ถูกเลิกจ้าง โดยข้ออ้างไม่ผ่านการทดลองงาน โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินใดบ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5131/2550
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2547 จำเลยที่ 1
จ้างโจทก์เข้าทำงานโดยให้ทดลองงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาทดลองงานแล้วจำเลยที่ 1 เห็นว่าการทำงานของโจทก์มีข้อผิดพลาดผลการประเมินโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงาน
จำเลยที่ 1
จึงให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงการทำงานแล้วจะประเมินผลการทดลองงานอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 1
มีหนังสือยกเลิกการทดลองงานและให้โจทก์พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 28
กุมภาพันธ์ 2548 มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยที่ 1
ต้องบอกเลิกสัญญาจ้างซึ่งเป็นสัญญาทดลองการจ้างแรงงานเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ.2540 มาตรา 17 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า
จำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงานโดยให้ทดลองงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
ซึ่งตามสัญญาทดลองการจ้างแรงงาน ข้อ 1 ระบุว่า
“ผู้จ้างตกลงจ้างผู้รับจ้างเป็นประชาสัมพันธ์ทดลองงานของโรงเรียนวิชัยวิทยา
เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2547 (เป็นเวลา 3
เดือน) ในอัตราค่าจ้างเดือนละ 7,000.00 บาท (เจ็ดพันบาทถ้วน)”
และตามหนังสือการสังเกตการณ์ผลงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นหนังสือสังเกตการณ์ผลงานของโจทก์
โจทก์ได้คะแนนรวมจากการประเมินผลงาน 11 คะแนน จาก 35 คะแนน หนังสือดังกล่าวระบุว่า
“คุณมีการผิดพลาดในงานเอกสารและทำงานล่าช้า คุณควรมีการปรับปรุงการทำงาน
ทางโรงเรียนจะพิจารณาการผ่านงานของคุณในครั้งที่สอง
และแจ้งให้คุณทราบอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดภาคเรียน” จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1
ตกลงให้โจทก์ทดลองงานต่อไปหลังจากที่ครบกำหนดตามสัญญาทดลองการจ้างแรงงาน ข้อ 1
ไปจนถึงสิ้นสุดภาคเรียนโดยไม่ได้กำหนดวันที่ให้ชัดเจนว่าจะสิ้นสุดการทดลองงานวันใดดังเช่นที่ระบุในสัญญาทดลองการจ้างแรงงาน
การที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานต่อมาจึงไม่แน่ว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใดจึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา
เมื่อสัญญาทดลองการจ้างแรงงาน (สัญญาจ้างทดลองงาน)
เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการบอกเลิกสัญญาจ้างจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1
บอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า
จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
มีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า
ต้องนับระยะเวลาทดลองงานรวมเข้าเป็นระยะเวลาการทำงานของโจทก์เพื่อเป็นฐานในการจ่ายค่าชดเชยหรือไม่
เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (1)
บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง
โดยลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
ไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในระหว่างการทดลองงานหรือตามสัญญาจ้างทดลองงาน
จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานตั้งแต่วันเข้าทำงานเป็นลูกจ้างไม่ว่าจะมีการทดลองงานหรือไม่จนถึงวันเลิกจ้าง
หากลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแล้วถูกเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีหนึ่งกรณีใดที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ.2541 มาตรา 119 นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังกล่าว
เมื่อโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2547
แล้วถูกเลิกจ้างในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548
ซึ่งตามหนังสือแจ้งผลการทดลองงานไม่ได้ระบุเหตุผลว่าเป็นการเลิกจ้างกรณีหนึ่งกรณีใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1
จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6238/2545
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า
"ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4
มิถุนายน2544
โจทก์จ้างนายศิริพงษ์
วัชระวลีกุล
เป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคลค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,000
บาท
โดยมีกำหนดทดลองงานไม่เกิน 120 วันเริ่มตั้งแต่วันที่
4 มิถุนายน 2544
ถึงวันที่
1 ตุลาคม 2544
และโจทก์เลิกจ้างนายศิริพงษ์ด้วยวาจาเมื่อวันที่
25 กันยายน 2544
อ้างเหตุว่าผลการปฏิบัติงานไม่อยู่ในเกณฑ์พึงพอใจ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนายศิริพงษ์ลูกจ้างในระหว่างทดลองงาน
โจทก์ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายศิริพงษ์ตามคำสั่งของจำเลยหรือไม่
เห็นว่า การที่โจทก์จ้างนายศิริพงษ์ตั้งแต่วันที่4
มิถุนายน
2544 โดยมีกำหนดเวลาทดลองงานไม่เกิน
120 วัน นั้น หมายถึง
โจทก์ตกลงจ้างนายศิริพงษ์ให้ทำงานโดยมีเวลาทดลองงานไม่เกิน 120
วัน
หากผ่านการทดลองงานโจทก์จะจ้างต่อไป ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานโจทก์มีสิทธิเลิกจ้างได้
ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา
17 วรรคสอง การบอกเลิกสัญญาจ้างแต่เดิมนั้นบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 582 ปัจจุบันพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541 นำบทบัญญัติมาตรา
582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบัญญัติไว้ในมาตรา
17 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
คู่สัญญาคือนายจ้างและลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิที่จะตกลงเกี่ยวกับการเลิกสัญญาจ้างเป็นอย่างอื่นได้การจ้างและเลิกจ้างคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541 แล้ว
จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา
17 ซึ่งได้บัญญัติถึงการเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไว้สามกรณี
คือ กรณีแรก
สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา
17 วรรคหนึ่ง
ส่วนกรณีที่สองและที่สาม เป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 17
วรรคท้าย
คือนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดกรณีใด กรณีหนึ่งตามมาตรา 119และนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 583 โดยบทบัญญัติมาตรา
17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541 มิได้มีข้อยกเว้นไว้ว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้เลิกจ้างนายศิริพงษ์ลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาโดยไม่เข้าเหตุกรณีใดกรณีหนึ่งในสามกรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541 มาตรา
17 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย
ดังนั้น โจทก์จึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้นายศิริพงษ์
ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด
เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างนายศิริพงษ์โดยมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างเป็นหนังสือล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นายศิริพงษ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541 มาตรา
17 วรรคสองและวรรคสี่คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่
51/2544 ของจำเลยชอบแล้ว