ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้บุคคลภายนอกโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่น ทายาทจะตั้งรูปคดีอย่างไร เพื่อไม่ให้ฟ้องขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13689/2556

                จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

          จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1971/2551

          จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้

          จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13689/2556

 

          โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3252 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537, 28 พฤษภาคม 2546 และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนที่ดินเฉพาะส่วนแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 130 ตารางวา และให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบค่าฤชาธรรมเนียมในการโอน หากจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะร่วมกันหรือแทนกันชำระให้แก่โจทก์

 

          จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

 

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3252 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 และระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งได้จดทะเบียนการโอนให้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งได้จดทะเบียนขายฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครองคนละ 129 ตารางวา มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

 

          จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

 

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

 

          โจทก์ทั้งสองฎีกา

 

          ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางสาววรรณา ทายาทของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

 

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3252 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537, 28 พฤษภาคม 2546 และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เพื่อให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 130 ตารางวา ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของนายโพล้ว ผู้ตาย และตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วน เมื่อนายโพล้ว ผู้ตายถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตรนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่ขาดอายุความ 5 ปี ตามมาตรานี้ และไม่ใช่การฟ้องคดีละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 ด้วย คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการต่อมาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3252 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 และระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งจดทะเบียนโอนเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งจดทะเบียนโอนเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 หรือไม่ เห็นว่า นายโพล้ว ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกของนายโพล้วผู้ตายจึงตกเป็นของทายาทโดยธรรมซึ่งคือบุตรทั้งห้า ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ด้วย การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3252 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นอีก 4 คน ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสองด้วย ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนกองมรดกไป 2 ครั้ง เป็นเงินรวม 62,000 บาท แต่จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1ชำระไปน้อยกว่าราคาที่ดินมรดกของผู้ตายมาก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำที่ดินมรดกตีใช้หนี้จำเลยที่ 1 ได้ ส่วนที่เจ้ามรดกกู้เงินมาเพื่อให้บุตรหรือบุตร จำเลยที่ 1 ใช้จ่ายก็ไม่ทำให้หนี้ของกองมรดกกลายเป็นหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงยังเป็นเจ้าหนี้กองมรดกและมีสิทธิให้โจทก์ทั้งสองเฉลี่ยรับภาระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ชำระแทนกองมรดกไป คนละ 62,000 บาท หารด้วย 5 เป็นเงินคนละ 12,400 บาท ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินมรดกที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับคนละ 129 ตารางวา แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมาย ที่จะใช้ยันแก่โจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น

 

          พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 คนละ 12,400 บาท ก่อน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

 

 

( สุรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์ - ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ - สวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ )

 

ศาลจังหวัดพัทยา - นายสิงห์พิทักษ์ ละมูลมอญ

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายจรัญ เนาวพนานนท์

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1971/2551

          จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้

          จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

 

________________________________

 

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1287 ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เนื้อที่ 12 ไร่ (ที่ถูก 13 ไร่) 2 งาน 71 ตารางวา โดยได้รับมรดกมาจากนางอ่อนจันทร์มารดาของโจทก์ เมื่อปี 2515 และได้ครอบครองทำประโยชน์เรื่อยมา ต่อมาปี 2538 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการทางทะเบียนโอนที่ดินมรดกให้โจทก์และทายาทอื่น แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 838/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันสมคบกับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองต่างทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์อันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนแล้วให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1287 ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยทั้งสอง และบังคับให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ไปดำเนินการโอนขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1

          จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ทราบมาก่อนว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งสภาพที่ดินพิพาทไม่มีสิ่งปลูกสร้างพอที่จะให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ตามฟ้องทั้งโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายบักคำ (สามีของจำเลยที่ 2) แล้วตั้งแต่วันที่ทำบันทึกตกลงประนีประนอมยอมความกันที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสว่างแดนดิน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 แล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงเหตุฉ้อฉลแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วทั้งที่ดินพิพาทมีหลักฐานทางทะเบียนเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งเจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 แล้วได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้คนเช่าทำไร่อ้อยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ถือได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองจากโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องเอาคืนภายในกำหนด 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง แล้วเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1287 ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท

          จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งกับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน โดยโจทก์เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์กับนายจันทร์ดี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์กับนายชิต บิดามารดาของโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียน ส่วนบิดามารดาของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือจำเลยที่ 1 นายอุดมและนายสวัสดิ์ชัย ส่วนนายประเสริฐเป็นลูกติดมากับบิดาจำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทเดิมมีเนื้อที่ 24 ไร่ เป็นของนายอำคาขายให้แก่นายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.2 ต่อมานางอ่อนจันทร์มารดาโจทก์ได้ร่วมกับนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 13 ไร่ นำรวมเข้ากับที่ดินเดิมเป็นประมาณ 37 ไร่ แล้วขอแบ่งแยกออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ต่อมานายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชิต เมื่อปี 2537 และภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายชิต (ตามคำสั่งศาลชั้นต้น คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 260/2537 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2537 ตามสำเนาที่แนบท้ายหนังสือนำส่งพยานเอกสาร ของสำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครสาขาสว่างแดนดิน ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2543) แล้วจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ทำบันทึกตกลงแบ่งแยกที่ดินมรดกให้แก่ทายาทต่อหน้านายสว่างผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 ตามเอกสารหมาย ล.1 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือจำนวน 13 ไร่ ให้แก่โจทก์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2538 ขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทจำนวน 13 ไร่ ดังกล่าวตามที่ตกลงกันไว้ให้แก่โจทก์ ตามคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 549/2538 เอกสารหมาย จ.3 และต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 (ในขณะนั้น) ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เอกสารหมาย จ.4 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2544 ท้ายสำนวนคดีดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงผูกพันจำเลยที่ 1 และในระหว่างดำเนินคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย จ.1

          คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยคบคิดกันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วหรือไม่ เห็นว่า สำหรับประเด็นแรกโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น ทางพิจารณาได้ความว่า โจทก์เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์กับนายจันทร์ดี ซึ่งอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และต่อมามารดาโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 และมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือจำเลยที่ 1 นายอุดม นายสวัสดิ์ชัย โจทก์จึงไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของบิดาจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มีสิทธิรับมรดกของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ตกแก่มารดาโจทก์ในฐานะคู่สมรสและถือเป็นทายาทคนหนึ่งของบิดาจำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์นำสืบว่า เมื่อมารดาโจทก์มาอยู่กินกับนายชิต ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทเพิ่มเติมประมาณ 13 ไร่ จากที่ดินเดิม 24 ไร่ ที่ซื้อจากนางอำคารวมเป็น 37 ไร่เศษ แล้วแบ่งแยกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ดังนี้เมื่อนายชิตถึงแก่กรรม ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกแก่มารดาโจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งตกแก่ทายาที่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิตกับมารดาโจทก์คือจำเลยที่ 1 กับพี่น้องรวม 3 คน คนละหนึ่งส่วน โดยมารดาโจทก์ยังมีส่วนได้รับในฐานะทายาทชั้นบุตรด้วยอีก 1 ส่วน และเมื่อมารดาโจทก์ถึงแก่กรรมในภายหลัง ส่วนที่ตกเป็นมรดกของมารดาโจทก์ก็ย่อมตกแก่โจทก์ ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาโจทก์ โจทก์จึงมีส่วนได้ในที่ดินพิพาทที่เป็นทรัพย์มรดกของนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ด้วย และจากคำเบิกความของโจทก์ที่ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า นางอ่อนจันทร์มารดาของโจทก์ ได้ถึงแก่กรรมภายหลังนายชิตประมาณ 4 ให้แก่ลูกๆ จำนวน 5 ล็อก โดยมีสิ่งบอกหลักเขตหรือแนวกรรมสิทธิ์ได้ แต่ไม่ได้โอนทางทะเบียน และระหว่างนั้นมารดาโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทจำนวน 13 ไร่ ให้แก่นางใหม่ ต่อมาโจทก์ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวคืนมาจากนางใหม่ โดยไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่นางใหม่ให้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้ที่โจทก์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ได้ออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชิต เพื่อจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการรับโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต แล้วได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมออกเป็น 5 แปลง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2538 คงเหลือที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 เพียง 13 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลัง ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะไปดำเนินการขอแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงๆ นั้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่สามารถตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวได้ จึงได้ไปเจรจาตกลงแบ่งที่ดินพิพาทกันต่อหน้านายสว่างผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านตามเอกสารหมาย ล.1 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 โดยโจทก์มีนายสว่างผู้ใหญ่บ้าน และนายหนู นายจันทากับนายถวิลกรรมการหมู่บ้านมาเบิกความว่าร่วมเป็นกรรมการในการเจรจาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแบ่งปันที่ดินพิพาทกันตามเอกสารหมาย ล.1 ว่า จำเลยที่ 1 ขอแบ่งที่ดิน 2 แปลง แปลงหนึ่งเนื้อที่ 1 งาน อีกแปลงหนึ่งเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน นายประเสริฐได้ 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน นายอุดมได้ 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน นายสวัสดิ์ชัย 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน ส่วนโจทก์ได้ที่ดินส่วนที่เหลือทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 กับพี่น้องซึ่งเป็นบุตรของนายชิตรวม 4 คน ได้ที่ดินรวม 5 แปลง โดยจำเลยที่ 1 ได้ 2 แปลง คนอื่นได้คนละ 1 แปลง ซึ่งตรงกันจำนวนแปลงที่จำเลยที่ 1 ได้ขอแบ่งตามที่ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งแต่ละแปลงมีเนื้อที่ใกล้เคียงกับที่ตกลงกันไว้ในเอกสารหมาย ล.1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 ได้ 2 แปลง มีแปลงหนึ่งเนื้อที่ 1 งานเศษด้วย จึงเชื่อได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแบ่งที่ดินมรดกเอกสารหมาย ล.1 กันต่อหน้าผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงไปดำเนินการขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงตามที่ตกลงกันไว้จริงโดยคงเหลือที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 13 ไร่เศษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ตกเป็นของโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทกันในคดีนี้คือ ที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 12 ไร่เศษ ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 นั้น เป็นของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต เป็นผู้ถือสิทธิ์ครอบครองแทนเท่านั้น

          ปัญหาวินิจฉัยต่อไปในประเด็นที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสมรู้ร่วมคิดกันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วหรือไม่นั้นเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการทำนิติกรรมฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามที่วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่ทายาทคนใดไปขายให้บุคคลใด โดยทายาทผู้นั้นไม่ยินยอมทั้งสิ้น ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้จำนวน 13 ไร่เศษ ไปขายให้แก่ผู้ใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะซื้อที่ดินดังกล่าวไว้สุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 นั่นเอง ดังนั้น การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืนนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เพราะการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว แต่การโอนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหายเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจดังกล่าวมาแล้ว จึงนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ในการเพิกถอนการฉ้อฉลมาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งมา และเมื่อคดีนี้ไม่ใช่เรื่องการขอเพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

          อนึ่ง คดีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครองที่โจทก์จะต้องฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ด้วย เพราะในเรื่องการแย่งการครอบครองนั้น จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้ว จึงไม่มีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จะโต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายบัวคำสามีของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 ตามบันทึกตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.5 ที่ทำที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสว่างแดนดิน แล้วโจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 นั้น ก็ฟังไม่ได้เช่นกัน

          ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องติดตามเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

          พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์

 

( ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล - กำธร โพธิ์สุวัฒนากุล - สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร )

 

Visitors: 123,914