป็นหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดที่ดินไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง ที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าว เมื่อคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลยด้วยจึงเป็นการบังคับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่ความในคดี ศาลไม่อาจบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินกระทำการตามที่โจทก์ขอได้ อีกทั้งเป็นเรื่องวิธีการในชั้นบังคับคดี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้แก้ไขและปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

            พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 22400 ตำบลในเมือง (ปทุม) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ให้แก่โจทก์โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

 

( วิรุฬห์ แสงเทียน - ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี - วรงค์พร จิระภาค )

 

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี - นายนุสิทธิ์ อนุสรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายวิเชียร แสงเจริญถาวร

 

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3874/2549

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 27058 โจทก์รับมอบโฉนดที่ดินพร้อมหนังสือมอบอำนาจซึ่งไม่ได้กรอกข้อความให้นายราชันย์ เศวตอมรกุล น้องชายโจทก์นำไปจดทะเบียนเลิกเช่ากับผู้เช่า และจดทะเบียนไถ่ถอนการจำนอง ต่อมาโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจตกไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยมิชอบและจำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ โจทก์แจ้งเจ้าพนักงานที่ดินให้ระงับการทำนิติกรรมและแจ้งความเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจไว้แล้ว ต่อมาจำเลยไปขออายัดที่ดินของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน อ้างว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งไม่เป็นความจริงและจำเลยได้มอบหนังสือมอบอำนาจให้เจ้าพนักงานที่ดินไว้ด้วย โจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 27058 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) พร้อมหนังสือมอบอำนาจคืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ออกหมายจับจำเลยมากักขังไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล

          จำเลยให้การว่า โจทก์กับนายราชันย์ เศวตอมรกุล ร่วมกันกู้ยืมเงินจำเลยไป 5,000,000 บาท โดยโจทก์มอบโฉนดที่ดินหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันแต่โจทก์กับนายราชันย์ไม่สามารถชำระหนี้ โจทก์จึงเสนอที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้แก่จำเลย โดยจำเลยต้องเพิ่มเงินค่าที่ดินแก่โจทก์อีกจำนวนหนึ่ง จำเลยยอมตกลงด้วย ต่อมาจำเลยไปดำเนินการขอรับโอนที่ดินที่สำนักงานที่ดินตามข้อตกลง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากโจทก์ยื่นคำร้องขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ระงับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจ อันเป็นการผิดข้อตกลง จำเลยมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 27058 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) พร้อมหนังสือมอบอำนาจคืนแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ชอบที่จะดำเนินการในชั้นบังคับคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ?พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยยึดถือโฉนดที่ดินเลขที่ 27058 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และหนังสือมอบอำนาจที่ระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยไว้ในครอบครองโดยจำเลยอ้างว่าโจทก์กับนายราชันย์ เศวตอมรกุล น้องชายโจทก์ร่วมกันกู้ยืมเงินจำเลยไป 5,000,000 บาท แล้วตกลงโอนที่ดินให้แก่จำเลยเป็นการตีใช้หนี้ โดยจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับนายราชันย์อีกจำนวนหนึ่ง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไว้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า แม้การกู้ยืมเงินจำนวน 5,000,000 บาท จะไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ แต่จำเลยมิได้เป็นผู้ใช้สิทธิฟ้องร้องโจทก์กับนายราชันย์ให้ชำระหนี้ จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เห็นว่า การกู้ยืมเงินเกินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง นั้น หมายความรวมถึงการห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้คดีด้วย เมื่อการกู้ยืมเงิน 5,000,000 บาท ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กับนายราชันย์ร่วมกันกู้ยืมจากจำเลยนั้นไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่อาจอ้างการกู้ยืมเงินดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์เพื่อยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้ ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ผิดข้อตกลงโอนขายที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้นั้น ข้อนี้จำเลยนำสืบว่า โจทก์กับนายราชันย์ตกลงโอนที่ดินให้แก่จำเลยเป็นการตีใช้หนี้ โดยจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับนายราชันย์อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มนั้นเป็นสาระสำคัญที่จะต้องตกลงกัน แต่จำเลยเบิกความว่ายังไม่มีการตกลงกันในรายละเอียดว่าจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับนายราชันย์เป็นจำนวนเท่าใด จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยส่งมอบหนังสือมอบอำนาจให้แก่โจทก์ด้วยนั้น ในชั้นอุทธรณ์โจทก์กล่าวยืนยันมาในอุทธรณ์ตรงกับที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ไม่เคยทำหนังสือมอบอำนาจฉบับที่จำเลยนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ และโจทก์เห็นพ้องด้วยที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกหนังสือมอบอำนาจคืนจากจำเลย ทั้งโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยส่งมอบหนังสือมอบอำนาจแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยส่งมอบหนังสือมอบอำนาจแก่โจทก์ด้วยจึงเป็นการพิพากษานอกเหนือไปจากประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247?

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องส่งมอบหนังสือมอบอำนาจให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

 

 

( ชัชลิต ละเอียด - สมชัย จึงประเสริฐ - บุญรอด ตันประเสริฐ )

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Visitors: 123,971